21 ก.พ. 2022 เวลา 01:15 • หุ้น & เศรษฐกิจ
อัพเดตสถานการณ์การลงทุน 21 ก.พ. 65 – In Brief
นาย Jerome Powell ประธาน Fed จะหยุดความร้อนแรงของเงินเฟ้อได้อย่างไร ? - ภาพจาก Investing.com
สัปดาห์ที่เปิดด้วยวันแห่งความรักดูจะไม่ราบรื่นเท่าไหร่ ตลาดหุ้นโลกถูกกดดันจากปัจจัยเดียว คือ ความขัดแย้งระหว่างชาติมหาอำนาจ (NATO) กับรัสเซีย ซึ่งสองฝ่ายยั่วยุกัน และขู่จะคว่ำบาตรรัสเซียทันที หากรัสเซียรุกรานยูเครน ด้านรัสเซียปฏิเสธทุกข้อกล่าวหาและยืนยันว่าไม่มีแผนบุกยูเครน ทำให้ตลาดหุ้นโลกส่วนใหญ่ปรับตัวลง
อย่างไรก็ตาม ตลาดจับตาการประชุมระหว่าง รมต.ต่างประเทศสหรัฐฯ นาย Antony Blinken และรัสเซีย นาย Sergey Lavrov ที่จะมีขึ้นในสัปดาห์นี้ คาดว่า ทั้งสองฝ่ายอาจจะยังตกลงกันไม่ได้ในรอบนี้ครับ
• สหรัฐฯ
ตลาดหุ้นสหรัฐฯติดลบเป็นสัปดาห์ที่สองติดต่อกัน จากความกังวลสหรัฐฯ-รัสเซีย และวันศุกร์เป็นวันหมดอายุของสัญญาซื้อขายสินทรัพย์ล่วงหน้า Futures และ Options ซึ่งจะทำให้สัญญาทั้งหมดถูกปิดสถานะลง ทำให้ตลาดเคลื่อนไหวผันผวน
ด้านรายงานการประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) รอบล่าสุด ออกมาค่อนข้างบู๊น้อยกว่าที่ตลาดคาด (Dovish Stance) โดย Fed เพียงย้ำว่า จะขึ้นดอกเบี้ยในระยะข้างหน้า และกำลังพิจารณาลดขนาดงบดุล และไม่ได้ส่งสัญญาณว่าจะขึ้นดอกเบี้ยอย่างรวดเร็วเหมือนที่ตลาดคาด ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ (Bond Yield) อายุ 10 ปี ย่อตัวลงแตะ 1.92%
นอกจากนี้และประธาน Fed สาขาต่างๆ แสดงความกังวลเกี่ยวกับเงินเฟ้อ และแสดงความคิดเห็นว่า Fed จะต้องขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเร็วขึ้นในระยะข้างหน้า ได้แก่ นาย James Bullard และนาง Loretta Mester ความเห็นนี้ สะท้อนจากตัวเลขเศรษฐกิจที่ผ่านมา ที่ออกมาแข็งแกร่งทั้งเงินเฟ้อ ตลาดแรงงาน ฯลฯ
ประธาน Fed สาขา St.Louis นาย James Bullard – ภาพจาก CNBC.com
Mr. เต่ามองว่า ในระยะสั้น ตลาดหุ้นสหรัฐฯยัง “ฟื้นตัวได้ยาก” เนื่องจาก Fed มีโอกาสขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเร็วกว่าประเทศอื่นๆและความขัดแย้งกับยูเครนที่จะกระทบความเชื่อมั่นของตลาดในระยะนี้ แนะนำ “รอดูสถานการณ์” ในฝั่งสหรัฐฯก่อนครับ
• ยุโรป
ตลาดยุโรปถูกกดดันเช่นกัน โดยกลุ่มติดอาวุธที่สนับสนุนรัสเซียในยูเครน ยิงอาวุธต่อสู้กับรัฐบาลยูเครนที่แคว้น Donbas ใกล้ชายแดนยูเครน และล่าสุด มีรายงานการสู้รบในเมือง Donetsk ซึ่งเป็นอีกเมืองสำคัญใกล้ชายแดนรัสเซีย ทำให้ความเชื่อมั่นของตลาดถูกกระทบค่อนข้างมาก ขณะที่ตัวเลขทางเศรษฐกิจของอังกฤษออกมาดีกว่าคาด ได้แก่ เงินเฟ้อและยอดค้าปลีก เดือน ม.ค. แต่ความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจเยอรมนี เดือน ก.พ. อ่อนตัวลงเล็กน้อย
ตลาดฝั่งยุโรปก็เช่นกัน ผมยังมองว่า “ความขัดแย้งทางการเมืองจะกระทบตลาดโดยตรง” ทำให้ความน่าสนใจในฝั่งยุโรปลดลงเช่นกัน แนะนำ “หลีกเลี่ยงการลงทุนในยุโรป” ช่วงนี้ไปก่อนครับ
รถยนต์ถูกเผาใกล้กับสถานที่ราชการในเมือง Donetsk ของยูเครน – ภาพจาก plainsmenpost.com/ukraine-bombing-in-seperatist-donetsk-fuels-western-fears-russia-triggering-war-with-false-flag-attacks/
• เอเชีย
ตลาดเอเชียปรับตัวเพิ่มขึ้นสวนทางกับสหรัฐฯและยุโรป เนื่องจากอยู่ไกล ไม่ค่อยได้รับผลกระทบจากความขัดแย้ง NATO-รัสเซีย และตัวเลขทางเศรษฐกิจส่วนใหญ่ออกมาดี ไม่ว่าจะเป็น เงินเฟ้อเดือน ม.ค. ของจีนที่ชะลอตัว ไม่เพิ่มขึ้นรุนแรงเหมือนภูมิภาคอื่น และ GDP ญี่ปุ่นไตรมาส 4 ที่กลับมาขยายตัวได้ นอกจากนี้ ธนาคารกลางจีน (PBoC) คงอัตราดอกเบี้ยและอัดฉีดสภาพคล่องเพิ่มให้แก่ระบบการเงินอีก 1 แสนล้านหยวน (1.57 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) ทำให้ Sentiment ฝั่งเอเชียดูดีกว่าสองภูมิภาคก่อนหน้า
ธนาคารกลางจีน (PBoC) ประกาศอัดฉีดสภาพคล่องแก่ระบบการเงินอีกครั้งมูลค่า 1 แสนล้านหยวน หรือราว 1.57 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ - ภาพจาก Bloomberg.com
Mr. เต่า มองว่า ระยะนี้ ตลาดเอเชียเริ่มน่าสนใจมากขึ้น เพราะไม่ค่อยได้รับผลกระทบทางตรงจากความขัดแย้งในยุโรป โดยตลาดที่โดดเด่น ได้แก่ ตลาดหุ้นไทยและเวียดนาม ครับ
ส่วนตลาดจีน “รอให้ฟื้นตัวมากขึ้นกว่านี้อีกหน่อย” จะสามารถเข้าไปลงทุนได้ครับ และตลาดอินเดีย “ชะลอการลงทุน” เนื่องจากราคาน้ำมันที่แพงขึ้นต่อเนื่องจะกระทบเศรษฐกิจอินเดีย เพราะเป็นผู้นำเข้าน้ำมันดิบเยอะมาก และรอดูสถานการณ์การเลือกตั้งสภาบนสภาล่างตลอดเดือน ก.พ. ก่อน “ค่อยทยอยลงทุน” ครับ
• น้ำมัน
น้ำมันปรับตัวลงเป็นครั้งแรกในรอบ 9 สัปดาห์ หลังสหรัฐฯและอิหร่านมีความคืบหน้าในการเจรจายกเลิกมาตการคว่ำบาตรอิหร่าน (Nuclear agreement) ในสมัย ปธน. Donald Trump ของสหรัฐฯ ซึ่ตลาดคาดว่า จะทำให้อิหร่านกลับมาส่งออกน้ำมันเพิ่มขึ้นราว 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน
อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์มองว่า การเจรจายังอยู่ในขั้นเริ่มต้นและจะยังไม่มียกเลิกมาตรการคว่ำบาตรในตอนนี้ แต่จะเป็นเพียงการกำหนดขั้นตอนเพื่อให้ทั้งสองฝ่ายกลับมาทำตามข้อตกลงที่ให้ไว้ร่วมกัน ก่อนที่จะตัดสินใจยกเลิกคว่ำบาตร ผมคาดว่า ราคาน้ำมันอาจย่อตัวลงในระยะสั้น แต่น้ำมันยังเป็นขาขึ้น เนื่องจากการบริโภคน้ำมันทั่วโลกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง แต่การผลิตน้ำมันมีไม่เพียงพอกับความต้องการ ซึ่งทำให้ตลาดน้ำมันยังอยู่ในสภาวะอุปทานขาดแคลน (Undersupply) ครับ
ล่าสุด ราคาน้ำมันดิบ WTI สหรัฐฯ และ Brent ทะเลเหนือ อยู่ที่ 91.66 และ 93.54 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล ตามลำดับ
สต๊อกน้ำมันดิบสหรัฐฯรายสัปดาห์ยังคงต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปีย้อนหลังอยู่มาก สะท้อนความต้องการใช้น้ำมันในสหรัฐฯที่อยู่ในระดับสูง – ภาพจาก EIA.gov
• ทองคำ
ราคาทองคำปรับตัวขึ้นเป็นสัปดาห์ที่สามติดต่อกัน ทะลุ 1,900 ดอลลาร์สหรัฐฯ จากความขัดแย้งในยุโรป ล่าสุด ราคาทองคำ อยู่ที่ 1,860.60 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อออนซ์ ผมมองว่า ราคาทองคำ “มีโอกาสสูง” ที่จะขึ้นไปถึง 1,950 ดอลลาร์สหรัฐฯ หากสถานการณ์ความขัดแย้งยังไม่คลี่คลาย เนื่องจาก ตลาดไม่ได้ให้ความสนใจกับปัจจัยลบด้านดอกเบี้ยของ Fed มากนักในขณะนี้
อย่างไรก็ตาม ระมัดระวังในการลงทุนทองคำด้วยครับ เพราะราคาทองคำขึ้นมาค่อนข้างร้อนแรงและอาจย่อตัวลงในระยะสั้นได้เช่นกัน
ภาพจาก CNBC.com
กราฟราคาทองคำรายสัปดาห์ มีโอกาสขึ้นไปบริเวณ 1,950-1,960 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อออนซ์ได้ในระยะข้างหน้า - ภาพจาก Investing.com และตีกราฟเองครับ
สัปดาห์ที่ผ่านมา ตลาดหุ้นสหรัฐฯ 3 ดัชนีปิดเฉลี่ย -1.74%, ยุโรป STOXX600 -1.87%, จีน Shanghai +0.80%, ญี่ปุ่น -2.07%, อินเดีย Nifty 50 -0.57% และไทย +0.82%
ตัวเลขเศรษฐกิจสัปดาห์ที่ผ่านมา ออกมาทั้งดีและแย่กว่าคาด
โดยตัวเลขฝั่งสหรัฐฯที่ดีกว่าคาด ได้แก่ ยอดค้าปลีก (Retail Sales) เดือน ม.ค. ขยายตัว +3.8%MoM ดีกว่าคาดที่ +2.0%MoM, ยอดขออนุญาตสร้างบ้าน (Building Permits) เดือน ม.ค. เพิ่มขึ้น 1.899 ล้านหลัง เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนและมากกว่าคาด
นอกจากนี้ ตัวเลขของอังกฤษออกมาดีกว่าคาดเช่นกัน เงินเฟ้อ (CPI) เดือน ม.ค. ของอังกฤษ เร่งตัวขึ้น +5.5%YoY มากสุดในรอบกว่า 40 ปี และยอดค้าปลีก (Retail Sales) เดือน ม.ค. ขยายตัวถึง +1.9%MoM
อย่างไรก็ตาม GDP ไตรมาส 4 ของญี่ปุ่น พลิกกลับมาขยายตัว +1.3%QoQ น้อยกว่าตลาดคาดเล็กน้อย, ดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจ (ZEW Economic Sentiment) เดือน ก.พ. ของเยอรมนี เพิ่มขึ้นเป็น 54.3 จุด น้อยกว่าคาด และดัชนีการผลิตมลรัฐฟิลาเดลเฟีย (Philadelphia Fed Manufacturing) เดือน ก.พ. ของสหรัฐฯ ลดลงเป็น 16.0 จุด น้อยกว่าเดือนก่อนและแย่กว่าคาด
สิ่งที่น่าติดตาม ?
(21 ก.พ.) ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิต (Manufacturing PMI) เดือน ก.พ. ของเยอรมนีและอังกฤษ คาดว่า ดัชนีฯจะชะลอตัวลงจากเดือนก่อนเล็กน้อย + อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้าชั้นดี (Loan Prime Rate) ของจีน
(22 ก.พ.) ดัชนีความเชื่อมั่นภาคธุรกิจ (IFO Business Climate Index) เดือน ก.พ. ของเยอรมนี คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 96.5 จาก 95.7 จุด + ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (Consumer Confidence) โดย Conference Board สหรัฐฯ ในเดือน ก.พ. คาดว่า จะชะลอตัวลงเป็น 109.8 จุด จากเดือนก่อนหน้าที่ 113.8 จุด
 
(23 ก.พ.) เงินเฟ้อ (CPI) เดือน ม.ค. ของยูโรโซน
(24 ก.พ.) GDP ไตรมาส 4 ของสหรัฐฯ คาดว่าจะเร่งตัวขึ้นเป็น +7.0%YoY, ยอดขายบ้านมือสอง (Existing Home Sales) เดือน ม.ค. ของสหรัฐฯ คาดว่าจะชะลอตัวลงเล็กน้อย
(25 ก.พ.) GDP ไตรมาส 4 ของเยอรมนี คาดว่าจะทรงตัวที่ -0.7%QoQ + ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทน (Core Durable Goods Orders) เดือน ม.ค. ของสหรัฐฯ คาดว่าจะเพิ่มขึ้น +0.4%MoM + ยอดขายบ้านรอปิดการขาย (Pending Home Sales) เดือน ม.ค. ของสหรัฐฯ คาดว่าจะกลับมาขยายตัวที่ +0.5%MoM
ตลาดสหรัฐฯปิดทำการในวันนี้ (21 ก.พ.) เนื่องในวันประธานาธิบดี (Presidents’ Day) และตลาดหุ้นญี่ปุ่น จะปิดทำการในวันพุธ (23 ก.พ.) เนื่องในวันประสูติสมเด็จพระจักรพรรดินารูฮิโตะ
ทิศทางตลาดสัปดาห์นี้ ?
ตลาดสัปดาห์นี้ มีแนวโน้ม “ทรงตัวในกรอบแคบ” โดยตลาดจะติดตามข่าวความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและ NATO ที่คาดว่าจะยืดเยื้อ และตัวเลขทางเศรษฐกิจต่างๆที่จะทยอยประกาศออกมา คาดว่าจะออกมาทั้งบวกและลบ ทำให้ไม่มีปัจจัยใดช่วยหนุนตลาดอย่างชัดเจน
ติดตามการเจรจาของทั้งสองฝ่ายภายในสัปดาห์นี้ครับ
แนะนำ ลงทุนใน “หุ้นที่เกี่ยวเนื่องกับวัฏจักรเศรษฐกิจ” เช่น กลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์ และการเงิน และ “ทยอยลงทุนในหุ้นเอเชีย” เนื่องจากมีโอกาสได้รับผลกระทบจำกัดจากความขัดแย้งในยุโรป ทั้งนี้ “หุ้นไทยและเวียดนาม” มีความน่าสนใจโดยเปรียบเทียบกับหุ้นในเอเชียโดยภาพรวมครับ ถ้าเพื่อนๆมีเงินสดในมือ ทยอยซื้อได้เล้ย
โชคดีในการลงทุนทุกท่าน รักษาสุขภาพกันด้วยนะครับ
Mr.เต่า
ค้นหาบทความเต่าน้อยลงทุนผ่าน Facebook ได้อีกช่องทางที่
#อัพเดตการลงทุน #เต่าน้อยลงทุน
ติดตามเพจ “เต่าน้อยลงทุน” ได้ที่
Source: “Fed’s Bullard says inflation ‘could get out of control,’ so action is needed now” – CNBC.com
“Mester backs swift, more aggressive Fed strategy to tame high U.S. inflation” – MarketWatch.com
“PBOC Pumps in More Liquidity, Spurring Gains in Chinese Stocks” – Bloomberg.com
โฆษณา