19 ก.พ. 2022 เวลา 09:27 • การศึกษา
ชีวิตดุจไม้ใกล้ฝั่ง
ชีวิตเหมือนไม้ใกล้ฝั่ง
ยามใดที่บุคคลทั้งหลาย ได้ละเลยต่อการฟังธรรม ยามนั้นเขาย่อมเสียโอกาส ที่จะได้สัมผัสกับอมตธรรมอันทรงคุณค่า เพราะมนุษย์ทุกวันนี้กำลังสับสน ไม่รู้ว่าเกิดมาทำไม อะไรคือเป้าหมายที่แท้จริงของชีวิต เมื่อไม่ได้ฟังธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ชีวิตจึงต้องเวียนวนอยู่ในกระแสแห่งความทุกข์
หากจะมีความสุขบ้าง ก็เพียงเล็กน้อย ชั่วครั้งชั่วคราว เหมือนหลับแล้วฝันไป พอตื่นขึ้นมา ก็ยังต้องพบกับความทุกข์อีก ชีวิตจึงเหมือนถูกตรึงด้วยเครื่องพันธนาการ ยากจะสลัดออกได้ ต่อเมื่อได้ฟังพระสัทธรรม จึงจะเข้าใจความเป็นจริงของชีวิต และสามารถสร้างคุณค่าให้แก่ชีวิตได้อย่างแท้จริง
มีพุทธพจน์บทหนึ่ง ใน ภัทเทกรัตตสูตร กล่าวว่า...
"ความเพียร ควรทำในวันนี้ ใครเลยจะรู้ว่า ความตายจักมีในวันพรุ่งนี้ เพราะการผัดเพี้ยนกับพญามัจจุราชผู้มีเสนาใหญ่ย่อมไม่มี"
มนุษย์ในโลกปัจจุบันนี้ น้อยคนนักที่จะคิดถึงความตาย คนส่วนมากจะคิดถึงแต่เรื่องการทำมาหากิน คิดเพียงแต่ว่าวันนี้ วันพรุ่งนี้ หรือวันข้างหน้าเราจะแสวงหาทรัพย์มาเลี้ยงตัวเอง เลี้ยงครอบครัว
เพราะคิดอยู่แต่เรื่องนี้ จึงประมาทในชีวิต ละเลยต่อการสร้างบุญบารมี อันเป็นงานที่แท้จริง เป็นงานหลักของชีวิต การแสวงหาทรัพย์ภายนอกนั้นเป็นงานรอง เพียงให้ดำรงชีวิตอยู่ได้เท่านั้น
การมีชีวิตอยู่เพื่ออะไรนั้น เป็นสิ่งที่เราทุกคนต้องทำความเข้าใจให้ดี เราจะได้ไม่ประมาท เพราะในที่สุดแล้ว ทุกๆ ชีวิตจะต้องตาย หากมีสติระลึกได้ว่าชีวิตของเราดุจไม้ใกล้ฝั่ง ไม่รู้ว่าจะล้มในวันใด เวลาของชีวิตที่เหลืออยู่ เราจะได้เร่งสร้างความดี ทำงานไปด้วย สร้างบุญไปด้วย ชีวิตจะได้ปลอดภัยมีที่พึ่ง
เราไม่ทราบว่าเราจะมีชีวิตอยู่ได้นานแค่ไหน เรากำหนดความตายไม่ได้ ดีที่สุดคือเราควรรีบทำความเพียรเสียตั้งแต่วันนี้
ใจที่บริสุทธิ์
ในสมัยพุทธกาล มีพ่อค้าท่านหนึ่ง มีอาชีพค้าขายผ้า มีผ้าหลากหลายชนิดด้วยกัน วันหนึ่ง พ่อค้าท่านนี้บรรทุกผ้าเต็มเกวียน ๕๐๐ เล่มเดินทางจากเมืองพาราณสี ไปยังเมืองสาวัตถี เพื่อทำการค้าตามปกติ
เมื่อเดินทางมาเรื่อยๆ จนถึงแม่น้ำสายหนึ่ง จึงหยุดที่ริมฝั่ง สั่งให้ลูกน้องพักเกวียนคืนนั้นเกิดฝนตกหนัก จนกระทั่งน้ำล้นตลิ่ง พ่อค้าคิดว่า เราเองก็เดินทางมาไกล ถ้าเดินทางต่อก็จะเสียเวลาควรทำการค้าให้เรียบร้อยในที่แห่งนี้ ตลอดทั้งฤดูฝน ฤดูร้อน และฤดูหนาว
เมื่อคิดดังนี้แล้ว จึงปักหลักอยู่ตรงนั้นในขณะที่พ่อค้ากำลังขะมักเขม้นจัดแจงเตรียมการงานของตัวเองพระศาสดาเสด็จผ่านมา และทรงแย้มพระโอษฐ์ พระอานนท์ได้ทูลถามถึงเหตุนั้นพระศาสดาตรัสว่า "อานนท์ เธอเห็นพ่อค้าผู้มีทรัพย์คนนั้นหรือเปล่า"พระอานนท์ทูลตอบว่า "เห็นพระเจ้าข้า"
พระศาสดาตรัสต่อไปว่า "พ่อค้านั้นไม่รู้ว่าอันตรายของชีวิตจักเกิดขึ้นแก่ตัวเอง ยังมีความคิดจะอยู่ในที่นี้ตลอดปีนี้ เพื่อค้าขาย" พระอานนท์ทูลถามว่า "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อันตรายจักมีแก่เขาหรือ? "
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า "ใช่แล้ว อานนท์ พ่อค้านั้นจะมีชีวิตอยู่อีกเพียง ๗ วันเท่านั้น"พระอานนท์จึงทูลขออนุญาต ไปบอกแก่พ่อค้านั้น ด้วยการไปบิณทบาต
พ่อค้าได้ถวายอาหารกับพระเถระ พระอานนท์จึงถือโอกาสสนทนากับพ่อค้านั้นโดยถามว่าท่านจะอยู่ที่นี่นานไหม? พ่อค้าตอบว่า "กระผมเดินทางมาไกล ถ้าจะเดินทางต่อไปอีก ก็กลัวจะเสียเวลาเสียงาน จึงตั้งใจจะอยู่ขายสินค้าที่นี่ จนตลอดฤดูกาล"
พระอานนท์จึงบอกอุบาสกว่า "อันตรายของชีวิตรู้ได้ยาก ทำไมท่านมัวประมาทในชีวิตเล่า" "ข้าแต่ท่านผู้เจริญ อันตรายอะไรหรือจักมีแก่กระผม" "อุบาสก ท่านจะมีชีวิตอยู่อีกเพียง ๗ วันเท่านั้น"
พ่อค้าได้ฟังเช่นนั้น เกิดความสลดใจ จึงตั้งใจว่าเวลาที่เหลืออยู่ เราต้องรีบทำความดี เพราะตอนนี้ชีวิตเราดุจไม้ใกล้ฝั่ง จึงตั้งใจถวายสังฆทานโดยมีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นประธานตลอด ๗ วัน
ในวันที่ ๗ พระศาสดาได้ประทานโอวาทว่า "ดูก่อนอุบาสก ธรรมดาบัณฑิตไม่ควรประมาท อย่าคิดว่าเราจะอยู่ในที่นี้ ประกอบการงานตลอดฤดูทั้ง ๓ ควรคิดถึงความตายบ้าง" แล้วตรัสเทศนาไม่ให้ประมาทในชีวิต พอทศนาจบ พ่อค้าก็มีดวงตาเห็นธรรม เข้าถึงธรรมกายพระโสดาบัน
เมื่อพระศาสดาเสด็จกลับ พ่อค้าเดินตามไปส่ง พระพุทธองค์และหมู่แห่งภิกษุ พอกลับมาถึงที่พัก เกิดปวดศีรษะกะทันหัน จึงนอนพัก แล้วก็สิ้นชีวิตวันนั้นเอง แต่ด้วยอานิสงส์แห่งบุญที่ได้ตั้งใจทำในช่วงบั้นปลายชีวิตตลอด ๗ วัน และมีดวงตาเห็นธรรม จึงได้ไปบังเกิดในสวรรค์ชั้นดุสิต
บุญเป็นพลังงานบริสุทธิ์
จากเรื่องนี้ เราทั้งหลายจะได้ข้อคิดว่า ชีวิตดุจไม้ใกล้ฝั่ง ชีวิตเราอยู่ใกล้ความตายทุกขณะจิต จะตายเมื่อไร ที่ไหน กำหนดวัน เวลา สถานที่ไม่ได้เหมือนต้นไม้ที่ริมตลิ่ง ซึ่งจะถูกกระแสน้ำเชาะให้พังลงไปทุกวัน
ชีวิตของเราก็เช่นเดียวกัน ย่อมถูกกระแสแห่งความชรา ความเจ็บ และความตาย ซัดสาดให้แตกดับไปได้ทุกเมื่อ บุคคลใดไม่ประมาทในการดำเนินชีวิต หมั่นตักเตือนตัวเองอยู่เสมอ และรีบเร่งทำความเพียร ชีวิตของเขาย่อมประสบความสุขอย่างแน่นอน
เพราะฉะนั้น ควรพิจารณาว่าสังขารทั้งหลายทั้งปวงเป็นสิ่งที่ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ไม่ควรยึดมั่น ถือมั่น เราจะต้องหมั่นพิจารณาบ่อยๆ ถ้าเราไม่พิจารณาบ่อยๆ เราก็จะลืม พอลืม เราก็จะหลงเพลิดเพลินอยู่ในสิ่งเหล่านั้น
เมื่อลืมคำสอนของพระบรมศาสดาเสียแล้ว ใจก็ไปหมกมุ่นพัวพันกับสิ่งเหล่านั้น ซึ่งจะเป็นเหตุให้เราห่างจากธรรมกายออกไปทุกที ยิ่งห่างธรรมกาย ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดของความสุข อันเป็นอมตะไปมากเท่าไร ความทุกข์ก็จะยิ่งหลั่งไหลเข้ามาสู่กาย และใจของเรามากเท่านั้น
ในขณะที่เราปฏิบัติธรรมอยู่นี้ก็เช่นเดียวกัน เราจะต้องพิจารณาว่าสิ่งทั้งหลายทั้งปวง ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา แม้แต่ร่างกายของเรานี้ก็เหมือนกัน ย่อมเปลี่ยนแปลงเรื่อยมา ตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา เป็นจุดเล็กๆ เจริญเติบโตด้วยอาหารของมารดา ที่หล่อเลี้ยงตลอดมาตามลำดับ
1
แปรเปลี่ยนจนกระทั่งเราเคลื่อนย้ายมาสู่โลกนี้ลืมตาดูโลก แล้วก็เจริญเติบโตมีการเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยตามลำดับ ไม่มีคงที่เลย แปรเปลี่ยนเรื่อยมาตามลำดับตั้งแต่ทารก จนกระทั่งเป็นเด็กวัยรุ่น วัยหนุ่มวัยสาว วัยกลางคน วัยชราและในที่สุดก็เคลื่อนย้ายไปสู่เชิงตะกอน
เพราะฉะนั้น เราก็ไม่ควรจะยึดมั่นถือมั่นในร่างกาย ก้อนนี้ว่าเป็นตัวเรา เป็นของๆ เรา ร่างกายนี้เป็นแต่เพียงเครื่องอาศัย เหมือนบ้านเหมือนเรือนที่เราอาศัยอยู่ชั่วครั้งชั่วคราว ซึ่งในที่สุดก็ไปสู่จุดสลาย เพราะว่ามันไม่คงที่
ฉะนั้นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลาอย่างนี้ ไม่คงที่ จึงเป็นที่พึ่งที่ระลึกไม่ได้ สิ่งที่จะเป็นสรณะ เป็นที่พึ่งที่ระลึกอันสูงสุดได้ สิ่งนั้นจะต้องคงที่ไม่เปลี่ยนแปลงและให้ความสุขกับเราตลอดกาล คือ เป็นนิจจัง สุขัง และอัตตานั่นเอง
พระพุทธเจ้าได้ทรงพิสูจน์แล้ว ท่านพบว่าธรรมกายนั่นแหละเป็นนิจจัง เป็นสุขัง เป็นอัตตา เป็นสรณะ เป็นที่พึ่งที่ระลึกที่แท้จริง จะเข้าถึงสรณะนี้ได้จะต้องอาศัย อัตตา หิ อัตตโน นาโถ เอาตัวนี้เอากายนี้ ฝึกฝนปฏิบัติพึ่งตัวของเราเอง ทำความเพียร ฝึกใจหยุดใจนิ่ง
ไม่ใช่ไปอ้อนวอน สวดมนต์ให้เข้าถึงธรรมกายอย่างนั้นนะ ไปอ้อนวอนจุดธูปบูชาตามจอมปลวกบ้างเจ้าทรงผีสิงผู้วิเศษเหล่านั้น จะให้เข้าถึงสรณะที่พึ่งที่ระลึกอย่างนี้ ซึ่งมันเข้าถึงไม่ได้
จะต้องอาศัยตัวของเรานี้ ตั้งใจประพฤติปฏิบัติ หมั่นปรารภความเพียร ที่เรียกว่าสัมมาวายามะ มีความเพียรชอบ เพียรทำหยุดทำนิ่งแล้วเราก็จะเข้าถึง สิ่งที่เป็นนิจจัง เป็นสุขัง เป็นอัตตา ให้ความสุขแก่เราอย่างไม่มีขอบเขต และไม่มีการเปลี่ยนแปลง
ความเพียรชอบ คือต้องมีความเพียร ทำใจหยุดนิ่งที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ จึงจะได้ชื่อว่าไม่ประมาทในชีวิต เป็นความเพียร เพื่อความหลุดพ้น ความเพียรของพระอริยเจ้า คือเพียรทำใจให้หยุดให้นิ่ง หยุดในหยุดเข้าไปเรื่อยๆ หยุดโดยไม่ต้องยั้ง หยุดอย่างไม่มีถอนถอย หยุดตลอดเวลา หยุดทุกอนุวินาทีทำใจหยุดอย่างนี้ แม้พญามัจจุราชยังย่อท้อ มัจจุราชมองไม่เห็นผู้ที่ใจหยุดอย่างแท้จริง
ดังนั้นใจหยุดนิ่งจึงเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด เพียรหยุดต่อไปเถิดจะเกิดผล ไม่ช้าเราก็จะได้บรรลุธรรมไปตามลำดับ สิ่งที่เราจะสูญเสียไปไม่ได้อีกแล้ว คือ เวลาเพราะเวลาที่ผ่านไปนั้น ดึงเอาความแข็งแรง ความสดชื่นของร่างกายเราไปด้วย เราควรสงวนเวลาสำหรับชีวิตของเราไว้เพื่อประพฤติธรรม ฝึกใจให้หยุดให้นิ่ง ให้เข้าถึงที่พึ่งที่ระลึกภายในของเราให้ได้ ให้คิดกันอย่างนี้ทุกวัน
รวมพระธรรมเทศนา1 หน้า 18-23
ภาพจาก เพจการบ้าน
โฆษณา