19 ก.พ. 2022 เวลา 14:11 • หนังสือ
"คำว่า ง่าย ไม่ใช่แบบที่คนทั่วไปเข้าใจ"
ปฏิเสธไม่ได้ว่า ในยุคแห่งเทคโนโลยีข้อมูลข่าวสาร ที่ผู้คนแข่งกันรู้ให้ได้เร็วที่สุดไว้ก่อนนั้น ได้นำพาสังคมไปสู่วิถีชีวิตที่เสพติดในความง่ายเร็วลัดของขั้นตอนการเรียนรู้ โดยละทิ้งความถูกต้องตรงจริงในการรู้นั้นไว้เป็นอันดับรอง
ในแวดวงของชาวพุทธยุคใหม่ แม้ในส่วนที่มีปัญญาพอเห็นโทษภัยในทุกข์ มีจิตน้อมไปในการภาวนาแล้ว ก็ยังไม่พ้นที่จะมีการพูดถึงเกี่ยวกับ มรรควิธีที่ง่าย ลัดสั้น
ปัญหามีอยู่ … คือ การหมายรู้ ในคำว่า “ง่าย”
โดยในแง่ที่คนส่วนใหญ่เข้าใจนั้น มีความหมายไม่ตรงกับรายละเอียดในมรรควิธีที่ง่าย ซึ่งบัญญัติโดยพระตถาคต เมื่อนิยามตั้งต้นไม่ตรงกันเสียแล้ว จะต้องกล่าวไปไยในรายละเอียดอื่นๆ ที่ตามมา
เมื่อพูดถึงคำว่า “ง่าย” โดยทั่วไป มักจะถูกเข้าใจในลักษณะว่า เป็นอะไรสักอย่างที่ได้มาโดยไม่มีขั้นตอนยาก ได้มาโดยไม่ต้องลงแรง โดยไม่ต้องใช้ความพยายามมาก ใช้การขวนขวายน้อย ใช้ข้อมูลน้อย ใช้การใคร่ครวญน้อย ใช้การกระทำน้อย … กระทั่งไม่ต้องทำอะไรเลย
ในขณะที่ปฏิปทา (วิธีการกระทำ เพื่อให้ได้มา) ที่นำไปสู่การบรรลุมรรคผล ซึ่งพระพุทธองค์ได้ทรงอธิบายไว้นั้น ประกอบด้วยหลักการที่วางต่อกันอยู่ ๒ ส่วน คือ
๑. ส่วนของมรรควิธีที่เลือกมาใช้
ซึ่งเป็นตัวกำหนด ระดับความสบายในการปฏิบัติ
๒. ส่วนของเหตุในความเร็วช้าในการบรรลุ
ซึ่งแปรผันตามระดับความอ่อนแก่ของอินทรีย์ห้า
ในส่วนแรก คือ มรรควิธีที่เลือกมาใช้นั้น ทรงแบ่งออกไว้เป็นสองแบบคือ ทุกขาปฏิปทา และ สุขาปฏิปทา
ทุกขาปฏิปทา คือมรรควิธีที่ไม่ได้สุขวิหารในขั้นตอนปฏิบัติ เพราะเน้นการใช้ทุกข์เป็นเครื่องมือในการรู้แจ้งซึ่งอริยสัจ
ส่วนสุขาปฏิปทา คือการอาศัยสุขเป็นเครื่องมือในการรู้ ผู้ปฏิบัติจึงได้สุขวิหารไปด้วยในระหว่างปฏิบัติเพื่อสิ้นทุกข์
ในส่วนของเหตุที่บรรลุเร็วหรือช้านั้นคืออินทรีย์ห้า
(ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา)
ผู้มีศรัทธาในตถาคตมาก (อินทรีย์ คือ ศรัทธา)
ก็ย่อมจะเชื่อในพุทธปัญญาญาณ ย่อมจะศึกษา ทรงจำ สั่งสมสุตะเฉพาะที่เป็นพุทธวจนไว้มาก จึงรู้แง่มุมของจิตและวิธีการปฏิบัติที่ถูกต้องไว้มาก
บุคคลผู้มีปัญญาเห็นได้เร็ว (อินทรีย์ คือ ปัญญา)
เลือกหนทางที่สะดวก ก็ย่อมจะไปถึงจุดหมายได้เร็วกว่า
แม้รู้หนทางที่ถูกแล้ว แต่เพียรน้อย (อินทรีย์ คือ วิริยะ)
มิได้ปฏิบัติธรรมให้สมควรแก่ธรรม ฝึกสติน้อย ทิ้งสมาธิเหินห่างจากฌาน ก็ย่อมถึงที่หมายได้ช้า … ดังนี้ เป็นต้น
อีกทั้ง แง่มุมที่ควรให้ความสำคัญว่าเป็นมรรควิธีที่ง่าย คือ
  • สิ่งที่พระตถาคตทรงแสดงสอนบ่อย ๆ
  • บอกตรงๆ ว่าเป็นวิธีที่สะดวกต่อการเข้ามรรคผล
  • ทรงใช้บอกสอนกับคนชราคนเจ็บป่วย ใกล้ตาย มีกำลังน้อย
  • มีเวลาในชีวิตเหลือน้อย
  • คือ มรรควิธีที่ตรัสบอกถึงอานิสงส์ไว้มากกว่ามรรควิธีอื่นๆ
ดังนั้น มรรควิธีที่ง่าย จึงไม่ใช่ว่า ง่าย ในแบบที่เข้าใจกันว่าใช้ความพยายามน้อย ใช้การกระทำน้อย ขวนขวายน้อย แต่ง่ายตามเหตุปัจจัยอันสมควรแก่กรณีนั้น ๆ
ภายใต้ขีดจำกัดของสาวก ซึ่งพระพุทธองค์ ทรงยืนยันว่า แม้อรหันต์ผู้ปัญญาวิมุตติ ต่างก็เป็นได้เพียงแค่มัคคานุคา (ผู้เดินตามมรรคมาทีหลัง)
จึงไม่แปลกที่เราจะได้รู้ได้ฟังการอธิบายแจงแจกมรรควิธีที่ง่าย ตามแบบของสาวกในรูปแบบต่างๆ กันไป ซึ่งตรงกันบ้าง ไม่ตรงกันบ้าง และไม่สามารถนำมาใช้อ้างอิงเป็นหลักมาตรฐานได้
หากเปรียบการบรรลุมรรคผล คือการถึงจุดหมาย
หนังสือเล่มนี้ คือ แผนที่ ซึ่งเขียนโดยมัคคโกวิโท (ผู้ฉลาดในมรรค คือพระตถาคต) และชาวพุทธต้องหันกลับมาใช้แผนที่ฉบับถูกต้องนี้ เป็นมาตรฐานเดียวเหมือนครั้งพุทธกาล
คณะผู้จัดพิมพ์หนังสือเล่มนี้
ขอนอบน้อมสักการะต่อ ตถาคต ผู้อรหันตสัมมาสัมพุทธะ
และ ภิกษุสาวกในธรรมวินัยนี้
ตั้งแต่ครั้งพุทธกาล จนถึงยุคปัจจุบัน
ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการสืบทอดพุทธวจน
คือ ธรรม และวินัย ที่ทรงประกาศไว้ บริสุทธิ์บริบูรณ์ดีแล้ว
- คณะคณะงานธัมมะ วัดนาป่าพง
.
ศึกษาเพิ่มเติมได้ที่ :
โฆษณา