19 ก.พ. 2022 เวลา 10:14 • ประวัติศาสตร์
สิบปีในสวนโมกข์กับการสร้างความรู้ของท่านพุทธทาส
ความสนใจธรรมะและนิสัยใฝ่เรียนรู้ของท่านพุทธทาสมีมาตั้งแต่ยังเป็นฆราวาส ที่บ้านซึ่งเปิดเป็นร้านขายของชำเป็นที่พบปะสนทนาถกเถียงธรรมะของคนละแวกนั้นอยู่เนือง ๆ ทำให้นายเงื่อม (นามเดิมของท่านพุทธทาส) ต้องฝึกฝนและค้นคว้าอ่านหนังสือนักธรรมตรี-โท- เอกและอภิธรรมเพื่อเป็นความรู้ในการคุยธรรมะจนสามารถแจกแจงข้อธรรมะได้อย่างชัดเจน
1
หลังเข้าสู่เพศบรรพชิตและไปเรียนบาลีที่กรุงเทพฯ จนสอบได้เปรียญธรรม ๓ ประโยคแล้ว เกิดเบื่อหน่ายการเรียนปริยัติธรรมที่เป็นอยู่ขณะนั้นซึ่งเล่าเรียนอย่างยึดตามตำราโดยปราศจากอิสระในการคิดไตร่ตรองและวิพากษ์วิจารณ์ ประกอบกับการได้เห็นสภาพความย่อหย่อนวินัยของพระในเมืองหลวงได้ทำลายภาพในอุดมคติของพระหนุ่มจากบ้านนอกจนหมดสิ้น
มหาเงื่อมจึงตัดสินใจลาจากเมืองกรุง มุ่งหน้าสู่บ้านเกิดเพื่อเสาะหาสถานที่อันเหมาะสมสำหรับสอบสวนค้นคว้าวิชาธรรม สวนโมกขพลาราม จึงเกิดขึ้นด้วยเจตนารมณ์ที่จะให้เป็นสถานที่สำหรับส่งเสริมการปฏิบัติธรรมให้ก้าวหน้า
ท่านพุทธทาส สมัยเมื่อเป็นมหาเงื่อมที่วัดปทุมคงคา ภาพจาก http://buddhadasa.org
กำเนิดสวนโมกขพลาราม
วันที่ ๑๙ พฤษภาคม ๒๔๗๕ ซึ่งตรงกับวันวิสาขบูชา ถือเป็นวันกำเนิด สวนโมกขพลาราม ในพื้นที่ของวัดร้างนาม ตระพังจิก ตำบลพุมเรียง อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี คณะอุบาสกในนาม “คณะธรรมทาน” ประกอบด้วยนายธรรมทาส (น้องชาย) และเพื่อนช่วยกันสร้างเพิงที่พัก โดยมุงและกั้นด้วยจาก ต่อออกไปจากด้านหลังพระพุทธรูปในซากอุโบสถเก่า
ชื่อ “สวนโมกขพลาราม” มาจากชื่อของต้นไม้ที่มีมากที่นั่น คือ ต้นโมก และ ต้นพลา
“เอาโมกกับพลามาต่อกันเข้า มันก็ได้ความเต็มว่ากำลังแห่งความหลุดพ้น พลังแห่งความหลุดพ้น ส่วนคำว่าอารามย่อมธรรมดา แปลว่า ที่ร่มรื่น ที่รื่นรมย์ เมื่อมันฟลุคอย่างนี้มันก็ออกมาจริงจัง ตรงกับความหมายแท้จริงของธรรมะวัตถุประสงค์ก็คือโมกข์ สถานที่อันเป็นพลังเพื่อโมกขะ... มีความหลุดพ้นเป็นวัตถุที่พึงประสงค์ จึงเกิดวัดชนิดที่ส่งเสริมให้เกิดความหลุดพ้น เรียกว่า โมกขพลาราม”
กำลังสำคัญที่ช่วยก่อร่างและส่งเสริมกิจการของสวนโมกข์คือคณะธรรมทานที่น้องชายคือนายธรรมทาสและเพื่อนได้ริเริ่มก่อตั้งมาตั้งแต่ปี ๒๔๗๒ และด้วยทุนรอนสนับสนุนจากกองมรดกของครอบครัวพานิช
ขณะที่ท่านพุทธทาสบุกเบิกสวนโมกข์ นายธรรมทาสก็ได้ดำเนินกิจการของคณะธรรมทานเพื่อช่วยเผยแผ่ธรรมะอย่างคู่ขนาน จากหีบหนังสือธรรมะให้คนยืมอ่านขยายเป็นห้องธรรมทานและหอสมุด
ต่อมาคณะธรรมทานเห็นพ้องกันว่าควรมีเครื่องมือสำหรับโฆษณาและเผยแผ่ธรรมะ จึงได้เกิดหนังสือพิมพ์ “พุทธสาสนา” หนังสือพิมพ์แนวพุทธศาสนาโดยเฉพาะฉบับแรกของเมืองไทยขึ้น
ท่านพุทธทาสเริ่มภารกิจตามที่ได้ตั้งปณิธานไว้ว่า “ต่อไปนี้เราจะไม่เดินตามโลก และลาโลกไปค้นหาสิ่งที่บริสุทธิ์ ตามรอยพระอริยะที่ค้นแล้วจนพบ...”โดยมุ่งมั่นค้นคว้าพระไตรปิฎกและลงมือเขียนหนังสือเล่มแรกในนาม พุทธทาส เรื่อง “ตามรอยพระอรหันต์” เพื่อถ่ายทอดแผนที่สำหรับการเดินทางไปสู่ความเป็นพระอรหันต์
ค้นคว้า-ขบคิด-ทดลอง-เผยแผ่
ในขณะที่เริ่มงานเผยแผ่ไปพร้อม ๆ กับการศึกษาพระไตรปิฎก ท่านยังได้ทดลองปฏิบัติใช้ชีวิตตามแบบสงฆ์ในสมัยพุทธกาลอย่างเอาจริงเอาจังในพรรษาปี ๒๔๗๗ และจดบันทึกข้อมูลการฝึกฝนตนเองอย่างเข้มข้นพิเศษ เพื่อทบทวนผลการปฏิบัติลงใน “สมุดบันทึกปฏิบัติธรรมรายวันแบบพุทธทาส” ที่ออกแบบพิมพ์เอง มีส่วนกรอกข้อความและสรุปคะแนนประจำวัน เป็นหลักฐานให้เห็นถึงความเพียรและความเข้มแข็งในจิตใจของท่านพุทธทาส ผู้อุทิศตนเป็นทาสของพระพุทธเจ้า
สำหรับธรรมะที่ท่านใช้เป็นหลักในการเรียนรู้ไม่ว่าเรื่องใด รวมถึงการปฏิบัติธรรมนั้น คือ โยนิโสมนสิการ ซึ่งท่านกล่าวว่า
“...ได้รับประโยชน์มากที่สุด เป็นการเพิ่มพูนความรู้หรือปัญญาอันลึกซึ้ง มันก็มาจาก โยนิโสมนสิการ ไม่ว่าเรื่องบ้าน เรื่องโลก เรื่องธรรมะ...”
นอกจากนี้ การสร้างความรู้ของท่านพุทธทาสยังมาจากการเรียนรู้ที่ตั้งใจไปเป็นครูสอนผู้อื่นได้ ดังเนื้อความในจดหมายที่มีไปถึงอาจารย์กรุณา กุศลาสัย เมื่อสมัยเป็นสามเณรว่า
การเผยแผ่, เปนสิ่งที่ขาดเสียไม่ได้ การให้เท่ากับการรับ, (สำหรับธรรมทาน) เพราะเมื่อเรากำหนดใจอย่างหนักเพื่อพูดอะไรให้เขาฟังนั่นเอง เราจะนึกอะไรได้ดี ๆ และใหม่ ๆ ขึ้นมาได้ และนั่นมันได้แก่เราผู้จะให้เขา มากกว่าที่เขาผู้รับฟังได้รับหรือจำเอาไปได้...
ผลผลิตจากสิบปีในสวนโมกข์
 
สิบปีแรกในสวนโมกข์ของท่านพุทธทาสเป็นช่วงเวลาของการทดลองใช้ชีวิตพรหมจรรย์ตามแบบสงฆ์ในสมัยพุทธกาล คืออยู่อย่างสมถะและใกล้ชิดธรรมชาติมากที่สุด ซึ่งท่านได้ถือเป็นหลัก “การเป็นอยู่อย่างธรรมชาติ” เช่นนี้ตลอดช่วงชีวิต
ผลผลิตที่เกิดขึ้นจากการขบคิด ศึกษาพระไตรปิฎกอย่างจริงจัง และลงมือทดลองปฏิบัติเฉกเช่นเดียวกับการค้นคว้าทดลองทางวิทยาศาสตร์ได้ถูกถ่ายทอดเป็นงานเขียนและปาฐกถาธรรมต่าง ๆ มากมาย ดังนี้
ปี ๒๔๗๓
- เขียนบทความชิ้นแรก ชื่อ “ประโยชน์แห่งทาน”เพื่อพิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพพระอุปัชฌาย์
- เขียนบทความเรื่อง “พระพุทธศาสนาขั้นปุถุชน” พิมพ์เป็นหนังสือแจกงานฉลองโรงเรียนนักธรรมวัดพระบรมธาตุไชยาฯ
ปี ๒๔๗๗
- เริ่มแปล “พุทธประวัติจากพระโอษฐ์”
- แปล “บาลีมหาสติปัฏฐานสูตร” พิมพ์ลงในพุทธสาสนา
- ๑๗ กันยายน เขียนบทความขนาดยาวเรื่อง “การปฏิบัติธรรม”
- เขียนบันทึก “สมุดปฏิบัติธรรมรายวันแบบพุทธทาส”
ปี ๒๔๗๘
- เริ่มแปล “อริยสัจจากพระโอษฐ์” พิมพ์ลงในพุทธสาสนา
ปี ๒๔๗๙
- พิมพ์รวมเล่ม “พุทธประวัติจากพระโอษฐ์” ครั้งแรก
ปี ๒๔๘๐
- แปล “ลังกาวตารสูตร”พระพระสูตรฝ่ายมหายาน ลงในพุทธสาสนา
ปี ๒๔๘๑
- วันที่ ๑๑ มกราคม เรียบเรียง “เกียรติคุณของพระพุทธเจ้า”หนังสือ พุทธประวัติสำหรับคนหนุ่มสาว
- เขียนบทความขนาดยาว “อนัตตาของพระพุทธเจ้า”
ปี ๒๔๘๒
- เขียนบทความขนาดยาว ๕๕ หน้า “ตอบปัญหาบาทหลวง” หักล้างความเชื่อเกี่ยวกับพระเจ้าแบบบุคคลอย่างรุนแรง ลงในพุทธสาสนา
ปี ๒๔๘๓
- ๑๓ กรกฎาคม แสดงปาฐกถาที่ กรุงเทพฯ เป็นครั้งแรก หัวข้อเรื่อง “วิถีแห่งการเข้าถึงพุทธธรรม”
ปี ๒๔๘๔
- เริ่มแปล “ขุมทรัพย์จากพระโอษฐ์” ลงในพุทธสาสนา
ปี ๒๔๘๖
- แสดงปาฐกถาธรรมที่พุทธสมาคมแห่งประเทศไทย เรื่อง “ความสงบในฐานะเป็นผลแห่งการเข้าถึงพุทธธรรม”
ปี ๒๔๘๖
- เขียนความเรียงเชิงอัตชีวประวัติ เกี่ยวกับชีวิตและผลงานในสวนโมกข์ที่ผ่านมา ชื่อ “สิบปีในสวนโมกข์”
อ้างอิง
- พุทธทาสภิกขุ. สิบปีในสวนโมกข์ อัตชีวประวัติวัยหนุ่มของพุทธทาสภิกขุ
- พุทธทาสภิกขุ. อนุทินปฏิบัติธรรม: ศึกษาชีวิตอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ บันทึกรายวันขณะฝึกฝนตนอย่างเข้มข้นในวัยหนุ่ม
- พระประชา ปสสนฺนธมฺโม และสันติสุข โสภณสิริ บรรณาธิการ. ภาพชีวิต ๘๐ ปีของพุทธทาสภิกขุ
โฆษณา