20 ก.พ. 2022 เวลา 07:40 • ไลฟ์สไตล์
ย่อยประวัติศาสตร์ 160 ปี ของ TAG Heuer เล่าผ่าน 14 เรื่อนเวลาน่าสนใจ
ย่อยประวัติศาสตร์ 160 ปี TAG Heuer สรุปผ่าน 14 เรือนเวลาแบบคร่าวๆ
อาทิตย์ที่ผ่านมา #TheSubtitlesStory มีโอกาสไปเยี่ยมชมนิทรรศการ TAG Heuer Heritage pop-up museum มา ซึ่งภายในงานมีการจัดแสดง 12 เรือนเวลาประวัติศาสตร์อีกด้วย หากใครสนใจก็สามารถไปชมกันได้ตั้งแต่วันนี้ - 22 กุมภาพันธ์ 2565 ที่ ธารา ฮอลล์ ชั้น M ไอคอนสยาม
สำหรับวันนี้เราจะย่อยประวัติศาสตร์ตลอดระยะเวลา 160 ปีของแบรนด์ TAG Heuer โดยเล่าผ่านนาฬิกาประวัติศาสตร์ทั้ง 14 เรื่อนให้อ่านกันแบบคร่าวๆ
2
TAG Heuer เริ่มต้นขึ้นในปี 1860 โดย เอดูอาร์ต ฮอยเออร์ ( Edouard Heuer ) พร้อมเปิดร้านนาฬิกาสาขาแรก ณ Saint-Imier ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ และในช่วงเวลานั้นยังเน้นการผลิตนาฬิกาพก หรือ pocket watch
1
ช่วงเริ่มต้นสร้างแบรนด์ในปี ค.ศ. 1860
1. Time of Trip (1911): เปิดตัวนาฬิกาโครโนกราฟแบบ 12 ชั่วโมงเป็นเรือนแรกของโลก โดยออกแบบมาสำหรับติดตั้งบนแผงหน้าปัดรถยนต์และเครื่องบิน
2. First Wrist Chronographs (1914): TAG Heuer ผลิตนาฬิกาข้อมือโครโนกราฟ เป็นรุ่นแรกโดยดัดแปลงมาจากนาฬิกาพก (pocket watch)
3. Heuer Mikrograph (1916): จุดเริ่มต้นของนาฬิกาจับเวลาแบบไขลานเรือนแรกของโลก ขับเคลื่อนโดยกลไก Oscillating Pinion ที่มีความแม่นยำ 1/100 วินาที โดย ชาร์ลส์ โอกุสต์ ฮอยเออร์ (Charles-Auguste Heuer) บุตรชายของ เอดูอาร์ต ฮอยเออร์
4. Heuer Solunar (1949): ในช่วงปลายยุค 1940s TAG Heuer มีการพัฒนานวัตกรรมกลุ่มนาฬิกาโครโนกราฟ โดยเน้นผลิตเรือนเวลาสำหรับกิจกรรมผจญภัย กีฬา และการเดินทางมากขึ้น ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ นาฬิการุ่น Solunar นาฬิกาที่สามารถบอกระดับน้ำขึ้นน้ำลงสำหรับการเดินเรือ โดย แจ็ค ฮอยเออร์ (Jack Heuer) หลานชายของฮอยเออร์ ซึ่งต่อมาขึ้นเป็นผู้บริหารแบรนด์รุ่นที่ 4 ร่วมคิดค้นกับศาสตราจารย์ของเขา โดย Heuer Solunar ถูกผลิตให้กับ Abercrombie & Fitch แบรนด์เสื้อผ้าสำหรับกีฬาชื่อดังของสหรัฐในยุคนั้น
การก้าวสู่ตำแหน่งของ Jack Heuer และเรือนเวลาอันน่าจดจำ
5. Heuer Ring-Master (1957): อีกขั้นของนาฬิกาพกจับเวลา โดยครั้งนี้มาพร้อมกับขอบหน้าปัดสีสันสดใสที่สามารถถอดเปลี่ยนได้ โดยขอบหน้าปัดแต่ละสีจะมีหน้าที่แตกต่างกัน อาทิ สีส้มใช้จับเวลาสำหรับการแข่งชกมวย สีเหลืองใช้สำหรับการแข่งเรือยอทช์ เป็นต้น
และ หลังจากที่ แจ็ค ฮอยเออร์ (Jack Heuer) หลานชายของ เอดูอาร์ต ฮอยเออร์ ( Edouard Heuer ) ผู้ก่อตั้งแบรนด์ TAG Heuer เข้ามารับตำแหน่งผู้บริหารในปี 1958 แบรนด์นาฬิกาสัญชาติสวิสแห่งนี้ก็มีการเปลี่ยนแปลงที่น่าสนใจมากมาย
6. First Swiss Timepiece in Space (1962): อีกหนึ่งโมเมนต์สำคัญเมื่อ จอห์น เกล็นน์ (John Glenn) นักบินอวกาศชาวอเมริกันสวมใส่นาฬิกาจับเวลาของ TAG Heuer ขึ้นไปโคจรรอบโลก โดยครั้งนั้นจับเวลาได้ 4 ชั่วโมง 56 นาที
วิวัฒนาการของเรือนเวลาโครโนกราฟที่มาคู่กับการแข่งรถ
7. Heuer Carrera (1963): เป็นอีกหนึ่งเรือนเวลายอดนิยมของนักแข่งรถ โดยนาฬิกาโครโนกราฟจับเวลาแบบไขลาน ขับเคลื่อนด้วยกลไก Valjoux 72 รุ่นนี้ ได้ชื่อมาจากโปรแกรม Carrera Panamericana การแข่งรถข้ามพรมแดนเม็กซิโก ที่จัดขึ้นในช่วงปี 1950 - 1954
8. Heuer Monaco (1969): เรียกได้ว่าเป็นอีกเรือนในตำนานของ TAG Heuer เลยก็ว่าได้ กับ Heuer Monaco นาฬิกาโครโนกราฟทรงสี่เหลี่ยมรุ่นแรกของโลก ซึ่งล่าลุดเพิ่งฉลองครบรอบ 50 ปีเมื่อปี 2019 ที่ผ่านมา โดยรุ่น Monaco นี้เผยโฉมครั้งแรกในปี 1969 และถูกสวมใส่โดย สตีฟ แมคควีน (Steve McQueen) นักแสดงฮอลีวูดระดับตำนาน ขณะรับบทเป็น Michael Delaney นักแข่งรถในภาพยนตร์เรื่อง Le Mans
9. TAG Heuer Formula 1 (1986): สังเกตไหมทำไม TAG Heuer มักเกี่ยวโยงกับกีฬาแข่งรถเสมอ? สำหรับรุ่น Formula 1 ก็เช่นกัน เป็นการร่วมมือกับทีมแข่งรถ Marlboro McLaren Honda ในสนามแข่งรถยนต์ทางเลียบฟอร์มูลาวัน โดยมาในตัวเรือนพลาสติกสีสันสดใส ขับเคลื่อนด้วยกลไกควอตซ์ พร้อมคุณสมบัติกันน้ำลึกที่ระดับ 200 เมตร
10. TAG Heuer Sport & Elegance (1987): S/EL คือ ตัวแทนยุคแห่งความหรูหรามีระดับของ TAG Heuer ซึ่งเป็นการยกระดับจากนาฬิกาดำน้ำแบบดั้งเดิม สู่เรือนเวลาที่สามารถสวมใส่ไปดินเนอร์และออกงานได้ นาฬิการุ่นนี้ Eddy Schöpfer ออกแบบให้กับ ไอร์ตัน เซนน่า (Ayrton Senna) นักแข่งรถชาวบราซิลและแชมป์ Formula 1 และท้ายที่สุดทางแบรนด์ได้เปลี่ยนชื่อซีรีส์ S/EL เป็น Link ในปี 1999
อีกหนึ่งการเปลี่ยนแปลง เมื่อ TAG Heuer ถูกเข้าซื้อกิจการโดย LVMH ในปี 1999 โดยภายหลัง Jack Heuer ได้กลับเข้ามารับตำแหน่ง Honorary Chairman ในปี 2001
เรือนเวลายุคใหม่หลังการเข้ามาบริหารโดยเครือ LVMH
11. TAG Heuer Monaco V4 (2004): เรือนเวลาที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นอัจฉริยะทางเทคนิค ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจมาจาก Heuer Monaco ปี 1986 โดย Monaco V4 มาในตัวเรือนที่ทำขึ้นจากหลากหลายวัสดุ อาทิ แพลตตินั่ม, ไทเทเนียม, คาร์บอน และโรสโกลด์
12. TAG Heuer Aquaracer (2004): เผยโฉมไลน์นาฬิกา Aquaracer เป็นครั้งแรกโดยเป็นการพัฒนาจากนาฬิกาดำน้ำที่ผลิตขึ้นในช่วงต้นยุค 1980s โดย Aquaracer รุ่นแรกนี้มีความสามารถดำน้ำลึกที่ระดับ 300 เมตร ต่อมาภายหลังในปี 2009 ได้มีการพัฒนาให้สามารถดำน้ำลึกมากถึง 500 เมตรเลยทีเดียว
13. TAG Heuer Connected (2015): ก้าวเข้าสู่ยุคดิจิทัลกับสมาร์ตวอทช์รุ่นแรกในปี 2015 โดยในปัจจุบัน TAG Heuer Connected เพิ่งเผยโฉมเรือนเวลาเจเนอเรชั่นล่าสุดกับ Connected Calibre E4 ที่มาในตัวเรือนขนาด 42 มม. และ 45 มม.
TAG Heuer Aquaracer Professional 200 ล่สุด
14. TAG Heuer Aquaracer Professional 200 (2022): ล่าสุดกับเรือนเวลาสปอร์ตในตระกลู Aquaracer ครั้งนี้มาพร้อมกับตัวเรือนสเตนเลสสตีล 2 ขนาด คือ 40 มม. และ 30 มม. โดยมีให้เลือกทั้งแบบกลไกออโตเมติก และกลไกควอทซ์ หากใครสนใจก็สามารถไปเลือกจับจองกันได้ที่ TAG Heuer แฟลกชิพบูติค
นอกจากนี้หากใครอยากรู้รายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับ TAG Heuer สามารถหาอ่านเพิ่มเติมจาก references ด้านล่างนะคะ
และหากชอบบทความของเรา อย่าลืมกด Like เป็นกำลังใจให้เรามีแรงทำคอนเทนท์ต่อไปด้วยนะคะ
ขอบคุณค่ะ :)
Credits:
Watches Photography by Courtesy of TAG Heuer
Weir Photography by courtesy of The Subtitles Story
References:
#TheSubtitleStory #AllSmallThingsMatter #Watches #Design #History #TAGHeuer #TAGHeuerThailand #PacificaGroup #DontCrackUnderPressure
โฆษณา