22 ก.พ. 2022 เวลา 04:11 • สุขภาพ
ผ่าตัดกระดูกสันหลังแผลเล็ก ทำได้อย่างไร
6
เมื่อกล่าวถึงการผ่าตัดกระดูกสันหลัง บางท่านอาจจินตนาการถึงภาพแผลผ่าตัดขนาดใหญ่กลางหลัง ความเจ็บปวดรุนแรงภายหลังการผ่าตัด หรือเวลาในการพักฟื้นที่ยาวนานโดยไม่สามารถทำกิจกรรมที่ชอบได้
14
ภาพเหล่านั้นเป็นความจริงที่เกิดขึ้นในการผ่าตัดกระดูกสันหลังในอดีต ในยุคที่เครื่องมือที่ใช้ในการผ่าตัดยังไม่ถูกพัฒนาเหมือนในปัจจุบัน แพทย์จึงจำเป็นต้องทำการผ่าตัดเปิดแผลใหญ่ด้วยเหตุผลต่างๆ เช่น ไม่มีเครื่องเอกซเรย์ ไม่มีกล้องจุลทรรศน์ขยายภาพ ไม่มีไฟที่ใช้ส่องในการผ่าตัดที่เหมาะสม หรือขาดศัลยแพทย์ที่ถูกฝึกฝนมาเฉพาะทาง ซึ่งความจำเป็นที่ต้องเปิดแผลใหญ่นี้เองทำให้เกิดผลข้างเคียงขณะผ่าตัดและหลังผ่าตัดตามมา อาทิ ความเจ็บปวดรุนแรงหลังผ่าตัด ผู้ป่วยเสียเลือดมากขณะผ่าตัด โรคแทรกซ้อนระหว่างและหลังผ่าตัด ผลข้างเคียงจากการให้ยาแก้ปวดระดับสูง เช่น คลื่นไส้อาเจียน มึนงง ท้องผูก
ในช่วงสิบปีหลังมานี้ ความรู้และเทคโนโลยีการผ่าตัดกระดูกสันหลังได้ถูกพัฒนาขึ้นมากอย่างต่อเนื่อง ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเทคนิคการผ่าตัด รวมถึงผลการรักษาที่ดีขึ้นเช่น เทคนิคการผ่าตัดโรคหมอนรองกระดูกปลิ้นกดทับเส้นประสาทผ่านกล้องเอ็นโดสโคป ศัลยแพทย์จะสอดกล้องเอ็นโดสโคปผ่านทางแผลผ่าตัดซึ่งมีขนาดเพียง 7.9 มิลลิเมตร โดยเลนส์ของเอ็นโดสโคปจะอยู่ที่ปลายกล้อง เปรียบเสมือนดวงตาของศัลยแพทย์อยู่ในตัวผู้ป่วย ทำให้แพทย์สามารถมองเห็นความผิดปกติได้อย่างชัดเจน สามารถเลือกผ่าตัดออกเฉพาะส่วนที่ทำให้เกิดปัญหาได้โดยไม่ต้องตัดเลาะกล้ามเนื้อส่วนที่ดีออก กล้ามเนื้อได้รับการบอบช้ำน้อย เสียเลือดน้อย ผู้ป่วยจึงสามารถยืนและฝึกเดินได้ทันทีหลังผ่าตัด และสามารถกลับบ้านภายในวันเดียวกัน จากในอดีตที่ต้องนอนพักฟื้นในรพ.อย่างน้อย 2-3วัน
อีกตัวอย่าง ได้แก่เทคนิคการรักษาผู้ป่วยที่เป็นโรคกระดูกสันหลังเคลื่อนซึ่งต้องทำการผ่าตัดเพื่อเชื่อมกระดูก ในอดีตศัลยแพทย์จำเป็นต้องผ่าตัดเปิดแผลใหญ่เพื่อให้มองเห็นได้ชัดเจนขณะทำการเชื่อมกระดูก ซึ่งปัจจุบันมี เครื่องเอกซเรย์ 3มิติ และคอมพิวเตอร์นำวิถี เครื่องมือนี้มีลักษณะคล้ายตัวอักษร O (โอ) ในภาษาอังกฤษจึงมีชื่อเรียกสั้นๆ ว่า O-arm ซึ่งเครื่องมือนี้ยังมีจำนวนแค่ไม่กี่เครื่องในประเทศไทย
O-arm ใช้หลักการสแกนด้วยเอกซเรย์ (x-ray) เพื่อสร้างภาพสามมิติ และเชื่อมต่อเข้ากับเครื่องคอมพิวเตอร์นำวิถีซึ่งมีหลักการทำงานคล้ายอุปกรณ์นำทาง (GPS) ในรถยนต์ ช่วยให้ศัลยแพทย์เห็นภาพกระดูกอย่างชัดเจนทุกมิติจากเครื่องคอมพิวเตอร์ ส่งผลให้วางแผนและทำการใส่เครื่องมือเพื่อเชื่อมกระดูกได้แม่นยำถึง 99% โดยไม่จำเป็นต้องเปิดแผลผ่าตัดขนาดใหญ่ ลดการเสียเลือด โดยผู้ป่วยแทบไม่จำเป็นต้องได้รับเลือดหลังการผ่าตัด ระยะพักฟื้นในโรงพยาบาลหลังการผ่าตัด ลดลงจาก 7-10 วัน เหลือเพียง 2วัน
ปัจจุบันที่สถาบันกระดูกสันหลังบำรุงราษฏร์ มีผู้ป่วยเข้ารับการผ่าตัดด้วยการผ่าตัดเชื่อมกระดูกสันหลัง และผ่าตัดหมอนรองกระดูกผ่านกล้องเอ็นโดสโคปด้วยเทคนิคดังกล่าวแล้วกว่า 1,000 ราย นอกจากนั้น รพ.บำรุงราษฎร์ร่วมกับ รพ. เซนต์แอนนา และบริษัทริชาร์ด วูล์ฟประเทศเยอรมนี ในฐานะศูนย์ฝึกอบรมการผ่าตัดผ่านกล้องเอ็นโดสโคปแห่งเอเชีย ยังจัดการอบรมให้กับศัลยแพทย์กระดูกสันหลังทั้งชาวไทยและต่างชาติ จากนานาประเทศ อาทิเช่น อเมริกา, ยุโรป, จีน, ญี่ปุ่น, เกาหลี เป็นประจำปีละครั้ง เพื่อเผยแพร่เทคนิคการผ่าตัดชนิดนี้ออกไปในวงกว้างอีกด้วย
เรียบเรียงโดย สถาบันกระดูกสันหลังบำรุงราษฎร์ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา