21 ก.พ. 2022 เวลา 00:30 • คริปโทเคอร์เรนซี
มาทำความรู้จัก Lightning Network เบื้องต้น!
สิ่งที่เข้ามาแก้ปัญหาความล่าช้าในเครือข่าย Bitcoin! 😲
เบื้องหลังการทำงานของ Bitcoin และเหรียญคริปโทฯอื่นๆแน่นอนว่าคือบล็อกเชน และแน่นอนว่าแต่ละเหรียญหรือโปรเจคก็พยายามที่จะทำให้การทำงานนั้นรวดเร็ว หากคุณเข้าใจ Bitcon เบื้องต้น จะรู้ว่าความเร็วในการทำธุรกรรมและค่าธรรมเนียมนั้นคืออีกปัญหาที่สำคัญ
และอะไรที่จะมาช่วยแก้ปัญหาเหล่านี้ ? ลองมาทำความรู้จัก Lightning Network สิ่!
🎯 Lightning Network คืออะไร ?
Lightning Network คือเครือข่ายที่ถูกออกแบบมาเพื่อแก้ไขปัญหาความล่าช้าในเครือข่ายของ Bitcoin โดยจะแก้ปัญหาในส่วนของปัญหาการประมวลผลธุรกรรมมีที่จำนวนมาก ซึ่ง Lighting Network นี้จะเป็นเลเยอร์ที่ 2 ที่เพิ่มเข้าไปในบล็อกเชนของ Bitcoin โดยจะทำให้สามารถทำธุรกรรมแบบ off-chain ได้
แล้ว off-chain คืออะไร ? อธิบายสั้นๆง่ายๆก็คือการทำธุรกรรมที่ยู่นอกเครือข่ายบล็อกเชนนั่นเอง โดยรายละเอียดธุรกรรมจะถูกบันทึกไว้นอกบล็อกเชน จนขั้นตอนสุดท้ายจะถูกรวบเข้าเครือข่ายอีกทีหนึ่งแทนที่จะบันทึกลงเครือข่ายทุกๆธุรกรรม ซึ่งทำให้การตรวจสอบธุรกรรมบนเครือข่ายนั้นทำได้รวดเร็วขึ้น มองง่ายๆเหมือนเราขับรถบนทางด่วน แล้วมีช่องทางใหม่เพิ่มขึ้นมา ทำให้รถไม่ติดยังไงหล่ะ!
หากคุณยังไม่รู้จักบล็อกเชน ว่าคืออะไร สามารถอ่านได้ที่นี่ 👇
ปัจจุบันเครือข่าย Bitcoin โดยเฉลี่ยแล้วสามารถประมวลผลได้ 3 ถึง 7 รายการต่อวินาที (tps) หาก Bitcoin ในขณะที่ Visa ประมวลผลได้ประมาณ 4,000 tps และ… Lightning Network สามารถขยายได้ถึงล้าน tps !!
🎯 Lightning Network ทำงานอย่างไร ?
🟠 1. สร้าง Payment Channels
เปิดช่องทาง (Payment Channels) โดยผู้ใช้ทั้งสองจะต้องฝากเงินเข้าในกระเป๋าเงินแบบหลายลายเซ็น หรือที่เรียกว่า “Multi-Signature Wallet” เงินที่ฝากเข้ากระเป๋า multi-sig จะถูกล็อคไว้ตลอดระยะเวลาที่ Payment Channels ยังคงเปิดอยู่ ซึ่งแต่ละฝ่ายจะถือ Private Key ของกระเป๋า multi-sig ไว้เพื่อตรวจสอบและลงนามในการทำธุรกรรมทั้งหมด จากนั้นจะถูกบันทึกลงบล็อกเชนหลัก
🟠 2. เริ่มการทำธุรกรรม
ทั้งสองฝ่ายสามารถดำเนินการโอนและแลกเปลี่ยนระหว่างกันได้ แต่ละธุรกรรมที่เกิดขึ้นใน Payment Channels ต้องใช้ลายเซ็นดิจิทัลของทั้งสองฝ่ายผ่าน Private Key
ในส่วนของการสร้าง Payment Channels จะเกิดขึ้นระหว่างคน 2 คน แล้วถ้าเราอยากทำธุรกรรมกับคนอื่นที่ไม่ได้เปิดกับเราหล่ะ? เราก็สามารถทำได้โดยการที่ธุรกรรมจะวิ่งไปติดต่อคนๆนั้นผ่านทางเครือข่าย ตาม Payment Channels ที่เปิดคู่กันของแต่ละคน
เช่น A เปิด Channel กับ B | B เปิด Channel กับ C แล้ว A อยากโอนเหรียญไปหา C เวลาส่งก็จะส่งผ่าน B ไป C นั่นเอง
🟠 3. ปิด Payment Channels
เมื่อใดก็ตามที่ทั้งสองฝ่ายทำธุรกรรมเสร็จสิ้นหรือต้องการทราบยอดเงินคงเหลือก็สามารถปิด Payment Channels ได้ ธุรกรรมสุดท้ายจะได้รับการยินยอมจากทั้งสองฝ่ายและยอดคงเหลือสุดท้ายจะถูกส่งไปยังบล็อกเชนหลัก ในกรณีที่มีปัญหาเกิดขึ้น ทั้งสองฝ่ายสามารถใช้จำนวนยอดล่าสุดเพื่อพิสูจน์และกู้คืน
🎯 ข้อดี-ข้อจำกัดของ Lightning Network
🟠 ข้อดี
1. ธุรกรรมที่รวดเร็ว
ด้วยธุรกรรมที่ดำเนินการนอกเครือข่าย จะช่วยลดการโหลดจำนวนมากบนเครือข่ายได้มากเลยทีเดียว
2. ค่าธรรมเนียมต่ำ
ด้วยธุรกรรมที่ดำเนินการนอกเครือข่าย จะทำให้ธุรกรรมไม่แออัด ค่าธรรมเนียมก็ไม่จำเป็นต้องเยอะ!
3. ความสามารถในการปรับขนาด (Scalability)
จากที่กล่าวไปทั้งหมดเกี่ยวกับ Lightning Network นั้น จะเห็นได้ว่ามันช่วยให้บล็อกเชนสามารถปรับขนาดและรองรับธุรกรรมหลายล้านหรือพันล้านรายการบนเครือข่ายได้
🟠 ข้อจำกัด
1. ไม่เหมาะกับธุรกรรมขนาดใหญ่
ข้อจำกัดปัจจุบันของ Lightning Network (ในโหมดเบต้า) คืออัตราความสำเร็จที่ต่ำ (1%) สำหรับธุรกรรมที่สูงกว่า $200 การค้นพบนี้ดูเหมือนจะบ่งชี้ว่าขณะนี้ LN มุ่งเน้นไปที่ธุรกรรมขนาดเล็ก และยังไม่เหมาะสำหรับการส่งการชำระเงินจำนวนมาก
2. ความโปร่งใสน้อยลง
เนื่องจาก Lightning Network เป็นการทำธุรกรรมนอกเครือข่าย และจะบันทึกลงบล็อกเชนหลักด้วยยอดคงเหลือสุดท้ายเท่านั้น ทำให้ความโปร่งใสอาจดูน้อยลงได้
Lightning Network เริ่มมีการนำไปใช้มากขึ้น อย่างไรก็ดีอนาคตก็ต้องติดตามต่อไปว่า Lightning Network จะมีการพัฒนาอะไรให้สามารถแก้ปัญหาเครือข่าย Bitcoin ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
โฆษณา