21 ก.พ. 2022 เวลา 14:39 • หนังสือ
การบรรยายคืออะไร...
การบรรยายคือการพรรณนา...
การพรรณนาคือ การใช้ข้อความหรือตัวอักษรเพื่อให้ผู้อ่านเกิดความรู้สึกกับข้อความที่กำลังอ่าน ทำให้เกิดความรู้สึกร่วมกับผู้เขียน
นั่นคือ การพรรณนาที่ดีสำหรับตัวอักษรสีน้ำเงิน
สังเกตประโยคสุดท้าย...
#เกิดความรู้สึกร่วมกับผู้เขียน
นั่นหมายความว่า ก่อนที่ผู้อ่านจะรู้สึกได้ นักเขียนจะต้องรู้สึกก่อน และบรรยายสิ่งเหล่านั้นออกมาเป็นตัวอักษร
คำถามคือ เวลามีปัญหาเรื่องการบรรยาย เราเห็นภาพในหัวชัดเจนพอหรือยัง
ถ้าคำตอบคือ ใช่ ...
ยินดีด้วยค่ะ คุณรออ่านบทความถัดไปได้เลย
แต่ถ้าคำตอบคือ ไม่ใช่ ...
ยินดีด้วยค่ะ วันนี้ตัวอักษรสีน้ำเงินมีคำตอบให้
3 คำถามที่จะทำให้เราเห็นภาพในหัวชัดเจน...
#ทำความเข้าใจกับตนเอง
ปัญหาในการบรรยายฉากหลัก ๆ เลยคือ เราไม่เข้าใจตนเอง ไม่ว่าเข้าใจว่า ตัวเราเองมีวิธีการเขียนยังไง ควรเอาตัวเองไปวางตรงไหนของฉาก ซึ่งปัญหานี้เป็นปัญหาสำหรับนักเขียนหน้าใหม่ส่วนมาก เพราะยังตกลงกับตัวเองไม่ได้ว่าฉันควรจะเขียนแบบไหน
วิธีแก้ง่าย ๆ ก็คือ อ่านหนังสือนิยายเพิ่มขึ้น และลองเลือกเล่มที่เราชอบมาสักสามเล่ม ถ้าเราอ่านมันอีกครั้งอย่างนักเขียน เราจะเข้าใจว่า สามเล่มที่เลือกมาจะคล้ายคลึงกันแน่นอน
ขั้นต่อไปไม่ใช่วิธีการลอกงานคนอื่นมานะคะ (ทำแบบนั้นไม่น่ารักมาก ๆ) แต่ให้สังเกตการจัดวางประโยค ว่านักเขียนคนนั้นเขามีการวางรูปแบบประโยคยังไง
ถ้ายังเห็นภาพไม่ชัดเจน ดูตามตัวอย่างนะคะ
#ตัวอย่าง
ตย.1 แสงฉานเดินอมยิ้มออกมาจากห้องนั่งเล่น สร้อยคำเดินมานั่งแทนที่ สายตาจ้องไปที่วงเดือน ที่ยังคงนั่งอยู่ที่เดิม
ตย.2 สร้อยคำเดินมานั่งแทนที่แสงฉาน ที่เพิ่งเดินออกไป สายตาไม่ละจากวงเดือนแม้สักเสี้ยววินาที
จากตัวอย่างประโยคข้างบน ความหมายเหมือนกัน แต่ใช้คำต่างกัน ซึ่งไม่มีอะไรผิด เพียงแต่เราชอบวิธีการเขียนต่างกัน
ตย.1 ผู้เขียนมองจากภายนอกห้อง (เรายืนนอกห้อง มองแล้วเขียน)
ตย.2 ผู้เขียนมองจากภายในห้อง (เรายืนในห้อง มองแล้วเขียน)
วิธีเข้าใจตนเองง่าย ๆ ในการบรรยายคือ เรากำลังอยู่ส่วนไหนของฉาก ๆ นั้น แล้วบรรยายตามที่กำลังมองเห็น
#ทำความเข้าใจกับฉาก
ข้อนี้สำคัญมาก เนื่องจากเกี่ยวพันกับข้อแรก ถ้าเราไม่รู้จักฉาก ฉากนั้นดีพอ ก็ยากที่จะสื่อสารออกมาได้สำเร็จ
ทำความเข้าใจฉาก หมายถึง เราต้องมองเห็นพื้นที่ตรงนั้นที่ตัวละครอยู่โดยรอบทั้งหมด อะไรอยู่ตรงไหนเป็นยังไง เพราะเราจะได้หยิบตรงนั้นตรงนี้มาอธิบายได้หลากหลาย ห้องหนึ่งคงไม่ได้ใช่แค่หนึ่งบทหรือสองบท และไม่ใช่แค่ฉากสองฉากแน่นอน ดังนั้นถ้าเราไม่เข้าใจฉากมากพอ เราก็จะอธิบายจุดเดิม ๆ ซ้ำจนน่าเบื่อ
ตัวอย่าง ฉากคือห้องนอน (มีอะไรประกอบบ้าง เราอยู่ตรงไหนในการเล่าเรื่อง)
ตย.1 แสงฉานเดินอมยิ้มออกมาจากห้องนั่งเล่น สร้อยคำเดินมานั่งแทนที่ สายตาจ้องไปที่วงเดือน ที่ยังคงนั่งอยู่ที่เดิม ภายในห้องเริ่มปกคลุมไปด้วยความเมฆหมอกสีดำ แม้แสงไฟในห้องจะส่องสว่างสะท้อนกับสีขาวของผนังห้อง แสงฉานไม่ต้องเหลียวหลังมอง ก็สามารถคาดเดาได้ถึงความดำมืดของจิตใจคนอยู่อาศัย
ตย.2 สร้อยคำเดินมานั่งแทนที่แสงฉาน ที่เพิ่งเดินออกไป สายตาไม่ละจากวงเดือนแม้สักเสี้ยววินาที บรรยากาศอึมครึมภายในห้องค่อย ๆ ก่อตัวขึ้น ผ่านประตูไม้สักราคาแพง แสงฉานแทบจะกลั้นหัวเราะไว้ไม่อยู่ สิ่งของแพงพวกนี้ไม่ได้ยกระดับจิตใจคนอยู่อาศัยจริง ๆ
จากทั้งสองตัวอย่าง เราใช้มุมมองคนเขียนเดิม แล้วใส่บรรยากาศโดยรอบเข้าไป นั่นหมายความว่า ถ้าเราไม่รู้จักทุกซอกทุกมุมของฉากดีพอ ก็ยากที่จะบรรยายให้ต่างไปได้
#ทำความเข้าใจกับตัวละคร
ข้อนี้หมายรวมถึงทุกอย่างที่ประกอบกันเข้าจนเป็นคนหนึ่งคน ลักษณะท่าทาง นิสัย จิตใจภายนอก ภายใน ทั้งหมดที่เป็นคนนี้ เราที่เป็นนักเขียนจะต้องรู้ทั้งหมด เพราะส่งผลต่อโครงสร้างเรื่องทั้งหมด ทุกอย่างในเรื่อง ในนิยาย ดำเนินได้ก็เพราะมีคนหนึ่งคนหรือมากกว่านั้นเคลื่อนไหว ดำเนินชีวิต และตัดสินใจทำอะไรบางอย่างกับชีวิต
ตัวละครคือหัวใจทั้งหมดของเรื่อง...
จงทำความรู้จักกับพวกเขาในทุกด้านและทุกมิติ รับรองว่าเราจะได้เรื่องของพวกเขามาเล่าสู่คนอ่านอีกเยอะมาก...
ทั้ง 3 ข้อนี้เป็น พื้นฐานเบื้องต้นในการบรรยาย ฉะนั้นลองฝึกมองให้ดี แล้วทำแบบฝึกหัดที่ได้ฝากไว้ให้ในวันเสาร์อาทิตย์ด้วยนะคะ แล้วตัวอักษรสีน้ำเงินจะมาร่วมทำด้วย
หวังว่าเทคนิคนี้จะเป็นประโยชน์กับเพื่อน ๆ นะคะ...
#ต้วอักษรสีน้ำเงิน
โฆษณา