21 ก.พ. 2022 เวลา 15:47 • สิ่งแวดล้อม
เรื่องเล่าสาวอาสา
สี่สาว จากซ้ายไปขวา พี่ทิพ เอ๊ะ ไก่ ดิว
เมื่อสี่สาวอาสาได้ไปช่วยทีมวิจัยจากสถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำ ตั้งกล้อง camara trap ไว้เมื่อเดือนมกราคม แล้วเค้าบอกว่าไหนๆ ก็มาตั้งแล้ว ก็มาช่วยๆ กันเก็บด้วยนะ งานเก็บกล้องของอาสาจึงเกิดขึ้นในอีกหนึ่งเดือนถัดมา
“เจอกันที่บ้านไร่ตอนหนึ่งพันหนึ่งร้อยนะพี่” เป็นการนัดหมายเวลาของไก่โดยจำมาจากเจ้าหน้าที่คุยกันในครั้งก่อน
เมื่อถึงวันเดินทางเราออกเดินทางจากนครนายก และนัดเจอกับพี่ทิพที่บางบัวทอง จากนั้นขับไปบ้านไร่เพื่อรับดิว และรอรับไก่ที่แว๊นมอเตอร์ไซด์มาจากบ่อพลอย (กาญจนบุรี)
“ผมต้องเอารถไปเช็ค และซื้อเสบี่ยงก่อน เดี๋ยวเราเจอกันที่แม่ดีประมาณบ่ายสองครึ่งนะครับ” ตูน ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของ WCS นัดหมายเวลากับทีมอาสา
เราเข้าไปรอทีมวิจัยฯ ที่หน่วยพิทักษ์ป่าห้วยแม่ดี ไม่นานนักตูนและทีมวิจัยก็มาถึง จัดแจงย้ายสัมภาระขึ้นรถ มุ่งหน้าสู่หน่วยพิทักษ์ป่าเขาบันได
“รอบนี้ถ้าเราเก็บรวดเดียวเลยแบบไม่ค้างพักในป่า พวกพี่จะไหวมั๊ย” ตูนถามทีมอาสา เพราะกลัวว่าเราจะเดินกันไม่ไหว
“ก็ได้นะ คิดว่าไหว ก็ดีเหมือนกันไม่ต้องแบกสัมภาระเข้าไป” พวกเราเห็นดีด้วย เพราะประเมินจากครั้งที่ไปตั้งกล้องคิดว่าระยะทางไปกลับสิบกิโลเมตร โดยที่ไม่มีสัมภาระหนักหนักนั้นไม่น่าจะเกินกำลังของเรานัก
เมื่อตกลงกันได้ตามนี้ ก็จัดการแบ่งทีมอาสา ออกเป็นสามทีม ทีมแรกมี ตูน เสริม นาถ พี่ทิพ ดิว ทีมนี้เก็บห้าจุด โดยจุดที่หนึ่งไปด้วยกันเพราะต้องไปทางเดียวกันอยู่แล้ว จากนั้นแยกกันไปเก็บอีกทีมละ ๒ จุด โดยให้ตูนไปกับเสริม ส่วนนาถไปกับอาสาทั้งสอง ทีมที่สองมีพี่ศรี และไก่ ทีมนี้เก็บแค่หนึ่งจุด แต่ต้องขับรถไปไกลหน่อย ส่วนจุดที่สาม ดล พี่รอด เรา รับหน้าที่เก็บ ๒ จุดเช่นกัน
ค่ำคืนนี้เจ้าหน้าที่และอาสานั่งล้อมวงพูดคุยกัน เสียงหัวเราะหยอกล้อที่เป็นกันเอง ความสนินสนมเกิดขึ้นไม่ยากนักในบรรยากาศแบบนี้ ประมาณสามทุ่มทุกคนต่างแยกย้ายเข้านอน เพราะพรุ่งนี้เรามีงานรออยู่
***************************
เช้านี้บรรยากาศดี ฟ้าครึ้มๆ ที่ดูเหมือนฝนจะตกทำให้อากาศไม่ร้อน ทุกคนตระเตรียมจัดการธุระส่วนตัว และเตรียมห่อข้าวสำหรับมื้อกลางวันในป่า เพราะวันนี้เราตั้งใจเก็บกล้องรวดเดียวให้เสร็จซึ่งจะกินเวลาไปจนถึงบ่ายหรืออาจจะเย็น
รถสองคันออกจากหน่วย มุ่งหน้าไปในแต่ละจุดที่วางแผนไว้ พี่ศรีและไก่ แยกไปอีกคัน เพราะไปไกลกว่าทีมอื่น ส่วนคันของเราที่เจ้าหน้าที่เรียกว่าพี่หมี (เรียกพี่เพราะอายุ และประสบการณ์รถคันนี้ถือว่าโชกโชนมาก) มีตูน เสริม นาถ พี่ทิพ ดิว ดล พี่รอด และเรา ไปด้วยกัน
ขับมาจากหน่วยไม่ไกลนัก ถึงจุดที่ต้องส่งทีมตูน โดยเลี้ยวซ้ายจากถนนเข้าไปซึ่งต้องขับรถเข้าไปในป่า ขับไปได้สักพักเจอกับไม้ล้มและตอไม้ขวางทาง ต้องใช้เลื่อยช่วยตัดเพื่อเปิดทาง
หลังจากส่งทีมของตูนลงเรียบร้อย ก็ขับออกไปที่ถนนแล้วไปตามทาง ขับมาได้สักพักเสียงพี่รอดที่อยู่ท้ายรถตะโกนบอกให้ดลจอดรถ
“ท่อหลุดอีกแล้ว” เสียงพี่รอดตะโกนบอก
ดลจอดรถ แล้วลงไปช่วยพี่รอดจัดการเอาเชือกผูกท่อไอเสียที่หลุดห้อยลงมา เมื่อจัดการผูกท่อเสร็จเรียบร้อยก็เดินทางต่อ ขับมาได้ไม่ไกลนัก เป็นช่วงกำลังขึ้นเนินจู่ๆ พี่หมีก็งอแงอีกรอบ ดับเอาดื้อๆ ดลลองสตาร์จอยู่สามสี่รอบก็ไม่ติด พี่รอดจึงต้องโดดลงรถแล้วเปิดฝากระโปรงเช็คเครื่องดูอีกที พี่หมีงอแงไม่นาน แค่พี่รอดจับโน้นนิด ขยับตรงนี้หน่อย พี่หมีก็พร้อมจะไปต่อ
ท่อไอเสียหลุดจ้า
เราเห็นถึงความลำบากในการทำงานของเจ้าหน้าที่แม้ว่ากายพร้อม ใจพร้อม ต่อการทำงาน แต่ถ้าสิ่งอำนวยความสะดวก อุปกรณ์ไม่ค่อยพร้อมสักเท่าไหร่มันก็เป็นอุปสรรคต่อการทำงานไม่น้อย
พี่หมีพาเราจนมาถึงจุดหมาย ดลจอดรถเลียบเข้าป่าข้างทาง เตรียมกระเป๋าเป้ มีด แล้วพาเดินเข้าป่าจุดหมายคือจุดที่ตั้งกล้องไว้ “หินรูปหัวใจ”
“จากตรงนี้ไปถึงจุดที่ตั้งกล้องไกลแค่ไหน” เราถามดลที่เดินนำหน้า
“ประมาณกิโลกว่าๆ” ดลตอบ สิ้นเสียงดลก็มีเสียงพี่รอดแววๆ จากด้านหลัง “หือ เกิน ใน GPS นี่สองช่อง ขนาดตัดตรงนี่ไม่ต่ำกว่าสองกิโลเมตร”
เราเลยเปิด Application Nike Run เพื่อจับระยะทางระหว่างเดินว่าจริงๆ แล้วระยะไปกลับเป็นเท่าไหร่กันแน่ ดลพาเดินไปตามด่านสัตว์ ลัดเลาะข้ามลำห้วย พี่รอดหยุดถอดรองเท้าถุงกันทากออกก่อนข้ามลำห้วย ส่วนเรากับดลเดินข้ามไปก่อน พี่รอดบอกว่าที่ต้องถอดรองเท้าข้ามน้ำ เพราะเวลาที่เท้าแช่น้ำหรือใส่รองเท้าเปียกเดินนานๆ พี่รอดจะปวดขาและเป็นตะคริว อาจจะเป็นเพราะเหล็กที่ฝังอยู่ในขาเมื่อครั้งประสบอุบัติรถมอเตอร์ไซด์ล้มในป่าระหว่างปฎิบัติหน้าที่
ดลยังคงพาเดินตามด่านสัตว์ มีบ้างที่เป็นทางรกๆ และเดินตัดผ่านป่าไผ่ จากนั้นก็พาลงเดินตามลำห้วยที่น้ำแห้งหมดแล้ว ก่อนจะมาถึงก้อนหินใหญ่ที่ตั้งอยู่กลางลำห้วย ลักษณะก้อนหินที่คล้ายรูปหัวใจ เราเดินเลาะก้อนหินขึ้นไปอีกสักหน่อย ก็ถึงจุดที่ตั้งกล้องไว้
หินรูปหัวใจกลางลำห้วยที่แห้ง
เราช่วยกันเก็บกล้อง แล้วนั่งพักสักครู่ ก่อนเดินกลับออกมาทางเดิมจนถึงจุดที่จอดรถไว้โดยไม่พัก ระยะทางจาก Nike Run สิ้นสุดที่ ๕.๖๖ กิโลเมตร
มองดูเวลาตอนนี้ก็เกือบๆ เที่ยงวัน จึงพักกินข้าวกลางวันที่นี่ก่อนจะเตรียมตัวไปยังจุดตั้งกล้องจุดที่สอง
จุดที่ 1 ระยะทาง ๕.๖๖ กม.
จากจุดแรกที่รถจอด ขับย้อนกลับมาทางหน่วยเขาบันไดประมาณหนึ่งกิโลเมตร ดลก็เลี้ยวรถเข้าจอดในป่าข้างทาง เพื่อเดินเท้าเข้าไปเก็บกล้องในจุดต่อไป
“จุดนี้ระยะทางประมาณเท่าไหร่” เราถามดลและพี่รอด
“จุดนี้กิโลกว่าๆ จริงๆ” ดลบอก รอบนี้พี่รอดไม่ขัดยืนยันอีกเสียงว่าไม่ถึงสองกิโลเมตร แต่บอกว่าจะเหนื่อยกว่าจุดแรกหน่อยเพราะเป็นทางขึ้นเขาและลงห้วย
เป็นแบบนั้นจริงๆ เราเดินมาได้สักพักก็เป็นทางขึ้นเขา เอาจริงๆ ขึ้นไม่ไกลมากไม่น่าเกินสองร้อยเมตร แต่เนื่องจากเป็นทางขึ้นอย่างเดียวยาวๆ เล่นเอาต้องหายใจทางปากอยู่เหมือนกัน ถึงขนาดต้องแวะพักขายืนเกาะต้นไม้ระหว่างทางขึ้น เมื่อขึ้นถึงเนินเขาแล้วก็เป็นทางลงยาวอีกเช่นกัน ก่อนจะขึ้นเนินน้อยๆ อีกรอบ จากนั้นก็เดินมุดป่าป่าเพราะมองไม่เห็นทางด่าน
เราเดินตามหลังดล และมีพี่รอดปิดท้าย จู่ๆ ดลก็ยกมือขึ้นเป็นสัญญาณให้รู้ว่าหยุด จากนั้นก็โบกมือไปข้างหลังเป็นสัญญาณว่าให้ถอย ก่อนจะหันกลับมากระซิบเบาๆ ว่า “ถอยก่อนๆ”
เราเดินถอยหลังแล้วหันกลับไปบอกพี่รอดว่าให้ถอยก่อน เราถามดลเบาๆ ว่ามีอะไรอยู่ข้างหน้า เพราะเราแทบไม่ได้ยินเสียงอะไรเลย ดลหันมาบอกด้วยเสียงที่เบาจนแทบไม่ได้ยินแต่ริมฝีปากที่ขยับอ่านได้ว่า “ช้างๆ”
ร่องรอยของพี่ใหญ่ (ช้างป่า)
เราถอยกันออกมาสักสี่ห้าก้าว แล้วหยุดมองไปทางต้นเสียงเห็นเงาดำๆ และใบหูใหญ่ๆ ที่โบกไปมาหลังพุ่มไม้ ซึ่งประมาณระยะแล้วไม่เกินยี่สิบเมตร
พี่รอดและดลตัดสินใจอ้อมไปอีกทาง เพื่อให้พ้นทางของพี่ใหญ่แห่งผืนป่านี้ เอาจริงๆ เราแทบไม่ได้ยินเสียงเลย ทั้งๆ ที่ช้างเป็นสัตว์ที่ตัวใหญ่มาก แต่กลับหากินได้เบามาก ดลบอกว่าดลก็ไม่ได้ยินเสียงเหยีบใบไม้ของพี่ใหญ่ แต่ได้ยินเสียงใบหูโบกไปมา ซึ่งเป็นเสียงที่คุ้นเคยดี
การทำงานในป่านั้นไม่ใช่เรื่องง่าย คนที่ทำงานต้องมีประสาทสัมผัสที่ดีด้วยไม่ว่าจะเป็นการได้ยิน สายตาและจมูกที่ไว ประสบการณ์ที่ช่วยให้การตัดสินใจเฉพาะหน้าหรือสัญชาตญาณที่แม่นยำ
เดินอ้อมไปไม่นานนักก็มาถึงจุดที่ตั้งกล้องไว้ เราช่วยกันเก็บกล้องแล้วนั่งพักสักครู่ ก่อนเดินกลับซึ่งก็ต้องคอยระวัง และดูพี่ใหญ่ว่าตอนนี้หากินอยู่ตรงไหน ขากลับเราก็ต้องเดินอ้อมอีกทางนึงเช่นกันเพราะพี่ใหญ่ยังคงวนเวียนอยู่อยู่ไม่ไกลจากจุดเดิมที่เจอในตอนแรก
ขามาเหนื่อยอย่างไร ขากลับก็เหนื่อยเหมือนเดิม เพราะเราต้องผ่านเนินชันๆ เนินเดิม
“ตะคริวเล่นซะแล้ว” เสียงพี่รอดบ่นเบาๆ ระหว่างแวะพัก พร้อมกับเอามือนั่งนวดต้นขา เรานั่งพักบนเนินสักพัก ก่อนจะเดินยาวจนถึงรถ โดยมีพี่รอดเดิมตามหลังมาไกลๆ ดูระยะทางไปกลับจาก Nike Run ๔.๒๓ กิโลเมตร เพราะพี่ใหญ่แท้ๆ ทำให้เราต้องเดินเพิ่มขึ้นอีกกิโลเมตรกว่าๆ รวมๆ แล้ววันนี้เราเดินกันเกือบสิบกิโลเมตร ดูนาฬิกาบอกเวลาประมาณบ่ายสามโมง
จุดที่ ๒ ระยะทาง ๔.๒๓ กม.
มาถึงที่รถพี่รอดก็วิทยุไปเช็คกับทีมอื่นๆ ที่ออกมาพร้อมกันเมื่อเช้า ปรากฎว่าทีมอื่นๆ กลับถึงหน่วยเรียบร้อยหมดแล้ว ส่วนทีมเราเพิ่งออกมาจากจุดที่สอง และยังต้องขับรถไปที่หน่วยพิทักษ์ป่าห้วยมดแดงต่อ เพื่อไปรับอีกทีมที่เข้าป่าไปเก็บกล้องก่อนหน้าเรา และจะออกจากหน่วยห้วยมดไปรวมกับทีมที่รอที่เขาบันไดเพื่อกลับสถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำพร้อมกัน
จากจุดจอดรถเข้าไปที่หน่วยห้วยมดแดงระยะทางไกลพอสมควร ระหว่างทางมีนกหลายชนิดออกมาบินอวดโฉมนับคร่าวๆ ได้เกือบสิบชนิดเลยทีเดียว
ระหว่างทางขึ้นไปที่หน่วยฯ มีช่วงหนึ่งที่มองจากถนนลงไปจะเห็นลำห้วยคดเคี้ยวไปไกล แสงแดดอ่อนๆ ยามเย็น สะท้อนผิวน้ำ ลำไผ่ และยอดไม้ ช่างเป็นภาพที่สวยงามยิ่งนัก
ลำขาแข้ง สายน้ำแห่งชีวิต
ระหว่างทางเราสังเกตุเห็นทางเนินขึ้น มีต้นไม้ล้มที่ถูกตัดออกเป็นท่อนเพื่อให้พ้นทางรถ หน้าตัดของตอไม้เขียนว่า “เนินควายขวิด” ด้วยความสงสัยจึงถามดลว่าทำไมจึงเขียนข้อความนี้ ดลยิ้มๆ แล้วบอกว่าตรงนี้เคยมีควายป่าวิ่งไล่ขวิดเจ้าหน้าที่ ซึ่งตรงนี้ไม่แน่ใจว่าดลพูดจริง หรือพูดเล่นๆ ตามชื่อเนินที่เขียนไว้ แต่ก็เชื่อไปแล้วนะว่าคงจะเป็นเช่นนั้นจริงๆ
“เสียดายพี่มาช้าไปนิดเดียว ความป่าลงมากินน้ำที่ลำห้วยเพิ่งขึ้นไปเมื่อสักพักนี่เอง” เก็ตบอกกับเราเมื่อเราไปถึงหน่วยพิทักษ์ป่าห้วยมดแดง
นั่นสิเป็นเรื่องน่าเสียดายไม่น้อยที่มาไม่ทันเห็นควายป่าซึ่งเป็นสัตว์ป่าสงวน สถานะเสี่ยงสูญพันธุ์ เพราะในประเทศไทยมีรายงานว่าพบควายป่าได้เพียงแห่งเดียวเท่านั้น คือ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ที่เค้าว่ากันว่าเป็น “ควายป่าฝูงสุดท้าย” แล้ว
หลังจากจัดแจงเอาของขึ้นรถเสร็จทุกคนก็เตรียมตัวขึ้นรถโดยขากลับจากห้วยมดแดงไปที่เขาบันไดนี้พี่รอดได้เปลี่ยนให้ให้ปิงเป็นคนขับแทน เอาจริงๆ ไม่ค่อยมีใครอยากจะเป็นคนขับสักเท่าไหร่ จะด้วยเพราะสภาพรถที่เก่ามาก ซึ่งต้องยื้อกับพวงมาลัยจนหลายคนบ่นว่าเมื่อยแขน แต่ก่อนจะออกจากหน่วยก็บังเอิญเห็นว่าท่อไอเสียนั้นหลุดอีกแล้ว จึงจัดการช่วยกันมัดให้เข้าที่ก่อนออกเดินทางกลับเขาบันได
มาถึงเขาบันไดประมาณห้าโมงครึ่งกว่าๆ ท้องฟ้าครึ้มฝน คนอื่นๆ ที่มาถึงก่อนแล้วกำลังจัดแจงทำอาหารเย็น บ้างก็นั่งล้อมวงสนทนากันอย่างสนุกสนาน เราขอตัวไปจัดการตัวเองอาบน้ำอาบท่าเสียก่อนเพราะหวั่นๆ เรื่องเห็บที่จะติดตัวและเสื้อผ้ามาด้วย
คืนนี้ทุกคนนอนดึกได้เต็มที่เพราะวันรุ่งขึ้นไม่ต้องไปเก็บกล้องแล้ว เนื่องจากวันนี้เราได้เดินกันแบบ non stop เก็บกล้องแบบม้วนเดียวจบ
หลายคนในนี้แอบดีใจที่ได้ออกจากที่นี่เร็วกว่ากำหนดหนึ่งวัน เพราะการอยู่ที่นี่จะไม่สามารถติดต่อภายนอกได้เนื่องจากไม่มีสัญญาณโทรศัพท์ สาเหตุที่ดีใจเพราะวันรุ่งขึ้นคือวันที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นวันแห่งความรัก น้องๆ เจ้าหน้าที่หลายคนดีใจที่อย่างน้อยในวันพรุ่งนี้ก็จะสามารถติดต่อพูดคุยกับคนที่รอพวกเค้าอยู่
*******************************
เช้าวันนี้อากาศดี มีหมอกเต็มไปหมดเพราะเมื่อคืนที่ผ่านมานั้นฝนตกเยอะทีเดียว เราตื่นเช้ามานั่งฟังเสียงนกร้อง ไก่ป่าที่ขันรับวันใหม่ เสียงชะนีที่ร้องอยู่ไกลๆ เสียงตุ๊กแกจากในป่าอีกฝั่งของลำห้วย ประมาณเจ็ดนาฬิกาทุกคนก็ลุกขึ้นมาเตรียมเก็บสัมภาระ และกองเสบียงเพื่อเตรียมตัวออกจากที่นี่เช้านี้
บรรยากาศระหว่างทางลงนั้นสดชื่น เย็นสบาย สองข้างทางดูชุ่มชื้นแม้ว่าในฤดูกาลนี้ต้นไม้ในป่าเต็งรังนั้นจะเริ่มทิ้งใบไปเกือบหมดแล้ว นั่นเพราะสายฝนที่โปรยปรายลงมาก่อนหน้านี้ และเมื่อค่ำคืนที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการดี อย่างน้อยก็ช่วยชะลอความร้อนแล้งได้อีกนิด
ป่าเต็งรัง ต้นไม้ทิ้งใบเกือบหมดแล้ว
หลังมื้อกลางวันที่บ้านไร่ ต่างก็แยกย้ายกัน บางคนก็กลับบ้านเพื่อจะได้พักวันหรือสองวันก่อนเตรียมตัวไปเก็บกล้องที่หน่วยยางแดงต่อ บางคนก็กลับขึ้นสถานีวิจัยเขานางรำเพราะมีบ้านพักอยู่บนนั้น ส่วนพวกเรา อาสาทั้งสี่ เนื่องจากลางานมาแล้ว แต่งานเสร็จก่อนกำหนดจึงขออนุญาตพี่สมโภชน์ ซึ่งเป็นหัวหน้าสถานีวิจัยฯ ติดสอยห้อยตามเจ้าหน้าที่ขึ้นสถานีวิจัยฯ ด้วย อย่างน้อยๆ ก็ไปช่วยเคลียร์กล้อง ช่วยลงข้อมูลของกล้องที่เก็บมาเสร็จแล้ว แล้วจึงค่อยติดรถเจ้าหน้าที่ที่ต้องกลับลงมาที่เขตฯ ในเย็นวันถัดมา
*********************
การมาช่วยงานเจ้าหน้าที่ครั้งนี้ เราได้ประสบการณ์ใหม่ ได้ความรู้ใหม่เพิ่มขึ้นในการทำงานวิจัยเสือ และการติดตามเสือ รวมถึงงานวิจัยอื่นๆ ที่ไม่ใช่แค่เรื่องเสือ ที่เจ้าหน้าที่ที่นี่ทำกันอยู่ เอาไว้มีเวลา และความขยันในการพิมพ์ที่มากพอ จะเก็บมาเล่าสู่กันฟัง … สัญญา !!
๑๒-๑๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๕
โฆษณา