23 ก.พ. 2022 เวลา 06:04 • สัตว์เลี้ยง
บทความเรื่อง ปลากริมมุก (กริมสี)
เครดิตภาพประกอบจาก Trichopsis pumila - Foto © BEDO Thailand (Wikimedia)
ปลากริมจัดเป็นปลากระดี่ขนาดเล็กชนิดหนึ่ง มีถิ่นกำเนิดในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ปลากริมนั้นมีอยู่หลายชนิด แต่ทุกชนิดจะมีขนาดโตเต็มวัยไม่เกิน 5 ซม. วัดตั้งแต่ปากจนถึงปลายหาง
ปลากริมชนิดที่โตที่สุดที่พบในไทยคือ ปลากริมควาย ส่วนชนิดอื่นอย่างกริมอีสาน กริมแรดนั้นตัวไม่ใหญ่นัก ในขณะที่ปลากริมมุก (อีกชื่อเรียกกริมสี) มีขนาดใหญ่ที่สุดไม่เกิน 3.5 ซม. นับเป็นปลากริมที่มีขนาดเล็กที่สุดที่พบในประเทศไทย
ในแหล่งน้ำธรรมชาติเรายังสามารถหาปลากริมได้พบไม่ยากนัก ด้วยความที่เป็นปลาเลี้ยงง่ายตายยากและแพร่พันธุ์ได้รวดเร็ว ดังนั้นปลากริมทุกชนิดยังห่างไกลจากคำว่าสูญพันธุ์จากแหล่งน้ำธรรมขาติมากๆ ถ้าเราเอาไปยืนตามริมตลิ่งแล้วเอากระชอนช้อนมั่วๆ ก็อาจจะได้ปลากริมมาสักชนิดก็เป็นได้
ปลากริมเป็นปลาผิวน้ำจะว่ายน้ำลอยตัวนิ่งๆ เคลื่อนไหวช้าๆ สามารถฮุบอากาศได้เองจากผิวน้ำ เราจึงพบมันอยู่ตามจุดที่น้ำนิ่งไหลเอื่อย อาศัยอยู่ในจุดที่มีพืชน้ำขึ้นปกคลุมอย่างเช่น ใบบัว จอกแหน หรือแม้แต่ตามท้องนา โดยมันจะกินยอดอ่อนของพืชและสิ่งมีชีวิตขนาดจิ๋วอย่างพวกตัวอ่อนแมลงเป็นอาหาร
ในบทความนี้เราจะคุยกันถึง “ปลากริมมุก” เพียงชนิดเดียว
ลักษณะทั่วไปของปลากริมมุกจะมีขนาดลำตัวที่เล็กมาก เล็กจิ๋ว เหมือนพวกซิวขนาดเล็กอย่าง ซิวสามจุด ซิวหนู มองจากด้านข้างเห็นรูปทรงลำตัวมีลักษณะเป็นวงรี หัวเล็กเรียว ตากลมโต ปลายหางปลายครีบแหลมยาว ครีบท้องมีหนวดสองเส้นยื่นออกมาเหมือนเส้นผมที่ขยับได้
ลำตัวมีสีน้ำตาลอ่อน ส่วนท้องมีสีจาง มีเส้นคาดลำตัวแนวขวาง ครึ่งตัวบนเหลือบสีฟ้าอมเขียว ตามครีบต่างๆมีจุดประสีส้มแดงกระจัดกระจายอยู่ทั่วทั้งครีบ
เครดิตภาพประกอบจาก https://www.seriouslyfish.com/species/trichopsis-pumila/#gallery-2
จากลักษณะที่บรรยายดังกล่าว เราคงไม่เห็นลักษณะที่ว่านี้จากปลาในแหล่งน้ำธรรมชาติหรอกครับ เพราะปลาตัวก็เล็กน้ำก็ขุ่น พอเจอเราๆก็ยังตกใจจนถอดสีอีก (เจ้าพวกยักษ์กินปลา) จะว่าไปแอดมินเชื่อว่าคงมีแค่ไม่กี่คนที่เคยเห็นปลากริมมุกได้ว่ายอยู่ในตู้ไม้น้ำที่จัดแต่งอย่างสวยงาม ปลาชนิดนี้สวยจนน่าแปลกใจเลยครับ เป็นหนึ่งในปลาที่อยากจะแนะนำให้เลี้ยงสำหรับผู้ที่สนใจตั้งตู้ปลาขนาดเล็ก
ตามที่บรรยายมาหลายคนคงสงสัยถ้าแอดมินบอกว่าปลากริมมุกไม่ใช่สินค้าที่ขายได้ดีในตลาดส่งออก ไม่ใช่ว่าไม่สวย แต่ว่ามันไม่ใช่ปลาฝูงที่จะซื้อมาเลี้ยงทีละหลายสิบตัว ที่สำคัญด้วยความที่มันเป็นปลาจิ๋วเคลื่อนตัวช้าอืดอาด ก็เลยไม่ค่อยเอื้อให้อยู่กับปลาอื่นได้หลายชนิดนัก เพราะมันมักจะกลายเหยื่อในห่วงโซ่อาหารลำดับสุดท้าย
ลองนึกภาพตู้ปลาตู้หนึ่งสามารถเลี้ยงปลาซิวขวานได้สักฝูงละเป็นร้อยตัว ก็คงไม่มีใครจะเอาไปเลี้ยงกริมมุกฝูงละร้อยตัวหรอกถูกมั๊ยครับ จำนวนที่เหมาะสมในการเลี้ยงปลากริมมุกคือ 5-6 ตัว โดยที่มีตัวผู้เพียงหนึ่งถึงสองตัวก็เพียงพอแล้ว ก็นั่นแหละครับยอดขายปลากริมมุกมันถึงจุ๋มจิ๋มเหลือเกินในตลาดปลาสวยงาม
แล้วปัญหามันก็ซ้อนในปัญหาอีกชั้นหนึ่ง ในขณะที่ยอดสั่งซื้อก็น้อยนิดแต่คนขายก็อยากจะขายให้ได้ที่ละเยอะๆ เวลาซับพลายเออร์จับมาส่งเค้าก็จะบอกว่า “ขั้นต่ำพี่ขอซักพันตัวนะเบียร์ น้อยกว่านี้เสียเวลาดูซีรีย์ ขี้เกียจออกไปช้อนมาขาย” ก็เข้าใจผู้ขายนะ แต่จะให้สั่งมาพันนึงขายได้สามร้อยตัว เก็บเป็นสตอคอีกเจ็ดร้อยตัว เบียร์ก็ไม่อยากจะเก็บปลาไว้ในตู้อีกหลายเดือนกว่าจะขายหมด
ทีนี้พอขายไม่ดี คนจับก็ไม่คิดจะจับมาขาย เอาเวลาไปทำปลาตัวอื่นที่ขายง่ายน่าจะดีกว่า ที่บริษัทก็เลยถอดปลากริมออกจากรายการสินค้าไปนานหลายปีเพราะไม่มีคนจับมาขายให้ คือปลาตัวนี้มันก็มีอยู่ในหลายประเทศในละแวกเดียวกับเรา ที่อินโดราคาส่งออกคิดออกมาแค่สองบาทเอง ผู้ส่งออกไทยขายแพงกว่าสองบาทก็ไม่มีใครซื้อไง ปัญหามันก็ลำดับกันประมาณนี้
เมื่อหลายเดือนก่อนตอนเขียนบทความนี้ใน facebook ก็เคยสั่งมาส่งลูกค้าส่งออกส่วนที่เหลือก็ทำเป็นกิจกรรมแจกฟรีให้ลูกค้าในประเทศไปได้สักสองร้อยตัวก็ยังไม่หมดไปจากสตอค ต้องรออีกเป็นเดือนกว่าจะเคลียร์หมดไป เป็นไอเท่มที่ขายแล้วกำไรน้อยนิดจริงๆ
ชื่อวิทยาศาสตร์ของปลากริมมุกคือ Trichopsis pumila ตัว Genus มาจากภาษากรีกสองคำคือ Tricho + opsis = hair + appearance หมายถึง มีลักษณะเป็นเส้นหรือขน ในที่นี้สื่อถึงครีบท้องที่ยาวออกมาสองเส้น
แทบจะเป็นความหมายเดียวกับ Genus ของปลากระดี่กลุ่ม Trichopodus , Trichogaster ส่วนคำว่า pumila มาจากภาษาละติน pumilus มีความหมายว่า dwarf ในภาษาไทยแปลออกมาได้เป็นคำว่า “แคระ”
ชื่อสามัญในภาษาสากลคือ pygmy gourami (อ่านว่า ปิ๊ก มี่ กูรามี่) คำว่าปิ๊กมี่หมายถึงคนแคระ ก็สื่อถึงความจิ๋วของเจ้าปลากริมชนิดนี้นั่นเอง นับว่าตั้งชื่อได้ดีนะครับ สื่อได้ถึงลักษณะจริงของปลาได้ตรงอยู่
ส่วนชื่อในภาษาไทย “กริมมุก” กริมก็คือปลากริม มุกมาจากลักษณะเฉพาะของปลากริมชนิดนี้ที่มีผิวเหลือบมุก แล้วปลากริมไข่เต่าล่ะ ? ขนมไทยเกี่ยวอะไรกับปลากริม
เครดิตภาพประกอบจาก https://www.matichonacademy.com/content/recipes/article_17977
ก่อนจะเล่าต่อต้องบอกก่อนว่า ขนมไทยชนิดนี้ไม่ได้เรียกว่า “ปะกิมไข่เต่า” นะครับ ที่ถูกต้องคือปลากริมไข่เต่า ขนมชนิดนี้ประกอบด้วยขนมสองอย่างคือ ขนมปลากริมกับขนมไข่เต่า ที่เราเห็นกันว่าขนมชนิดนี้มีสองสี่ที่เรียกกันว่าแบบเค็มกับแบบหวานนั่นแหละ
ขนมที่มีสีน้ำตาลทำจากแป้งมีลักษณะเป็นเส้นป้อมๆยาวประมาณหนึ่ง ปลากริมควายในแหล่งน้ำธรรมชาติจะมีสีน้ำตาลและแทบมองไม่เห็นลวดลายอะไรเลย ซึ่งขนมชนิดนี้มีลักษณะเหมือนปลากริมควายมาก เค้าก็เลยตั้งชื่อว่า “ขนมปลากริม”
ส่วนขนมไข่เต่านี่ต้องเล่าก่อนว่า เมื่อก่อนเค้าทำออกมามีลักษณะเป็นแป้งปั้นกลมสีขาวซึ่งมันเหมือนไข่เต่าจริงๆ แต่เดี๋ยวนี้หลายร้านทำเป็นเส้นป้อมแบบเดียวกับขนมปลากริมแต่มีสีขาวแทน ทีนี้หลายคนก็ถึงบางอ้อว่าทำไมถึงเรียกว่าขนมไข่เต่า
คนโบราณเค้าเอาขนมสองอย่างนี้มาเทรวมกันก่อนกินแล้วตั้งชื่อใหม่ว่า “ขนมแชงมา หรือ ขนมแฉ่งม้า” ดังนั้นคำว่า “ขนมปลากริมไข่เต่า” ก็คือชื่อเต็มยศของขนมแฉ่งม้านั่นเอง โดยขนมชนิดนี้เคยปรากฎอยู่ในบทเพลงกล่อมเด็กท่อนหนึ่งมีเนื้อร้องว่า
โอละเห่ โอละหึก ลุกขึ้นแต่ดึก
ทำขนมแฉ่งม้า ผัวก็ตี เมียก็ด่า
ขนมแฉ่งม้า ก็คาหม้อแกง
ขับร้องโดยเพื่อนบ้านที่เห็นผัวเมียข้างบ้านตีกันอยู่
ดังนั้นเมื่อทุกท่านอ่านบทความนี้จบ ต่อไปเวลาจะอยากกินขนมไทยชนิดนี้เราจะเรียกชื่อมันให้ถูกต้องว่า “ขนมปลากริมควายไข่เต่า” !!
#ปลาสวยงาม #ปลากริม #ปลากริมมุก #ปลากริมไข่เต่า
1
โฆษณา