23 ก.พ. 2022 เวลา 11:18 • หุ้น & เศรษฐกิจ
สิ่งที่ต้องรู้เรื่อง “วิกฤติยูเครน” จนถึงตอนนี้
2
- ต้นเหตุสำคัญของเรื่อง คือ การที่ยูเครนพยายามที่จะเข้าร่วม NATO ซึ่งเป็นความร่วมมือทางกองกำลังทหารที่มีอเมริกาและพันธมิตรร่วมกันก่อตั้ง ตั้งแต่สมัยที่รัสเซียยังเป็นสหภาพโซเวียด
1
- รัสเซียบอกว่า การกระทำนี้เป็นสิ่งที่รัสเซียไม่สามารถยอมรับได้และเป็นสิ่งที่คุกคามรัสเซีย จึงเตือนให้ยูเครนและ NATO ถอยจากกระบวนการนี้ แล้วยังอ้างประวัติศาสตร์ระหว่างสองประเทศว่า “รัสเซียและยูเครนเป็นคนกลุ่มเดียวกันมาตั้งแต่อดีต ยูเครนยุคสมัยใหม่ก่อตั้งขึ้นมาได้ก็เพราะรัสเซีย”
2
- ทางอเมริกาค้านว่า การเข้าร่วม NATO ควรเป็นสิทธิที่ยูเครนสามารถเลือกได้ด้วยตัวเอง ซึ่งขัดแย้งกับความต้องการของรัสเซีย จึงทำให้ความตึงเครียดทางการทูตและทางการทหารเพิ่มสูงขึ้น มีเหตุการณ์สำคัญหลายเหตุการณ์เกิดขึ้น ทั้งการที่รัสเซียเพิ่มกองกำลังบริเวณชายแดน การขับ”รองทูต (Deputy Chief of Mission) ของสหรัฐฯ” ออกจากกรุงมอสโก หรือการเตือนจากทางสหรัฐฯ ให้ประชาชนของตัวเองเดินทางออกจากยูเครนทันที
2
- อย่างไรก็ดี เหมือนจะมีสัญญาณที่ดีออกมาบ้างเช่นกัน เมื่อทางรัฐบาลฝรั่งเศสได้ประกาศว่า พวกเขาได้เป็นตัวกลางที่จะจัดประชุมผู้นำระหว่างสองประเทศ ไบเดน-ปูติน ขึ้น ทำให้ตลาดเริ่มผ่อนคลาย ตอนนั้นหลายคนก็เริ่มมองว่า ทั้งสองประเทศก็จะหันหน้าเข้าสู่วิธีการทางการทูตมากขึ้น
1
- แต่ไม่นานหลังจากนั้น ทางด้านรัสเซียกลับออกมาบอกว่า ไม่ได้มีแผนจะเข้าร่วมประชุมที่จะจัดขึ้นข้างต้น และได้ทำการรับรองอิสรภาพของ “ผู้แบ่งแยกดินแดนในภูมิภาคดอนบาส (Donbass)” อย่างเป็นทางการ พร้อมทั้งส่งทหารเข้าไปโดยอ้างว่า ทำเพื่อรักษาสันติภาพ
2
- ดอนบาสเป็นภูมิภาคทางด้านตะวันออกของประเทศยูเครน ประกอบด้วยรัฐที่สำคัญสองรัฐ คือ Donetsk และ Luhansk โดยก่อนหน้านี้ ถูกแบ่งการปกครองออกเป็นสองส่วน คือ ส่วนที่ผู้แบ่งแยกปกครองอยู่ (สนับสนุนโดยรัสเซีย) และ ส่วนที่ยูเครนปกครองอยู่ และก็มีการสู้รบกันตามแนวเขตที่แบ่งกันปกครอง
3
- ซึ่งการเซ็นสัญญารับรองอิสรภาพและส่งทหารเข้ามาสู่ดินแดนครั้งนี้ ก็คล้ายกับเมื่อครั้งที่รัสเซียผนวกเอาดินแดนไครเมียเข้าไปสู่รัสเซียเมื่อตอนปี 2014 ซึ่งในตอนนั้นก็นำมาซึ่งความไม่พอใจของกลุ่มประเทศตะวันตกจนเกิดการใช้นโยบายคว่ำบาตรเช่นกัน และหนึ่งในขุนพลคนสำคัญของสหรัฐฯ ในตอนนั้น ก็ไม่ใช่ใครอื่นนอกจากนายโจ ไบเดน ที่ในตอนนั้นทำหน้าที่เป็นรองประธานาธิบดีสหรัฐในยุคสมัยของประธานาธิบดีโอบามา
3
- ตัดภาพมาที่ปัจจุบัน การที่รัสเซียส่งทหารเข้าสู่ภูมิภาคดอนบาส ทำให้ความไม่แน่นอนและความตึงเครียดทางการเมืองกลับมาสูงมากอีกครั้ง มีหลายสัญญาณที่แสดงถึงความน่ากังวลของเรื่องนี้ เช่น การที่นายกรัฐมนตรีอังกฤษ นายโบริส จอห์นสัน แสดงสีหน้ากังวลทันทีที่ได้รับแจ้งข่าวการบุกของรัสเซีย ในขณะที่เขากำลังแถลงการณ์เรื่องมาตรการโควิดภายในประเทศพอดี หรือจะเป็นการเรียกประชุมด่วนของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UN Nations Security Council) เพื่อจัดการกับสถานการณ์แทบจะทันที
1
(เกร็ด: ในที่ประชุมนี้เอง ในขณะที่หลายประเทศประณามการกระทำของรัสเซีย ผู้แทนของรัสเซียได้กล่าวเตือนว่า “ให้ชาติตะวันตกคิดให้ดีอีกครั้ง (Think Twice) และอย่าทำให้สถานการณ์มันเลวร้ายลง)
4
- หลังจากการประชุม ชาติพันธมิตรตะวันตกเริ่มออกมาประกาศใช้มาตรการคว่ำบาตรรัสเซีย นำมาด้วยทางสหรัฐฯ และ สหราชอาณาจักร โดยนโยบายการคว่ำบาตรที่สำคัญในระลอกแรกที่ออกมา เน้นไปที่การคว่ำบาตรทางการเงิน แต่ยังเน้นไปที่สถาบันการเงินของรัฐและตัวของผู้นำระดับสูงของรัสเซียอยู่
2
- เยอรมนีเป็นอีกชาติมหาอำนาจที่ออกมาเคลื่อนไหวตอบโต้ทางรัสเซีย ทั้งที่ก่อนหน้านี้ยังมีการสงวนท่าทีมาตลอด โดยสิ่งที่เยอรมนีทำ คือ การสั่งระงับการพัฒนาท่อส่งก๊าซธรรมชาติมูลค่า 11,000 ล้านดอลลาร์ “Nord Stream 2” ซึ่งการตัดสินใจครั้งนี้ถือว่า เป็นการตัดสินใจที่เด็ดขาดไม่น้อย เนื่องจากเยอรมนีพึ่งพาการนำเข้าก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียเป็นสัดส่วนที่สูงมาก
4
ซึ่งการพึ่งพาพลังงานจากรัสเซียนี่เอง ก็เป็นหนึ่งในเหตุผลสำคัญที่เรายังไม่เห็นการใช้มาตรการคว่ำบาตรโดยตรงจากบางประเทศ เช่น อิตาลีและฮังการี
- แต่ก็มีการวิเคราะห์กันออกมาเช่นกันว่า ทางรัสเซียเองก็ทราบและเตรียมพร้อมรับมือกับการคว่ำบาตรจากกลุ่มประเทศตะวันตกไว้แล้ว เพราะก็ได้รับบทเรียนมาจากเมื่อครั้งวิกฤติไครเมียในปี 2014 เหมือนกัน ทั้งการพัฒนาเศรษฐกิจให้พึ่งพาตัวเองมากขึ้น และการผูกมิตรกับประเทศจีน จึงได้ทำการตัดสินใจส่งทหารเข้าสู่ดอนบาส
1
- ตอนนี้ จึงต้องจับตามองกันว่า จะมีมาตรการคว่ำบาตรอะไรเพิ่มเติมออกมาจากประเทศตะวันตกอีกไหม เพราะการคว่ำบาตรรัสเซีย ก็อาจจะส่งผลเสียทางเศรษฐกิจกับบางธุรกิจของประเทศตัวเองเช่นกัน โดยหนึ่งในมาตรการที่เป็นไปได้ที่สามารถนำออกมาใช้อีก คือ การตัดรัสเซียออกจากระบบ SWIFT ที่เป็นตัวอำนวยความสะดวกในการทำธุรกรรมระหว่างสถาบันการเงิน ที่ทางสหรัฐฯ เคยตัดอิหร่านออกมาก่อน จนทำให้อิหร่านสูญเสียรายได้จากน้ำมันมหาศาล
1
- หันมามองกันที่ตลาดการเงินกันบ้าง เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา หลังจากมีข่าวรัสเซียส่งทหารเข้าสู่ภูมิภาคดอนบาส ก็ทำให้ตลาดหุ้นทั่วโลกตกไปตามๆ กัน โดยเฉพาะตลาดหุ้นรัสเซียที่ราคาลงไปมากกว่า 10%
1
- แต่เนื่องจากตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปิดทำการไปในวันจันทร์ ทำให้การปรับฐานราคาลงในสหรัฐฯ มาเกิดขึ้นในวันอังคารแทน โดยทั้ง 3 ดัชนีหลัก Dow Jones, Nasdaq และ S&P 500 ต่างปิดตัวเป็นลบทั้งหมด ยกตัวอย่าง S&P 500 ที่ลงมาทดสอบระดับ 4300 จุด ที่เป็นจุดต่ำสุดตั้งแต่เดือนตุลาคมปีก่อนอีกครั้ง
1
- แต่แม้จะมีการประกาศมาตรการคว่ำบาตรออกมาเมื่อคืน ตลาดหุ้นบางประเทศที่ราคาปรับตัวลงไปวันจันทร์ ราคากลับไม่ได้ปรับลงไปเพิ่มเติมมากนักในวันอังคาร ตลาดหุ้นบางประเทศสามารถปิดกลับมาเป็นบวกได้ด้วยซ้ำ เช่น ดัชนีตลาดหุ้นอังกฤษ FTSE 100 ที่ปรับบวกขึ้นมา 0.13% มาปิดที่ระดับ 7,494.21 จุด และก็เริ่มเห็นการปรับตัวขึ้นของราคาหุ้นบางกลุ่ม เช่น ราคาหุ้นขนส่งทางเรือของภูมิภาคเอเชีย ภายใต้ความหวังว่า ยุโรปอาจจะต้องพึ่งพาการส่งน้ำมันจากเอเชียมากขึ้น
2
- ที่เป็นแบบนี้อาจจะเป็นเพราะว่า นักลงทุนบางส่วนมองว่า การประกาศมาตรการคว่ำบาตรจากประเทศตะวันตก ดีกว่าการใช้มาตรการตอบโต้ทางทหาร ก็เลยกลับเข้ามาซื้อ อย่างไรก็ดี สถานการณ์ตอนนี้ยังเต็มไปด้วยความไม่แน่นอนและต้องจับตามองอย่างใกล้ชิด
- ข้ามมาดูกันที่ราคาน้ำมันกันบ้าง แม้ก่อนหน้านี้ราคาน้ำมันจะปรับตัวลดลงมาบ้าง จากการที่สหรัฐฯ กลับมาเจรจาทางการทูตกับประเทศอิหร่านซึ่งมีศักยภาพผลิตน้ำมันจำนวนมาก
1
แต่จากสถานการณ์ล่าสุดในยูเครน ก็ทำให้ราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นอีกครั้ง อย่าง Brent Crude Oil ที่เป็นราคาอ้างอิงน้ำมันของทวีปยุโรปได้พุ่งขึ้นไปสูงถึง 97 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลแล้ว เป็นระดับสูงสุดตั้งแต่ปี 2014 ซึ่งถ้าสถานการณ์ยังบานปลาย เราก็อาจจะได้เห็นภาพ ราคาน้ำมันสูงกว่า 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลอีกครั้งหนึ่งก็ได้
1
ทั้งนี้เพราะว่า รัสเซียถือได้ว่า เป็นผู้ส่งออกน้ำมันอันดับ 2 ของโลก ซึ่งราคาที่ปรับสูงขึ้นก็ไปกดดันต้นทุนการผลิตสินค้าและราคาอาหารทั่วโลก ที่เป็นปัญหาใหญ่ที่แก้ไม่ตกอยู่แล้ว ณ ตอนนี้
1
- นอกจากความผันผวนที่เกิดขึ้นในตลาดหุ้นระยะสั้น และราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นแล้ว สิ่งที่ตลาดจับตามองตอนนี้ คือ ท่าทีของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ว่า จะออกมาเป็นอย่างไรกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น โดยตอนนี้ผู้เชี่ยวชาญแบ่งความเห็นออกเป็น 2 ฝ่าย
- ฝ่ายแรกมองว่า ราคาน้ำมันและสินค้าที่เพิ่มสูงขึ้น จะยิ่งกดดันให้ภาวะเงินเฟ้อของสหรัฐฯ แย่ขึ้นไปอีก จนทำให้เฟด จำเป็นต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเร็วและแรงกว่าที่คาดกันไว้ในตอนแรกอีก
1
- แต่ฝ่ายที่สองก็มองว่า สถานการณ์ความขัดแย้งอาจจะลุกลาม ฉุดรั้งการเติบโตของเศรษฐกิจโลก ซึ่งถ้าเศรษฐกิจไปได้ไม่ดี เฟดก็จะชะลอการขึ้นดอกเบี้ยออกไปก่อนได้
1
- ในสถานการณ์ความไม่แน่นอนแบบนี้ เป็นเรื่องสำคัญที่นักลงทุนต้องเข้าใจความเป็นไปได้ของทุกสถานการณ์ที่อาจจะเกิด และเตรียมรับมือให้พร้อม กระจายความเสี่ยงให้ดี เมื่อสถานการณ์จริงๆ เกิดขึ้นจะได้ไม่ตื่นตระหนกและเสียหายไปมากกว่าที่ควร
1
#รัสเซีย #ปูติน #ยูเครน #Putin #ไบเดน #Biden #NATO #ยุโรป #FED #EU #ข่าวต่างประเทศ
#Bnomics #เศรษฐศาสตร์เป็นเรื่องง่ายสำหรับทุกคน
ผู้เขียน : ณัฐนันท์ รำเพย Economist, Bnomics
ภาพประกอบ : จินดาวรรณ อรรถมานะ Graphic Designer, Bnomics
▶️ ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
Line OA : @Bnomics https://bit.ly/3eYkTJC
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
Reference :
Bloomberg, BBC, The New York Times และ Reuters
เครดิตภาพ :
Al Jazeera, Valentyn Ogirenko via Reuters และ Business Insider
โฆษณา