23 ก.พ. 2022 เวลา 13:57 • ธุรกิจ
คุณเจอสถานการณ์เช่นนี้ในวันทำงานบ่อยไหม?
.
เข้างานตอนเช้า ดื่มกาแฟ พูดคุยกับเพื่อนร่วมงาน ตอบอีเมลเล็กน้อย พอจะเริ่มทำงานจริงๆ ก็มีคนเดินมาแตะไหล่แล้วบอกว่า ‘ขอปรึกษานิดนึงสิ’ จนเวลาล่วงเลยไปตอนเที่ยง เราลุกออกจากโต๊ะไปพักกินข้าว ออกไปซื้อกาแฟอีกสักแก้ว กลับมาทำงานต่อได้ 1-2 ชั่วโมงก็ได้รับโทรศัพท์เรื่องปัญหาส่วนตัว กว่าจะจัดการเสร็จก็ใกล้เวลาเลิกงานแล้ว สติยิ่งกระเจิงไปใหญ่เลยได้แต่นั่งทำอะไรเล็กๆ น้อยๆ รอเวลาเลิกงาน
.
สรุปภายในหนึ่งวัน เรามีเวลาตั้งใจทำงานให้เป็นชิ้นเป็นอันเพียง 2-3 ชั่วโมงเท่านั้น
.
แอนดรูว์ บาร์นส์ CEO และผู้ก่อตั้งบริษัท Perpetual Guardian เห็นปัญหานี้เช่นกัน เขามองดูลูกน้องที่ทำงานได้ไม่เต็มที่เพราะติดภาระต่างๆ ในชีวิต แต่ในขณะเดียวกันก็พักผ่อนหรือเจียดเวลาไปทำอย่างอื่นได้ไม่เต็มที่เช่นกัน เพราะเวลานี้เป็นเวลาทำงาน
.
“คุณเคยมีไอเดียดีๆ แต่คิดว่า ‘ไม่เวิร์กหรอก’ เพราะมันเรียบง่ายเกินไปไหม” เขาเกริ่นให้คนฟังสงสัยขณะพูดบนเวที Ted Talk “ไอเดียที่เรียบง่ายมากๆ แต่ส่งผลลัพธ์อย่างน่าเหลือเชื่อ”
.
ก่อนจะเฉลยว่าไอเดียของเขานั้นคือการ “ให้พนักงานทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์”
.
.
The-Four Day Week! จะเป็นอย่างไรถ้าเราทำงานแค่ 4 วัน
.
แอนดรูว์ บาร์นส์ ผู้ก่อตั้งและ CEO บริษัท Perpetual Guardian ผู้ให้บริการชั้นนำของนิวซีแลนด์ในด้านบริการวางแผนอสังหาริมทรัพย์แบบครบวงจร เล่าว่า ขณะที่เขากำลังเดินทางด้วยเครื่องบินโดยสาร เขาได้เจอบทความน่าสนใจตัวหนึ่งจาก The Economist ซึ่งพูดถึงผลการสำรวจการทำงานของพนักงานในประเทศอังกฤษ ผลพบว่า คนทำงานจะมีช่วงเวลาที่ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ (Productive) เพียง 2.00-2.30 ชั่วโมง ต่อวันเท่านั้น
.
1
บทความนั้นเป็นแรงบันดาลใจให้เขาออกกฎใหม่ คือให้พนักงานของตัวเองได้ทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์ ด้วยเหตุผลที่ว่า การมานั่งอยู่ที่ออฟฟิศ จิบกาแฟ เปิดอ่านอีเมล มีคนมาขอความช่วยเหลือในงาน และรอเวลาเลิกงานหลายชั่วโมงนั้น อาจเป็นสิ่งที่ดูดพลังงานของคนทำงานเสียเปล่า หากเทียบกับเวลาที่เขาทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพซึ่งมีเพียงน้อยนิดในแต่ละวัน
.
ทีม HR ได้ยินในตอนแรกต่างก็ไม่เห็นด้วย เพราะคิดว่าพนักงานลุกฮือแน่นอนหากต้องทำงานน้อยลงและได้รายได้น้อยลง แต่แอนดรูว์ยืนยันว่าบริษัทจะจ่ายเงินเดือนพนักงานเหมือนเดิม โดยไม่ได้ลดสวัสดิการใดๆ แม้จะปรับลดวันทำงานลง
.
3
แล้วผลที่ตามมาเป็นอย่างไรบ้าง?
.
(ต่อ2/4)สิ่งที่เกิดขึ้นคือ บริษัทของเขายังดำเนินต่อไปได้โดยไม่ได้มีปัญหาร้ายแรงอะไรเข้ามา และได้พบกับผลลัพธ์ที่น่าสนใจดังนี้
.
1. Job Performance ยังราบรื่นแม้ทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์
2. Staff Stress หรือความเครียดของพนักงานลดลงจากผลสำรวจเดิม 45% เหลือ 38%
3. Work Life Balance ของพนักงานจากเดิมได้คะแนนสำรวจ 54% สูงขึ้นถึง 78%
4. Team Engagement ที่พนักงานมีร่วมกับพุ่งสูงขึ้นจาก 60% เป็น 80%
.
สิ่งที่เกิดขึ้นตามมา คือ พนักงานของเขาปรับเปลี่ยนพฤติกรรมบางอย่างที่เคยเกิดขึ้น เช่น การใช้โซเชียลมีเดียในเวลางานน้อยลง การเข้าดูเว็บไซต์ท่องเที่ยวในเวลางานเพื่อวางแผนแก้เบื่อขณะทำงานก็ลดลงเช่นกัน
.
และที่สำคัญ คือ พนักงานของเขาลางานน้อยลง! เพราะ 3 วันที่ได้พัก สามารถเตรียมการไปทำกิจกรรมกับครอบครัวหรือคนรักแบบยาวๆ ได้ โดยไม่ต้องกังวลว่าวันอาทิตย์จะมาถึงอย่างรวดเร็ว
.
.
2
เรามาดูอีกกรณีศึกษาที่น่าสนใจจาก Bolt ดีกว่า
.
เมื่อไม่นานมานี้ สำนักข่าว Business Insider รายงานว่า Bolt สตาร์ตอัปอีคอมเมิร์ซชื่อดังจากสหรัฐฯ ประกาศให้พนักงานทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์อย่างถาวร
หลังจากที่ทางบริษัทได้ทดลองให้พนักงานหยุดงานในวันศุกร์เป็นระยะเวลา 3 เดือนนับตั้งแต่เดือนกันยายนที่ผ่านมา
.
ที่บริษัทตัดสินใจประกาศนโยบายอย่างเป็นทางการนั้น เป็นเพราะพนักงานส่วนมากรายงาน ประสิทธิภาพในการทำงานและสมดุลระหว่างงานและชีวิต (Work-life Balnce) ที่ดีขึ้นในช่วงของการทดลอง
.
1
ไรอัน เบรสโลว์ CEO ของ Bolt ได้เปิดเผยผ่านบัญชีทวิตเตอร์ส่วนตัวว่า ไม่มีทางที่บริษัทจะหันกลับไปทำงานในรูปแบบเก่า หลังจากที่ได้เห็นความเป็นอยู่และประสิทธิภาพของการทำงานของพนักงานเพิ่มขึ้น พร้อมแนบผลสำรวจของพนักงานที่ระบุว่า มีพนักงานกว่า 94% ที่ต้องการให้บริษัทคงนโยบายการทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์ต่อไป และมีพนักงานกว่า 84% ระบุว่ามีสมดุลระหว่างงานและชีวิต (Work-life Balnce) ที่ดีขึ้น
.
.
ไม่ใช่แค่ระดับบริษัทที่มองเห็นประโยชน์ของการลดเวลาและให้พนักงานได้มีวันหยุด 3 วันต่อสัปดาห์ แต่ระดับประเทศก็มีคนมองเห็น!
.
เมื่อปี 2021 ที่ผ่านมา ประเทศไอซ์แลนด์ได้ประกาศอย่างเป็นทางการว่า จะทำการทดลองให้คนในประเทศทำงานกันในระยะเวลาที่สั้นลง โดยสรุปออกมาได้เป็น 4 วันต่อสัปดาห์ ซึ่งแคมเปญนี้ได้รับกระแสในเชิงบวกมากมายกับคนในประเทศ หลังจากนั้นจึงมีการทดลองให้พนักงานกว่า 2,500 คน ทำงานกัน 35-36 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ผลสำรวจพลว่าพวกเขามีความสุขมากขึ้น สุขภาพจิตดีขึ้น และเครียดน้อยลง เป็นแนวโน้มที่ดีต่อการฟื้นฟูสภาพจิตใจ
.
.
สิ่งหนึ่งที่กรณีศึกษาเหล่านี้ได้สามารถพิสูจน์ คือ บริษัทไม่ได้สูญเสียผลกำไรจากการน้อยลงเลย และพวกเขามีพนักงานที่มีความสุขขึ้น สุขภาพดีขึ้น และเป็นพนักงานดีขึ้น กลายเป็น Win-Win Situation ที่เกิดขึ้นในองค์กร
.
อีกบทเรียนที่เราได้จากเรื่องการทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์ คือ การให้ความสำคัญกับสมดุลชีวิตคนทำงานเป็นสิ่งสำคัญที่ควรคำนึงถึง ในยุคปัจจุบันที่คนมักให้ค่าไอเดียและความคิดสร้างสรรค์ที่ผลิตออกมาได้แบบไม่หยุดหย่อน โดยไม่ได้คิดถึง ‘สภาพแวดล้อม’ ที่ส่งเสริมให้เกิดสิ่งเหล่านี้เลย
.
.
แปลและเรียบเรียงจาก:
.
.
#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast
#softskill
โฆษณา