24 ก.พ. 2022 เวลา 00:33 • ครอบครัว & เด็ก
“คนทำงานกับเด็กต้องใจเย็น เข้าใจเด็กเป็นรายบุคคล ละเอียดอ่อน เข้าใจสภาพและความสนใจของเด็ก”
พี่สาว หรือ คุณยุรี แก้วชูช่วง ผู้ประสานงานจังหวัดสงขลาโครงการสร้าง Active Citizen Group เพื่อเป็นกลไกในการปกป้องคุ้มครองทางสังคมให้กับเด็กและเยาวชน : ภาคใต้ (สตูล, สงขลา, ตรัง) เปิดเผยกับเราถึงเงื่อนไขการทำหน้าที่ผู้ประสานงานจังหวัด การจัดวางระบบกลไกปกป้องคุ้มครองเด็กและเยาวชนในพื้นที่ ตลอดจนการติดตามหนุนเสริมทั้งสามพื้นที่นำร่องในจังหวัดสงขลา ถึงความท้ายของคนทำงานด้านเด็กและเยาวชน ที่ต้องมีความรู้และความความเข้าใจอย่างลึกซึ้งต่อสภาพข้อเท็จจริงในพื้นที่ ทั้งในส่วนของนิเวศรอบตัวเด็ก รวมถึงการเข้าใจในความรู้สึกนึกคิดของเด็กๆ เอง ด้วยประสบการณ์ของพี่สาว ที่เคยทำงานร่วมกับเครือข่ายสภาองค์กรชุมชนในพื้นที่ การได้เคยมีโอกาสเป็นพี่เลี้ยงและจัดกระบวนการการเรียนรู้ด้านการพัฒนาศักยภาพให้กับกลุ่มแกนนำ ในพื้นที่
จึงเป็นทุนสำคัญที่หยิบยกมาเป็นฐานการทำงานที่ช่วยให้การประสานงาน การปักหมุดพื้นที่เป้าหมาย รวมถึงการจัดวางบุคลากรที่เหมาะสมร่วมเป็นกลไกระดับพื้นที่และเครือข่ายจังหวัดร่วมขับเคลื่อนโครงการ
ปัจจัยสำคัญและโดดเด่นของแกนนำกลไกในจังหวัดสงขลา คือประการณ์และภูมิปัญญาท้องถิ่น ทั้งในมิติของการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ เช่นงานหัตกรรมจักสานจากใบตาลโตนด ความรู้ด้านการเลี้ยงปลา การเพาะปลูกพืชเกษตรอินทรีย์ รวมถึงปัจจัยด้านโครงสร้างเครือญาติที่เป็นตัวเชื่อมให้เกิดการรวมกลุ่มและดำเนินกิจกรรมร่วมกันได้อย่างสะดวกยิ่งขึ้น เป็นรูปแบบกลุ่มกลไกที่ประกอบด้วยบุคคลในระดับแกนนำท้องถิ่น อาสาสมัครสาธารณสุข และสมาชิกสภาองค์กรชุมชนที่ถือว่าการดูแล ปกป้องและคุ้มครองเด็กและเยาวชนที่เป็นลูกหลานตนเองนั้น คือภารกิจที่ต้องทำกันอยู่แล้ว
สถานการณ์ด้านเด็กและเยาวชนในพื้นที่เป้าหมายจังหวัดสงขลาเป็นความเสี่ยงในระดับที่ค่อนข้างน่าเป็นห่วง ด้วยสังคมชนบทกึ่งเมือง และสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป ส่งผลให้เด็กและเยาวชนในพื้นที่ส่วนใหญ่ขาดผู้ดูแลและส่งเสริมหรือพัฒนาให้เกิดการพัฒนาอย่างมีคุณภาพได้ สาเหตุสำคัญคือผู้ปกครองส่วนใหญ่ไม่มีเวลาในการดูแลลูกๆ หลานๆ ของตัวเองเท่าที่ควร ด้วยภาระหน้าที่รัดตัว ส่งผลให้เด็กๆ และเยาวชนขาดที่พึ่ง จนต้องพึ่งพาโทรศัพท์ สังคมออนไลน์ ยาเสพติด และการคบหาเพื่อนๆ ที่เป็นกลุ่มเสี่ยง
การออกแบบกิจกรรมหนุนเสริมคณะพี่เลี้ยงเด็ก หรือกลไกปกป้องคุ้มครองเด็กในพื้นที่เป้าหมายของจังหวัดสงขลาภายใต้โครงการนี้ มุ่งเน้นที่การชวนคิด-ชวนคุย การร่วมกันศึกษาข้อเท็จจริงต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับเด็ก ครอบครัว และสภาพแวดล้อมที่ส่งผลให้เกิดปัญหาในด้านต่างๆ กับเด็ก โดยใช้เครื่องมือการสำรวจ และการวิเคราะห์ข้อมูลร่วมกัน ทั้งพี่เลี้ยงในพื้นที่ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรงเช่น พมจ.
ตลอดจนการแลกเปลี่ยนเรียนนรู้ร่วมกับผู้ประสานงานจังหวัดอื่นๆ และโค้ช ที่เข้ามาร่วมพัฒนาเครื่องมือและวิธีการในการออกแบบกิจกรรมที่เหมาะสมและสอดคล้องกับความสนใจของเด็กและเยาวชนในพื้นที่ จากนั้นจึงค่อยๆ ปล่อยให้กลไกที่ได้รับการจัดตั้งและพัฒนาศักยภาพพื้นฐานให้เป็นพี่เลี้ยงเด็กๆ ได้ลงพื้นที่พบเด็ก ชวนคิด-ชวนคุย ศึกษาสภาพปัญหาของเด็ก และร่วมจัดกิจกรรมย่อยในพื้นที่ที่มาจากความสนใจของเด็ก เช่น กลุ่มศึกษาระบบวงจรชีวิตปลากัด การทำเกษตรอินทรีย์ และการจักสานผลิตภัณฑ์จากใบตาลโตนด เป็นต้น
บทเรียนสำคัญที่พบเจอสำหรับผู้ที่ต้องทำงานด้านเด็กและเยาวชน คือ “คนทำงานกับเด็กต้องใจเย็น เข้าใจเด็กเป็นรายบุคคล ละเอียดอ่อน เข้าใจสภาพและความสนใจของเด็ก ไม่ด่วนตัดสินและชี้นำ แต่พยายามสร้างกระบวนการให้เขาเกิดการเรียนรู้ จนนำไปสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมไปในทางที่ดีขึ้น”
แม้สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า (COVID-19) จะส่งผลกระทบให้การทำงานมีอุปสรรค หรือเกิดการเปลี่ยนแปลงไปจากแผนงานเดิมที่วางไว้บ้าง แต่ก็ยังคงมีความเข้มข้นเสมอ ด้วยการประสานกันเป็นภาคีความร่วมมือตั้งแต่ระดับพี่เลี้ยงไปจนถึงภาคีหนุนเสริมระดับจังหวัดที่จะสามารถสร้างต้นแบบพื้นที่กลไกปกป้องคุ้มครองเด็กอย่างมีคุณภาพได้
ความมุ่งหวังของพี่สาวเองและคณะทำงานจังหวัดสงขลาคือการสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้กับเด็กๆ และเยาวชนได้เข้ามาเรียนรู้ และพัฒนาคุณภาพชีวิตของตนเองและครอบครัวอย่างมีคุณภาพ โดยมีภาคีความร่วมมือจากพี่เลี้ยงที่เป็นญาติสนิทของเด็กๆ มาเป็นกลไกหนุนเสริมสำคัญในระดับพื้นที่
………….
*โครงการสร้าง Active Citizen Group เพื่อเป็นกลไกในการปกป้องคุ้มครองทางสังคมให้กับเด็กและเยาวชน : ภาคใต้ (สตูล, สงขลา, ตรัง)
มุ่งพัฒนากลุ่มพลเมืองตื่นรู้ (Active Citizen Group) ให้เป็นต้นแบบที่มีทักษะในการสร้างการเรียนรู้ต่อเด็กและเยาวชน
ก่อให้เกิดกลไกการเฝ้าระวัง ป้องกัน นักดื่มและนักสูบหน้าใหม่ในชุมชนผ่านการพัฒนากระบวนการทำงานและแผนปฏิบัติการร่วมกันของกลไกในระดับชุมชน อย่างน้อยจังหวัดละ 2 ตำบล 3 จังหวัด ในระยะเวลา 3 ปี ด้วยวิธีการหนุนเสริมและพัฒนาทักษะด้านการใช้กระบวนการวิจัยเพื่อท้องถิ่นในการสร้างการมีส่วนร่วม (คิด วางแผน ปฏิบัติ และสรุปผล)
ศักรินทร์ สีหมะ
#ActiveCitizenGroup
#กลไกปกป้องคุ้มครองทางสังคม
#สมาคมวัฒนพลเมือง
#สสส.
โฆษณา