24 ก.พ. 2022 เวลา 15:11 • การเมือง
ทรัพยากรธรรมชาติของ ‘ยูเครน’ : หนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ ‘รัสเซีย’ จะไม่ยอมสูญเสีย
9
ท่ามกลางการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ที่ยังคงเป็นฝันร้ายต่อเนื่องสำหรับมวลมนุษยชาติอยู่ตอนนี้ ล่าสุด มนุษยชาติอาจต้องเผชิญกับฝันร้ายอันเจ็บปวดเข้ามาอีกครั้งหนึ่งจากสงครามโลกที่พร้อมปะทุขึ้นได้ทุกเวลา จากกรณีวิกฤตความขัดแย้งระหว่าง “รัสเซีย-ยูเครน” เมื่อประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำของรัสเซียสั่งให้กองทัพรัสเซียเข้าประชิดชายแดนบริเวณดินแดนทางภาคตะวันออกของยูเครน พร้อมระบุถึงความจำเป็นที่ต้องการรักษาสันติภาพ
7
สาเหตุของความขัดแย้งทั้งหมดนั้น เริ่มมาจากความพยายามของยูเครนที่ต้องการจะเข้าเป็นส่วนหนึ่งของสมาชิกในองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (NATO) ที่มีสหรัฐอเมริกาเป็นผู้นำ ซึ่งสร้างความไม่พอใจต่อรัสเซีย จนนำมาสู่การแย่งชิงอำนาจเชิงยุทธศาสตร์ เนื่องจากรัสเซียมองว่าเป็นความต้องการที่จะแผ่ขยายอำนาจและอิทธิพลของชาติพันธมิตรตะวันตกในองค์การ NATO
6
นอกจากนี้ รัสเซียมองว่าประเทศยูเครนในอดีตเคยเป็นดินแดนส่วนหนึ่งที่สำคัญของรัสเซียมาก่อน (อดีตสหภาพโซเวียต Union of Soviet Socialist Republics: USSR) ทางรัสเซียเองก็พยายามที่จะรื้อฟื้นความยิ่งใหญ่ในอดีตของสหภาพโซเวียตขึ้นมาอีกครั้งด้วย หากยินยอมและปล่อยให้ยูเครนไปเข้าเป็นสมาชิกขององค์การ NATO และอยู่ใต้อำนาจของมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกา จะส่งผลเสียต่อเสถียรภาพความมั่นคงของรัสเซียได้
9
ทรัพยากรธรรมชาติของยูเครน ก็เป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่รัสเซียจะไม่ยอมสูญเสีย ย้อนไปเมื่อปี ค.ศ. 1991 หลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียต จนกระทั่งมาเป็นรัสเซียในปัจจุบัน หลายประเทศที่เคยเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียตได้แยกตัวออกมาเป็นรัฐอิสระและหนึ่งในนั้นคือ “ประเทศยูเครน” ซึ่งจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน รวมถึงงานวิชาการหลายชิ้นได้ออกมาระบุว่า ดินแดนประเทศยูเครนจัดเป็นดินแดนหนึ่งที่มีความสำคัญในด้านทรัพยากรธรรมชาติที่ต่างเป็นที่ต้องการ และดึงเอามาใช้ประโยชน์ทั้งจากกลุ่มประเทศทางแถบยุโรปตะวันตก และมหาอำนาจอย่างประเทศรัสเซีย ยูเครนได้ชื่อว่าเป็นดินแดน “อู่ข้าวอู่น้ำ” เลยก็ว่าได้จากการที่มีทรัพยากรทางธรรมชาติที่สำคัญในประเทศ
7
ทรัพยากรการเกษตร
ประเทศยูเครนได้ขึ้นชื่อว่าเป็นประเทศอู่ข้าวอู่น้ำที่สำคัญของประเทศแถบยุโรปมาหลายศตวรรษ เพราะเป็นดินแดนที่มีพื้นที่เกษตรกรรมอยู่ 41.5 ล้านเฮกตาร์ (102.5 เอเคอร์) คิดเป็นเปอร์เซ็นต์พื้นที่ครอบคลุมถึง 70% ของทั้งประเทศ และมีสภาพดินดำที่อุดมสมบูรณ์ เหมาะแก่การปลูกพืช โดยพืชผลทางการเกษตรที่ส่งออกหลักของประเทศยูเครน ประกอบด้วย เมล็ดดอกทานตะวัน (Sunflower seed) อันดับ 1 ในการผลิตของโลก, ข้าวโพด (Corn), ข้าวบาร์เลย์ (Barley), ผักกาดก้านขาว (Rapeseed) นำเอามาทำเป็นน้ำมันคาโนลา, ข้าวสาลี (Wheat), ถั่วเหลือง (Soybean) และธัญพืชอื่น ๆ (Grain)
10
ในปี ค.ศ. 2018 ผลผลิตธัญพืชของยูเครนอยู่ที่ 70 ล้านตัน และอยู่ที่ 74 ล้านตันในปี ค.ศ. 2019 จนกระทั่งช่วงปี แม้ค.ศ. 2020 ยูเครนต้องเจอกับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 และสภาพภูมิอากาศที่ไม่ปกติ ทำให้การเก็บเกี่ยวธัญพืชรวมลดลงอยู่ที่ 65.4 ล้านตัน แต่ถึงกระนั้นในปีเดียวกัน ยูเครนมีรายได้จากการส่งสินค้าส่งออกที่มาจากภาคเกษตรกรรม คิดเป็นประมาณ 9.3% ของ GDP
6
ทรัพยากรน้ำมันแบะพลังงาน
ประเทศยูเครนเป็นดินแดนที่มีทรัพยากรน้ำมัน แร่ธาตุ และพลังงานสำคัญอยู่หลายชนิด ประกอบด้วย ก๊าซธรรมชาติ (32%) ถ่านหิน (30%) นิวเคลียร์ (21%) รวมถึงแร่เหล็ก และแมงกานีส และขุมทรัพย์ก๊าซธรรมชาติที่ใหญ่ที่สุดของยุโรปนี้ (รองลงมาจากนอร์เวย์) ที่ยังไม่ถูกใช้งาน จึงทำให้เป็นประเทศเขตอุตสาหกรรมหนักสำคัญจำนวนมาก ทั้งโรงงานเหล็ก โรงงานผลิตอาวุธ เครื่องจักร และเคมีภัณฑ์ต่าง ๆ
4
แต่สาเหตุที่สำคัญคือ ประเทศยูเครนมีบริเวณที่ออกไปสู่ทะเลดำ (Black Sea) ซึ่งเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญในการลำเลียงน้ำมันดิบ และก๊าซธรรมชาติของรัสเซียออกไปสู่ทั่วโลก ยิ่งรัสเซียจัดเป็นประเทศผู้ผลิตน้ำมันดิบอันดับสองของโลก รองจากซาอุดีอาระเบีย และเป็นผู้ส่งออกก๊าซธรรมชาติรายใหญ่ไปยังยุโรป จึงไม่แปลกที่รัสเซียจะยังห่วงแหนยูเครนอยู่
5
ดังนั้น หากรัสเซียยกกองทัพบุกยูเครนเต็มรูปแบบ สินค้าที่ส่งผ่านยูเครน รวมถึงน้ำมัน และก๊าซธรรมชาติจะถูกตัดทันที อีกทั้งในทางอ้อม ประเทศกลุ่มยุโรปตะวันตกอาจเลือกใช้มาตรการคว่ำบาตรการนำเข้าก๊าซ น้ำมัน และสินค้าอื่น ๆ เพื่อตอบโต้รัสเซีย ทั้งหมดนี้อาจส่งผลต่อเศรษฐกิจและราคาน้ำมันทั่วโลกได้
2
ท้ายที่สุด หวังว่าวิกฤตความขัดแย้งที่เกิดจะไม่นำไปสู่การก่อสงครามเต็มรูปแบบถึงขั้นเป็นสงครามโลก หรือทางที่ดีไม่ควรเกิดเป็นสงครามในลักษณะใด ๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่เพียงแต่จะต้องสูญเสียทรัพยากรธรรมชาติ ทรัพยากรมนุษย์ และทรัพยากรอื่น ๆ ที่ต้องใช้ในการก่อสงคราม แต่จะก่อให้เกิดหายนะต่อสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศต่าง ๆ ทั่วโลกตามมาจนคาดไม่ถึงในอนาคตระยะยาวอย่างแน่นอน
4
Writer: วรเทพ พูลสวัสดิ์ (อาร์ม)

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา