25 ก.พ. 2022 เวลา 13:30 • กีฬา
ปัจจุบัน มีคนไทย 3.25 คน ที่เป็นเจ้าของทีมในวงการฟุตบอลอังกฤษ พวกเขาเป็นใครกันบ้าง แล้วโปรเจ็กต์ยังสิงห์หาดใหญ่คืออะไร วิเคราะห์บอลจริงจังจะอัพเดทให้ฟังนะครับ
ณ เวลานี้ คนไทยที่เป็นเจ้าของทีมในฟุตบอลอังกฤษประกอบไปด้วย
- คนแรก คืออัยยวัฒน์ ศรีวัฒนประภา เจ้าของเลสเตอร์ ซิตี้ในระดับพรีเมียร์ลีก
- คนที่สอง คือเดชพล จันศิริ เจ้าของเชฟฟิลด์ เว้นสเดย์ ในระดับลีกวัน
- คนที่สาม มีชื่อว่า สัมฤทธิ์ ธนะกาญจนสุทธิ์ เจ้าของทีมอ็อกซ์ฟอร์ด ยูไนเต็ด ในระดับลีกวันเช่นเดียวกัน
- ส่วน 0.25 ที่ผมเขียนไว้ หมายถึง นรินทร์ นิรุตตินานนท์ ที่มีหุ้นส่วนกับทีมเรดดิ้งในแชมเปี้ยนชิพอยู่ 25%
เลสเตอร์คือทีมใหญ่ อยู่ในกระแสข่าวของโลกเป็นประจำอยู่แล้ว ขณะที่เชฟฟิลด์ เว้นสเดย์ ปีที่แล้วก็ถูกพูดถึงเยอะ หลังจากร่วงจากแชมเปี้ยนชิพไปลีกวัน แต่ทีมที่ถือว่ามีข่าวน้อยที่สุด ก็คืออ็อกซ์ฟอร์ด ยูไนเต็ด ทั้งๆที่ ผลงานในช่วงหลังของพวกเขาถือว่าโอเคมาก และมีแอบลุ้น ที่จะได้เลื่อนชั้นด้วย
ซีอีโอของอ็อกซ์ฟอร์ด ยูไนเต็ด คือเสือ-สัมฤทธิ์ แต่ฝรั่งออกเสียงว่า "เสือ" ได้ยาก ที่อังกฤษเลยเรียกเขาว่า "ไทเกอร์" แทน
อัยยวัฒน์เป็นเจ้าของคิงเพาเวอร์ ส่วนเดชพลก็เป็นทายาทในตระกูลจันศิริ เจ้าของ Thai Union Group หนึ่งในผู้จำหน่ายอาหารทะเลแช่แข็งที่ใหญ่ที่สุดในโลก แล้วเสือ-สัมฤทธิ์ล่ะ เขาทำงานอะไร?
ประวัติของสัมฤทธิ์เขาเคยเปิดโรงงานผลิตเสื้อผ้าให้แบรนด์ดังๆ ระดับโลก เช่น ทิมเบอร์แลนด์, แคลวิน ไคลน์ และ อาดิดาส จากนั้นได้ผันตัวมาทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ โดยเปิดบริษัทชื่อ เดอะ เอสเตท ทำคอนโดมีเนียม เช่นตึก Low Rise เดอะ เอสเตท ท่าพระ เป็นต้น
ตอนแรกสัมฤทธิ์ไม่ได้ทำงานที่เกี่ยวกับกีฬาก็จริง แต่จากความสำเร็จของเลสเตอร์ ที่สามารถเลื่อนชั้นไปสู่พรีเมียร์ลีกจนทำกำไรได้มหาศาล นั่นทำให้หลายคนเชื่อว่า สัมฤทธิ์เองก็มองหาโอกาสทางธุรกิจในวงการฟุตบอลอังกฤษเช่นกัน
โอกาสของเขามาถึง ในปี 2014 เมื่อไพโรจน์ เปี่ยมพงษ์สานต์ อดีตบอร์ดบริหารแมนเชสเตอร์ ซิตี้ ยุคทักษิณ ชินวัตร ได้มาเชิญชวน คุณหญิงศศิมา ศรีวิกรม์ เจ้าของโรงเรียนศรีวิกรม์ ให้ลองพิจารณาซื้อสโมสรเรดดิ้ง จากเซอร์จอห์น มาเดจ์สกี้ ที่ประกาศขายอยู่ในราคา 40 ล้านปอนด์
1
ณ เวลานั้น เรดดิ้งติดหนี้สิน สโมสรส่อแววจะล้มละลาย ซึ่งคุณหญิงศศิมาพิจารณาข้อเสนอแล้วมองว่า การจ่าย 40 ล้านปอนด์นั้นคุ้ม เพราะที่ดินของเรดดิ้งอยู่ในทำเลที่ดี มีระยะทางห่างจากลอนดอนแค่ 45 นาที ดังนั้นถ้าจัดการดีๆ ก็สามารถทำกำไรได้อยู่ นั่นทำให้เธอตัดสินใจว่าจะซื้อเรดดิ้งมาบริหารต่อ
เมื่อตัดสินใจได้แล้ว คุณหญิงศศิมาจึงจับมือเป็นพาร์ทเนอร์ กับเสือ-สัมฤทธิ์ และ นักธุรกิจอีกคนชื่อ นรินทร์ นิรุตตินานนท์ รวมแล้วทั้ง 3 คน รวมเงินซื้อเรดดิ้งมาครองเป็นกรรมสิทธิ์ โดยดีลทั้งหมดลุล่วงในเดือนกันยายน ปี 2014
เมื่อซื้อสโมสรเรียบร้อยแล้ว มีการตกลงกันให้สัมฤทธิ์ทำหน้าที่เป็นซีอีโอ และนี่เองเป็นจุดเริ่มต้นของเสือ-สัมฤทธิ์กับวงการฟุตบอลอังกฤษ
สิ่งที่สัมฤทธิ์พยายามทำมาตลอดควบคู่ไปกับการบริหารเรดดิ้ง คือต้องการให้ประเทศไทยได้ประโยชน์อะไรบางอย่าง จากการที่มีคนไทยเข้าไปเทกโอเวอร์สโมสรอังกฤษ
3
ตัวอย่างเช่น ในเดือนสิงหาคม 2015 เรดดิ้งได้จับมือกับกรมพลศึกษา จัดทัวร์นาเมนต์นักบอลอายุไม่เกิน 14 ปี ถ้านักเตะคนไหนแววถึง ก็จะส่งไปปลุกปั้นต่อที่อะคาเดมี่ของสโมสร คือพยายามเชื่อมไทยกับอังกฤษเอาไว้ด้วยโครงการอะไรบางอย่างเสมอ
การเทกโอเวอร์ผ่านไป 3 ปี จริงๆ เสือ-สัมฤทธิ์ก็อยากทำงานต่อ เพราะเรดดิ้งมีลุ้นเลื่อนชั้นทุกปี อย่างไรก็ตาม ในปี 2017 เรดดิ้งได้รับข้อเสนอที่ดีมากในการเทกโอเวอร์ต่อ จากกลุ่มทุนเริ่นเหอ ของประเทศจีน
เมื่อมีเงินสดอยู่ข้างหน้า คุณหญิงศศิมา และ เสือ-สัมฤทธิ์ จึงขายหุ้นของทั้งคู่ เป็นจำนวน 75% ให้กลุ่มทุนจีน ส่วนอีก 25% นรินทร์ นิรุตตินานนท์ ไม่ยอมขาย ยังถือเอาไว้อยู่
หลังจากขายหุ้นไปแล้ว คุณหญิงศศิมาไม่ได้ทำฟุตบอลต่อ ส่วนเสือ-สัมฤทธิ์ยังอยากทำงานในวงการนี้อยู่ ดังนั้นเขาจึงเอาเงินไปเทกโอเวอร์สโมสรใหม่ นั่นคืออ็อกซ์ฟอร์ด ยูไนเต็ด ทีมจากระดับลีกวัน ในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2018 โดยมีเป้าหมายคือเลื่อนชั้นขึ้นมาให้ได้ในอนาคต
1
อ็อกซ์ฟอร์ด ยูไนเต็ดมีหนี้อยู่ 4.2 ล้านปอนด์ แต่รูปแบบการเทกโอเวอร์ของเสือ-สัมฤทธิ์ ไม่ใช่การควักเงินจ่ายหนี้ให้ทั้งหมด แต่เขาซื้อหุ้นจากเจ้าของเดิมชื่อ ดาร์ริล เอลส์ มาบริหารต่อ และจากนั้นก็ต้องใช้ความสามารถในการทำธุรกิจเพื่อลดหนี้สินลงจากเดิมให้ได้ พร้อมกับพาอ็อกซ์ฟอร์ดชนะในสนามให้ได้
เมืองอ็อกซ์ฟอร์ดนั้นเป็นที่รู้จักระดับ Worldwide ในฐานะที่ตั้งของมหาวิทยาลัยเกรด A ของโลก ส่วนประชากรที่อาศัยอยู่ในเมืองจริงๆ มีประมาณ 150,000 คน
แต่ในแง่ของฟุตบอลนั้น อ็อกซ์ฟอร์ด ยูไนเต็ด เป็นทีมท้องถิ่น สนามมีความจุ 12,500 คน และวนเวียนอยู่แต่กับลีกรอง ยังไม่เคยเข้าไปเล่นในพรีเมียร์ลีกแม้แต่ครั้งเดียว ดังนั้นถ้าเสือ-สัมฤทธิ์ ทำได้จริงๆ พาอ็อกซ์ฟอร์ดไปอยู่ลีกเดียวกับแมนฯ ยูไนเต็ด, เชลซี, ลิเวอร์พูล ได้ เขาจะกลายเป็นฮีโร่คนใหม่ประจำเมืองอย่างแน่นอน
ก่อนเสือ-สัมฤทธิ์จะเข้ามาเทกโอเวอร์ อ็อกซ์ฟอร์ดยังอยู่ในสภาพทรงๆ ทรุดๆ ตกไปเล่นลีกทูบ้าง นอกลีกบ้าง แต่พอเขาเทกโอเวอร์ปั๊บ ปีแรกของสัมฤทธิ์ (2018-19) อ็อกซ์ฟอร์ดขยับมาจบอันดับ 12 ถือว่าเป็นอันดับกลางตารางที่ยอมรับได้ ไม่เสี่ยงกับการตกชั้นเหมือนเมื่อก่อน
นอกจากนั้น ด้วยความที่สัมฤทธิ์พอจะมีคอนเน็กชั่นที่ดีกับสโมสรต่างๆ ตั้งแต่บริหารเรดดิ้ง ทำให้เขาได้ผู้เล่นดีๆ มาเสริมทัพ เช่น คาเมรอน บรานเนแกน อดีตแข้งอะคาเดมี่ลิเวอร์พูล ก็ได้ตัวแบบเซ็นฟรี
คือถ้าได้นักเตะดีๆ มาเสริมทีมอย่างสม่ำเสมอ ก็ไม่แปลกที่จะทำให้อันดับของอ็อกซ์ฟอร์ดดีขึ้นเรื่อยๆ
2019-20 ได้อันดับ 4 ของลีกวัน ได้สิทธิ์เพลย์ออฟ และสุดท้ายได้ลงเล่นเกมตัดสินหาทีมเลื่อนชั้นที่เวมบลีย์ด้วย แต่แพ้วีคอมบ์ อย่างน่าเสียดาย
3
2020-21 อ็อกซ์ฟอร์ดจบอันดับ 6 ได้เข้าเพลย์ออฟอีกครั้ง แต่ก็ยังไม่เลื่อนชั้นเช่นเดิม
2021-22 ฤดูกาลปัจจุบันเล่นมาครึ่งทางแล้ว อ็อกซ์ฟอร์ดอยู่อันดับ 5 ของตาราง ก็ยังมีสิทธิ์เลื่อนชั้นแบบอัตโนมัติ ซึ่งก็ต้องเป็นกำลังใจต่อไป ให้ทีมของคนไทยอีกคน สามารถไต่ไปยังที่สูงๆ ได้สำเร็จ
สัมฤทธิ์มีความหัวการค้าอยู่ในตัว ตัวอย่างเช่น เมื่อก่อนในแมตช์เดย์ อ็อกซ์ฟอร์ดจะไม่มีโซนอาหารเอาไว้ขาย แฟนบอลต้องซื้อมาจากข้างนอก สโมสรก็ปล่อยให้เอาอาหารเข้าไปเลย ค่อนข้างสบายๆ แต่สัมฤทธิ์มองว่า แบบนี้สโมสรก็ไม่ได้อะไรสิ เขาเลยไปดีลกับร้านอาหารต่างๆ ให้มาเปิด Kiosk ตั้งร้านขาย ให้เป็นเรื่องเป็นราว แทนที่สโมสรจะไม่ได้อะไรเลย คราวนี้ก็ได้ส่วนแบ่งเงินจำนวนหนึ่งก็ยังดี
เขาใช้หลักการเดียวกับโรงหนัง แทนที่จะปล่อยให้คนดูซื้ออาหารจากที่อื่นมากิน ก็บังคับให้ซื้อป็อปคอร์นหน้าโรงซะเลย แฟนบอลนั้นก็อยากสนับสนุนทีมอยู่แล้ว จึงยอมโอเค ถ้าจะซื้อกับสโมสรแม้ราคาอาจจะแพงขึ้นนิดหน่อยก็ไม่เป็นไร
1
ขณะที่โฆษณาต่างๆ สัมฤทธิ์ก็หาได้มากขึ้น มีการดีลกับแบรนด์จากประเทศไทย เช่น กะทิชาวเกาะ หรือ เครื่องดื่มสิงห์ ให้มาเป็นสปอนเซอร์ของสโมสร
1
การบริหารการเงินในสไตล์นักธุรกิจ ทำให้อ็อกซ์ฟอร์ดดูมีฐานะดีขึ้นหากเทียบกับยุคเจ้าของเดิม และมันส่งผลดีต่อฟอร์มของผู้เล่นในสนามไปโดยปริยายด้วย
ตอนนี้กระแสของแฟนๆ อ็อกซ์ฟอร์ดที่พูดถึงเสือ-สัมฤทธิ์ก็เป็นไปในทิศทางบวก และถ้าหากเขาพาอ็อกซ์ฟอร์ดเลื่อนชั้นได้จริงๆ ก็จะกลายเป็นฮีโร่ของเมืองไปอีกนานเลยทีเดียว
ไอเดียของเสือ-สัมฤทธิ์ที่แฝงไว้ตั้งแต่ทำเรดดิ้ง นั่นคือ "เชื่อมโยงกับประเทศไทยอยู่เสมอ" ยังคงอยู่ติดตัวเขา แม้จะย้ายไปอ็อกซ์ฟอร์ด ยูไนเต็ดแล้วก็ตามก็ยังทำแบบเดิม
ในเคสแรกที่เราได้เห็นกันคือกรณีของเบนจามิน เดวิส มิดฟิลด์สัญชาติไทย หลังจากที่เดวิส หมดสัญญากับฟูแล่มและโดนปล่อยตัวฟรี อ็อกซ์ฟอร์ด ไม่รอช้าไปดึงเดวิสมาเล่นกับทีมด้วย
คิดตามคอมม่อนเซนส์ ก็ถือว่าเป็นดีลที่สมเหตุสมผลดี เพราะเมื่อเดวิสอยู่ที่อ็อกซ์ฟอร์ด ยูไนเต็ด คนไทยก็อาจส่งใจช่วยสโมสรมากขึ้นกว่าเดิม ถือเป็นการสร้างความสัมพันธ์ของคนไทยกับสโมสรเอาไว้
ย้อนกลับไปช่วงปลายปี 2564 อ็อกซ์ฟอร์ด ยูไนเต็ด สร้างความเชื่อมโยงกับคนไทยอีกครั้งด้วยการไปจับมือเป็นพาร์ทเนอร์กับสโมสรฟุตบอลใน T3 ของไทย คือสโมสรชื่อยังสิงห์ หาดใหญ่ ยูไนเต็ด
1
ก่อนอื่นต้องอธิบายว่า ที่จังหวัดสงขลา มีสโมสรฟุตบอล 3 แห่ง ประกอบด้วย 1-สงขลา เอฟซี 2-ยังสิงห์ ยูไนเต็ด และ 3-หาดใหญ่ ซิตี้ โดยยังสิงห์ ยูไนเต็ด และ หาดใหญ่ ซิตี้ ตัดสินใจควบรวมกัน และเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น "ยังสิงห์ หาดใหญ่ ยูไนเต็ด" รวมพลังกันเพื่อไต่เต้าจาก T3 ขึ้นสู่ T2 ให้ได้
สิ่งที่ยังสิงห์ฯ กับ อ็อกซ์ฟอร์ด ยูไนเต็ดจะทำร่วมกันก็คือ สโมสรยังสิงห์ฯ จะจัดแข่งขันรายการ "ฟุตบอลชิงแชมป์เยาวชนสานฝันรุ่นไม่เกิน 18 ปี" โดยทีมที่ลงแข่งได้ จะเป็นโรงเรียนเฉพาะ 5 จังหวัดชายแดนใต้เท่านั้น (ปัตตานี, ยะลา, สตูล, นราธิวาส และสงขลา) ซึ่งในทัวร์นาเมนต์นี้ คณะกรรมการจะคัดเอานักเตะที่มีแววที่สุดจำนวน 15 คน ส่งไปประเทศอังกฤษ เพื่อร่วมฝึกซ้อมกับอะคาเดมี่ ของอ็อกซ์ฟอร์ด ยูไนเต็ด เป็นเวลา 2 เดือนเต็ม
2
2 เดือนเป็นระยะเวลาที่ไม่น้อย การที่เด็กๆ จากภาคใต้เหล่านี้ ได้ไปเรียนรู้ศาสตร์ของทีมระดับอ็อกซ์ฟอร์ด ยูไนเต็ด พอกลับมาที่ไทย น่าจะใช้ประโยชน์จากมันได้เยอะ และบางทีในกลุ่มเด็ก 15 คนเหล่านี้ อาจจะพัฒนาตัวเอง กลายมาเป็นผู้เล่นอาชีพในไทยลีก แล้วก้าวไปติดทีมชาติไทยในอนาคตก็ได้ ใครจะรู้
2
โดยในปีนี้ 2565 จะเป็นการทดลองดู 15 คนแรก และถ้าโครงการนี้เวิร์ก เด็กได้ประโยชน์จริง ปีหน้าพวกเขาก็จะจัดแข่งทัวร์นาเมนต์ภาคใต้อีก เพื่อที่จะส่งผู้เล่นชุดใหม่ไปอ็อกซ์ฟอร์ด ยูไนเต็ดอีกรอบ
ตอนเห็นเขาประโคมข่าวกันแว้บแรก ผมก็แปลกใจนะ หมายถึงอ็อกซ์ฟอร์ด ยูไนเต็ด จะมาจับมืออะไรกับทีมใน T3 คือถ้าอยากให้คนไทยรู้จักทีมเยอะๆ ก็น่าจะไปทำ MOU กับสโมสรใหญ่ๆ ใน T1 สิ จะมาจับมือกับทีมในระดับลีกภูมิภาคไปทำไม มันไม่น่าจะมีอิมแพ็กต์ในระดับวงกว้างนะ
อย่างไรก็ตาม ในเรื่องนี้ ทางฝั่งอ็อกซ์ฟอร์ด ยูไนเต็ด ได้ออกมาอธิบายได้น่าสนใจดี เขาบอกว่าการจับมือกับทีมจากภาคใต้นี่ล่ะคือสิ่งที่สโมสรต้องการอย่างแท้จริง โดยเสือ-สัมฤทธิ์ บอกว่า "อยากให้โอกาสกับเยาวชนไทย โดยเฉพาะจากพื้นที่ชายแดนใต้ ให้พวกเขาได้มาเรียนรู้ประสบการณ์จริง ว่าระบบแบบมืออาชีพ มันมีความเข้มงวดแค่ไหน ตั้งแต่การซ้อมไปจนถึงกฎระเบียบที่ต้องทำระหว่างใช้ชีวิตในฐานะนักเตะฝึกหัด นอกจากนั้นยังมีโปรแกรมกระชับมิตรกับทีมเยาวชนต่างๆ ในอังกฤษ ที่เราจะคัดเลือกมาให้ เพื่อให้ทุกคนได้แสดงความสามารถออกมา"
ดังนั้นในการเป็นพาร์ทเนอร์กันครั้งนี้ก็ถือเป็น Win-Win Situation ตัวนักเตะได้ประสบการณ์กับทีมจากลีกอังกฤษ แล้วพอนักเตะกลับมาถ้าใครมีแววดีมากๆ ยังสิงห์ฯ ก็ได้สิทธิ์ก่อนใครในการเซ็นสัญญาอาชีพ สามารถกลายเป็นคีย์แมนของทีมได้ในอนาคต ส่วนอ็อกซ์ฟอร์ด ก็ได้ภาพลักษณ์ที่ดีในการช่วยพัฒนาฟุตบอลภาคใต้ และสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับคนไทยเอาไว้อีกต่างหาก
2
เมื่อองค์ประกอบทุกอย่างลงตัว ทำให้ดีลนี้เกิดขึ้น โดยเด็กๆ 15 คนแรก จะออกเดินทางไปในช่วงมีนาคม 2565 นอกจากจะได้ไปซ้อมบอลแล้ว ทางเสือ-สัมฤทธิ์ ยังเตรียมพาเด็กๆ ไปดูบอลที่เลสเตอร์ กับแมนเชสเตอร์ ด้วย ถือว่าเป็นกำไรชีวิตของเยาวชนเหล่านี้เลยทีเดียว
เมื่อก่อนเวลาผมเห็นโครงการส่งเยาวชนไปเมืองนอก ผมคิดในใจตลอดครับว่ามันจะมีประโยชน์อะไรจริงหรอ ไปแค่แป้บเดียวก็กลับแล้วเนี่ยนะ
แต่พอมันเกิดขึ้นกับผมเอง ตอนผมไปทำข่าวที่อังกฤษ 1 ปี เชื่อไหมว่ามันเป็นรากฐานสำคัญให้ผมทำงานสายนี้ได้ยาวนานจนถึงปัจจุบันเลย ช่วงเวลาสั้นๆ ก็จริง แต่มันเป็นโอกาสให้เราได้รู้ในสิ่งที่ไม่เคยรู้ ได้เข้าใจในสิ่งที่ไม่เคยเข้าใจ และมันจะทำให้เราพัฒนาขึ้นครับ
เป็นกำลังใจให้เด็กๆ 15 คนที่ได้โอกาสเดินทางนะ และหวังว่าโครงการนี้จะเวิร์ก จะได้มีเรื่อยๆ เป็นปีที่ 2 3 4 ต่อไปนานๆ
ส่วนตัวผมว่า โปรเจ็กต์นี้ของยังสิงห์ หาดใหญ่ ยูไนเต็ด มีความน่าสนใจดี เพราะผมคิดมาตลอดว่า วงการฟุตบอลภาคใต้ มันสามารถพัฒนาไปได้ไกลกว่านี้
พูดถึงนักเตะ 5 จังหวัดชายแดนใต้ที่เก่งๆ ประเทศไทยก็มีไม่น้อย ปัจจุบันก็มีศุภชัย ใจเด็ด (ปัตตานี) หรือจะย้อนกลับไปในอดีตก็มี วรวุธ ศรีมะฆะ (สงขลา) อย่างไรก็ตาม ถ้าพูดด้วยความสัตย์จริง มันสามารถมีได้มากกว่านี้อีก เช่นเดียวกับสโมสรในลีกสูงสุด T1 ปัจจุบันก็ไม่มีทีมจากภาคใต้เลย ทั้งๆ ที่มันควรจะมีสัก 1-2 ทีมไม่ใช่หรือ
คนใต้คลั่งฟุตบอล แถม Facility ต่างๆ ก็มีพร้อม ดังนั้นถ้ามีการพัฒนาเยาวชนได้อย่างถูกต้องล่ะก็ โอกาสที่นักเตะเก่งๆ จะเยอะขึ้น และมีสโมสรได้ไปอยู่ลีกสูงสุดของประเทศ ก็ไม่น่าจะใช่เรื่องที่ยากเกินไปนัก
สุดท้ายนี้ สำหรับทีมอ็อกซ์ฟอร์ด ยูไนเต็ด พวกเขาอาจจะยังไม่เป็นที่รู้จักของคนไทยมากนัก เพราะอยู่ในระดับลีกวัน อย่างไรก็ตาม เราก็ได้เห็นความพยายาม ที่จะ "เชื่อมโยง" กับประเทศไทยอยู่เรื่อยๆ การดูแลเยาวชนภาคใต้ 15 คน ก็เป็นหนึ่งในนั้น
สำหรับผมก็คงบอกได้เพียงว่าเอาใจช่วยเสมอ ให้คนไทยที่ทำธุรกิจที่ต่างแดนประสบความสำเร็จ ถ้าอนาคตทั้งเลสเตอร์, เชฟฟิลด์ เว้นสเดย์ และ อ็อกซ์ฟอร์ด ยูไนเต็ด ได้เล่นในพรีเมียร์ลีกทั้ง 3 ทีมเลย คงเป็นเรื่องที่สุดยอดไปเลยเนอะ ว่าไหม
#SOUTHERNFOOTBALLERS
1
โฆษณา