Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
SERC Thailand
•
ติดตาม
25 ก.พ. 2022 เวลา 00:22 • ข่าว
เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2565 คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย(คสรท.)และ สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์(สรส.) ได้ขอเข้าพบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ เพื่อยื่นข้อเสนอในการแก้ไขปัญหาของประเทศชาติ ประชาชน อย่างยั่งยืน แต่ รมต.ติดภารกิจจึงมอบหมายให้ปลัดกระทรวงการคลังนายกฤฎา จีนะวิจารณะ มาร่วมประชุมหารือพร้อมรับข้อเสนอ ที่ห้องวายุภักษ์ 1 กระทรวงการคลัง
แถลงการณ์
คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.)
สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.)
เรื่อง ข้อเสนอเพื่อความมั่นคงอย่างยั่งยืนของประเทศชาติ ประชาชน
สถานการณ์อันเนื่องมาจากครองชีพที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างมากทำให้พี่น้องประชาชนต้องประสบกับความทุกข์ยากลำบากในการแบกรับภาระ ไม่ว่าจะเป็น ราคาเนื้อสัตว์ โดยเฉพาะเนื้อสุกรที่ปรับตัวสูงสุดในรอบ ๑๐ ปี ราคาไข่ไก่ ราคาน้ำมันพืช สินค้าในหมวดอาหาร ราคาพลังงาน ค่าไฟฟ้า ค่าเดินทางรวมถึงสินค้าอุปโภคบริโภคอื่นๆ ค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และด้วยนโยบายรัฐบาลที่สั่งการให้หน่วยงานของรัฐ เอกชน ปรับวิธีการทำงานโดยพนักงาน ลูกจ้าง ข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจจำนวนมากทำงานที่บ้าน (Work from Home) และให้นักเรียน นักศึกษาเรียนออนไลน์ ทำให้ภาระทั้งหมดไปตกที่ประชาชน ครอบครัว ทำให้ต้องแบกรับภาระ ค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า ค่าอินเตอร์เน็ต และอื่นๆ ที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก บางส่วนก็ถูกเลิกจ้าง ตกงาน ขาดรายได้ ไร้อาชีพ อยู่ในภาวะที่เดือดร้อนกันอย่างถ้วนหน้าทั่วประเทศ
แม้ว่ารัฐบาลจะเยียวยาช่วยเหลือแต่ก็เป็นเพียงระยะสั้นๆ รัฐบาลต้องกู้เงินจำนวนมหาศาลมาสร้างระบบสาธารณสุข สร้างภูมิคุ้มกันโรค รวมทั้งการเยียวยาในโครงการต่างๆ จนต้องขยายเพดานเงินกู้ และเงินที่กู้มาก็จะเป็นหนี้สาธารณะนั่นหมายถึงประชาชนคนไทยทุกคนและลูกหลานที่จะเกิดมาในวันหน้าต้องร่วมกันชดใช้หนี้อีกหลายชั่วอายุคน
เกษตรกรรายย่อยเองก็ต้องเผชิญภัยพิบัติธรรมชาติไม่สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ รวมทั้งราคาผลผลิตเองที่พอจะผลิตขายเลี้ยงชีพได้ราคาก็ตกต่ำ ปัจจัยส่วนหนึ่งที่สำคัญมาจากปัญหาราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ทั้งที่ประเทศไทยก็มีแหล่งพลังงานน้ำมันเป็นของตนเองที่สามารถขุดเจาะแล้วนำมาใช้เองได้ และกระทรวงการคลังก็ยังเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทน้ำมันที่เป็นรัฐวิสาหกิจรายใหญ่ของประเทศแต่ก็ยังไม่สามารถแก้ปัญหาหรือควบคุมราคาน้ำมันให้ถูกลงได้ ดูจากราคาน้ำมันในประเทศไทยเมื่อเทียบกับประเทศใกล้เคียงยังพบว่ามีราคาสูงกว่าเกือบเท่าตัว อันสาเหตุมาจากการเก็บภาษีที่ซ้ำซ้อน เช่น ภาษีเทศบาล ภาษีมูลค่าเพิ่ม การเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมัน กองทุนอนุรักษ์พลังงาน
ค่าการตลาด รวมแล้ว ๑๐ บาท ทุกลิตรที่ประชาชนเติมน้ำมันคือภาระที่แบกรับ
ในขณะที่การจัดเก็บภาษียังไม่มีความเป็นธรรมต่อคนส่วนใหญ่เพราะกลุ่มทุน นักธุรกิจที่ครอบครองทรัพย์สิน ที่ดิน ทรัพยากร ก็จ่ายภาษีในอัตราเดียวกับคนจนซึ่งปกติแล้วคนที่ถือครองทรัพย์สินมากก็ย่อมต้องเสียภาษีมากเพื่อนำมาใช้พัฒนาประเทศด้านอื่นๆ แต่จะเห็นได้ว่าคนที่จ่ายภาษีมากที่สุด คือ ประชาชนคนส่วนใหญ่ของประเทศนี้ ทั้งที่เป็นแรงงานภาคอุตสาหกรรม เกษตรกรรม บริการ ทุกอาชีพ
ในขณะที่รายได้รวมของรัฐผ่านกระบวนการการเก็บภาษี ข้อมูลจากกรมสรรพสามิต กรมศุลกากร กรมสรรพากร และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องในปี ๒๕๖๓ อยู่ที่ประมาณ ๒,๔๗๕,๕๖ ล้านบาท เป็นข้อมูลของการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มหรือ VAT ซึ่งคนจนส่วนใหญ่เป็นผู้จ่ายภาษีมากกว่าคนรวยโดยสัดส่วนในภาพรวม ถ้าเอาภาษีมูลค่าเพิ่มที่เก็บได้ประมาณ ๗๕๐,๐๐๐ แสนล้านบาท บวกกับภาษีบุคคลธรรมดาที่เก็บได้ ๓๕๐,๐๐๐ แสนล้านบาท รวมแล้วเป็น ๑,๑๐๐,๐๐๐ ล้านบาท ในขณะที่ภาษีมรดก ภาษีทรัพย์สินไม่มีตัวเลขข้อมูล แสดงว่าเก็บภาษีได้ในอัตราส่วนที่น้อยมาก
ดังนั้น ความร่ำรวย ทั้งเงินทอง ทรัพย์สิน ที่ดิน จึงตกไปอยู่ในการครอบครองของกลุ่มทุนซึ่งเป็นคนส่วนน้อยของสังคม ภาษีหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ซึ่งซื้อขายในวันหนึ่งๆ เกือบ ๑,๐๐๐,๐๐๐ ล้านบาท ก็ไม่มีการเก็บภาษี พอมีข่าวเสนอว่าจะเก็บภาษีเพียง ๐.๑% ของมูลค่าที่ซื้อขายเกินกว่า ๑,๐๐๐.๐๐๐ บาทต่อเดือน นายทุน กลุ่มทุนเอกชนทั้งหลายต่างออกมาคัดค้าน ต่อต้าน จนรัฐบาลต้องชะลอทบทวนนโยบายดังกล่าว ในขณะที่ข้อเสนอของภาคประชาชน เครือข่ายแรงงาน ที่เสนอให้เก็บภาษีมรดก ภาษีทรัพย์สิน ภาษีสินค้าฟุ่มเฟือย ภาษีที่ดิน
หรือแม้แต่การปฏิรูปที่ดิน การจำกัดการถือครองที่ดินแล้วกระจายที่ดินให้แก่เกษตรกรอย่างเป็นธรรมและห้ามซื้อขายเปลี่ยนมือยกเว้นมอบให้แก่ทายาทที่ชอบด้วยกฎหมายกลับไม่เกิดขึ้น ไม่มีใครกล้าทำ “ประเทศไทยจึงถูกจัดลำดับให้เป็นประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำสูงที่สุดในโลก” และ “สถิติการทุจริตขยับสูงขึ้นทุกปี” แล้วจะพัฒนาประเทศไทยให้เจริญก้าวหน้าเทียบเท่านานาอารยประเทศได้อย่างไร
ซึ่งหากรัฐบาลสร้างงาน สร้างรายได้ สร้างอาชีพ ประกันเรื่องค่าจ้าง ประกันรายได้ที่เป็นธรรม ส่งเสริม สนับสนุนเกษตรกร ธุรกิจรายย่อยให้สามารถมีพลังในการทำอาชีพปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ อย่างไม่เดือดร้อนทางการผลิตและการจำหน่ายแล้ว นั่นคือเป้าหมายที่รัฐบาลวางไว้ “มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน”และจะสามารถแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำได้ และหากรัฐบาลปรับโครงสร้างและการจัดเก็บภาษีในอัตราที่ก้าวหน้าก็จะทำให้รัฐนำรายได้ไปจัดสรรให้แก่กิจการ บริการสาธารณะให้แก่หน่วยงานต่างๆ ได้ และสามารถลดภาระการกู้ยืมและลดภาระหนี้สาธารณะลงได้และเพื่อความเป็นธรรมทางสังคม
รัฐวิสาหกิจที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ล้นเกล้ารัชกาลที่ ๕ ได้ทรงมีสายพระเนตรอันยาวไกลในการสถาปนาให้มีรัฐวิสาหกิจขึ้นในประเทศไทย ให้เป็นกลไกหลักของรัฐในการทำหน้าที่จัดแจงแบ่งปันความมั่นคงด้วยการบริการสาธารณะให้พี่น้องประชาชนทุกคนได้เข้าถึงบริการอย่างเป็นธรรมและเท่าเทียม แต่กลับถูกแปรรูปกิจการยกสัมปทานให้กลุ่มทุนเป็นการซ้ำเติมความยากจน ขูดรีดหรือการปล้นความสุข ความมั่นคงในชีวิตของประชาชนไปอย่างถาวร
สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) และคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) จึงมีข้อเสนอเพื่อความมั่นคงอย่างยั่งยืนของประชาชน มายังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและรัฐบาล และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าข้อเสนอนี้จะเป็นประโยชน์กับรัฐบาลเพื่อนำไปเป็นแนวทางสร้างความมั่นคงอย่างยั่งยืนให้ประชาชนได้อย่างเป็นธรรมและเท่าเทียมต่อไป ดังนี้
๑. รัฐบาลโดยกระทรวงการคลังต้องมีการปรับปรุงโครงสร้างทางภาษี เพื่อลดความเหลื่อมล้ำสร้างความเป็นธรรมให้กับประชาชนอย่างยั่งยืน เพิ่มศักยภาพการจัดเก็บภาษีเพื่อนำมาใช้เป็นงบประมาณแผ่นดิน
ในการพัฒนาประเทศ ยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับประชาชนทุกมิติทุกคนอย่างเป็นธรรมและเท่าเทียม
๑.๑ ต้องปรับปรุงการจัดเก็บภาษีน้ำมันที่ซ้ำซ้อน รวมถึงกำหนดการงดเก็บ หรือเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมันให้มีความเหมาะสม รวมถึงยกเลิกการเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมัน
๑.๒ ต้องกำหนดให้มีการจัดเก็บภาษีอัตราก้าวหน้าอย่างจริงจัง เช่น ภาษีหุ้น ภาษีสินค้าฟุ่มเฟือย ภาษีทรัพย์สิน ภาษีมรดก ภาษีที่ดิน และรวมไปถึงการปฏิรูปที่ดิน จำกัดการถือครองที่ดิน เพื่อกระจายที่ดินที่ตกอยู่ในกรรมสิทธิ์ของคนรวยไปให้แก่เกษตรกรและผู้ไร้ที่ดินทำกินซึ่งเป็นไปตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.๒๕๖๐ หมวด ๖ ว่าด้วยแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ มาตรา ๗๒
๑.๓ สนับสนุนให้มีการจัดเก็บภาษีการซื้อขายหุ้นในอัตราที่ไม่น้อยจนเกินไปให้เป็นรูปธรรมโดยเร็ว
๒.รัฐบาลโดยกระทรวงการคลังต้องไม่แปรูปรัฐวิสาหกิจ และยกเลิกการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของ
รัฐ (Public Private Partnership หรือ PPP) ซึ่งทำให้รัฐวิสาหกิจอ่อนแอและเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มทุนเอกชน จนทำให้รัฐขาดกลไกหลักในการจัดรัฐสวัสดิการให้กับประชาชนและลดความเหลื่อมล้ำ โดยรัฐบาลต้องมุ่งส่งเสริมให้รัฐวิสาหกิจได้ทำหน้าที่ในการจัดบริการสาธารณะของรัฐเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงบริการของรัฐได้อย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม
๓. รัฐบาลโดยกระทรวงการคลังต้องสนับสนุนให้มีการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ ๔๙๒ บาทเท่ากันทั้งประเทศ เพื่อเพิ่มรายได้ เพิ่มกำลังซื้อให้กับประชาชน โดยเฉพาะผู้ใช้แรงงานซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ เพื่อให้สามารถขับเคลื่อนกิจกรรมเศรษฐกิจฐานล่างในภาพรวมอย่างแท้จริง เพราะเมื่อคนส่วนใหญ่มีรายได้ก็จะสามารถมีกำลังซื้อ ก่อให้เกิดพลังในการผลิต เกิดการจ้างงาน และรัฐก็สามารถจัดเก็บภาษีทั้งทางตรงและทางอ้อมได้
“ประชาชนจงร่วมกันกำหนด อนาคต ของตนเอง”
24 กุมภาพันธ์ 2565
บันทึก
2
2
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย