25 ก.พ. 2022 เวลา 07:53 • ข่าว
ตั้งเป้าแก้ปัญหาน้ำท่วม-น้ำแล้งลุ่มแม่น้ำสาย-รวก ม.แม่ฟ้าหลวง-สนทช.-พม่า-จีนจับมือเปิดตัวโครงการวิจัย
เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2565 ที่โรงแรมเลอเมอริเดียนเชียงรายรีสอร์ท จ.เชียงราย ได้มีการเปิดตัวโครงการวิจัยเรื่อง “การประเมินร่วมกันของไทย-เมียนมาร์เรื่องอุทกภัยและภัยแล้งเพื่อการจัดการทรัพยากรน้ำข้ามแดน” โดยมีนายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ(สทนช.) รศ.ชยาพร วัฒนศิริ อธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ผู้แทนเอกอัครราชทูตจีน ผู้แทนกระทรวงการต่างประเทศ ผู้แทนหน่วยงานไทยและเมียนมา ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย รวมกว่า 30 คนเข้าร่วม
นายสุรสีห์กล่าวว่า แม่น้ำสาย-รวกเป็นแม่น้ำระหว่างประเทศและเป็นพรมแดนระหว่างไทย-เมียนมาโดยมีต้นน้ำอยู่ที่พม่าไหลผ่านอำเภอแม่สายลงแม่น้ำโขงที่บริเวณสามเหลี่ยมทองคำ อ.เชียงแสน จ.เชียงราย ซึ่งปัจจุบันพื้นที่ตอนล่างของลุ่มน้ำบริเวณตลาดสายลมจอยฝั่งไทยและตลาดท่าขี้เหล็กฝั่งพม่า ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมฉับพลันในช่วงฤดูฝน ส่งผลกระทบต่อชุมชนเมืองและเขตเศรษฐกิจ รวมถึงประสบปัญหาขาดแคลนน้ำเพื่อผลิตน้ำประปาและทำการเกษตรในช่วงหน้าแล้ง
นายสุรสีห์กล่าวว่า สนทช.ได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงดำเนินโครงการวิจัยชิ้นนี้โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากรัฐบาลจีนและกองทุนพิเศษภายใต้กรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง จำนวน 12 ล้านบาท เพื่อศึกษาและจัดทำข้อเสนอแนะ รวมทั้งพัฒนาเครื่องมือในการบริหารจัดการน้ำร่วมกันคือ 1.การพัฒนา Mobile Application สองภาษา ได้แก่ภาษาไทยและภาษาเมียนมา ที่ข้อมูลสถานการณ์น้ำ การวิเคราะห์น้ำท่วม-ภัยแล้ง พร้อมทั้งคาดการณ์ล่วงหน้าให้ประชาชนในพื้นที่ทราบเพื่อเตรียมพร้อมรับมือ 2.การพัฒนาระบบแจ้งเตือนปัญหาที่เกิดขึ้นบริเวณแม่น้ำ 3.แบบจำลองการบริหารน้ำเพื่อใช้ในการวางแผนและประกอบการตัดสินใจ 4.แผนการจัดการน้ำระดับตำบลแบบมีส่วนร่วมเพื่อส่งต่อให้คณะกรรมการลุ่มน้ำ องค์กรผู้ใช้น้ำและหน่วยงานในพื้นที่
รศ.ชยาพร กล่าวว่าแม้จะมีอุปสรรคในเรื่องของโรคระบาด แต่ทีมนักวิจัยได้สรุปผลไว้อย่างดีเยี่ยมและบรรลุเป้าหมายของโครงการเพื่อความร่วมมืออย่างมีประสิทธิภาพ ในมุมมองทางการเมือง แม่น้ำสาย-รวกเป็นเส้นพรมแดนแบ่ง 2 ประเทศแต่ทั้งสองประเทศต่างต้องดื่มน้ำ ใช้น้ำทำการกสิกรรมเช่นเดียวกัน ดังนั้นจึงต้องร่วมกันจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ เพราะหากจัดการไม่ดีย่อมเกิดความขัดแย้ง
ทั้งนี้หลังจากพิธีเปิดโครงการวิจัย นายสุรสีห์และรศ.ชยาพร ได้ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวเพิ่มเติม โดยนายสุรสีห์กล่าวว่า เราจำเป็นต้องศึกษาร่วมกันเพราะไทยและเมียนมาต่างประสบอุทกภัยและภัยแล้ง เราเห็นว่าเวทีที่จะสามารถหารือกันได้คือความร่วมมือแม่น้ำโขง-ล้านช้างซึ่งมีสมาชิก 6 ประเทศ รวมถึงจีน
ผู้สื่อข่าวถามว่าโมเดลจากงานวิจัยนี้สามารถนำไปใช้กับแม่น้ำโขงได้หรือไม่ นายสุรสีห์กล่าวว่า แม่น้ำโขงเรามีกรอบความร่วมมือของเอ็มอาร์ซี อย่างไรก็ตามจีนได้ให้ความร่วมมือเรื่องการบริหารจัดการน้ำเป็นอย่างดีโดยมีเว็บไซต์แจ้งข้อมูลกันอยู่แล้ว เราพยายามให้ข้อมูลนี้ถึงมือชาวบ้าน
รศ.ชยาพรกล่าวว่า นักวิจัยมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงได้คุยกับนักวิจัยในพื้นที่ และคุยกับชาวบ้าน แม้ที่ผ่านมาแม้มีอุปสรรคเรื่องโควิดและปัญหาภายในของพม่า มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงอยากทำเรื่องนี้เพราะเราอยู่ในพื้นที่และเป็นปัญหาใหญ่ข้ามแดน โดยนักวิชาการของสองประเทศมีช่องทางหารือกันได้อย่างลึกซึ้ง เท่าที่ทราบจีนอาจไม่สนับสนุนเรื่องการให้ทุนต่อแต่เรายังต้องการทำอย่างต่อเนื่องจึงอยากฝาก สนทช.
เมื่อถามว่าสถานการณ์ในพม่าเกิดรัฐประหาร มีปัญหาเรื่องการประสานกับฝั่งพม่าหรือไม่เพราะไม่แน่ใจใครเป็นตัวแทนรัฐบาล อธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงกล่าวว่า เราไม่ได้ติดต่อโดยตรงกับรัฐบาลพม่า แต่เรามีมิตรที่ทำงานร่วมกันอยู่มากคือกลุ่มคนทำงานพัฒนาและนักวิชาการในพม่าและนักวิจัยจากประเทศจีน แต่ตอนนี้มีปัญหาว่าเราเข้าไปลงพื้นที่ในพม่าไม่ได้เลยเพราะมีสถานการณ์ความไม่สงบ แต่เมื่อไหร่ที่พม่าเปิดประเทศจะสามารถเข้าไปทำงานได้ทันที โดยแอปพลิเคชันยังสามารถพัฒนาข้อมูลเชื่อมต่อกับแม่น้ำโขง ซึ่งมีนักวิชาการหลายประเทศทำงานร่วมกัน และคิดว่าอนาคตแอปพลิเคชันนี้จะสามารถนำมาใช้กับแม่น้ำโขงได้
นายอภิสม อินทรลาวัณย์ ประจำสำนักวิชาการจัดการ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงและหัวหน้าทีมวิจัย กล่าวว่าเท่าที่ศึกษาพบว่ามีการตกของฝนและการเปลี่ยนแปลงประโยชน์การใช้ที่ดินรวมถึงการถมคูคลอง ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในแม่น้ำสาย-รวก ซึ่งปกติพื้นที่ลุ่มแม่สายน้ำมีท่วมอยู่แล้ว แต่เพียงแต่เมื่อมีการตั้งถิ่นฐานผิด จึงเป็นอุปสรรคต่อการไหลของน้ำ ดังนั้นงานวิจัยจึงเน้นไปที่ชุมชน เพราะที่ผ่านมามักมองไม่เห็นความสำคัญของแม่น้ำสายเพราะเป็นแม่น้ำเล็กๆ
ขณะเดียวกันมีความแตกต่างเรื่องการใช้ที่ดินโดยฝั่งพม่าใช้ทำเหมืองทอง เหมืองแมงกานีส ขณะที่ฝั่งไทยใช้ทำกสิกรรม ดังนั้นจึงเป็นห่วงว่าการทำเหมืองจะส่งผลต่อคุณภาพน้ำ จึงต้องคุยและทำงานร่วมกันโดยโครงการต้องทำข้อมูลร่วมกันก่อน และเอาเรื่องที่เห็นตรงกันหรือประสบปัญหาร่วมกันคือน้ำท่วม-แล้ง แต่เราไม่มีสถานีวัดน้ำร่วมกันเลย ที่ผ่านมาใช้ข้อมูลดาวเทียมซึ่งไม่แม่นยำ จึงควรมีสถานีวัดของตัวเองและได้เคยยื่นผ่านคณะกรรมการชายแดนส่วนท้องถิ่น(TBC) ซึ่งเขาก็ต้องทำเรื่องไปที่เนปิดอร์ แต่ยังไม่มีคำตอบกลับมา
นายอภิสมกล่าวว่า เมื่อทั้งสองฝ่ายร่วมกันทำข้อมูลแล้ว อาจต้องทำฉากทัศน์ข้างหน้า เพื่อคาดการณ์สิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เช่น ผลจากการสร้างเขื่อนในพื้นที่ลุ่มน้ำสาขาและลุ่มน้ำโขง มีผลอย่างไร หรือถ้ามีการขยายตัวของเมือง แต่เนื่องจากสถานการณ์การเมืองในพม่าไม่ปกติทำให้ไม่ได้ข้อมูลเท่าที่ควร แต่เราได้ข้อมูลชุดแรกมาแล้วคือฉายภาพสถานะปัจจุบันของลุ่มน้ำเป็นอย่างไร ส่วนข้างหน้าก็ต้องไปทำต่อ
โฆษณา