25 ก.พ. 2022 เวลา 17:33 • ไลฟ์สไตล์
ตอนนี้กำลังดูสารคดีของ NetFlix เรื่อง The Social Dilemma พอจะจับทางสารคดีได้ และคิดว่าเป็นไปอย่างที่คาดไว้แต่ต้นเลย
สารคดีนี้กำลังพูดถึง "ภัย" ของ social media และการที่ social media ส่งผลกระทบต่อคนทั้งโลก ทั้งในแง่ของร่างกาย และจิตวิญญาณ
นักออกแบบและพัฒนาระบบของ Google, Facebook ต่างมีความมุ่งหมายเป็นสิ่งเดียวคือ ดึงดูดความสนใจของเรามากที่สุด และพยายามทดลองอันนั้นนิด อันนี้หน่อย และดึงเอาข้อมูล อัตลักษณ์ของตัวเราออกมา แล้วพยายามกระตุ้นเรา (ให้เกิดการหลั่งสารโดปามีน) และทำให้เรากระวนกระวายใจ อยากคอยเปิดมือถือดูตลอดเวลา
วัยรุ่นก็อยากได้รับการยอมรับ (ต่อให้อายุเยอะก็ยังเป็นกันได้) สิ่งที่นักพัฒนาเว็บไซต์เหล่านี้ทำคือ สร้างปุ่มกดไลค์ หัวใจ ฯลฯ ใครได้รับความนิยมมาก ก็ปรากฏบนหน้าฟีดข่าว ทำให้คนรู้สึกว่า ตัวเรานี้สำคัญ มีคนสนใจ เราอยู่ในสปอตไลท์ ไม่ใช่คนที่ไม่มีใครคบ (ในโลกออนไลน์)
แต่ภัยใหญ่หลวงที่คืบคลานเข้ามา นอกเหนือจากการทำให้เราเสพติดมือถืออย่างบ้าคลั่งขึ้นมากแล้ว ภัยจากการ leaking data ก็เกิดขึ้นตลอด รวมถึงการสร้าง fake news เพื่อปั่นหัว (Manipulation) ชักใยผู้คน เริ่มต้นจากกิเลสตัณหาที่ปราศจากการควบคุมตนเอง รวมไปถึงความต้องการสร้าง impact ให้เกิดขึ้นในทิศทางที่ตัวเองมองว่า น่าจะสนุก (แต่ผลกระทบระยะยาวมันไม่สนุกไปด้วย)
เราจำหนังเรื่อง Terminator ภาคสามได้ตอนต้นเรื่องว่า John Connor ในวัยหนุ่ม เพื่อหลบออกจากระบบต่างๆ ของรัฐ เพราะเขาเองลึกๆ ยังหวั่นใจว่า Skynet จะกลับมาอีก จึงไม่อยากมีชื่อในระบบใดๆ ของรัฐเลย (กลัวถูกแกะรอย) เขาไม่มีอะไรทั้งนั้น เลขประกันสังคม เงินเดือน ใช้ชีวิตไปวันๆ เหมือนคนเร่ร่อนจรจัด
นอกเหนือจากปัญหาที่เราพูดมาแต่ต้น ทั้งเรื่องการเสพติด (จนมีผลต่อสุขภาพอนามัยทั้งร่างกายและจิตใจ) ความปลอดภัยของข้อมูลและอัตลักษณ์ส่วนบุคคล รวมไปถึงความมั่นคงในแง่มุมการทำงานหรือการใช้ชีวิตบางอย่าง
เราพูดอยู่เสมอว่า เราชอบเทคโนโลยีที่มาในจุดที่พอดีๆ เช่น มือถือสมัยปี 1990-2000 ต้นๆ ที่มีไว้สำหรับทำงานจริงๆ มันไม่เฝือ ไม่เอามาเล่นจนเกินพอดีแบบนี้
เรามักจะคิดอยู่หลายๆ ครั้งว่า ถ้าวันหนึ่ง โลกเราอยู่ดีๆ ฟ้าผ่าเปรี้ยง กลายเป็นโลก Dystopia ไม่มีไฟฟ้า ไม่มีอินเทอร์เน็ต ไม่มีอะไรพวกนี้เลย มนุษย์จะดำรงอยู่ได้อย่างไร
เราพึ่งพาเทคโนโลยีโดยเฉพาะอินเทอร์เน็ตมากขึ้นจนกลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวัน พื้นฐานเลยก็เรื่องการจับจ่ายใช้สอย ส่วนตัวเราเอง ก็ใช้อินเทอร์เน็ตเป็นหลัก ชอปปิ้งผ่านแอพ เว็บต่างๆ กดเงินโอนเงินให้ใครก็ผ่านมือถือ ไม่มีการต้องวิ่งไปกดเงินสดอีกแล้ว
ถ้าวันหนึ่งสิ่งอำนวยความสะดวกเหล่านี้หายไป เราจะอยู่กันอย่างไร นี่คือสิ่งที่ผู้สร้างสารคดีนี้พยายามจะบอกเรา ถึงการเติบโตอย่างก้าวกระโดดของเทคโนโลยีด้านข้อมูลข่าวสาร แต่ไม่มีใครให้ความสนใจกับจริยธรรมของนักพัฒนาและผู้ใช้งานแม้แต่น้อย รวมไปถึงการควบคุม จำกัดการใช้งาน
ส่วนตัวเรา ก็ว่ามันสะดวกดี แต่ไอ้ประเภทที่สร้างมูลค่าจากความเลื่อนลอย เช่น Bitcoin ของที่มันลอยไปมา ไม่มีความมั่นคงเพียงพอ มองเร็วๆ ก็ว่าดี จับแล้วเป็นเงินเป็นทองมากมาย แต่เราจะบอกว่า ของพวกนี้ ให้มองลึกๆ ถึงแก่นถึงราก มันน่ากลัวมาก อารมณ์คล้ายกับวิกฤตการณ์ Subprime ที่ทำให้สถาบันการเงินล้มระเนระนาดทั่วโลก สาเหตุมาจากการเฟ้อของตราสารอนุพันธ์ที่เล่นบนสิ่งที่เรียกว่า "เน่าใน" อย่างสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ที่มาจากผู้กู้ที่ด้อยคุณภาพ
เห็นไหมว่า แม้ตัวตราสารจะดูดี ให้กำไรงาม แต่เมื่อพื้นฐานมาจากสิ่งที่กลวงเปล่าเหมือนหนอนเจาะชอนไช คิดเหรอว่าต้นไม้ต้นนี้จะให้ผลดีไปตลอด?
ทุกวันนี้เราคิดว่าการค้นหาข้อมูลใน Google ก็คือพิมพ์คำค้นหาลงไป แต่ลองมองมุมเดียวกับหนังเรื่อง Ex Machina ที่ Nathan ตัวละครในเรื่องผู้สร้าง search engine สมมติ นามว่า Bluebook (เทียบได้กับ Google นั่นแหละ) บอกว่า สมองของ AI ของเขา มาจากระบบ Algorithm ของ Bluebook แปลว่า AI ตั้งคำถาม และได้ข้อมูลจาก "คำถาม" ที่มนุษย์เราป้อนเข้าไป สร้างเป็น pattern โยงใยวิธีการคิด
และนี่คือสิ่งที่นักออกแบบเว็บไซต์เหล่านี้ รวมถึงนักพัฒนา กำลังทำกับเราอยู่
มันจึงไม่แปลกเลยที่ว่า เราพูดหรือค้นหาเกี่ยวกับอะไรสักอย่าง มันจะขึ้นโฆษณาสิ่งนั้นให้เราทันทีจนน่าตกใจ (ในหนังทำให้เห็นเป็นรูปธรรม ในรูปแบบของชายหน้าตาเหมือนกันสามคน คอยตรวจสอบพฤติกรรมการใช้งานของ user ว่าทำอะไร ต้องการอะไร และจะกระตุ้นด้วยวิธีไหน ทำอย่างไรให้ user ใช้งานมือถือ อินเทอร์เน็ตตลอดเวลา)
โลก social media กำลังทำให้มนุษย์เปราะบางมากขึ้น จิตใจอ่อนไหว และรู้สึกว่างเปล่า มีอดีตนักพัฒนาคนหนึ่งของ facebook พูดว่า การกดไลค์ มันทำให้คุณรู้สึกดีระยะสั้น แต่หลังจากนั้น คุณจะโหยหามันมากขึ้นเรื่อยๆ มันกำลังเล่นกับจิตใจของคุณอยู่
อย่างที่บอกเรื่องเกี่ยวกับ fake news และการพยายามดึงข้อมูลอัตลักษณ์ของเราเพื่อสร้างข้อมูดชุดที่เราชื่นชอบ และดึงคนหรือสิ่งของหรือแนวคิดที่เหมือนหรือเป็นแบบที่เราชอบมาไว้ด้วยกัน เราจะเริ่มเมากับความจริงและความลวงและจะเริ่มแยกไม่ออกว่า อันไหนจริงหรือลวงกันแน่ และเราก็เริ่มจะรู้สึกว่า ความคิด เพื่อน กลุ่มคน ชุดความคิดนี้ เป็นความจริงแบบจริงแท้แน่นอน คนที่คิดต่างเห็นต่าง คือคนโง่ หรือคนที่หลังเขา
และแล้วก็เกิดความแตกแยก ทั้งในด้านการเมือง ศาสนา และทุกเรื่อง เกรียนคีย์บอร์ดก็แตกหน่อไปทุกที่ ทำร้ายจิตใจ การ bullying เกิดทุกหย่อมหญ้า (แม้แต่เราเอง ก็โดนคนบ้าที่ไหนไม่รู้ bully ในโลกออนไลน์มาแล้ว และมันเจ็บปวดจริงๆ นะ เราเลยเข้าใจการโดน bully ในโลกออนไลน์)
ตอนนี้เราว่า คนเราต้องระมัดระวังในเรื่องของความคิด คำพูด และการจะปักใจเชื่อ แสดงอารมณ์ ต้องควบคุมตัวเองให้ดีๆ ควบคุมตั้งแต่ชั้นจิตใจ ความคิดของเรานี่แหละ อย่างที่เขาบอกว่า ความคิดจิตใจเรา สามารถนำไปสู่ "วาสนา" ของเราได้ (สิ่งที่ทำบ่อยๆ จนกลายเป็นเส้นทางชีวิตของเรานั่นเอง)
สารคดีนี้ เป็นการนำเทคโนโลยีมาขบคิดในแง่ปรัชญาและจิตวิทยาในแบบตะวันตกแท้ๆ สำหรับเราคือสนุกดี ได้ฟังแล้วคิด (เราชอบแนวๆ นี้แหละ) แต่อาจจะฟังแล้วน่าเบื่อไปบ้าง เพราะพูดไปเรื่อยๆ แต่ถ้าค่อยๆ คิดให้ลึกซึ้ง เราจะพบว่า สิ่งที่เขาพูดมันใช่ทั้งหมด
แต่ถามว่า เราจะหยุดใช้งาน social media ได้ไหม เราว่ายุคนี้ทำได้ยากมาก ด้วยสาเหตุ(ส่วนตัว) ดังนี้
1. ทุกวันนี้เราห่างไกลกันมาก การติดต่อผ่าน social media เป็นอะไรที่คล่องแคล่วสะดวกที่สุด
2. บางครั้งอยากหยุดเล่นเหมือนกัน แต่การทำงาน หรือความรู้ ข่าวสารบางอย่างที่สำคัญต่อการทำงานของเรา มันอยู่ในอินเทอร์เน็ตทั้งนั้น
3. ในการชำระเงิน ซื้อของที่อยากได้ หาไม่ได้ตามร้านค้าทั่วไป เราก็ต้องใช้แพลตฟอร์มออนไลน์ทั้งหมด
แค่เหตุผลง่ายๆ สามข้อนี้ เราก็ไม่อาจจะหลุดพ้นไปจากโลก social media ได้อีกแล้ว
เรากลับคิดว่า ถ้ามองในอีกแง่มุม หากเรายังเป็นคนที่พอจะควบคุมตัวเองได้ มันก็เป็นการบอกเราว่า จงกลับไปควบคุมตัวเอง อย่าให้สิ่งเหล่านี้ซึ่งเป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น มาเป็นนายเหนือการกระทำ คำพูด ความคิด และจิตใจของเรา (แบบที่อดีตประธาน Pinterest เล่าว่า เขาเป็นคนพัฒนา pinterest เอง แต่พอกลับบ้าน ก็วางมือถือไม่ได้เลย ติดใน pinterest อย่างหนัก จนแม้แต่ตัวเขาเองยังกลัว มีคนหนึ่งให้สัมภาษณ์ว่าเขาต้องเขียนโปรแกรมเพื่อลดการเสพติดการใช้ social media เลยทีเดียว -- ขนาดคนพัฒนาและออกแบบเว็บไซต์เหล่านี้ ที่น่าจะเข้าใจถึงภัยของ social media มากที่สุด ยังพ่ายแพ้ได้)
ปัจจุบันคนที่ใช้ social media ขาดเรื่อง digital awareness และ ethics ของการใช้งานโลกดิจิทัลเหล่านี้อย่างรุนแรง เมื่อตัวตนเดิมนั้นเปราะบางอยู่แล้ว เจอโลกที่เต็มไปด้วยมายาและเจ้าเล่ห์เพทุบายแบบนี้ (ภายใต้การออกแบบชักใยของนักออกแบบพัฒนาเว็บไซต์ ที่มุ่งหวังในแง่การดึงดูดความสนใจของเรา -- เพราะเราคือ "สินค้า" ของเว็บไซต์ social media นั่นเอง) เราจะพ่ายแพ้ต่อโลกจอมปลอมนี้ได้ง่ายๆ
ข้อดีของโลกออนไลน์ก็มีเยอะ ทำให้คนได้พบเจอกัน มีสิ่งดีๆ เกิดขึ้น สำคัญตอนนี้คือ การควบคุมความคิด จิตใจ คำพูด การกระทำของเรา ให้อยู่ในลู่ในทาง หากเราจะจำหลักการพื้นฐานง่ายๆ ว่า "อย่าได้เบียดเบียนกัน" ไม่ว่าจะมีความเชื่อหรือนับถือศาสนาไหน หากไม่เบียดเบียนกัน ย่อมอยู่กันอย่างเป็นสุขสันติทั่วโลก
เราเองรู้สึกว่า มีอะไรอยากพูดมากกว่านี้ แต่นี่ก็คงจะยาวมากแล้ว ถ้าใครอยากดูสารคดีที่สะท้อนแนวคิดเชิงปรัชญาและจิตวิทยาดีๆ ที่จริงๆ แล้วเป็นเรื่องใกล้ตัวเราที่สุด เราแนะนำเรื่องนี้เลย
The Social Dilemma (NetFlix Original)
โฆษณา