25 ก.พ. 2022 เวลา 22:38 • ปรัชญา
“จิตสามารถปฏิบัติธรรมได้ทุกฐานะ”
การฟังธรรมนี้เป็นกิจกรรมที่สำคัญอย่างยิ่งของพระพุทธศาสนา เป็น ๑ ใน ๔ กิจกรรมที่สำคัญที่จะดำรงรักษาให้พระพุทธศาสนานี้อยู่ไปกับโลกได้นานๆ จำเป็นต้องมีการกระทำกิจกรรม ๔ ประการด้วยกัน โดยชาวพุทธเรา พุทธบริษัท ๔ เป็นผู้ที่จะต้องทำกิจกรรมนี้ ถ้าเราอยากจะทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา ให้เจริญรุ่งเรืองให้อยู่กับพวกเราและอนุชนรุ่นหลังไปเป็นเวลาอันยาวนาน เรามีความจำเป็นที่จะต้องทำกิจกรรม ๔ ประการด้วยกัน
กิจกรรมข้อที่ ๑ ที่เรากำลังทำกันอยู่นี้เรียกว่า “ปริยัติธรรม” ปริยัติธรรมแปลว่าการศึกษาพระธรรมคำสั่งคำสอนของพระพุทธเจ้า อันนี้เป็นขั้นที่ ๑ ของกิจกรรม เราต้องศึกษาคำสั่งคำสอนของพระพุทธเจ้า ให้รู้ว่าพระพุทธเจ้าสอนให้พวกเราปฏิบัติอะไรกันบ้าง เพื่ออะไร ปฏิบัติธรรมเพื่อการหลุดพ้นจากความทุกข์ทางด้านจิตใจ พอเราได้ศึกษา ได้มีการกระทำปริยัติธรรมแล้ว รู้แล้วว่าเราต้องปฏิบัติอะไรกัน เราก็ต้องนำคำสอนที่เราได้เรียนรู้นี้ไปปฏิบัติต่อ คำสอนหลักที่เป็นแนวทางที่จะดับความทุกข์ของใจพวกเรา ก็คือ ทาน ศีล ภาวนา นี้เอง เราต้องเรียนรู้ว่าการทำทานทำอย่างไร การรักษาศีลรักษาอย่างไร การภาวนา ภาวนาอย่างไร พอเราได้เรียนรู้แล้ว เราก็จะได้นำเอาไปปฏิบัติต่อไป
เราก็จะได้ทำกิจกรรมข้อที่ ๒ คือ ปฏิบัติธรรม นำเอาคำสอนที่สอนให้พวกเราทำทาน รักษาศีล ภาวนา ไปปฏิบัติกัน ถ้าเราปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง อย่างไม่หยุดยั้ง วันหนึ่งเราก็จะได้รับผลของการปฏิบัติ
นี่ก็คือขั้นที่ ๓ หรือกิจกรรมขั้นที่ ๓ ของศาสนาก็คือ การบรรลุธรรมขั้นต่างๆ อันนี้เรียกว่า “ปฏิเวธธรรม” ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ เหมือนกับนักเรียน นักศึกษาที่เรียนอยู่ในโรงเรียนต่างๆ พอเรียนจบแล้วก็จะได้รับปริญญากัน ได้รับใบประกาศนียบัตร ทางพระพุทธศาสนาก็เป็นอย่างนั้น หลังจากที่ได้ศึกษา ได้ปฏิบัติจนสำเร็จตามหลักสูตรแล้ว ก็จะได้รับปริญญา ได้รับใบประกาศ แต่เป็นใบประกาศที่จะปรากฏขึ้นมาในใจของผู้ปฏิบัติเอง ไม่จำเป็นจะต้องมีใครมาเป็นผู้มอบให้แต่อย่างใด คือ บรรลุธรรมขั้นต่างๆ ขั้นโสดาบัน ขั้นสกิทาคามี ขั้นอนาคามี ขั้นอรหันต์ นี่คือปฏิเวธธรรม คือผลที่จะเกิดขึ้นจากการปฏิบัติ ทาน ศีล ภาวนา
ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม จะเป็นนักบวชหรือฆราวาสผู้ครองเรือนก็สามารถที่จะรับปริญญาเหล่านี้ได้ ถ้ามีการศึกษา มีการปฏิบัติตามคำสั่งคำสอนของพระพุทธเจ้า เป็นหญิงเป็นชายก็มีสิทธิเท่ากัน เป็นเด็กหรือเป็นผู้ใหญ่ก็มีสิทธิเท่ากัน เพราะจิตใจของพวกเราทุกคนนี้เหมือนกัน ไม่เหมือนกับร่างกายที่มีการแยกแยะ เป็นเด็ก เป็นผู้ใหญ่ เป็นหญิง เป็นชาย เป็นผู้ครองเรือน เป็นนักบวช แต่จิตใจนี้เหมือนกัน จิตใจปฏิบัติธรรมเหมือนกัน แล้วบรรลุถึงธรรมได้เหมือนกัน
ดังนั้น เราอย่าไปฟังหรือไปคิดว่า ผู้ที่จะบรรลุธรรมได้นี้จำเป็นจะต้องเป็นนักบวชเพียงอย่างเดียวเท่านั้น เพราะในสมัยพระพุทธกาลนี้ มีผู้บรรลุธรรมนี้ บรรลุได้ด้วยหลายเพศด้วยกัน หลายฐานะด้วยกัน นักบวชก็มี ผู้ครองเรือนฆราวาสก็มี หญิงก็มี ชายก็มี ผู้ใหญ่ก็มี เด็กก็มี คนแก่ คนเจ็บ คนใกล้จะตาย ก็มีผู้บรรลุธรรมได้ เพราะใจไม่ได้เป็นไปตามร่างกาย ใจก็ยังเป็นผู้รู้ผู้คิดอยู่เหมือนเดิม เป็นผู้ที่จะสามารถนำเอาคำสั่งคำสอนที่ได้เรียนจากพระพุทธเจ้าก็ดี หรือจากพระอริยสงฆ์สาวกก็ดี น้อมนำเอามาปฏิบัติได้ทุกเวลา เป็นอกาลิโก จิตนี้เป็นของไม่ตาย เป็นของไม่แก่ไม่เจ็บ จิตนี้สามารถปฏิบัติธรรมได้ทุกฐานะ
นี่คือสิ่งที่เราควรจะทำความเข้าใจกันให้ถูกต้อง เพื่อเราจะไม่ได้ถูกโมหะอวิชชา กิเลสตัณหามาหลอกพวกเราไม่ให้ศึกษา ไม่ให้ปฏิบัติกัน เพราะว่าเราจะคิดว่าผู้ที่จะศึกษา ผู้ที่จะปฏิบัติ ผู้ที่จะบรรลุธรรมได้นี้จะต้องเป็นนักบวชเท่านั้น แต่ความจริงแล้ว เป็นผู้ที่ศึกษาผู้ที่ปฏิบัติ ไม่ได้อยู่ที่ว่าเป็นนักบวชหรือเป็นฆราวาส ถ้ามาบวชแล้วไม่ศึกษา ไม่ปฏิบัติ ก็จะไม่สามารถบรรลุธรรมได้ ดังนั้นขอให้เรายึดหลักการปฏิบัติไว้ ยึดหลักการเรียนรู้ไว้ หมั่นเรียนรู้อยู่เรื่อยๆ วิธีการปฏิบัติที่ถูกต้องว่าปฏิบัติอย่างไร พอเรารู้แล้วเราก็ต้องนำเอาไปปฏิบัติ ให้มันได้ตามที่พระพุทธเจ้าต้องการให้เราได้ปฏิบัติ พอเราปฏิบัติได้เต็ม ครบสูตรของการปฏิบัติแล้ว ปฏิเวธคือผลก็จะปรากฏขึ้นมาเป็นขั้นๆ ไป
ขั้นโสดาบัน ขั้นสกิทาคามี ขั้นอนาคามี ขั้นอรหันต์ พอเราได้บรรลุธรรมขั้นต่างๆ เหล่านี้แล้ว เราก็ถ้าต้องการจะสอนผู้อื่นก็สอนได้ เพราะว่าเราได้เรียนจบหลักสูตรแล้ว รู้ความจริงต่างๆ ที่พระพุทธเจ้าได้ทรงรู้ และนำมาเผยแผ่สั่งสอนให้กับพวกเรา พอเราได้บรรลุแล้ว ได้ถึงธรรมขั้นสูงสุดแล้วคือพระอรหันต์ เราก็จะสามารถที่จะเผยแผ่ธรรมให้แก่ผู้อื่นได้ต่อไป นี่คือกิจกรรมขั้นที่ ๔ ข้อที่ ๔ คือการเผยแผ่ธรรม พอได้เป็นพระอรหันต์ ได้บรรลุธรรมแล้ว ก็จะสามารถเผยแผ่ธรรมได้อย่างถูกต้องแม่นยำ สามารถสอนให้ผู้ศึกษา ผู้ปฏิบัติตามนี้ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ได้อย่างแน่นอน
ถ้าเรายังไม่ได้บรรลุถึงขั้นสูงสุด เราจึงไม่ควรที่จะไปกังวลกับเรื่องการอบรมสั่งสอนผู้อื่น ควรจะกังวลกับการอบรมสั่งสอนตนเองต่อไป ให้ได้บรรลุถึงขั้นสูงสุดแล้วก่อน แล้วจึงค่อยไปเผยแผ่สั่งสอนให้แก่ผู้อื่นต่อไป หรือจากหลังที่เราบรรลุแล้ว เราไม่ถนัดที่จะสอน จะไม่สั่งสอนก็ไม่เป็นปัญหาอะไร ไม่มีข้อบังคับว่าเมื่อบรรลุเป็นพระอรหันต์แล้ว
เป็นพระพุทธเจ้าแล้วจะต้องเอาธรรมะนี้ไปเผยแผ่สั่งสอนให้แก่ผู้อื่น ก็ปล่อยให้เป็นไปตามอัธยาศัยของแต่ละท่าน บางท่านถนัดสั่งสอน ท่านก็สั่งสอน บางท่านไม่ถนัดสั่งสอน ท่านก็ไม่สั่งสอน นี่คือกิจกรรม ๔ ประการของพระพุทธศาสนา ที่จะดำรงให้พระพุทธศาสนานี้อยู่กับโลกนี้ไปนานๆ ไม่ต้องกังวลกับเรื่องการสร้างถาวรวัตถุต่างๆ เช่น โบสถ์ เจดีย์ ศาลา กุฏิ วิหาร พระพุทธรูปปางต่างๆ เหล่านี้ไม่ได้เป็นสิ่งที่จะดำรงให้พระพุทธศาสนาอยู่ไปได้ มีก็ได้ ไม่มีก็ได้ ถาวรวัตถุถือว่าเป็นของแถมก็แล้วกัน เป็นเครื่องประดับของพระพุทธศาสนา แต่ไม่จำเป็นที่จะต้องมีก็ได้
ถ้าเราย้อนไปในยุคที่พระพุทธเจ้าทรงศึกษา ทรงปฏิบัติ ยุคนั้นก็ไม่มีโบสถ์ ไม่มีเจดีย์ ไม่มีวัดวาอาราม ไม่มีกุฏิ ไม่มีถาวรวัตถุต่างๆ พระพุทธเจ้าท่านก็อยู่ตามโคนไม้ พระพุทธเจ้า พระสาวก ท่านก็อยู่ในป่า แล้วก็อยู่ตามโคนไม้ อาจจะทำอะไรมุงบังไว้ ทำด้วยกิ่งไม้ใบไม้ไว้บังแดดบังฝน นั่นคือที่อยู่ของพระพุทธเจ้า ของพระอรหันตสาวก ในยุคแรกๆ ของการเผยแผ่พระพุทธศาสนา ไม่มีถาวรวัตถุ ดังนั้นเราไม่ต้องไปกังวลมากกับการสร้างถาวรวัตถุต่างๆ ควรจะกังวลกับเรื่องการศึกษา เรื่องการปฏิบัติกันให้มากจะดีกว่า เพราะว่าการสร้างถาวรวัตถุต่างๆ นี้ ไม่สามารถทำให้ท่านบรรลุมรรคผลนิพพานได้ ไม่สามารถบรรลุถึงธรรมขั้นต่างๆ ได้
ธรรมะหน้ากุฏิ
วันที่ ๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๖๔
พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
วัดญาณสังวรารามฯ จังหวัดชลบุรี
โฆษณา