27 ก.พ. 2022 เวลา 12:19 • หุ้น & เศรษฐกิจ
“ลี กวน ยู” ผู้นำพา “สิงคโปร์” จากประเทศโลกที่สามก้าวสู่โลกที่หนึ่ง Blockdit Originals by Bnomics
1
ลี กวน ยู (Lee Kuan Yew)
สืบเนื่องจากบทความก่อนที่ผมได้เล่าถึงประวัติของลีกวนยู บิดาแห่งสาธารณรัฐสิงคโปร์ ในด้านชีวิตวัยเด็ก ประวัติการศึกษา และในที่สุดลีกวนยูได้มาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของสิงคโปร์ จนกระทั่งถึงตอนที่ท่านต้องหลั่งน้ำตาหลังจากที่ได้ทราบข่าวว่า สิงคโปร์ได้ถูกขับออกจากสหพันธรัฐมาเลเซียในปี 1965 หลังจากนั้นก็ได้มีผู้อ่านบทความหลายท่านได้สอบถามเข้ามาถึงสาเหตุที่สิงคโปร์ต้องโดนขับออกจากสหพันธรัฐมาเลเซีย
6
📌 สิงคโปร์ คือ ศูนย์กลางของการปกครองอาณานิคมของอังกฤษในภูมิภาค
“ลี กวน ยู” ได้กล่าวไว้ว่า อังกฤษได้ใช้สิงคโปร์เป็นจุดศูนย์กลางในการปกครองมาลายู ซาราวัก ซาบาห์ บอร์เนียว และบรูไน มาเป็นเวลาเนิ่นนาน และหลังจากที่ได้รับอิสรภาพจากอังกฤษในช่วงทศวรรษ 1960 ประเทศเหล่านี้จึงได้รวมตัวก่อตั้งสหพันธรัฐมาเลเซีย ลีกวนยูได้เคยอุปมาอุปไมยว่า “สิงคโปร์ คือ หัวใจ” ในขณะที่ “มาลายู คือ ร่างกาย” และหลังจากที่สิงคโปร์โดนขับออกจากสหพันธรัฐมาเลเซีย ลีกวนยูถึงกับต้องหลั่งน้ำตาและเปรยว่าหัวใจจะอยู่รอดได้อย่างไร หากร่างกายไม่ส่งเลือดมาหล่อเลี้ยง
1
ในปี 1965 ที่สิงคโปร์เป็นสาธารณรัฐนั้น สิงคโปร์ยังไม่มีแม้กระทั่งกองทัพและกรมตำรวจเป็นของตนเอง จึงสะท้อนให้เห็นว่าประเทศสิงคโปร์ ได้สถาปนาประเทศในขณะที่ขาดความพร้อมในหลายด้าน
1
บางประเทศเกิดมาพร้อมเอกราช บางประเทศต้องต่อสู้เพื่อเอกราช แต่สิงคโปร์กลับโดนยัดเยียดเอกราชให้”
ลีกวนยู เคยได้กล่าวไว้
2
📌 ทำไม สิงคโปร์ถึงโดนขับออกจากสหพันธรัฐมาเลเซีย
ภายในไม่ถึงสองปีเต็ม หลังจากที่สิงคโปร์ได้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งสหพันธรัฐมาเลเซีย สิงคโปร์ต้องโดนขับไล่ออกมาเป็นประเทศอิสระ โดยสาเหตุหลัก คือ ปัญหาเรื่องเชื้อชาติ สำหรับสิงคโปร์นั้น มีประชากรเชื้อสายจีนเป็นกลุ่มหลักของประเทศและในมาลายูนั้น กลุ่มคนเชื้อสายมาเลย์มีประชากรมากที่สุด และการรวมตัวกันเป็นสหพันธรัฐนั้น ทำให้เกิดความไม่สงบขึ้นบ่อยครั้งระหว่างคนต่างเชื้อชาติ โดยเฉพาะระหว่างเชื้อสายจีนกับมาเลย์
2
นโยบายหลักที่ทำให้สองประเทศต้องแตกคอกัน คือ เรื่องการที่รัฐบาลมาเลเซียให้สิทธิพิเศษกับประชาชนเชื้อสายมาเลย์มากกว่าเชื้อชาติอื่น แต่ในขณะที่ ลีกวนยูเชื่อในหลักความเท่าเทียมกับของทุกเชื้อชาติ ไม่สนับสนุนการแบ่งแยก และได้ชูหลักการ Malaysian Malaysia คือ แนวทางที่สหพันธรัฐมาเลเซียต้องเป็นประเทศที่ดูแลคนมาเลเซียอย่างเท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะมีเชื้อชาติอะไร
7
แต่เป็นหลักการที่นายกรัฐมนตรีของมาเลเซียไม่ยอมรับและเห็นว่า ลีกวนยูและสิงคโปร์เป็นชนวนปัญหาที่จะบั่นทอนเสถียรภาพทางการเมืองของมาเลเซียในอนาคตข้างหน้า หลังจากที่ลีกวนยูได้ชูหลักการ Malaysian Malaysia ไม่กี่เดือน สิงคโปร์ก็ถูกขับไล่ออกจากสหพันธรัฐมาเลเซียในปี 1965
1
📌 จากโลกที่สามมาสู่โลกที่หนึ่ง
ในอดีตนั้น เศรษฐกิจสิงคโปร์ขับเคลื่อนด้วยการเป็นเมืองท่าให้กับมาลายู แต่การที่ถูกตัดขาดทางเศรษฐกิจจากมาเลเซีย ทำให้ลีกวนยูต้องคิดถึงการอยู่รอดของประเทศเป็นสำคัญ โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ สิงคโปร์ไม่มีทรัพยากรอะไรเลย ทำให้ลีกวนยูกับรัฐบาลสิงคโปร์ต้องคิดหนักว่าจะต้องทำอย่างไรให้ประเทศรอดได้
3
ลีกวนยูได้เขียนบรรยายไว้ในหนังสือ From Third World to First: The Singapore Story. ว่าได้ทำอย่างไรรายได้ประชาชาติต่อหัวของสิงคโปร์ถึงเพิ่มจาก 400 ดอลล่าร์สหรัฐในปี 1959 (ปีแรกที่ลีกวนยูได้เป็นนายกรัฐมนตรีของสิงคโปร์) มาเป็น 12,000 ดอลล่าร์สหรัฐในปี 1990 (ปีที่ลีกวนยูวางมือจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี) ถือว่าเป็นการยกระดับสิงคโปร์จากประเทศโลกที่สามมาเป็นโลกที่หนึ่งได้ภายในเวลาชั่วคนเดียว
1
หรือประมาณ 30 ปีเท่านั้นและอีกจุดประสงค์หนึ่งในการเขียนหนังสือเล่มนั้นของลีกวนยู คือ เพื่อเป็นการเตือนสติคนรุ่นหลังว่า ความสำเร็จนั้นไม่ได้มาโดยง่ายและเป็นของตาย
3
📌 ประเทศที่พัฒนาแล้วในภูมิภาคที่ด้อยพัฒนา
1
สิ่งที่ลีกวนยูและรัฐบาลสิงคโปร์มองว่าจะเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจสิงคโปร์นั้น คือการลงทุนจากต่างประเทศโดยเฉพาะในอุตสาหกรรมด้านการผลิต แต่ในการดึงดูดเม็ดเงินลงทุนนั้น ลีกวนยูมองว่า สิงคโปร์ต้องพัฒนาในหลายด้าน โดยรัฐบาลต้องไม่มีคอรัปชั่น โดยในช่วงแรกลีกวนยู ได้ให้ทั้งคณะรัฐมนตรีใส่ชุดขาวทั้งตัว เพื่อเป็นสัญลักษณ์ว่าจะไม่มีการฉ้อราษฎร์บังหลวงเกิดขึ้นในขณะที่ท่านดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
6
นอกจากนั้น อีกปัจจัยที่จะดึงดูดทั้งเงินทุนและบุคลากรจากต่างประเทศนั้น คือ สิงคโปร์ต้องพัฒนาตัวเองให้เป็นประเทศโลกที่หนึ่งในภูมิภาคที่เต็มไปด้วยประเทศด้อยพัฒนาหรือโลกที่สาม โดยในระยะแรกที่ลีกวนยู เข้ามาบริหารประเทศนั้น
1
ท่านเคยเล่าว่าชาวสิงคโปร์ยังถุยน้ำลายและปัสสาวะในที่สาธารณะเป็นเรื่องปกติอยู่เลย ทางรัฐบาลจึงได้มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด ทั้งปรับทั้งลงโทษอย่างรุนแรง เช่น การเฆี่ยน หากมีการพ่นสีทำลายทรัพย์สินของผู้อื่นหรือของสาธารณะ การใช้กฎหมายอย่างเฉียบขาดนั้น
3
ท่านได้เห็นตัวอย่างการใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด เมื่อตอนที่ญี่ปุ่นปกครองสิงคโปร์ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ด้วยความโหดเหี้ยมและป่าเถื่อน แต่ส่งผลให้ประชาชนเกรงกลัวและเคารพกฎหมาย
2
อีกด้าน คือ การที่ลีกวนยูมุ่งมั่นในการทำให้สิงคโปร์เป็น Tropical Paradise เป็นเมืองที่สะอาด น่าอยู่ และมีอากาศที่ดี ถูกสุขลักษณะ เพื่อทำให้ชาวต่างชาติที่มีความรู้ความสามารถ อยากย้ายมาทำงานที่ประเทศสิงคโปร์ ลีกวนยูได้กำจัดสลัมออกไปเป็นนโยบายแรกๆ แล้วมีการสร้างบ้านสาธารณะอย่างดีมาทดแทนทำให้คุณภาพชีวิตของประชาชนสิงคโปร์ดีขึ้นและทำให้เมืองก็น่าอยู่ขึ้นด้วย
1
ในเรื่องมลพิษ ลีกวนยูให้ความสำคัญมาก ท่านเคยเล่าว่า ท่านเคยไปเชิญบริษัทเคมีภัณฑ์จากญี่ปุ่น Sumitomo เข้ามาลงทุนและสร้างโรงงานในสิงคโปร์ และทาง Sumitomo ได้ให้คำมั่นว่า ไม่ต้องกังวลเรื่องมลพิษ เพราะเราจะจัดการทุกอย่างตามมาตรฐานของประเทศญี่ปุ่น ลีกวนยูได้โต้ทันทีว่าทางสิงคโปร์ไม่ตกลง เพราะไม่ดีพอ ต้องทำให้เป็นมาตรฐานเยอรมนีเท่านั้น ทางสิงคโปร์ถึงจะรับได้ ทางลีกวนยูได้กล่าวว่า ไม่มีประโยชน์ถ้าให้อุตสาหกรรมต่างๆ มาลงทุน แต่ปล่อยมลพิษจนประชาชนอยู่ไม่ได้และเมืองไม่น่าอยู่
2
สำหรับผู้อ่านที่เคยได้ไปสิงคโปร์ คงได้สังเกตว่าสิงคโปร์เป็นเมืองที่ต้นไม้เยอะมากและสวยงามมาก ทำให้เกิดความร่มรื่นน่าอยู่ นี่ก็มาจากความคิดริเริ่มของลีกวนยูที่จะทำให้สิงคโปร์เป็น Garden City แม้กระทั่งในช่วงที่เศรษฐกิจไม่ดี มีคนว่างงาน รัฐบาลยังคงเดินหน้าปลูกต้นไม้อย่างต่อเนื่อง โดยลีกวนยูเชื่อว่า การที่มีสวน มีต้นไม้ทำให้สภาพจิตใจประชาชนจะดีขึ้นมาก เมื่อเทียบกับป่าคอนกรีต และลีกวนยูมีความตั้งใจทำให้ทั้งเกาะร่มรื่นเต็มไปด้วยต้นไม้ตั้งแต่ปี 1967
2
ในบทความนี้ ผมยังไม่ได้ลงรายละเอียดนโยบายเศรษฐกิจเชิงลึก ว่าทำไมสิงคโปร์ภายใต้การนำของลีกวนยูจึงได้ประสบความสำเร็จอย่างสูงในเวลาอันรวดเร็ว ไว้ในบทความหน้าผมจะมาเล่าเรื่องการปฎิรูปการศึกษา เรื่องการจัดการที่อยู่อาศัย สาธารณสุข และเกร็ดอื่นๆ ของลีกวนยูที่น่าสนใจเพิ่มเติมต่อไป
2
ผู้เขียน : บุรินทร์ อดุลวัฒนะ Chief Economist, Bnomics
ภาพประกอบ : จินดาวรรณ อรรถมานะ Graphic Designer, Bnomics
Reference :
Fifty secrets of Singapore Success, Strait Times Press
The Wit and Wisdom of Lee Kuan Yew, 2013
From Third World to First: The Singapore Story (1965-2000), Lee Kuan Yew
▶︎ ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
Website : www.bnomics.co
Line OA : @Bnomics https://bit.ly/3eYkTJC
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
เครดิตภาพ :
Keystone-France / Gamma-Keystone / Getty Images via Times และ George Gascon©ST2000
โฆษณา