27 ก.พ. 2022 เวลา 17:33
รถดับเพลิงประเภทใดบ้าง ที่มีใช้งานอยู่ ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ
รถดับเพลิงที่มีใช้งานอยู่ ณ ทสภ. มีดังนี้
1. รถบังคับการ (Command Post)
รถบังคับการ ณ สถานีดับเพลิง 1 (CP-1) (สถานีดับเพลิงอากาศยาน ฝั่งตะวันออก) และสถานีดับเพลิง 2 (CP-2) (สถานีดับเพลิงอากาศยาน ฝั่งตะวันตก) มีจำนวนสถานีละ 1 คัน ใช้เป็นรถที่ขับนำรถดับเพลิงอากาศยาน ไปยังจุดเกิดเหตุ
โดยมี หัวหน้ากะ สถานีดับเพลิง เดินทางไปกับรถด้วย และเมื่อไปถึุงจุดเกิดเหตุ รถคันนี้จะถูกใช้เป็น ศูนย์สั่งการเคลื่อนที่ (Mobile Command Post) โดยเป็นศูนย์รวมของหัวหน้าเวรฝ่ายต่างๆ ที่จะเข้ามาประสานงาน เพื่อให้การสนับสนุน
โดยจุดที่จอดรถเป็นจุดที่สามารถมองเห็นได้ครอบคลุมพื้นที่ ทั้งนี้ เพื่อประเมินสถานการณ์ เพื่อให้การปฏิบัติงานเป็นไปด้วยความรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ
2. รถดับเพลิงอากาศยานเคลื่อนที่เร็ว
(Rapid Intervention Vehicle)
เป็นรถที่เคลื่อนตัวได้เร็ว มีความจุถังน้ำ 4,500 ลิตร และมีความจุถังโฟม 540 ลิตร มีอัตราฉีดป้อมปืนหลัก (ป้อมปืนบนหลังคา : Roof turret) ปรับฉีดได้แบบอัตราสูง (High) มีอัตราฉีด 3,030 ลิตรต่อนาที และแบบอัตราต่ำ (Low) ที่ 1,515 ลิตรต่อนาที ที่แรงดันน้ำ 10 บาร์ ฉีดได้ไกล 78 เมตร และมีอัตราฉีดป้อมปืนกันชน (ฺBumpet turret) 1,140 ลิตรต่อนาที ฉีดได้ไกล 45 เมตร นอกจากนั้นยังมีหัวฉีดใต้ท้องรถดับเพลิงฯ (Undertruck nozzle) ใช้สำหรับฉีดดับเพลิงที่อยู่ใต้ท้องรถดับเพลิงฯ
โดยรถดับเพลิงประเภทนั้ มีจำนวน สถานีละ 1 คัน สถานีดับเพลิง 1 คือ รถดับเพลิงอากาศยานเคลื่อนที่เร็ว E-01 และสถานีดับเพลิง 2 คือ รถดับเพลิงอากาศยานเคลื่อนที่เร็ว W-01 โดยตัวย่อ E มาจากคำว่า East ส่วนตัวย่อ W มาจากคำว่า West
3. รถดับเพลิงอากาศยานขนาดใหญ่
(Major Aircraft Rescue and Firefighting : ARFF)
รถดับเพลิงอากาศยานประเภทนี้ แต่ละคัน มีความจุน้ำ 10,700 ลิตร มีความจุถังโฟม 1,300 ลิตร มีอัตราฉีดป้อมปืนหลัก ปรับฉีดได้แบบอัตราสูง (High) มีอัตราฉีด 4,500 ลิตรต่อนาที และแบบอัตราต่ำ (Low) ที่ 2,500 ลิตรต่อนาที ที่แรงดันน้ำ 10 บาร์ ฉีดได้ไกล 80 เมตร ส่วนป้อมปืนกันชน มีอัตราฉีด 1,140 ลิตรต่อนาที ที่แรงดันน้ำ 10 บาร์ ฉีดได้ไกล 45 เมตร มีหัวฉีดใต้ท้องรถดับเพลิงฯ (Undertruck nozzle) จำนวน 8 หัวฉีด
มีจำนวน สถานีละ 3 คัน ได้แก่ E-02, E-03, E-04 และ W-02, W-03, W04
4. รถดับเพลิงอากาศยานขนาดใหญ่แบบมีแขนเจาะ
(Major Aircraft Rescue and Firefighting With Turret Boom )
รถดับเพลิงอากาศยานประเภทนี้ มีแขน Booms จำนวน 2 ท่อน คือ ท่อนแรกที่เป็นแขนหลัก (Main Boom) และท่อนที่ 2 ซึ่งเป็นส่วนที่ยืดได้ (Extension Boom) โดยสามารถยืดได้สูงถึง 15 เมตร จากพื้นดิน
มีความจุน้ำ 8,400 ลิตร และมีความจุถังโฟม 1,050 ลิตร มีอัตราฉีดป้อมปืนปลายแขน Boom 3,785 ลิตรต่อนาที ที่แรงดันน้ำ 100 ปอนด์ต่อตารางนิ้ว (Pound per square inch : PSI) ฉีดได้ไกล 73 เมตร ส่วนป้อมปืนกันชน มีอัตราฉีด 1,140 ลิตรต่อนาที ที่แรงดันน้ำ 10 บาร์ โดยมีจำนวน สถานีละ 1 คัน คือ รถดับเพลิงฯ E-05 กับ W-05
โดยรถดับเพลิงประเภทนี้มีลักษณะพิเศษ คือ มีแขนเจาะ ที่สามารถเจาะเข้าไปในลำตัวอากาศยานได้ ในกรณีมีอากาศยานเกิดอุบัติเหตุเพลิงลุกไหม้ แล้วไม่สามารถเปิดประตูอากาศยานเพื่อเข้าไปช่วยเหลือผู้โดยสารและลูกเรือ ที่ติดอยู่ภายในลำตัวอากาศยานได้
แขนเจาะที่ใช้ในการเจาะลำตัวอากาศยาน เรียกว่า Piercing Nozzle ที่ปลายแขนเจาะมีรูสำหรับการฉีดน้ำเพื่อสร้างบรรยากาศในการอยู่รอด เพื่อการลดอุณหภูมิ และเพื่อการดับเพลิง ซึ่งเกิดภายในลำตัวอากาศยาน
โดยแขนเจาะมีอัตราฉีด 950 ลิตรต่อนาที ที่แรงดันน้ำ 100 ปอนด์ต่อตารางนิ้ว (Pound per square inch : PSI)
รถดับเพลิงอากาศยานทุกคันสามารถฉีดน้ำได้ขณะรถวิ่ง (pump-and-rolll) ทุกอัตราทดเกียร์
โฆษณา