15 มี.ค. 2022 เวลา 00:00 • ประวัติศาสตร์
เครื่องประดับทำจากเปลือกหอยทะเลในสมัยก่อนประวัติศาสตร์
แหล่งโบราณคดีก่อนประวัติศาสตร์ ค้นพบเครื่องประดับที่ทำจากหอยในหลุมฝังศพหลายๆ ที่ เช่น เปลือกหอยแครงและหอยขมเจาะรูจากการขุดค้นที่บ้านเก่า จังหวัดกาญจนบุรี ส่วนที่ท่าแค จังหวัดลพบุรี พบว่า มีกระบวนการทำเครื่องประดับจากเปลือกหอยทะเล ซึ่งทำจากเปลือกหอยสองชนิด คือ หอยกาบขนาดใหญ่หรือหอยมือเสือในพันธุ์ Tridacna และหอยมุก พันธุ์ Trochus ซึ่งอยู่ในประเภทหอยสองฝา
และสร้างแบบจำลองขั้นตอนการผลิตตั้งแต่การตัดออกมาเป็นก้อนสี่เหลี่ยม ขัดฝนให้เป็นแท่งทรงกระบอก เจาะแท่งทรงกระบอกที่กึ่งกลางจากหัวและท้าย โดยอาจจะใช้โลหะหรือไม้ไผ่เป็นสว่าน เลื่อยขอบนอกให้เป็นวงส่วนวงในนำไปใช้ทำลูกปัดหรือต่างหูที่มีขนาดเล็กได้อีก
ขัดฝนกำไลเปลือกหอยกับแท่นหินทรายให้เรียบและโค้งมนตามต้องการ ด้วยวิธีการผลิตเช่นนี้ ทำให้เข้าใจว่าน่าจะมีความสัมพันธ์อย่างยิ่งกับการผลิตโลหะ [Ciarla, Roberto 1992]
ในแหล่งโบราณคดีโดยเฉพาะในลุ่มลพบุรี ภาคกลางของประเทศไทย พบเครื่องประดับที่ทำจากเปลือกหอยทะเลฝังอยู่ในหลุมศพ โดยเฉพาะหอยมือเสือซึ่งมีขนาดใหญ่ แยกย่อยเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยได้จำนวนมาก จากรายงานการศึกษาทางโบราณคดีโดยการขุดค้นในบริเวณนี้
กล่าวว่ากำไลลูกปัด และต่างหู ที่ทำจากเปลือกหอยทะเลปรากฏตั้งแต่ในช่วงวัฒนธรรมยุคแรกก่อนมีการใช้โลหะ และใช้อยู่ในช่วงวัฒนธรรมยุคที่ มีการผลิตทองแดงระดับอุตสาหกรรมแถบเขาวงพระจันทร์และอยู่ในช่วงยุคสำริดในประเทศไทย
ในขณะที่เมื่อเข้าสู่ยุคเหล็กก็ยังมีการใช้เปลือกหอยทะเลอยู่ แต่หลังจากนั้นไม่พบว่ามีการใช้วัสดุจากเปลือกหอยทะเลมาทำลูกปัดหรือกำไลข้อมือ แต่เปลี่ยนวัสดุเป็นหินและแก้วแทน (สุรพล นาถะพินธุ ๒๕๓๙)
ทำให้เกิดข้อสังเกตว่า ยุคแรกๆ ที่ยังไม่ปรากฏการใช้โลหะ เครื่องประดับทำจากเปลือกหอยมือเสือถูกทำขึ้นด้วยวิธีเช่นไร ในเมื่อแบบจำลองการผลิตเครื่องประดับจากเปลือกหอยของ Ciarla คาดว่าน่าจะมีความสัมพันธ์กับการผลิตโลหะ เพราะอาจจะใช้เครื่องมือโลหะแยกย่อยชิ้นส่วนต่างๆ ซึ่งควรเป็นวิธีการผลิตที่ง่ายกว่า เช่น การเลื่อยแยกออกเป็นชิ้นเล็กๆ ดังนั้น จึงเป็นไปได้ที่จะมีเทคนิคการผลิตที่ไม่ใช้เลื่อยหรือสว่านโลหะ
กำไลเปลือกหอยมือเสือขนาดใหญ่พบเป็นจำนวนมาก สีขาวเนื้อละเอียด แม้จะแข็งแต่เปราะแตกหักง่าย ดังนั้นจึงพบว่า กำไลเปลือกหอยมักแตกหักเสียหายและมีไม่ครบชิ้น ในส่วนที่หักจะมีการเจาะรูที่ปลายทั้งสองด้าน เพื่อประกอบเข้าด้วยกันใหม่ กล่าวได้ว่ากำไลหอยมือเสือหรือหอยทะเลอื่นๆ เป็นสิ่งของหายากและมีค่า มีการซ่อมและนำมาใช้ใหม่แสดงถึงอายุการใช้งานของแต่ละชิ้นอย่างคุ้มค่า
นอกจากนี้ยังมีการพบกำไลหินที่ศพร่างหนึ่งในแหล่งโบราณคดีบ้านใหม่ชัยมงคล ที่ช่วยยืนยันความสำคัญและคุณค่าของเปลือกหอยทะเล เพราะกำไลหินอ่อนนี้ทำรูปทรงเลียนแบบกำไลเปลือกหอยสังข์ทะเล และเหมือนกับกำไลเปลือกหอยสังข์ทะเลชิ้นหนึ่งที่พบในแหล่งโบราณคดีบ้านพุน้อย
ลูกปัดเปลือกหอยวงกลมแบนขนาดเล็กๆ เส้นผ่าศูนย์กลาง ๐.๔ และ ๐.๖ เซนติเมตร ความหนาราว ๐.๑ เซนติเมตร ความพิเศษของลูกปัดแบบนี้ คือ ลูกปัดเล็กๆ แต่ละชิ้นจำนวนมากมายมหาศาลนี้มีขนาดเท่ากันและเกือบเท่ากันทั้งสิ้น ใช้เทคนิคการทำลูกปัดจากเปลือกหอยทะเลที่เชื่อว่าเป็นวิธีการสากลที่ใช้กันทั่วโลก ตั้งแต่ยุคหินในอินเดีย ยุคเหล็กในอินเดียใต้ ชาวหมู่เกาะในโอเชียเนีย หรือในไต้หวัน ทำลูกปัดเปลือกไข่นกกระจอกเทศ
ส่วนในทะเลทรายคาลาฮารี เรียกกันว่า วิธีการแบบ heishi ซึ่งเป็นชื่อเรียกลูกปัดเปลือกหอยที่พวกอินเดียนในซานโต โดมิงโก นิวเม็กซิโก ใช้กัน วิธีการทำคือ ทำเปลือกหอยให้เป็นแผ่นแบนเรียบ แล้วตัดออกเป็นแผ่นวงกลมเล็กๆ เจาะรูตรงกลาง หลังจากได้จำนวนมากพอใช้เชือกหนาๆ ร้อยทั้งหมดไว้ด้วยกัน แล้วนำมาขัดฝนกับแผ่นหินหรือร่องหินในคราวเดียวกัน ก็จะได้ลูกปัดวงกลมที่มีขนาดเดียวกันทั้งหมด [Francis, Peter.Jr. 1990]
จากการพบลูกปัดเปลือกหอยขนาดเล็กๆ แต่เกือบทั้งหมดมีขนาดเท่ากันในแหล่งโบราณคดีลุ่มลพบุรี-ป่าสัก เทคนิคการทำให้มีขนาดเท่ากันเช่นนี้น่าจะยอมรับได้ว่าใช้วิธีการเดียวกันกับที่กล่าวมาข้างต้น
นอกจากนี้ ยังมีลูกปัดเปลือกหอยขนาดพอๆ กับกระดุมที่ใช้กันในสมัยนี้ เส้นผ่าศูนย์กลางมีตั้งแต่ ๑.๐ - ๑.๒ เซนติเมตร ส่วนความหนาไม่เท่ากัน ตั้งแต่ ๑.๕ - ๒.๕ เซนติเมตร วิธีการผลิตอาจจะใช้เช่นเดียวกับเทคนิค heishi
และยังมีการทำต่างหูจากเปลือกหอยทะเลที่มีลักษณะประณีต เช่น ต่างหูคู่หนึ่งที่พบในแหล่งโบราณคดีบ้านหนองใหญ่ เป็นแผ่นแบนเรียบ ขอบนอกเป็นรูปวงกลม มีหยักหนึ่งหยัก ขอบในทำขอบเป็นครึ่งวงกลมสวยงาม ซึ่งมีการแตกหักเสียหาย แต่ผู้ขุดพบยืนยันว่ามีการต่อเชื่อม ด้วยตัวประสานจนยึดติดกันแน่นด้วยฝีมือละเอียดอย่างยิ่ง
ต่างหูชิ้นนี้ยืนยันสมมุติฐานของการผลิตว่า ควรจะใช้เส้นลวดหรือเลื่อยโลหะสำหรับงานที่มีความเปราะบางและมีเส้นสายของรูปทรงที่ละเอียดประณีต และต่างหูขนาดเล็กมีการออกแบบสำหรับใส่ในช่องที่เจาะซึ่งควรมีรูใหญ่ราว ๒.๐ เซนติเมตร รูปร่างเป็นแท่งทรงกลมปลายบานออกเล็กน้อย ความละเมียดละไมของเครื่องประดับชิ้นนี้คือ มีการทำเส้นคาดเส้นเล็กๆ ประดับบนแกนต่างหูอยู่ด้วย
แน่นอนว่า เปลือกหอยทะเลเป็นวัสดุธรรมชาติที่ไม่อยู่ในท้องถิ่น แต่ถูกนำมาจากแดนไกลบริเวณชายฝั่งทะเลแหล่งโบราณคดีที่โคกพนมดี เป็นชุมชนยุคก่อนประวัติศาสตร์ที่อยู่ไม่ไกลจากชายฝั่งทะเลนัก กำหนดอายุอยู่ในช่วง ๒,๐๐๐ BC. - ๑,๕๐๐ BC. มีลูกปัดทำจากเปลือกหอยทะเลรูปทรงคล้ายตัว H [H beads] เหมือนกับที่พบในหลุมขุดค้นในแถบเขาวงพระจันทร์ [Higham 1996 : 258] แสดงถึงการติดต่อระหว่างชุมชนทั้งสองพื้นที่
เปลือกหอยทะเลเป็นสิ่งของที่นำมาใช้ทำเครื่องประดับตกแต่งเพื่อความสวยงาม ทั้งยังบ่งบอกสถานภาพของผู้ครอบครองได้ด้วย
ในลุ่มลพบุรี-ป่าสัก และแอ่งอีสานเหนือ ผู้คนในยุคก่อนประวัติศาสตร์ให้คุณค่าของเปลือกหอยทะเลไว้อย่างสูงยิ่ง หากจะเปรียบเทียบกันแล้ว ก็อาจเทียบเคียงคุณค่าได้ใกล้เคียงกัน
จากบทความ หอยเบี้ย : เงินตราจากท้องทะเล วลัยลักษณ์ ทรงศิริ (เคยพิมพ์ในวารสารเมืองโบราณ ตุลาคม-ธันวาคม ๒๕๔๑)
ติดตามบทความ วิดีโอ และรายการต่างๆ เพิ่มเติมได้ที่
โฆษณา