28 ก.พ. 2022 เวลา 03:15 • กีฬา
กรณีศึกษา Carabao Cup รายการแข่งขันฟุตบอล ที่ทำให้โลกรู้จัก “คาราบาว”
ใครที่เป็นคอฟุตบอลอังกฤษ ก็น่าจะไม่พลาดชมรอบชิงชนะเลิศ Carabao Cup ระหว่าง เชลซี กับ ลิเวอร์พูล
ที่ฟาดแข้งกันไปแบบสุดเข้มข้น เมื่อคืนที่ผ่านมา
แน่นอนว่า เมื่อเป็นรายการแข่งขันฟุตบอลที่มีทีมดัง ๆ ระดับโลกเข้าร่วมรายการ ย่อมทำให้ Carabao Cup กลายมาเป็นหนึ่งในรายการฟุตบอลที่ผู้ชมทั่วโลกกำลังรอคอย
แต่รู้หรือไม่ว่า Carabao Cup จริง ๆ แล้วมาจากรายการแข่งขันที่ชื่อว่า “EFL Cup” หรือ English Football League Cup ที่มีจุดเริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 1960 ในประเทศอังกฤษ
แล้วทำไมชื่อ EFL Cup ถึงได้กลายมาเป็น Carabao Cup ไปได้ ?
ต้องบอกว่า ก่อนที่ EFL Cup จะเปลี่ยนชื่อมาเป็น Carabao Cup
การแข่งขัน EFL เคยเปลี่ยนชื่อตามสปอนเซอร์มาแล้วถึง 9 ครั้ง ภายในระยะเวลา 30 ปี
ยกตัวอย่างเช่น
ปี 1981-1985 มีชื่อว่า Milk Cup
ปี 1992-1997 มีชื่อว่า Coca-Cola Cup
ปี 2012-2015 มีชื่อว่า Capital One Cup
และในปี 2017 ถึงปัจจุบัน เปลี่ยนมาเป็น Carabao Cup
พูดง่าย ๆ ว่า การเปลี่ยนชื่อของรายการแข่งขัน EFL จริง ๆ แล้วมาจากรายชื่อของสปอนเซอร์รายการในปี นั้น ๆ นั่นเอง
แล้วการจะได้เปลี่ยนชื่อ EFL Cup มาเป็นชื่อแบรนด์ตัวเอง ต้องจ่ายค่าสปอนเซอร์แพงแค่ไหน ?
ทาง คาราบาวกรุ๊ป ลงทุนเสียค่าลิขสิทธิ์ปีละ 6 ล้านปอนด์ หรือประมาณ 260 ล้านบาท เพื่อเปลี่ยนชื่อเป็น “คาราบาว คัพ (Carabao Cup)”
โดยในช่วงแรก ตัดสินใจเป็นผู้สนับสนุนในปี 2017 - 2020 จากนั้นก็มีการขยายสัญญา เป็นผู้สนับสนุนหลักต่ออีก 2 ปี คือปี 2021 และปี 2022
คำถามคือ แล้ว คาราบาว จะได้อะไรจากเรื่องนี้ ?
หนึ่งในคำตอบคงเป็นเพราะต้องการทำการตลาดต่างประเทศ เพื่อช่วยดันยอดขายให้เติบโต
โดยรูปแบบการตลาดที่ใช้กีฬาเป็นตัวดึงดูดความสนใจจากผู้บริโภคนี้เรียกว่า “Sport Marketing”
ซึ่งจะช่วยสร้างการรับรู้ของแบรนด์ (Brand Awareness) ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
เพราะการทำตลาดแบบนี้ ทำให้บริษัทสามารถเจาะเข้าถึงผู้ที่ชื่นชอบกีฬาโดยเฉพาะ
อีกทั้ง แบรนด์จะสามารถทำยอดขายกับผู้ชมและผู้ติดตามรายการผ่านสื่อและโซเชียลมีเดีย
รวมทั้ง ฐานแฟนคลับของทีมกีฬา ที่พร้อมจะสนับสนุนทีมที่ตัวเองชื่นชอบ
ส่งผลให้บริษัทระดับโลกอย่าง Carabao, Coca-Cola, Red Bull และอีกมากมาย
หันมาใช้วิธีนี้ในการทำการตลาดแนวนี้กันไม่น้อย เลยทีเดียว
1
ในปี 2019 มีการเปิดเผยข้อมูลว่า ตลอดการแข่งขันในรายการนี้ มีผู้ชมเข้าสนามกว่า 1.2 ล้านคน
เข้าถึงผู้ชมฟุตบอลในอังกฤษ มากกว่า 27 ล้านคน
และตลอดการแข่งขัน มีผู้ชมผ่านการถ่ายทอดสดกว่า 700 ล้านคน
นอกจากนั้น หากใครที่เป็นแฟนบอล พรีเมียร์ลีก อังกฤษ
ก็คงจะจำกันได้ว่า คาราบาวกรุ๊ป เคยลงทุนเป็นผู้สนับสนุนให้แก่สโมสรเชลซีในฤดูกาลการแข่งขันปี 2016 - 2019 โดยระหว่างที่อยู่ในสัญญานั้น เชลซีสามารถคว้าแชมป์พรีเมียร์ลีกได้ ในฤดูกาล 2016 - 2017
1
ทีนี้พอมาดูผลสำรวจจาก Forbes เป็นข้อมูลสนับสนุน
ก็พบว่า 75% ของคนซื้อสินค้าจะเลือกซื้อจากแบรนด์ที่รู้จักเท่านั้น
นั่นก็แปลว่า เมื่อผู้บริโภครับรู้แบรนด์คาราบาวมากขึ้น ย่อมส่งผลให้ยอดขายสินค้าของคาราบาว มีโอกาสเติบโตมากขึ้นได้
1
ขณะเดียวกัน คาราบาว ก็ขยายตลาดต่างประเทศเพิ่มขึ้นในทุกปี
โดยหากมองกลยุทธ์ผ่านตัวเลขผลการดำเนินงานในอดีตนั้น รายได้จากตลาดต่างประเทศมีสัดส่วนต่อรายได้รวมเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดจากร้อยละ 29 มาอยู่ที่ร้อยละ 47 ในช่วงปี 2015 - 2020
และมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปี (CAGR) สูงถึงร้อยละ 30
เรียกได้ว่า คาราบาวกรุ๊ป กำลังวางตัวเองเป็น “Global Brand”
ขยายกลุ่มผู้บริโภคไปทั่วโลกเรื่อย ๆ แล้ว นั่นเอง..
โฆษณา