Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
สารพันบันเทิงจีน
•
ติดตาม
28 ก.พ. 2022 เวลา 09:20 • ภาพยนตร์ & ซีรีส์
Pride and Price
ตอนแรกเปิดมา คิดว่าเรื่องนี้คงคล้ายกับ The Devil Wears Prada แน่เลย หลังจากตอนที่ 2 เป็นต้นไป นี่มันชีวิตฉันนี่หว่า 5555
Pride and Price เป็นเรื่องราวของคนทำงานของนิตยสาร เข้าใจว่าจะเป็นช่วงเวลารอยต่อก่อนที่สื่อออนไลน์จะเข้ามาแทนที่สิ่งพิมพ์แทบทั้งวงการ
เพิ่งรู้ว่าธุรกิจสิ่งพิมพ์ในจีนก็ได้รับผลกระทบเหมือนกัน เพราะเท่าที่ติดตามข่าวมาวงการหนังสือในจีนนั้นแข็งแกร่งมาก ยอดขายหนังสือยังคงเติบโตทุกปี
เรื่องราวความวุ่นวายทั้งหมดเริ่มต้นขึ้นเพราะ จอร์จ บก.บห.คนปัจจุบันกระโดดตึกฆ่าตัวตาย แม้ว่าคนในบริษัทจะสงสัยว่า เฉินไคอี้ รองบก.บห. เกี่ยวข้องกับการตายของเขา แต่คนส่วนใหญ่ในบริษัทก็ยังเห็นตรงกันว่าคนที่จะมาบก.บห.ที่เหมาะสมที่สุดคือเฉินไคอี้ แต่กลายเป็นว่าบริษัทแม่ส่ง เสี่ยวหงสุ่ย มาเป็นแทน
แล้วมันจะไม่ปั่นป่วนวุ่นวายได้อย่างไร เพราะเฉินไคอี้ ซึ่งอยู่มาก่อนรู้ดีที่สุด และมีพวกมากที่สุดในนิตยสาร ประกาศว่าจะไม่ยอมให้เสี่ยวหงสุ่ยเข้ามายึดตำแหน่งนี้ไปง่าย ๆ
แน่นอนว่าเสี่ยวหงสุ่ยก็มีภารกิจที่ต้องการเข้าจัดการ แถมยังมีคนอยู่เบื้องหลังอีกต่างหาก
ยังไม่นับลู่ปินปิน ผู้อำนวยการฝ่ายโฆษณาจอมแสบ ที่เหยียบทุกคนทุกครั้งที่มีโอกาส เพราะมีเป้าหมายเป็นบก.บห.เหมือนกัน
ในแง่บท เมื่อมองในภาพรวมอาจมีจุดที่เอ๊ะ บ้าง เช่น ตอนต้นเรื่องเปิดมาเหมือนเป็นเรื่องฆาตกรรมอำพราง มีตำรวจมาเกี่ยวข้องด้วย เด็กฝึกงานที่ถูกฝากฝังให้มาทำงานก่อนฆ่าตัวตายคงต้องรู้อะไรที่สำคัญบางอย่าง แต่กลับไม่มีอะไร เป็นประเด็นเรื่องการตามหาความหมายในการมีชีวิตของเด็กใหม่เท่านั้น
ลี่นา นักศึกษาฝึกงานผู้ได้งานแบบงง ๆ
แม้แต่ประเด็นที่จอร์จฆ่าตัวตาย เอาเข้าจริงก็ไม่ได้มีอะไรซับซ้อน
แถมจบด้วยการพาทุกคนเข้าไปวิ่งในทุ่งลาเวนเดอร์เสียอย่างนั้น
คงเป็นเพราะเคยอยู่ในสถานการณ์แบบที่ตัวละครในเรื่องเจอมาก็เลยมีเรื่องให้เขียนถึง
เฉินไคอี้
ประเด็นแรก เฉินไคอี้ รองบก.บห. ภาพลักษณ์แรกที่ทุกคนเห็นคือเป็นนางมารร้าย บ้าอำนาจ เย็นชา ลูกน้องไม่ค่อยชอบ แต่ลึก ๆ ก็ต้องยอมรับว่าเธอคือคนที่หายใจเข้าก็นิตยสาร หายใจออกก็นิตยสาร เป็นเลือดเนื้อของนิตยสารมากกว่าใคร
ในฐานะที่เคยอยู่ในตำแหน่งนี้บอกเลย ว่ามันใช่มาก 5555 จริง ๆ ตลอดชีวิตพยายามหลีกเลี่ยงตำแหน่งนี้มาตลอด เพราะมันไม่ใช่เป้าหมายในชีวิต ไม่เคยมองว่ามันเป็นความก้าวหน้าในชีวิต แต่ไหนแต่ไรมาตั้งใจจะเป็นนักเขียนเท่านั้น แต่ด้วยโชคชะตา ธรรมะจัดสรร หรืออะไรก็ตาม วันหนึ่งมีเหตุให้ต้องมาทำงานนี้จนได้
คาแรกเตอร์ของเฉินไคอี้ ถือเป็นเรื่องปกติมากในแวดวงนิตยสาร โดยเฉพาะนิตยสารสายแฟชั่นที่เจอแต่เสือสิงห์กระทิงแรด เขี้ยวลากดินกันทั้งนั้น ถ้าน้อยกว่านี้ บอกเลยว่าไม่รอด ขนาดฉันไม่ได้เป็นบก.บห.นิตยสารแฟชั่น ยังร่ำลือกันว่า เป็นบก.จอมเหวี่ยง วีน อาละวาด 55555
จะว่าไปเรื่องที่เจอมาตลอดชีวิตนี่ก็เขียนเป็นนิยายได้เลย
ตอนที่รู้ว่าหนังสือต้องปิด ผู้บริหารตำแหน่งสูงกว่าที่เพิ่งเข้ามาได้แค่ปีกว่าพูดกับเราว่า
“ผมรู้สึกว่าพี่อยากให้หนังสือปิด”
เรามองเขานิ่ง ๆ พูดได้แค่ว่า
“ หนังสือปิด ไม่มีใครเสียใจเท่าบก.หรอก”
ในใจนั้นมีคำอีกเป็นล้าน ฉันเขียนหนังสือทำงานหนังสือมาสามสิบกว่าปี รักมันมากกว่าผู้ชายเสียอีก
ไม่มีใครรู้ว่า วันที่ฝ่ายบริหารยืนยันว่าต้องปิดหนังสือ ตอนนั้นเป็นเวลาทุ่มกว่า ทุกคนกลับไปบ้านกันหมดแล้ว ฉันนั่งร้องไห้อยู่คนเดียวเกือบยี่สิบนาที และร้องหนักกว่าเมื่อคนอ่านรู้ว่าหนังสือปิด แล้วเขียนอีเมล์เข้ามาถามว่าจะให้คนอ่านช่วยอย่างไร ให้หนังสือยังคงทำต่อไปได้
ถ้าเป็นลูกเศรษฐี อย่างหยวนไคในเรื่อง ซื้อหัวออกมาทำต่อเองแล้ว
ฉากที่ชอบที่สุดสำหรับตัวละคร ตัวนี้ คือตอนที่เดินออกมา เขวี้ยงต้นฉบับใส่หยวนไค และกองบก. ให้ไปทำต้นฉบับมาใหม่ทั้งหมด แล้วไม่มีใครเถียงแม้แต่หยวนไค เพราะรู้ดีว่างานมันไม่ดีจริง ๆ อย่างที่บก.ปรี๊ดนั่นแหละ
อันนี้ก็เคยทำมาแล้ว (แต่ไม่ถึงกับเขวี้ยงต้นฉบับใส่ 555 )
เสี่ยวหงสุ่ย
ประเด็นที่สอง ว่าด้วย เสี่ยวหงสุ่ย การเป็นคนนอกแล้วจู่ ๆ ต้องเข้ามาบริหารหนังสือนั้น บอกเลยว่าไม่ง่าย ก็ให้เผอิญอีกว่าตอนเข้าไปรับตำแหน่ง ก็ไปในสถานะแบบเดียวกับเสี่ยวหงสุ่ย เนื่องจากบก.คนเดิมเกษียณอายุ ฉันถูกเรียกกลับมาทำงานในฐานะลูกหม้อ มีภารกิจเปลี่ยนนิตยสารให้มันทันสมัยขึ้น ร่วมสมัยขึ้น
เรื่องตลกก็คือ เป็นการไปทำงานที่ไม่ผ่านขั้นตอนการสมัครงานเหมือนชาวบ้านชาวเมืองเขา ผู้บริหารโทรหาตอนเที่ยง ให้มาคุยกับประธานบริษัทตอนบ่ายสองวันเดียวกัน แล้วก็เริ่มทำงานเลย หลังจากเข้าประชุมหลายครั้งผ่านได้เกือบเดือน ก็บอกผู้บริหารในที่ประชุมว่า
“เอ่อ พี่คะ หนูยังไม่ได้เขียนใบสมัครเลยนะคะ”
ผู้บริหารหัวเราะกันทั้งโต๊ะ ก่อนจะไล่ให้ไปฝ่ายบุคคล
เมื่อตัดสินใจรับตำแหน่งนี้ ก็รู้อยู่แล้วว่าต้องโดนลองของว่าเรามีความรู้เกี่ยวเนื้อหาสาระของนิตยสารหรือไม่ ต้องโดนต่อต้านจากกองบก.เก่าแน่ ๆ ถึงขนาดมีคนไปถามโอเปอเรเตอร์ซึ่งอยู่มานานและรู้จักผู้เขียนด้วยว่า บก.ใหม่เป็นคนยังไง 555
ขนาดว่าเป็นลูกหม้อ รู้วัฒนธรรมองค์กรดี ผู้บริหารสนับสนุน แต่หกเดือนแรกก็ไม่ง่ายเลย
ตอนเข้าไป ก็ประกาศว่านโยบายของเราเป็นแบบนี้ กฎระเบียบต่าง ๆ เป็นแบบนี้ แน่นอนว่าพวกเขาย่อมไม่พอใจ วิธีที่เขาทำคือย้ายแผนก ลาออก เพราะคิด(เอาเอง)ว่า บก.บห.ใหม่ ไม่มีทางหาคนมาทำแทนได้
ฉันไม่คิดว่าเรื่องนี้จะเป็นปัญหาอะไร เพราะตอนนั้นทำงานหนังสือมาเกือบสามสิบปีแล้ว นิตยสารแค่ 80 หน้า เนื้อหาแค่นี้จัดการได้ ไม่ได้เหลือบ่ากว่าแรง
หาคนเขียนไม่ได้ ก็สัมภาษณ์เองเขียนเอง ยากตรงไหน
ฉันปล่อยให้ทุกคนลาออก พร้อมเซ็นใบรับรองการทำงานให้อย่างดี คนที่ขอย้ายแผนก ก็ไปคุยกับผู้บริหารของแผนกนั้นให้ด้วย
การรับพนักงานใหม่เข้ามา มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ข้อเสียคือ ต้องมาฝึกงานกันใหม่ ข้อดีคือจะได้คนที่ไม่ต่อต้าน ทำตามนโยบายใหม่ (จริง ๆ จะต่อต้านบ้างก็ไม่เป็นไร ขอแค่ให้มีเหตุผลเพียงพอว่าไม่ทำตามเพราะอะไร)
ท้ายที่สุด ฉันก็ได้ทีมใหม่ที่พร้อมลุยไปด้วยกัน แถมทัศนคติดีกว่าคนเก่าด้วยซ้ำไป แน่นอนว่าระหว่างทางมันก็มีปัญหาเรื่องคนทำงานบ้าง ซึ่งก็เป็นเรื่องปกติ เป็นเรื่องที่คนเป็นผู้บริหารถูกจ้างมาให้แก้ปัญหาเหล่านี้
ในมุมนี้ เสี่ยวหงสุ่ยค่อนข้างลังเลในตอนแรก แต่ก็ตัดสินใจได้ในที่สุด เผอิญในเรื่องมีตัวแปรคือฝ่ายบุคคลไปเกลี้ยกล่อมพนักงานสำเร็จเสียก่อน ความวุ่นวายจึงกลายเป็นอีกแบบหนึ่ง
หลี่ปินปิน
ประเด็นที่สาม ว่าด้วย หลี่ปินปิน ผู้อำนวยการฝ่ายโฆษณา ตัวร้ายประจำนิตยสาร ถ้าไม่เผอิญอยู่ในวงการก็อาจคิดว่าวุ้ย เวอร์ไปไหม ร้ายไปไหม ถึงขนาดวางแผนทั้งลับหลังและเปิดเผยให้บริษัทไล่คนนั้นคนนี้ออก
อยากบอกว่าเจอคนแบบนี้มาตลอด
ตอนอายุยังน้อย เป็นกองบก. เคยเจอช่างภาพผู้ชาย รวมหัวกันไปบอกบก.บห.ว่า ให้ไล่ฉันออกเพราะไม่พอใจที่เราเป็นคนตรงเวลา
เฮ้ย นัดสัมภาษณ์ใครมันก็ต้องตรงเวลาไหม (มรึง) ต้องไปรอก่อนเวลานัดด้วยซ้ำ
ผลคือ บก.บห.ในเวลานั้นบอกว่า ไม่สนใจ เพราะฉันทำงานดี แต่แกก็มาเตือนว่าให้ซอฟลงหน่อย 555 ตอนนั้นได้แต่ฟังนิ่ง ๆ แต่ไม่ได้ทำตาม 555
หลังจากนั้นทุกคนก็ยังทำงานกันไปตามปกติ ส่วนช่างภาพที่ไม่ประสบความสำเร็จในการกดดันบก.บห.นั้น ก็เที่ยวไปนินทาเวลาที่ฉันไปจองคิวงาน ว่า เป็น “งานเจ้าแม่”
ฉันไม่ได้เอามาเป็นอารมณ์ เพราะถ้าทำงานให้สำเร็จเรียบร้อยก็ไม่มีปัญหาอะไร จะชอบฉันหรือไม่ มันก็เรื่องของคุณ ไม่ใช่ปัญหาของฉัน
พอมาเป็นบก.บห. ผู้บริหารในแผนกอื่นที่แทบไม่มีใครในบริษัทชอบเลย เพราะมองว่าไม่ได้เก่งจริง แต่สอพลอได้โล่มาก ก็เพ็ดทูลอย่างหนักจะให้ผู้บริหารไล่ฉันออกอีกแล้ว
ในสายตาคนอื่น ฉันก็น่าจะแสบหนักอยู่ 555
ผู้บริหารคนเดิมที่เคยปกป้องเราเมื่อยี่สิบปีก่อนก็มาเตือนอีก คราวนี้ฉันหัวเราะ แล้วบอกว่า
“พี่ค่ะ หนู don’t give a damm อยู่ได้แค่ไหนก็แค่นั้น อยากให้ออกเมื่อไหร่ ได้หมด ถ้าไล่ออกเพราะเชื่อลูกขุนพลอยพยัก โดยที่ไม่ได้ทำอะไรผิด ก็ขอเงินด้วย (ฮา)”
ปกติทุกบริษัทมีคนแบบนี้ ปัญหาไม่ได้อยู่ที่พนักงานนิสัยแบบนี้ เพราะเขาต้องมีความสามารถในการทำงานบางอย่างอยู่บ้าง แต่อยู่ที่ผู้บริหารต่างหากว่าฉลาดพอจะมองออกหรือเปล่า ควรฟังคนเหล่านี้มากน้อยแค่ไหน
ในโลกของธุรกิจมันก็แบบนี้ ถ้าเป็นลูกจ้าง ก็ต้องอยู่เป็น ถ้ามีจุดยืนของตนเองที่เปลี่ยนไม่ได้ ก็ต้องเตรียมหาทางหนีทีไล่เอาไว้ด้วยแค่นั้น ไม่จำเป็นต้องไปทุกข์โศกหรือเสียใจอะไร
การเป็นคนดี ไม่ได้หมายความว่าต้องเป็นคนโง่
ประเด็นที่สี่ เรื่องการทำงานของกองบก.กับฝ่ายโฆษณา เป็นอย่างในเรื่องนั่นแหละ คือไม่เคยถูกกัน สมัยที่นิตยสารไทยรุ่งเรือง กองบก.ก็ยืนยันว่าต้องทำเรื่องที่เป็นประโยชน์กับคนอ่าน โฆษณาจะมาขอให้เขียนโน่นนี่นั่นเพื่อจะให้ได้โฆษณาไม่ได้ หรือถ้าจะให้ tie-in อะไร ก็ต้องระบุในหน้านั้นชัดเจนว่าเป็นหน้าโฆษณา แต่ช่วงหลังเมื่อธุรกิจมองผลประโยชน์ในแง่กำไรเป็นที่ตั้ง ฝ่ายโฆษณาก็เริ่มมีสิทธิมีเสียงมาขอให้กองบก.ทำนั่นทำนี่ สัมภาษณ์คนนั้น คนนี้ อย่างเนียน ๆ โดยคนอ่านไม่รู้ว่ามันคือโฆษณาได้มากขึ้นเรื่อย ๆ
ช่วงที่เข้ามาเป็นบก.บห. ก็ต้องยอมทำเหมือนกัน แต่ไม่ใช่ทุกเรื่อง ต้องคุยกันเยอะว่าจะทำมุมไหนที่ท้ายที่สุดแล้ว ผู้อ่านก็ได้ประโยชน์เหมือนกัน เพราะในเวลานั้นนิตยสารแทบไม่มีโฆษณาแล้ว ถึงยอดขายยังไปได้ รายได้ยังไม่เรียกว่าขาดทุน แต่ก็มีสัญญาณจากเบื้องบนเตือนมาตลอดเวลาว่า ถ้ายังเป็นแบบนี้ ไปแน่
เมื่อมองย้อนกลับไป อย่างน้อยก็บอกตัวเองว่าได้พยายายามทำทุกอย่างเต็มที่แล้ว เรื่องที่ควรทำ ก็ทำหมดแล้ว เรื่องที่ควรยืนหยัด ก็ยืนหยัดไปแล้ว แม้จะโดนมีดปักอยู่หลังหลายเล่มก็ตาม
หยวนไค หัวหน้ากองบก.คอนเทนต์
ประเด็นที่ห้า เรื่องสื่อออนไลน์ซึ่งเข้ามาแทนสื่อสิ่งพิมพ์ เผอิญอีกว่าได้เข้าไปทำในช่วงเวลาผลัดเปลี่ยนพอดี เวลานั้นบก.และกองบก.ส่วนใหญ่ต่อต้านสื่อออนไลน์ ไม่ยอมเรียนรู้ไม่ยอมเปลี่ยนแปลง ฉันเป็นหนึ่งบก.บห.ไม่กี่คนที่เห็นตรงข้าม และบังคับกองบก.ทุกคนทำงานออนไลน์ควบคู่ไปกับสิ่งพิมพ์ เพราะเชื่อว่ายังไงมันก็มาแน่
จำได้ว่าทุกคนกระฟัดกระเฟียด หน้าหงิกหน้างอ กันมาก 555
แต่พอทำไปเรื่อย ๆ แล้วเห็นฟีดแบค เห็นความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ทุกคนก็ค่อย ๆ เข้าใจ
บางครั้งการเป็นผู้บริหารก็ต้องหนักแน่นและอดทนรอผลของสิ่งที่เรามองเห็นก่อนใคร
ท้ายที่สุดกลายเป็นว่านิตยสารเล็กที่สุดในบริษัท เป็นนิตยสารเล่มเดียวที่สามารถมีฐานมั่นคงในโลกออนไลน์โดยไม่ต้องใช้เงินซื้อโฆษณาสักบาท ออร์แกนิคล้วน ๆ
ในซีรีส์ แรก ๆ ทุกคนก็ดูจะไม่สนใจออนไลน์ แต่ท้ายที่สุดเฉินไคอี้ก็เป็นคนบอกให้จัดแผนกนี้ขึ้นมา
ทั้งหมดนี้เป็นประเด็นใหญ่ ๆ ที่อยากเขียนถึง ส่วนในเรื่องนั้น แทบทุกฉากดูไปก็ตบเข่าไปว่า เออ เจอมาแล้ว/ มันใช่เลย รายละเอียดอาจไม่เหมือนกันเสียทีเดียว เพราะสังคม วัฒนธรรมองค์กร ของจีนกับไทยต่างกัน แต่โดยหลักการแล้ว ก็ไม่ได้ต่างกันนัก
เรื่องนี้ได้เรตติ้งค่อนข้างดีในจีน แต่ไม่แน่ใจว่าควรเชียร์ให้ใครดูไหม เพราะถึง youku บอกว่ามีซับไทย แต่เป็นซับนรก เนื่องจากใช้ auto แปล ต้องไปอ่านซับอังกฤษถึงจะรู้เรื่อง (แต่ซับอังกฤษก็ไม่ได้สมบูรณ์ร้อยเปอร์เซ็นต์ บางช่วงก็เดาบ้าง ดูบริบทบ้าง )
ไม่ใช่ซีรีส์สายฟิน ไม่ใช่ซีรีสในกระแส ก็ต้องทำใจกันไป
ซีรีส์จีน
1 บันทึก
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
แนะนำซีรีส์
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย