28 ก.พ. 2022 เวลา 09:44 • สัตว์เลี้ยง
มันเป็นปลาชนิดหนึ่งที่ถูกบรรจุอยู่ในวงศ์ของปลาตะเพียนน้ำจืดขนาดเล็ก หากเปรียบตู้เลี้ยงปลาสวยงามเป็นโรงละคอนขนาดย่อม เจ้าปลาชนิดนี้จะไม่ยอมรับบทบาทตัวประกอบ หากมีมันอยู่ในลานแสดงก็ต้องดารานำของเรื่องเท่านั้น !!
เมื่อเหล่ามนุษย์มายืนหยุดที่หน้าตู้ปลา เจ้านี่จะเป็นปลาตัวแรกๆเสมอที่ปรี่มารับหน้าและแสยะยิ้ม มันเป็นปลาขี้เสนอหน้าที่ว่ายน้ำรวดเร็วว่องไว ชอบโชว์เก๋ากับปลาที่มีขนาดเล็กกว่า ส่วนถ้าตัวเท่ากันหรือใหญ่กว่าไม่มากก็จะชอบไปวางก้ามไล่แทะหางชาวบ้านเค้า
ถึงมันจะชอบโชว์พาว(เวอร์) แต่มันก็แค่ไม่ชอบให้ใครเด่นเกินหน้ามันแฉยๆ มันไม่ได้ดุร้ายขนาดจะฆ่าจะแกงกันถ้าต้องแบ่งพื้นที่การแสดงกันจริงๆ ปลาชนิดนี้เหมาะแล้วกับสมญานาม “เพื่อนบ้านที่น่ารำคาญ” อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน ไม่ได้กล่าวไว้ และแอดมินก็ไม่ใช่แฟนผีแดงแต่อย่างใด
เครดิตภาพประกอบ https://aquadiction.world/species-spotlight/tiger-barb/
บทความเรื่อง​ เพื่อนบ้านที่น่ารำคาญ
จากการบรรยายอุปนิสัยทางด้านบน หวังว่าจะไม่ทำร้ายจิตใจคนที่ชอบเลี้ยงเจ้าปลาตัวนี้นะครับ “ปลาเสือสุมาตรา”
ถึงแม้ปลาเสือสุมาตราจะมีอุปนิสัยชอบทำตัวเด่นแต่ก็คงปฎิเสธไม่ได้ว่ามันเป็นปลาที่น่าดูชนิดนหนึ่ง ปลาตะเพียนชนิดนี้มีลักษณะหัวโต ตากลมโต ปากเล็กแหลม เกล็ดมีขนาดใหญ่ ลำตัวป้อมและแบนข้าง หากเรามองจากทางด้านข้างจะพบว่ารูปร่างคล้ายกับสี่เหลี่ยมข้าวหลามตัดที่ถูกวางนอน
บนลำตัวมีแถบสีดำพาดจากบนลงล่างทั้งหมดสี่แถบ แถบแรกพาดดวงตา แถบที่สองพาดลงมาก่อนถึงครีบหลัง แถบถัดไปคือพ้นครีบหลังไปแล้ว และแถบสุดท้ายอยู่ตรงโคนหางหรือข้อหางนั่นเอง มีการถกเถียงกันอยู่บ้างว่าเราควรนับแถบสีดำครงครีบเป็นอีกหนึ่งแถบรวมกันเป็นห้าหรือไม่ เพราะปลาบางตัวก็มีแถบสีดำล้ำลงมาจากครีบเล็กน้อยแต่บางตัวก็ไม่มี เอาเป็นว่าก็ให้เค้าเถียงกันไปละกันครับเรานับแค่สี่พอ
ครีบหลัง ครีบอก ครีบว่าย ปลายปาก หางและครีบก้นมีแต้มสีแดง เดิมทีผิวของปลาชนิดนี้ในแหล่งน้ำธรรมชาติเป็นสีน้ำตาลอมส้ม ภายหลังได้รับการพัฒนาสายพันธุ์จนสีสันเข้มข้น ในปัจจุบันผิวปลามีสีส้มจัด และตำแหน่งแต้มสีแดงก็มีสีแดงที่จัดจ้านสดใสกว่าเดิมมาก
ในแหล่งน้ำธรรมชาติเราพบปลาชนิดนี้บนเกาะสุมาตราและบอร์เนียว โดยจุดที่พบเจอปลาชนิดนี้ในการสำรวจก่อนคือเกาะสุมาตราก็เลยเรียกเป็น “ปลาเสือสุมาตรา” ไปเลยตั้งแต่นั้นมา ถ้าเจอที่บอร์เนียวก่อนก็คงเป็น “ปลาเสือบอร์เนียว” ชื่อสามัญทางการค้าเรียกกันว่า Sumatra Tiger Barb (อ่านว่า สุ มาตรา ไท เก้อ บ๊าบ)
ปลาเสือสุมาตราอาศัยอยู่เป็นฝูงขนาดกลาง ว่ายน้ำรวดเร็วว่องไว มักพบในจุดที่พืชน้ำขึ้นปกคลุมหนาแน่น อาหารในธรรมชาติได้แก่สิ่งมีชีวิตขนาดเล็กได้แก่ ลูกปลา แมลงน้ำ ตัวอ่อนของแมลง หนอน ไส้เดือน เป็นปลาที่ว่ายอยู่ในระดับกลางน้ำและผิวน้ำ สามารถกินซากพืชซากสัตว์ได้ด้วยเช่นกัน ขนาดใหญ่ที่สุดที่เคยพบในแหล่งน้ำธรรมชาติคือ 7 ซม. ปลาตัวผู้จะมีขนาดเล็กและเพรียวบางกว่าตัวเมีย รวมถึงสีสันของตัวผู้ก็จัดจ้านกว่า
เมื่อนำมาเลี้ยงในตู้ปลาสามารถฝึกให้ทานอาหารแห้งได้ทั้งในรูปแบบเม็ดจมและเม็ดลอย จะเป็นอาหารผงอาหารแผ่นก็กินได้หมด จะเป็นอาหารสำหรับปลากินพืชหรือกินสัตว์ก็กินกินได้หมด คือมันเป็นปลาที่กินง่ายถ่ายคล่องจริงๆ
ปลาชนิดนี้เป็นที่รู้จักมานานมากแล้ว เป็นปลาที่ได้รับความนิยมอย่างสูงและมีการส่งออกในปริมาณมากมานานหลายสิบปี ด้วยความที่เป็นปลาเลี้ยงง่าย และสามารถเพาะพันธุ์ได้ง่าย ทำให้การพัฒนาสายพันธุ์นั้นทำได้ไม่ยาก ปัจจุบันเราจะพบว่ามีปลาเสือสุมาตราสีทอง กับสีเขียวมักถูกจำหน่ายร่วมกันอยู่เสมอ
อ่านมาถึงตรงนี้แอดมินคิดว่าหลายคนอาจเกิดความสงสัยแบบ “ชั้นว่าชั้นเคยเจอมันตามแม่น้ำลำคลองบ้านเรานะ มันไม่ได้มีแต่อินโดนีเซียกับมาเลเซียป่าวครับ/คะแอด”
คำตอบอย่างชัดเจนว่า “ในแหล่งน้ำธรรมชาติมีที่อินโดนีเซียกับมาเลเซียเท่านั้นครับ เพราะในแหล่งน้ำธรรมชาติบ้านเรา มันคนละชนิดกัน !!”
“ห๊ะ !! จริงดิ”
“จริงครับ” นี่ตรูจะถามเองตอบเองทำไมฟระ
เจ้าปลาที่หน้าตาคล้ายกันในแหล่งน้ำธรรมชาติบ้านเราเนี่ยมีชื่อว่า “ปลาเสือข้างลาย” พบได้ในไทยและกัมพูชา และเจ้าตัวนี้ก็ไม่มีในอินโดนีเซียเด้อ เรามาดูจุดที่แตกต่างกันของปลาสองชนิดนี้ดีกว่า “ปลาเสือสุมาตรา” กับ “ปลาเสือข้างลาย”
เครดิตภาพประกอบ https://www.seriouslyfish.com/.../puntigrus-partipentazona/
จุดสังเกตแรกที่เห็นได้ชัดเจนคือ สีบนลำตัวเป็นสีน้ำตาลอ่อน อ่อนเสียจนเสมือนไม่มีสีเป็นเหลือบสีเงินซีด แต้มสีแดงปรากฎแค่ครีบหลังและครีบท้องเท่านั้น ที่หางและครีบก้นจะไม่มีสีแดงแต่เป็นสีเหลืองที่อ่อนและใสมากราวกับไม่มีสี ส่วนตำแหน่งปลายปากจะมีสีแดงปรากฎในปลาตัวผู้เมื่อถึงฤดูผสมพันธุ์เท่านั้น
ลักษณะลำตัวเสือข้างลายจะเพรียวบางกว่า (อย่างเห็นได้ชัด) แถบดำพาดลำตัวจะมีขนาดแคบกว่ามีจำนวนทั้งหมดห้าแถบ โดยตำแหน่งสี่แถบแรกนั้นคือจุดเดียวกับปลาเสือสุมาตรา ที่เพิ่มเติมเข้าคือตำแหน่งครีบหลังจะมีแถบสีดำพาดลงมาถึงครึ่งลำตัว (ไปไม่ถึงช่วงท้อง) ตำราปลาบางเล่มก็จะเรียกปลาเสือสุมาตราว่า “ปลาเสือสี่แถบ” เรียกปลาเสือข้างลายว่า “ปลาเสือห้าแถบ”
ปลาเสือข้างลายพบได้เป็นฝูงขนาดใหญ่ ตามแหล่งน้ำทั่วไป ทั้งลำธาร ห้วย หนอง คลอง บึง มีทุกพื้นที่ทุกภาคยกเว้นที่เดียวคือแถวแม่น้ำสาละวินประมาณจังหวัดตากโซนนั้นทั้งแถบเลย(ซ้ายบนของประเทศ) ให้เดาเอาเองคิดว่าเกิดจากแม่น้ำสาละวินมีอุณหภูมิที่เย็นกว่าแม่น้ำสายหลักสายอื่น ตามที่เคยเขียนเล่าเอาไว้ว่าต้นกำเนิดแม่น้ำนี้มาจากการละลายของน้ำแข็งบนเทือกเขาหิมาลัยนู่น
นอกจากนั้นขนาดโตเต็มวัยยังมีขนาดเพียง 5 ซม. เอาจริงๆแอดมินไม่เคยเห็นตอนมันใหญ่กว่า 3 ซม.เลยนะเจ้าเสือข้างลายเนี่ย นึกไม่ออกเลยว่าถ้ามันตัวขนาด 5 ซม.นี่มันจะหล่อขนาดไหนเวลาเอาไปเลี้ยงในตู้ปลา พอรู้ว่าอุปนิสัยก้าวร้าวน้อยกว่าเสือสุมาตรา ฟังแล้วก็เกิดอยากเอามาเลี้ยงบ้างในทันที
1
แต่ช้าก่อน !! ปลาไทยในกลุ่มตะเพียนแคระนั้นจริงๆแล้วประเทศเรามีทีเด็ดที่ชื่อว่า “ปลาเสือหกแถบ” เป็นปลาตะเพียนขนาดเล็ก โตเต็มวัยไม่ถึง 3 ซม. เป็นปลาที่พบได้แต่ในบริเวณภาคใต้ที่ใต้มากๆของไทย ปลาตัวนี้อาศัยอยู่ในแหล่งน้ำที่มีค่า ph ต่ำมาก เมื่อนำมาปรับสภาพแล้วมักปลิวกลับดาวปลาอยู่บ่อยๆ คือจะบอกว่าถ้าใครอยากเลี้ยงกลุ่มตะเพียนแคระที่ไม่ก้าวร้าว ปลาชนิดนี้ก็เป็นทางเลือกที่ดีตัวหนึ่ง
เครดิตภาพประกอบ https://www.seriouslyfish.com/species/desmopuntius-hexazona/
มาถึงย่อหน้าสุดท้ายแล้วครับ ก่อนจะจบบทความไปอยากบอกว่า ก่อนจะดวงตาเห็นธรรมตอนหาข้อมูลเขียนบทความนี้ แอดมินเข้าใจผิดมาตลอดว่าปลาทั้งสองชนิดคือสปีชีย์เดียวกัน
แบบว่าทึกทักไปเองถึงสีที่ซีดกว่าบนลำตัว แถบสีดำที่เล็กกว่า ครีบที่สีไม่แดง ปากก็ไม่แดง ขนาดตัวก็เล็กกว่าเกิดจากการที่มันเป็นปลาจับจากแหล่งน้ำธรรมชาติไง ยังไม่พัฒนาก็จะดิบๆโบๆ(โบราณ)หน่อย อันที่จริงมานั่งนึกย้อนดูคิดว่าตัวเองน่าจะเคยโชว์โง่ให้ฟูจิตะหรือไดสุเกะไปแล้วนะ จำได้ลางๆว่าลูกค้าเคยถามมาแล้วก็ตอบไปอย่างมั่นใจว่า
“สปีชีย์เดียวกัน !!” ง่าวขนาด 555
#ปลาสวยงาม #ปลาเสือสุมาตรา #ปลาเสือข้างลาย
โฆษณา