1 มี.ค. 2022 เวลา 02:30 • การศึกษา
I #นิติวิทยาศาสตร์
การใช้นิติวิทยาศาสตร์มาค้นหาสาเหตุการเสียชีวิตในแง่ของกฎหมายอิสลาม
(ปรับปรุงและเพิ่มเติมเนื้อหา)
ในโลกของกฎหมายวิธีหนึ่งในการพิสูจน์หาความจริงในคดีอาชญากรรมเมื่อผู้ตายพูดไม่ได้คือ #การใช้นิติวิทยาศาสตร์ (علم الأدلة الجنائية) ซึ่งวิธีนี้จะช่วยระบุสาเหตุการเสียชีวิตว่าเกิดจากอุบัติเหตุ ฆาตกรรม ฆ่าตัวตาย หรือภัยทางธรรมชาติ หรือบางครั้งก่อนตายอาจมีการกระทบกระทั่งกันบ้าง จนทำให้มีรอยฟกช้ำเล็กน้อย และนั่นคือหลักฐานชิ้นสำคัญ
ก่อนอื่นต้องอธิบายก่อนว่า นิติวิทยาศาสตร์นั้นคืออะไร?
คำว่า “นิติวิทยาศาสตร์” มาจากคำสองคำ คือ นิติ กับ วิทยาศาสตร์
นิติ คือ เรื่องของกฎหมาย
วิทยาศาสตร์ หมายถึง วิชาที่ได้มาโดยการศึกษา ค้นคว้า วิจัย จนเป็นที่ยอมรับ สามารถนำไปใช้ อ้างอิงได้
ดังนั้น คำว่า “นิติวิทยาศาสตร์” จึงหมายถึง การใช้วิทยาศาสตร์ที่ได้จากการศึกษา ค้นคว้า อ้างอิง มาเพื่อตอบปัญหาทางกฎหมายหรือแสวงหาข้อเท็จจริงในทางกฎหมาย
เพราะฉะนั้นศาสตร์ทุกศาสตร์ที่สามารถไขข้อข้องใจ หรือสามารถมาตอบปัญหาทางกฎหมายได้ หรือ แสวงหาข้อเท็จจริงได้ จึงเรียกว่า นิติวิทยาศาสตร์ อาจจะเป็นวิทยาศาสตร์สาขาแพทยศาสตร์ มาตอบปัญหาทางกฎหมาย มาแสวงหาข้อเท็จจริงทางกฎหมายที่ถูกเรียกว่า “นิติเวชศาสตร์ (Forensic Medicine)” หรือในภาษาอาหรับจะใช้คำว่า علم الأمراض الجنائي ก็เป็นสาขาหนึ่งของนิติวิทยาศาสตร์ ซึ่งก็คือสิ่งที่เราจะมาพูดกันในกระทู้นี้
ในต่างประเทศมีนิติวิทยาศาสตร์สาขาวิศวกรรมศาสตร์ ที่เรียกว่า “นิติวิศวกรรมศาสตร์ (Forensic Engineering)” ซึ่งเป็นการตรวจพิสูจน์ในคดีที่เกี่ยวข้องกับด้านวิศวกรรมศาสตร์ ตัวอย่างเช่น การตรวจยานยนตร์ในคดีจราจร การตรวจโครงสร้างอาคาร เพื่อให้ความเห็นต่อกระบวนการยุติธรรม เป็นต้น (1)
ดังกล่าวนี้คือความหมายของ นิติวิทยาศาสตร์
เมื่อเกิดอาชญากรรมขึ้น การที่จะเอาตัวผู้กระทำผิดที่แท้จริงมาลงโทษตามกระบวนการยุติธรรมนั้นเป็นเรื่องที่สาคัญอย่างยิ่ง โดยเฉพาะจะต้องมีการรวบรวมพยานหลักฐานมายืนยันให้สามารถพิสูจน์ความผิดได้อย่างชัดเจนและถูกต้องตามหลักวิทยาศาสตร์
พยานหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ที่สำคัญที่เราจะมากล่าวถึงก็คือ
1.การชันสูตรพลิกศพ (تشريح الجثة)
2.การตรวจพิสูจน์ลายพิมพ์ DNA (البصمة الوراثية)
การชันสูตรพลิกศพ
การ #ชันสูตรพลิกศพ หมายถึง การตรวจดูศพภายนอก เพื่อพิสูจน์ว่าผู้ตายเป็นใคร และหาสาเหตุของการตาย การชันสูตรพลิกศพเป็นขั้นตอนของพนักงานสอบสวนและแพทย์เป็นหลัก สาเหตุที่เรียกว่าชันสูตรพลิกศพนั้น ก็เพราะต้องตรวจดูศพให้ทั่วทั้งสองด้านโดยต้องพลิกศพอีกด้านหนึ่งขึ้นดูด้วย ในการชันสูตรพลิกศพหากแพทย์เห็นว่าต้องผ่าศพเพื่อหาร่องรายสาเหตุของการตายก็สามารถสั่งให้ผ่า หรือแยกชิ้นส่วนของศพก็ได้
#ประเด็น
เวลาในการชันสูตร
#สาระสำคัญ
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตราที่ 155 วรรคแรกประกอบมาตรา 130 ให้นำเรื่องการสอบสวนมาใช้กับการชันสูตรพลิกศพโดยอนุโลม และการสอบสวนจะทำที่ใด เวลาใด ก็ได้ตามแต่เห็นสมควร แต่ต้องกระทำโดยมิชักช้า
และในมาตราที่หนึ่งร้อยห้าสิบวรรคแรก กำเนิดว่าต้องมีการชันสูตรพลิกศพโดยเร็ว (ชันสูตร ณ ที่พบศพ)
ในกรณีที่ชันสูตร ณ ที่พบศพแล้วยังไม่ทราบเหตุการตาย สามารถส่งศพไปผ่าชันสูตรได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตราที่ 151 ซึ่งระบุว่าในเมื่อมีการจำเป็นเพื่อพบเหตุของการตาย เจ้าพนักงานผู้ทำการชันสูตรพลิกศพมีอำนาจสั่งให้ผ่าศพแล้วแยกธาตุส่วนใด หรือจะส่งให้ทั้งศพหรือบางส่วนไปยังแพทย์ หรือพนักงานแยกธาตุของรัฐบาลก็ได้
สรุปคือไม่มีการกำหนดเวลาตายตัว แต่ต้องชันสูตรโดยเร็ว
จากข้อความที่เราอ่านผ่านมา หลักความเชื่อพื้นฐานเดิมของอิสลามถือว่า :
“กรณีผู้นับถือศาสนาอิสลามเสียชีวิตให้รักษาศพไว้ในสภาพเดิม ห้ามให้มีการทำลายศพโดยเด็ดขาด เพราะว่าหลักศาสนาอิสลามถือว่ามนุษย์ทุกคนที่ถูกสร้างมาเป็นที่ต้องห้ามมิให้ใครมาทำลาย และต้องทำการฝังให้เร็วที่สุด”
จากความเชื่อดังกล่าว ในกรณีการตายโดยธรรมชาติหรือตายปกติ การชันสูตรศพมุสลิมที่เสียชีวิตในลักษณะดังกล่าวตามหลักศาสนาอิสลามโดยพื้นฐานเดิมแล้วย่อมทำไม่ได้ เพราะศาสนาอิสลามยังคงให้เกียรติและคุ้มครองคุณค่าอันสูงส่งของความเป็นมนุษย์ไม่ว่าจะมีชีวิตอยู่หรือตายไปแล้ว ศาสนาอิสลามก็ยังคงถือว่า เกียรติยศและความประเสริฐในการเป็นมนุษย์ยังคงมีอยู่อย่างสมบูรณ์
ซึ่งการชันสูตรพลิกศพตามข้อบัญญัติของศาสนาอิสลามนักวิชาการได้ระบุไว้ว่า ให้ยึดหลักนิติศาสตร์อิสลามซึ่งประกอบด้วยหลักความจำเป็นและเกิดผลประโยชน์โดยรวม
ตรงนี้ได้มีคำสั่งกระทรวงมหาดไทย ที่ 408/2517 กับระเบียบการชันสูตรพลิกศพของกรมตำรวจข้อ 319 วรรคท้าย และหนังสือของสำนักจุฬาราชมนตรีที่ สฬ. 223/2541 ที่ขอร้องให้ละเว้นการผ่าหรือทำลายส่วนของศพให้มากที่สุด หากไม่จำเป็นและสมควรรีบตรวจชันสูตรพลิกศพโดยเร็วเพื่ออำนวยความสะดวกแก่การประกอบพิธีทางศาสนา แต่หากว่ามีเหตุจำเป็นดังกล่าวมาแล้ว ก็สามารถสั่งให้ผ่าศพได้ เพราะหลักศาสนาอิสลามนั้นให้ถือความจำเป็นของกฎหมายบ้านเมืองเป็นหลัก เพียงแต่ขอให้ความเคารพและให้เกียรติต่อร่างผู้ตาย
นักวิชาการอิสลามในอดีตไม่เคยมีใครกล่าวถึงเกี่ยวกับการชันสูตรศพเลย และไม่พบหลักฐานใด ๆ ที่ระบุชัดเจนถึงการห้ามหรืออนุมัติในการชันสูตรศพ
แต่ทั้งนี้ เราจะพบประเด็นใกล้เคียงได้จากนักวิชาการด้านนิติศาสตร์อิสลามใน 2 กรณีคือ
กรณีที่ 1 การผ่าศพหญิงมีครรภ์ (ที่เสียชีวิต) เพื่อเอาทารกที่ยังมีชีวิตอยู่ในครรภ์ออกมา
กรณีที่ 2 คือ การผ่าท้องศพเพื่อเอาทรัพย์ เงินทองบางอย่างที่เขาได้กลืนเข้าไปก่อนตาย ผ่าออกมาคืนให้แก่เจ้าของ
ซึ่งไม่มีเรื่องการชันสูตรศพโดยตรงเลย แต่นักวิชาการสมัยใหม่ก็เอาสองเรื่องนี้มาเปรียบเทียบกับกรณีการชันสูตรศพว่าทำได้
กระนั้นการดำเนินการทุกขั้นตอนของการชันสูตรศพต้องอยู่ภายใต้ขอบเขตที่จำเป็นเท่านั้น
#ประเด็น
ทำไมจึงต้องทำการชันสูตรพลิกศพ?
#สาระสำคัญ
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ป.วิ.อ.) มาตรา 148 ระบุว่า :
เมื่อปรากฏแน่ชัด หรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าบุคคลใดตายโดยผิดธรรมชาติหรือตายในระหว่างอยู่ในความควบคุมของเจ้าพนักงาน ให้มีการชันสูตรพลิกศพ และมาตรา 129 ระบุว่า : ให้ทำการสอบสวนรวมทั้งการชันสูตรพลิกศพ ในกรณีที่ความตายเป็นผลแห่งการกระทำผิดอาญา ดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายนี้อันว่าด้วยการชันสูตรพลิกศพ ถ้าการชันสูตรพลิกศพยังไม่เสร็จ ห้ามมิให้ฟ้องผู้ต้องหายังศาล (1)
ซึ่งการตายโดยผิดธรรมชาติมี 5 ลักษณะ คือ
• การฆ่าตัวตาย • การถูกสัตว์ทำร้าย • การตายโดยอุบัติเหตุ
• การตายที่ยังไม่ปรากฏเหตุ • การถูกผู้อื่นทำให้ตาย
ซึ่งการชันสูตรศพมีบทบาทต่อกระบวนการยุติธรรม เช่น
1. เพื่อช่วยเหลือการรวบรวมข้อมูลหลักฐานในกระบวนการยุติธรรม เป็นวัตถุประสงค์หลักของการทำงานด้านนิติเวชศาสตร์ เช่น การตรวจทางนิติพยาธิต้องดำเนินการเพื่อให้ข้อมูลแก่กระบวนการยุติธรรมว่า ผู้ตายเป็นใคร ตายมานานเท่าใด ตายเพราะเหตุใด อาจจะช่วยบอกพฤติการณ์ในการตายได้ อาทิ การถูกแทงในรายนี้ไม่น่าเป็นอุบัติเหตุเนื่องจากถูกแทง 23 แผล หรือบอกได้ว่าการถูกกระสุนปืนตายในรายที่ต้องสงสัยนี้ไม่ใช่การฆ่าตัวตายเพราะกระสุน เข้าทางด้านหลังและยิงในระยะห่าง เป็นต้น ซึ่งในเมื่อผู้ตายพูดไม่ได้ ร่างกายที่ถูกชันสูตรจะพูดแทนผู้ตาย
2. เพื่อกันผู้บริสุทธิ์ให้พ้นโทษ การหาพยานหลักฐานเพื่อนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษนั้นยาก และอาจจะใช้เวลานาน แต่การพิสูจน์ว่าบุคคลนั้นไม่ได้เกี่ยวข้องหรือไม่น่าจะเกี่ยวข้องกับอาชญากรรมที่เกิดขึ้นจะง่ายกว่า เช่น มีผู้ต้องสงสัยว่าเป็นผู้ข่มขืนกระทำชำเรา แต่ผลตรวจน้ำอสุจิที่เปื้อนตามตัวและเสื้อผ้าของผู้เสียหายหรือผู้ตายพบสารพันธุกรรมที่ไม่ตรงกับผู้ต้องสงสัย ทำให้ ผู้ต้องสงสัยได้รับการปล่อยตัวไปก่อนได้ เป็นต้น
3. เพื่อเปิดเผยอันตรายอันอาจเกิดต่อผู้คนทั่วไป เช่น เชื้อโรคติดต่อบางชนิดอาจมีการติดต่อและตายอย่างรวดเร็ว
ดังกล่าวนี้คือคำนิยาม ข้อกฎหมายหมาย บทบาทของการชันสูตรศพ
แล้วกฎหมายอิสลามว่าอย่างไรเกี่ยวกับการชันสูตรพลิกศพ?
การผ่าศพเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการพิสูจน์หาสาเหตุการตาย สามารถตอบปัญหาและข้อสงสัยจากการพลิกศพได้ เช่น เมื่อพลิกศพพบบาดแผลเป็นรูลึกเข้าไปในร่างกาย รูลึกนี้อาจเกิดจากกระสุนปืนหรือตะปูขนาดใหญ่ก็ได้
การผ่าศพจะทำให้ทราบว่าบาดแผลนั้นเกิดจากอาวุธหรือวัตถุอะไร และยังทำให้ทราบต่อไปว่าอาวุธหรือวัตถุนั้น ถูกอวัยวะสำคัญอะไรจึงทำให้ตายหรือในกรณีที่การพลิกศพไม่พบบาดแผลปรากฏภายนอกให้เห็น การผ่าศพจะบอกได้ว่า การตายเกิดจากตับแตก ม้ามแตก ฯลฯ อันเป็นผลให้เกิดการบาดเจ็บ หรือเกิดจากกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดไปหล่อเลี้ยง เส้นโลหิตในสมองแตก ฯลฯ หรือโรคภัยไข้เจ็บธรรมดา เป็นต้น
สภานิติศาสตร์อิสลาม ได้ลงมติไว้ว่า :
يجوز تشريح جثث الموتى، لأحد الأغراض الآتية: ( أ ) التحقيق في دعوى جنائية، لمعرفة أسباب الموت، أو الجريمة المرتكبة، وذلك عندما يُشْكل على القاضي معرفة أسباب الوفاة، ويتبين أن التشريح هو السبيل لمعرفة هذه الأسباب.
(ب) التحقق من الأمراض التي تستدعي التشريح، ليتخذ على ضوئه الاحتياطات الواقية، والعلاجات المناسبة لتلك الأمراض.
อนุญาตให้ทำการชันสูตรศพเพื่อวัตถุประสงค์อย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้คือ
(1) เพื่อทำสำนวนชันสูตรพลิกศพมาประกอบสำนวนคดีอาญาในการสอบสวนหาเหตุในการตาย หรือสอบสวนในกรณีที่มีการก่ออาชญากรรม และจะทำการชันสูตรเมื่อผู้พิพากษาเกิดข้อสงสัยในการเสียชีวิตของผู้ตาย การชันสูตรศพคือวิธีที่จะรู้ว่าผู้ตายเสียชีวิตด้วยเหตุอันใด
(2) เพื่อตรวจหาโรคที่ทำให้เสียชีวิต เพื่อหาวิธีป้องกันและรักษาจากโรคดังกล่าว (ดังไวรัสโคโรนาที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบัน) (2)
สภานักวิชาการอาวุโสแห่งราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบียได้มีมติเหมือนดังสภานิติศาสตร์อิสลามเช่นเดียวกัน (3) ทางสถาบันชี้ขาดปัญหาศาสนาของประเทศอียิปต์ก็มีความเห็นไปในทางเดียวกัน (4) แต่สภาอิสลามเพื่อการวินิจฉัยปัญหาศาสนาของปาเลสไตน์ได้เพิ่มมาอีกข้อคือ (3) เพื่อไว้ใช้เป็นกรณีศึกษา จากผู้ที่อุทิศร่างกายเพื่อการศึกษาหรือเรียกกันว่า “อาจารย์ใหญ่”
#สรุปกันให้เข้าใจคือ
1.การชันสูตรศพเพื่อนำไปใช้สู้เป็นหลักฐานในคดีอาญานั้นตามกฎหมายอิสลามแล้วสามารถกระทำได้ เมื่อการชันสูตรดังกล่าวมีความจำเป็น และสามารถคืนความยุติธรรมให้แก่ผู้ถูกกล่าวหาได้ ซึ่งตรงนี้มีผลโดยรวมต่อสังคม
2.การชันสูตรศพที่ติดไวรัส เพื่อวิจัยทางการแพทย์ เพื่อหาทางป้องกันและรักษาก็เป็นที่อนุโลมเช่นเดียวกันในกฎหมายอิสลาม
การอนุโลมให้ทำการชันสูตรศพเป็นการอนุมัติในกรณีพิเศษเฉพาะในกรณีจำเป็นจริงๆ และได้รับการยินยอมจากผู้ปกครองของศพ ทั้งการชันสูตรนั้นจะต้องอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของผู้รู้ทางศาสนาอิสลามและการปฏิบัติต้องเป็นไปอย่างนิ่มนวลละมุนละไม ให้ความเคารพและให้เกียรติศพ พร้อมทั้งต้องระมัดระวังไม่กระทำใดๆ อันเป็นการลบหลู่เกียรติยศของศพ เมื่อเสร็จสิ้นการชันสูตรแล้ว ให้รีบรวบรวมชิ้นส่วนของศพทั้งหมดเพื่อนำไปฝังตามหลักการศาสนาดังที่สภานิติศาสตร์อิสลามได้ระบุไว้ว่า :
ثالثا: يجب في جميع الأحوال دفن جميع أجزاء الجثة المشرحة.
“ประการที่สาม : เมื่อได้ทำการชันสูตรเสร็จสิ้นแล้ว จำเป็นที่จะต้องนำอวัยวะทุกส่วนฝังลงไปด้วย”
ซึ่งทางสำนักจุฬาราชมนตรี ได้ออกคำวินิจฉัยทางศาสนา (ฟัตวา) ที่ 04/2549 เรื่อง การชันสูตรพลิกศพ ไว้ว่า :
“เกียรติของมนุษย์มิได้จำกัดเฉพาะที่เขายังมีชีวิตอยู่เท่านั้น แต่ยังครอบคลุมทั้งขณะที่มีชีวิตอยู่และเสียชีวิตไปแล้ว จึงเป็นหน้าที่ของทุกคนที่ต้องดูแลและรักษาไว้
ดังนั้น การขุดศพและการย้ายซากศพในหลุมฝังศพคือการละเมิดเกียรติที่พระเจ้าทรงใช้ให้รักษาและป้องกันไว้ การขุดศพมุสลิมจึงเป็นที่ต้องห้าม นอกจากในกรณีที่จำเป็นเท่านั้น
ทั้งนี้ ด้วยการเล็งเห็นคุณประโยชน์อันใหญ่หลวงที่จะเกิดขึ้นทั้งในแง่ของการดำเนินคดีและในทางการแพทย์ จึงอนุโลมให้ทำการชันสูตรพลิกศพเป็นกรณีพิเศษที่จำเป็นจริง ๆ เท่านั้น และต้องได้รับการยินยอมจากผู้ปกครองของศพ อิหม่ามประจำมัสยิด คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด ตามลำดับ และการชันสูตรพลิกศพจะต้องอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของผู้รู้ทางศาสนาอิสลาม และการปฏิบัติต้องเป็นไปอย่างนุ่มนวล ละมุนละไม ให้เกียรติต่อศพ และเมื่อเสร็จสิ้นการชันสูตรพลิกศพให้รีบรวบรวมชิ้นส่วนของศพทั้งหมดเพื่อนำไปฝังตามหลักการศาสนาอิสลาม”
และอาจจะมีคำถามว่า การเรียนของนศพ. หรือนิสิตแพทย์ที่เป็นมุสลิมในวิชากายวิภาคศาสตร์ (Anatomy) ซึ่งต้องใช้ศพของอาจารย์ใหญ่ ซึ่งเป็นศพจริง ๆ เพื่อใช้ศึกษาโครงสร้างและหน้าที่ของอวัยวะต่าง ๆ หรือใช้เพื่อฝึกผ่าตัด กรณีดังกล่าวนี้ทำได้ไหม?
ทางสถาบันชี้ขาดปัญหาศาสนาแห่งประเทศอียิปต์ได้ระบุไว้ว่า :
إذا كانت جثة واحدة تكفي لتعليم الطلاب، فلا يصح أن يتعدى ذلك إلى جثة أخرى
“หากการใช้ศพเพียงแค่คนเดียวเพียงพอที่จะศึกษาแล้ว ก็ไม่อนุญาตให้ใช้ศพอื่น ๆ มาเพื่อศึกษาต่อ (ในขณะที่ศพเดียวก็เพียงพอแล้ว)”
ดังนั้น การชันสูตรศพในประเด็นที่เกี่ยวกับคดีอาชญากรรมแม้ศพจะพูดไม่ได้แล้ว แต่ร่างกายที่พบจะพูดแทนเขา
การตรวจพิสูจน์ลายพิมพ์ DNA (البصمة الوراثية)
เมื่อใครสักคนทำความผิด คราบเหงื่อและคราบไขมันที่ถูกขับออกมาจากรูเหงื่อบริเวณปลายนิ้วมือจะปรากฏอยู่บนทุกจุดที่สัมผัส ฉะนั้นการเก็บลายนิ้วมือในสถานที่เกิดเหตุจึงเป็นหลักฐานสำคัญในการระบุตัวผู้ก่อเหตุได้ แม้ว่ารอยนิ้วมือนั้นๆ จะสามารถมองเห็นหรือไม่สามารถมองเห็นได้ก็ตาม
ศาสตราจารย์มุหัมมัด ญับร์ อัลอะลิฟีย์ ระบุไว้ว่า :
الإثبات الجنائي: تعتبر بصمة الجينات الوراثية من أقوى القرائن في مجال الإثبات الجنائي، فهي تساعد المحقق في الكشف عن مرتكبي الجرائم وشخصية الضحية، وهي من أقوى الوسائل لحمل المتهم على الإقرار بجريمته.
أما إذا أنكر المتهم ما نسب إليه – رغم إثبات أن العينات التي جرى تحليلها تعود إليه بنسبة 99.9999% - فلا مانع من الأخذ بهذه القرينة القاطعة في إثبات الجرائم
“DNA จากลายนิ้วมือเป็นพยานหลักฐานที่สำคัญมากอีกอย่างหนึ่ง (ของงานด้านนิติวิทยาศาสตร์) ในการยืนยันตัวผู้กระทำผิด มันช่วยให้ผู้สืบสวนได้รู้ถึงอัตลักษณ์และเปิดเผยตัวตนผู้กระทำผิดที่แท้จริง เป็นอีกวิธีการหนึ่งที่สำคัญในการทำให้ผู้ต้องหานั้นยอมจำนนต่อหลักฐานที่ตัวเองได้กระทำผิดไว้
และหากเมื่อผู้ต้องหาให้การปฏิเสธหลักฐานดังกล่าวที่ถูกพาดพิง (เป็นการปฏิเสธลอย) -ซึ่งยืนยันผลวิเคราะห์จากกลุ่มตัวอย่างได้ถึง 99.9999%- ก็ไม่มีผลต่อรูปคดี เพราะหลักฐานมัดแน่น รวมไปถึงมีข้อโต้แย้งไม่ขึ้น ไม่มีข้อคัดค้านใดๆหากจะนำหลักฐานดังกล่าวยืนยันผู้กระทำความผิด (ต่อศาล)”
และมีมติจากมัจมะอ์ อัลฟิกฮีย์ ในรอบการประชุมครั้งที่ 16 ณ เมืองมักกะฮ์ว่า :
لا مانع شرعًا من الاعتماد على البصمة الوراثية في التحقيق الجنائي
“ไม่มีข้อห้ามในทางกฎหมายอิสลามที่จะนำ DNA ในการสืบสวนคดีอาญา”
และได้ระบุต่อไปว่า :
وذلك يحقق العدالة والأمن للمجتمع، ويؤدي إلى نيل المجرم عقابه وتبرئة المتهم، وهذا مقصد مهم من مقاصد الشريعة
“และดังกล่าวนี้จะทำให้เกิดความยุติธรรมต่อทุกฝ่ายและทำให้สังคมมีความปลอดภัยมากขึ้น ทำให้คนผิดได้รับโทษ และผู้บริสุทธิ์พ้นผิด ดังกล่าวนี้แหละคือเจตนารมณ์ที่สำคัญอันเป็นส่วนหนึ่งจากหลักเจตนารมณ์แห่งกฎหมายอิสลาม”
════════════════════════════════════════════
อ้างอิง :
บรรณานุกรม
(5) ประวัติการพิสูจน์หลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ โดย สุนทรต์ ชูลักษณ์ และ วิชุดา จันทร์ข้างแรม
(6) การพิสูจน์หลักฐาน = Introduction to scientific Crime detection โดย พ.ต.ต. พงศกรณ์ ชูเวช
(7) ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับงานสืบสวนสอบสวนและนิติวิทยาศาสตร์ โดย ไทพีศรีนิวัติ ภักดีกุล
(8) นิติวิทยาศาสตร์ (พิสูจน์หลักฐาน) (Forensic science; scientific crime detection) โดย ประชุม สถาปิตานนท์
════════════════════════════════════════════
ติดตามเราได้ที่ :
Facebook - สำนักพิมพ์เพื่อการค้นคว้าวิจัยด้านนิติศาสตร์อิสลาม
โฆษณา