28 ก.พ. 2022 เวลา 16:16 • หุ้น & เศรษฐกิจ
อัพเดตสถานการณ์การลงทุน 28 ก.พ. 65 – In Brief
ปธน. Putin - ภาพจาก CNBC.com
ตลาดหุ้นโลกปรับตัวลดลง หลังรัสเซียบุกเข้าไปในหลายเมืองหลัก รวมทั้งเข้าปิดล้อมกรุง Kyiv ซึ่งเป็นเมืองหลวงของยูเครน ส่งผลให้ชาติต่างๆออกมาตรการคว่ำบาตรทางการค้า ธนาคาร บุคคลสำคัญ และน่านฟ้าต่อรัสเซีย เพื่อกดดันให้รัสเซียถอนกำลังทหารออกจากยูเครน
1
อย่างไรก็ตาม ช่วงสุดสัปดาห์ เริ่มเห็นสัญญาณของการเจรจามากขึ้น โดยทั้งสองฝ่ายส่งตัวแทนเพื่อหารือกันที่ประเทศเบลารุสในสัปดาห์นี้
การเจรจายุติข้อขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนกำลังเกิดขึ้นสัปดาห์นี้ - ภาพจาก www.aljazeera.com/news/2022/2/28/ukraine-russia-talks-due-to-begin-early-on-monday-live-news
สหรัฐฯ
• ตลาดหุ้นสหรัฐฯปรับตัวลดลงในสามวันแรกของสัปดาห์ก่อนที่จะรีบาวน์ขึ้นในวันพฤหัสบดีและศุกร์ หลังสหรัฐฯและพันธมิตรประกาศคว่ำบาตรธนาคาร การค้า และบุคคลที่เกี่ยวข้องกับรัฐบาลรัสเซีย และเคลื่อนทหารเข้าสู่ประเทศชายแดนยูเครน ได้แก่ โปแลนด์ เยอรมนี
1
• นอกจากนี้ สหรัฐฯ ได้ประกาศตัดธนาคารรัสเซีย ออกจากระบบสื่อสารธนาคารระหว่างประเทศ หรือที่เรียกว่า SWIFT (Society for Worldwide Interbank Financial Telecommunication) หรือทีหลายคนอาจคุ้นกัน คือ เป็นระบบที่ทำให้ธนาคารพาณิชย์ใช้ติดต่อสื่อสารกัน เพื่อโอนเงินข้ามประเทศให้เรานั่นแหล่ะครับ
• ทั้งนี้ ผมคาดว่า น่าจะเป็นการรีบาวน์เพียงระยะสั้น ก่อนจะมีความชัดเจนในการเจรจาระหว่างสองชาติ ที่จะทำให้ตลาดกลับมายืนมั่นคงขึ้น
• อีกหนึ่งสิ่งที่น่าติดตามได้แก่ การขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ที่จะมีการประชุมกันในวันที่ 15-16 มี.ค. นี้ ล่าสุด ตลาดให้ตลาดประเมินว่า Fed มีความน่าจะเป็น 95.4% ที่จะขึ้นดอกเบี้ย 0.25% ในการประชุมเดือน มี.ค.
ตลาดประเมินว่า Fed มีความน่าจะเป็น 95.4% ที่จะขึ้นดอกเบี้ย 0.25% ในการประชุมเดือน มี.ค.นี้ (แท่งด้านซ้าย) - ภาพจาก CME FedWatch Tool
ตลาดยังคาดว่า Fed จะขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมทุกครั้งต่อจากนี้ ครั้งละ 0.25% (กรอบสีฟ้า) - ภาพจาก CME FedWatch Tool
ยุโรป
• ตลาดหุ้นยุโรปปรับตัวลดลง 1-3% เพราะเป็นภูมิภาคต้นเหตุความขัดแย้ง ล่าสุด รัสเซียบุกเช้าไปในหลายเมืองของยูเครน ทำให้เกิดการปะทะของกองกำลังสองฝ่าย อย่างไรก็ตาม ยูเครนยังสามารถตรึงกำลังป้องกันเมืองใหญ่ๆได้ ทำให้สถานการณ์ยังไม่บานปลาย
• โดยสหภาพยุโรปตอบโต้รัสเซียด้วยกัน จำกัดการใช้เงินสำรองระหว่างประเทศของธนาคารกลางรัสเซียมูลค่า 6.3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และปิดน่านฟ้าของประเทศต่างๆเพื่อกดดันรัสเซียให้ถอนทหาร
• ทั้งนี้ ค่าเงินรูเบิ้ลของรัสเซียอ่อนค่าลงอย่างรุนแรงกว่า -30% เทียบกับสหรัฐฯ จากการคว่ำบาตรของชาติต่างๆ ทำให้ธนาคารกลางรัสเซีย ต้องขึ้นดอกเบี้ยนโยบายทีเดียวจาก 9.5% เป็น 20.0% เพื่อสกัดการอ่อนค่าของรูเบิ้ลและเงินเฟ้อ รวมทั้งอัดฉีดสภาพคล่อง
รัสเซียเข้าโจมตีเมืองใหญ่ในยูเครน (ลูกศรสีแดง) โดยเคลื่อนพลขึ้นมาจากแคว้น Crimea และลงมาจากประเทศ Belarus พร้อมกัน - ภาพจาก www.aljazeera.com/news/2022/2/28/ukraine-russia-talks-due-to-begin-early-on-monday-live-news
เอเชีย
• ตลาดเอเชียปรับตัวลดลงแรงราว 2-6% นอกจากนี้ ตลาดหุ้นจีนปรับตัวลงหลังข่าวว่า ทางการจีนเตรียมเข้าจัดการกับบริษัทเทคโนโลยีจีนอีกครั้ง กดดันให้หุ้น Alibaba และ Meituan ปรับตัวลง
• เช้านี้ ตลาดเอเชียปรับตัวลงจากความกังวลสงคราม แต่สุดท้ายปิดตลาดในแดนบวกตามตลาดสหรัฐฯที่เพิ่มขึ้นเมื่อวันศุกร์
น้ำมัน
• ราคาน้ำมันปรับตัวเพิ่มขึ้นจากข่าวการสู้รับในยูเครนและการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจของ NATO ต่อรัสเซีย ทำให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับปริมาณการผลิตน้ำมัน แม้ว่า “การคว่ำบาตรรอบล่าสุดจะไมได้มุ่งเป้าไปที่การผลิตและส่งออกน้ำมัน” แต่อย่างใด ล่าสุด Brent พุ่งแตะ 105 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล และย่อตัวกลับลงมา
• ติดตาม การประชุม รมต.พลังงานของประเทศผู้ผลิตน้ำมันและพันธมิตร (OPEC+) ในวันที่ 2 มี.ค. นี้ ซึ่งจะกำหนดปริมาณการผลิตน้ำมันในเดือน เม.ย. ต่อไป
• เรามองว่า การคว่ำบาตรต่อรัสเซีย อาจส่งผลกระทบทางอ้อมให้ราคาน้ำมันปรับตัวขึ้นได้อีก เพราะบริษัทต่างๆจะเลี่ยงทำธุรกิจกับบริษัทน้ำมัน และการคว่ำบาตรธนาคารจะกระทบกับการทำธุรกรรมซื้อขายน้ำมันได้อีกทาง
• ล่าสุด ราคาน้ำมันดิบ WTI สหรัฐฯ และ Brent ทะเลเหนือ อยู่ที่ 95.71 และ 102.60 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล ตามลำดับ
รัสเซียส่งออกแก๊สธรรมชาติเป็นปริมาณราว 1 ใน 3 ของแก๊สธรรมชาติที่ใช้ในยุโรป - ภาพจาก www.aljazeera.com/news/2022/2/28/ukraine-russia-talks-due-to-begin-early-on-monday-live-news
ทองคำ
• ราคาทองคำได้ปัจจัยบวก และปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลังมาตรการคว่ำบาตรต่อรัสเซีย ล่าสุด ราคาทองคำ อยู่ที่ 1,907 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อออนซ์ ซึ่งผมมองว่า ราคาทองคำมีโอกาสปรับตัวขึ้นต่อในสัปดาห์นี้ เพื่อไปแตะแนวต้านระยะสั้นที่ 1,930 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อออนซ์ จากความขัดแย้งที่ยังยืดเยื้อครับ
สัปดาห์ที่ผ่านมา ตลาดหุ้นสหรัฐฯ 3 ดัชนีปิดเฉลี่ย +0.61% (มีเพียงดัชนี Dow Jones ที่ติดลบ -0.06%), ยุโรป STOXX600 -1.58%, จีน Shanghai -1.13%, ญี่ปุ่น -2.38%, อินเดีย Nifty 50 -3.58% และไทย -1.94%
ตัวเลขเศรษฐกิจสัปดาห์ที่ผ่านมา ส่วนใหญ่ออกมาดีกว่าคาด โดยตัวเลขทางฝั่งยุโรป ได้แก่ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิต (Manufacturing PMI) เดือน ก.พ. ของอังกฤษ ขยายตัว 57.3 จุด, ดัชนีความเชื่อมั่นภาคธุรกิจ (IFO Business Climate Index) เดือน ก.พ. ของเยอรมนี เพิ่มขึ้นเป็น 98.9 จุด, GDP ไตรมาส 4 ของเยอรมนี หดตัวน้อยกว่าคาดที่ -0.3%QoQ
ขณะที่ตัวเลขฝั่งสหรัฐฯ ออกมาดีกว่าคาดเช่นกัน โดยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (Consumer Confidence) สหรัฐฯ เดือน ก.พ. ชะลอตัวลงเป็น 110.5 จุด แต่ยังดีกว่าคาด และ GDP ไตรมาส 4 ขยายตัวถึง +7.0%QoQ สะท้อนภาวะเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง
สิ่งที่น่าติดตาม ?
(28 ก.พ.) ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตทางการและเอกชน (Official & Caixin Manufacturing PMI) เดือน ก.พ. ของจีน คาดว่าจะพลิกกลับเป็นหดตัวเล็กน้อย
(1 มี.ค.) ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิต (Manufacturing PMI) เดือน ก.พ. ของเยอรมนี, อังกฤษ และสหรัฐฯ คาดว่าจะขยายตัวเท่ากับเดือนก่อน
(2 มี.ค.) การประชุม รมต. พลังงานของกลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมันและพันธมิตร (OPEC+) เพื่อกำหนดปริมาณการผลิตน้ำมันในเดือน เม.ย. + เงินเฟ้อ (CPI) เดือน ก.พ. ของยูโรโซน คาดว่าจะเพิ่มขึ้น +5.3%YoY เร่งตัวขึ้นจากเดือนก่อนที่ +5.1%YoY
(3 มี.ค.) ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคบริการ (Service PMI) เดือน ก.พ. ของสหรัฐฯและอังกฤษ คาดว่าจะขยายตัวดีขึ้นจากเดือนก่อน
(4 มี.ค.) การจ้างงานนอกภาคเกษตร (Nonfarm Payrolls) เดือน ก.พ. ของสหรัฐฯ คาดว่าจะชะลอตัวลงเป็น +4.5 แสนตำแหน่ง จากเดือนก่อนที่ +4.67 แสนตำแหน่ง + อัตราการว่างงาน (Unemployment rate) เดือน ก.พ. ของสหรัฐฯ คาดว่า จะลดลงเป็น 3.9%
ทิศทางตลาดสัปดาห์นี้ ?
สัปดาห์นี้ Mr.เต่า คาดว่าตลาดจะเริ่ม “ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างช้าๆ” เนื่องจากเห็นสัญญาณว่า ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและ NATO กำลังใกล้ถึงจุดสูงสุด หลังจากนี้ หากทั้งสองฝ่ายกลับมาเจรจาเพื่อยุติความขัดแย้ง จะช่วยหนุนให้ตลาดปรับตัวเพิ่มขึ้นได้
ทั้งนี้ ติดตามความคืบหน้าการเจรจาของรัสเซียและยูเครน ในสัปดาห์นี้อย่างใกล้ชิด รวมทั้งตัวเลขทางเศรษฐกิจ ได้แก่ PMI ภาคการผลิตของประเทศต่างๆ, เงินเฟ้อยุโรป และการจ้างงานสหรัฐฯ ในเดือน ก.พ.
แนะนำ “ทยอยสะสม” ตลาดที่มีปัจจัยพื้นฐานดี + ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งในยุโรปจำกัด เช่น ไทย เวียดนาม
และ “หลีกเลี่ยง” ตลาดที่อยู่ท่ามกลางความขัดแย้ง คือ ตลาดยุโรป จนกว่าสถานการณ์ความตึงเครียดจะคลี่คลาย รวมทั้ง ตลาดอินเดีย ที่ถูกกระทบจากราคาน้ำมันสูงในระยะนี้
โชคดีในการลงทุนทุกท่าน รักษาสุขภาพกันด้วยนะครับ
Mr.เต่า
ค้นหาบทความเต่าน้อยลงทุนผ่าน Facebook ได้อีกช่องทางที่
#อัพเดตการลงทุน #เต่าน้อยลงทุน
ติดตามเพจ “เต่าน้อยลงทุน” ได้ที่
Source: “Countdown to FOMC” – CME FedWatch Toolhttps://www.cmegroup.com/trading/interest-rates/countdown-to-fomc.html
“Dow futures fall about 500 points as traders assess ripple effects of Russia sanctions” – CNBC.com
“Gold set for best month since May as appeal surges on Ukraine crisis” – CNBC.com
“Russia’s attack on Ukraine has begun as the U.S. and Europe urge Putin to stand down” – CNBC.com
โฆษณา