1 มี.ค. 2022 เวลา 13:30 • การเมือง
ทำไม สิงคโปร์ถึงคว่ำบาตรรัสเซีย ?
3
จากสถานการณ์ ‘รัสเซีย’ บุกโจมตี ‘ยูเครน’ ซึ่งเป็นประเทศเพื่อนบ้าน ทำให้หลายชาติตะวันตก เช่น สหรัฐฯ, สหภาพยุโรป, อังกฤษ และแคนาดา ออกมาตรการคว่ำบาตรเพื่อตอบโต้พฤติกรรมที่แข็งกร้าวของ ‘รัสเซีย’ ขณะที่ ในเอเชียมีเพียงไม่กี่ประเทศที่ออกมาตรการลงโทษ ‘รัสเซีย’ ที่รุกราน ‘ยูเครน’ ซึ่งหนึ่งในนั้น คือ ‘สิงคโปร์’
1
‘สิงคโปร์’ ประกาศว่าจะกำหนดมาตรการคว่ำบาตรและข้อจำกัดต่าง ๆ ที่เหมาะสมซึ่งรวมถึงมาตรการทางการเงินและการควบคุมการส่งออกสิ่งของที่สามารถใช้เป็นอาวุธใน ‘ยูเครน’ เพื่อทำอันตรายหรือปราบปรามชาวยูเครนได้ นอกจากนี้สิงคโปร์จะบล็อกธนาคารบางแห่งของรัสเซียและธุรกรรมทางการเงินต่าง ๆ ที่เชื่อมต่อกับรัสเซียด้วย
3
หลายคนอาจจะสงสัยนะคะว่าทำไม ‘สิงคโปร์’ ถึงออกมาประกาศคว่ำบาตร ‘รัสเซีย’ สวนทางกับหลายประเทศใน ‘อาเซียน’ ทั้ง ๆ ที่เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา รัฐมนตรีต่างประเทศของ 10 ประเทศ ‘อาเซียน’ เพิ่งออกแถลงการณ์ซึ่งมีท่าทีที่เป็นกลาง โดยแสดงความวิตกกังวลอย่างมากต่อสถานการณ์ในยูเครนและเรียกร้องให้ทุกฝ่ายใช้วิธีทางการทูต หันหน้ามาเจรจากัน เพื่อแก้ไขปัญหาและป้องกันไม่ให้ความขัดแย้งทวีความรุนแรงขึ้น
1
‘สิงคโปร์’ ให้เหตุผลว่าการคว่ำบาตรของสิงคโปร์ต่อ ‘รัสเซีย’ เป็นเพราะสถานการณ์มีความรุนแรงที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนและการใช้อำนาจ ‘วีโต้’ ของรัสเซียต่อร่างมติคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติเมื่อสัปดาห์ก่อน แต่เมื่อมองกลับไปถึงความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นระหว่างสิงคโปร์และสหรัฐฯ ในอดีตจนถึงปัจจุบันอาจเป็นอีกเหตุผลสำคัญที่ผลักดันให้สิงคโปร์ประสานเสียงร่วมกดดัน ‘รัสเซีย’
1
ความสัมพันธ์อันใกล้ชิดระหว่างสิงคโปร์และสหรัฐฯ นั้นนับเป็นความสำเร็จของนาย ลี กวน ยู อดีตนายกรัฐมนตรีคนแรกและรัฐบุรุษของสิงคโปร์ ซึ่งได้ถึงแก่อสัญกรรมเมื่อวันที่ 23 มีนาคม ปี 2558 ที่ริเริ่มมิตรภาพที่ดีกับผู้นำของสหรัฐฯ หลายคนและมีวิสัยทัศน์อันกว้างไกล โดยนาย ลี กวน ยู มองว่าสหรัฐฯ นั้นมีความสำคัญในการรักษาสันติภาพและดุลยภาพในเอเชียขณะที่เศรษฐกิจของประเทศต่าง ๆ ในเอเชียเริ่มพัฒนามากขึ้น และหลายครั้งในอดีตที่สิงคโปร์เป็นเสียงส่วนน้อยหรือแม้แต่เป็นเพียงเสียงเดียวที่สนับสนุนสหรัฐฯ ในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาและการประชุมกลุ่มประเทศไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด (Non-Aligned Movement - NAM)
2
ขณะที่ ในปี 2564 รัฐบาลสิงคโปร์ ‘ย้ำจุดยืนเดิม’ ว่าความสัมพันธ์ระหว่างสิงคโปร์และสหรัฐฯ ยังคงแน่นแฟ้นเหมือนเดิม ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงไป โดยสหรัฐฯ ยังคงเป็นนักลงทุนขนาดใหญ่ที่สุดในสิงคโปร์ (20% ของเงินลงทุนจากต่างประเทศทั้งหมดที่ไหลเข้ามาในสิงคโปร์ และประมาณการมูลค่าของการลงทุนโดยตรงที่ราว 270,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ)ซึ่งสหรัฐฯ นั้นมีมูลค่าการลงทุนในสิงคโปร์มากกว่ามูลค่าการลงทุนของ อินเดีย จีน และเกาหลีใต้ รวมกันเสียอีก นอกจากนี้ สิงคโปร์ยังมีข้อตกลงการค้าเสรีกับสหรัฐฯ มาตั้งแต่ปี 2547 อีกทั้งยังมีความสัมพันธ์ทางทหารที่แข็งแกร่ง โดยกองทัพเรือของสหรัฐฯ ได้กลายเป็นชาติผู้ใช้งานฐานทัพเรือชางงี (Changi Naval Base) ที่ใหญ่ที่สุดและทหารสิงคโปร์ก็มีการฝึกซ้อมรบในสหรัฐฯ เป็นประจำด้วย
3
อย่างไรก็ดี มาตรการลงโทษฝ่ายเดียว (unilateral sanctions) ของสิงคโปร์ต่อ ‘รัสเซีย’ ถือว่าเป็นความเคลื่อนไหวครั้งแรกในรอบหลายสิบปีที่สิงคโปร์ประณามชาติอื่นโดยปราศจากการสนับสนุนของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ขณะที่ นาย ‘บิลาฮารี เคาสิกัน’ (Bilahari Kausikan) อดีตปลัดกระทรวงต่างประเทศของสิงคโปร์ กล่าวว่า การประกาศคว่ำบาตรรัสเซียของสิงคโปร์แทบจะเป็นความเคลื่อนไหวที่ไม่เคยมีมาก่อนและเท่าที่เขารู้ ก็มีเพียงครั้งเดียวเมื่อสิงคโปร์ใช้มาตรการลงโทษฝ่ายเดียว (unilateral sanctions) หลังจากเวียดนามรุกรานกัมพูชาในปี 2521 หรือราว 44 ปีก่อน ด้าน นายวิเวียน บาลากริชนัน รัฐมนตรีต่างประเทศสิงคโปร์เองก็ตระหนักดีว่ามาตรการต่าง ๆ จะสะท้อนความเสียหายกลับมาสู่ธุรกิจต่าง ๆ ของสิงคโปร์เช่นกัน
2
ทั้งนี้ ปัจจุบัน ชาติต่าง ๆ ในเอเชียที่ใช้มาตรการคว่ำบาตร ‘รัสเซีย’ ได้แก่ เกาหลีใต้, ญี่ปุ่น, ไต้หวันและ ‘สิงคโปร์’ ซึ่ง ‘สิงคโปร์’เองก็ถือเป็นชาติแรกและชาติเดียวใน ‘อาเซียน’ ที่คว่ำบาตร ‘รัสเซีย’ ด้วย ขณะที่ ประเทศอื่น ๆ เช่น จีนซึ่งเป็นพันธมิตรที่ใกล้ชิดที่สุดของรัสเซีย ปฏิเสธที่จะเรียกการกระทำของรัสเซียว่าเป็นการ ‘รุกราน’ และต่อต้านการลงโทษฝ่ายเดียวทั้งหมดที่ไม่ถูกต้อง, เมียนมานั้นสนับสนุน ‘รัสเซีย’ ส่วน กัมพูชา, มาเลเซีย, ฟิลิปปินส์, ไทย, เวียดนาม และอินเดีย วางตัวเป็นกลางและสนับสนุนให้ใช้การเจรจาเพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งครั้งนี้ แต่เราคงต้องจับตาดูกันต่อไปว่าในอนาคตอันใกล้นี้ไทยและชาติอื่น ๆ ใน ‘เอเชีย’ และ ‘อาเซียน’ จะรับมืออย่างไรเมื่อถูกกดดันให้แสดงจุดยืน ‘เลือกข้าง’ ที่ชัดเจนท่ามกลางการสู้รับระหว่างรัสเซีย-ยูเครนที่ยังคงมีความรุนแรงแม้จะเริ่มมีการเจรจานัดแรกแล้ว
5
โฆษณา