1 มี.ค. 2022 เวลา 14:40 • การตลาด
จาก “เซเว่น อีเลฟเว่น” ถึง “Lotus’s go fresh”
กลุ่มซีพี ทำอย่างไร เพื่อไม่ให้ค้าปลีกไซส์เล็กแย่งแชร์กันเอง
ความสนใจที่น่าจับตามองในตลาดค้าปลีกของบ้านเราก็คือ กลุ่มซีพี จะทำอย่างไร เพื่อไม่ให้ Lotus’s ซ้อนทับ หรือแย่งตลาดกันเองกับค้าปลีกที่อยู่ในเครือ โดยเฉพาะค้าปลีกไซส์เล็กที่กลุ่มซีพีมีแบรนด์หลักอยู่ในตลาดนี้ถึง 2 แบรนดื คือ เซเว่น อีเลฟเว่น กับโลตัส เอ็กซ์เพรส
เพราะหากมองเข้ามาในรายละเอียดแล้ว จะพบว่า ค้าปลีกไซส์เล็กทั้ง 2 แบรนด์ มีบางสาขาที่เปิดในโลเกชั่นที่ใกล้เคียงกัน แม้วันนี้ จำนวนสาขาของเซเว่น อีเลฟเว่น จะมีมากกว่าค่อนข้างมาก
กลยุทธ์แรกของการสร้างความแตกต่าง เริ่มขึ้นจากการ รีแบรนด์จากโลตัส เอ็กซ์เพรส มาเป็น “Lotus’s go fresh” ที่เน้นการมอบสินค้าอาหารสุดคุณภาพสูงอย่างครบครัน พร้อมสินค้าที่จำเป็นต่อชีวิตประจำวัน ตอบโจทย์ผู้บริโภคยุคนิวนอร์มัลที่ขยับมาซื้ออาหารสดในร้านขนาดเล็กที่ใกล้บ้านมากกว่าเดิม โดยเริ่มจากสาขาแรกที่เอกชัย 99 ซึ่งน่าจะถูกใช้เป็นต้นแบบของการทำตลาดค้าปลีกไซส์เล็กของกลุ่มซีพี
1
ก่อนหน้านั้น เทสโก้ โลตัส เข้าตลาดค้าปลีกด้วยการเปิดเทสโก้ โลตัส เอ็กซ์เพรส ที่วางตำแหน่งตัวเองเป็นซูเปอร์คอนวีเนียนสโตร์ ซึ่งเน้นไปที่การย่อส่วนของซูเปอร์มาร์เก็ตให้เล็กลงพร้อมกับผลักดันตัวเองเข้าไปเปิดในชุมชนต่างๆ เน้นไปที่การขายสินค้าอาหารสด อาหารพร้อมปรุง และอาหารพร้อมทาน โดยมีสินค้าโกรเซอรี่แทรกเข้าไป ขายในราคาที่อาจจะแพงกว่าสาขาไฮเปอร์มาร์เก็ตนิดหน่อย แต่เมื่อเทียบราคากับคู่แข่งขันในช่วงเวลานั้นอย่างเซเว่น อีเลฟเว่นแล้ว ยังมีราคาต่ำกว่าในสินค้าบางตัว
เทสโก้ โลตัส เอ็กซ์เพรส มีการปรับใหญ่เมื่อกว่าขวบปีที่แล้ว เป็นการปรับตามเทรนด์ของการเติบโตของสังคมเมือง และการเพิ่มขึ้นของชนชั้นกลางที่ขยายตัวออกไปยังจังหวัดต่างๆ โดยการรุกในครั้งนั้น ไม่เพียงแค่จะมีการลงทุนขยายสาขาเพิ่มขึ้นเท่านั้น แต่ยังมีการปรับในแง่ของการนำเสนอสินค้าประเภทอาหารเพื่อรองรับกับไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่ โดยจะมีการเติมเต็มสินค้า โดยก่อนหน้านั้น เทสโก้ โลตัส เอ็กซ์เพรส มีจุดแข็งในเรื่องของสินค้าที่เรียกว่า “For Later” หรือสินค้าที่ซื้อไปเพื่อปรุงหรือทำอาหาร
3
ขณะที่สินค้าในรูปแบบของ “For Now” หรือซื้อไปเพื่อรับประทานทันที ยังถือเป็นจุดอ่อนของร้านในรูปแบบเอ็กซ์เพรส การปรับเกมรุกในครั้งนี้จึงมุ่งไปที่การลดจุดอ่อนที่มีอยู่ โดยจะมีการเพิ่มเอสเคยูของสินค้าประเภทพร้อมรับประทานเข้าไปอีก 200 – 300 รายการ หรือคิดเป็น 10% ของจำนวนสินค้าที่วางขายร้านเอ็กซ์เพรสที่มีประมาณ 3,000 รายการ
1
ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีเร่งขยายสาขาเพิ่มขึ้นจากก่อนหน้านั้นที่ขยายสาขาปีละ 50 – 60 สาขา เป็นการขยายสาขาไม่ต่ำกว่า 100 สาขาต่อปี
การปรับแผนรุกในครั้งนั้น น่าจะสอดรับกับการรีแบรนด์ในครั้งนี้ได้อย่างลงตัว ซึ่งส่วนหนึ่งจะทำให้เกิดภาพของความแตกต่างระหว่าง “Lotus’s go fresh” กับเซเว่น อีเลฟเว่น ได้ โดยเมื่อเร็วๆ นี้ เซเว่น อีเลฟเว่น ก็มีการ Repositioning จากการเป็นแค่คอนวีเนียนสโตร์ไปสู่การเป็น “ออล คอนวีเนียน” ที่ตอบโจทย์แบบ Omni – Channel ที่ไม่มีเส้นแบ่งระหว่างออนไลน์กับออฟไลน์
1
ในแง่ของการนำเสนอสินค้านั้น อาจจะมีคาบเกี่ยวกันบางส่วน ที่เป็นอาหารพร้อมทานซึ่งเป็นจุดแข็งของเซเว่น อีเลฟเว่น แต่สิ่งที่จะแตกต่างกันอย่างชัดเจนก็คือการนำเสนออาหารสดของ “Lotus’s go fresh” ซึ่งจะเข้ามาช่วยทำหน้าที่เป็นเครือข่ายร้านค้าปลีกในการเข้าถึงชุมชนต่างๆ และน่าจะเป็นช่องทางขายสินค้าประเภทนี้ให้กับกลุ่มซีพีได้เป็นอย่างดี โดยสิ่งที่น่าสนใจก็คือ กลุ่มซีพีจะมีการเติมเต็มสินค้าประเภทอาหารสดเข้าไปอย่างไรบ้างเพื่อให้ครอบคลุมทุกไลฟ์สไตล์การดำรงชีวิตของคนรุ่นใหม่
1
ล่าสุด แหล่งข่าวในวงการค้าปลีกของบ้านเรา ให้มุมมองที่น่าสนใจว่า การบริหารจัดการในส่วนของอาหารสดและอาหารแช่แข็งนั้น น่าจะมีการใช้เครือข่ายซัพพลายเชนของกลุ่มซีพีที่แข็งแกร่งในเรื่องนี้ เข้ามาช่วยบริหารจัดการ โดยมีทั้งแม็คโครที่มีการโอนธุรกิจของโลตัสจากซีพีออลล์ เข้าไปอยู่ภายใต้แม็คโคร รวมถึงเครือข่ายของกลุ่มซีพีอย่างซีพีเอฟ ที่น่าจะช่วยทำให้การบริหารจัดการในส่วนของสินค้าประเภทอาหารสดและอาหารแช่แข็งมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
ข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า หรือ กขค.ระบุตัวเลขส่วนแบ่งตลาดของร้านคอนวีเนียนสโตร์ในบ้านเราเอาไว้ว่า เซเว่นอีเลฟเว่น มีส่วนแบ่งตลาด 73.60% โลตัส เอ็กซ์เพรส มีแชร์ 9.45% กลุ่มเซ็นทรัล ที่ประกอบด้วยแฟมิลีมาร์ท และท็อปส์ เดลี มีส่วนแบ่งตลาด 4.79% อื่นๆ มีส่วนแบ่งตลาดรวมกัน 12.16%
เมื่อมองมาที่จำนวนสาขาของคอนวีเนียน สโตร์ แต่ละแบรนด์แล้ว พบว่า เซเว่น อีเลฟเว่น มีสาขามากกว่า 13,000 สาขา, โลตัส เอ็กซ์เพรส มีสาขา มากกว่า 1,600 สาขา ส่วนแฟมิลี่มาร์ทมีสาขา ณ สิ้นปีที่แล้วประมาณ 1,200 สาขา
ขณะที่เทรนด์ของค้าปลีกบ้านเราตามมุมมองของ ดร.ฉัตรชัย ตวงรัตนพันธ์ นักวิชาการด้านค้าปลีก และรองประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย ให้มุมมองที่น่าสนใจเกี่ยวกับเทรนด์ของตลาดค้าปลีกบ้านเราว่า ธุรกิจค้าปลีกต้องคิดใหม่เรื่อง Sizing และ Location โดยขนาดร้านค้า ที่เคยเล็กต้องขยายเพิ่ม ร้านค้าที่เคยใหญ่ก็หดลดลง ซึ่งร้านค้าขนาด Hypermarket อาจต้องลดพื้นที่ จากดั่งเดิม 8,00 -12,000 ตรม มาอยู่ที่ 4,000-6,000 ตรม เนื่องจากรัศมีการค้าหดเล็กลง และ เทคโนโลยีดิจิทัลและ เทคโนโลยี เมตา VR และ AR ทำให้ไม่จำเป็นต้องมีพื้นที่เก็บสต็อกเยอะๆ
2
ในขณะที่ร้านค้าสะดวกซื้อ ก็อาจต้องเพิ่มพื้นที่จากต้นแบบดั่งเดิม 80-100 ตรม มาเป็น 250-300 ตรม มีที่จอดรถสะดวกสบาย ไม่ต้องอยู่บนถนนใหญ่ก็ได้ ทำให้เราได้เห็นการขยายสาขาในรูปแบบดังกล่าวของร้านเซเว่น อีเลฟเว่น ที่ปัจจุบันมีหลายสาขา เป็นสาขาที่มีขนาดใหญ่ขึ้น รวมถึงเป็นสาขาที่มีที่จอดรถไว้บริการ
2
สิ่งที่น่าสนใจก็คือ ค้าปลีกหลายรายกำลังมุ่งมาที่ค้าปลีกไซส์เล็กใกล้บ้าน ตามการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของคนไทยที่ลดความถี่ในการไปช้อปที่ร้านค้าปลีกขนาดใหญ่ พร้อมกับหันมาซื้อสินค้าใกล้บ้านจากร้านสะดวกซื้อ ทำให้ค้าปลีกไซส์เล็กมีการเติบโตที่น่าสนใจในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้
เหตุผลสำคัญในการเทน้ำหนักมาที่การรุกตลาดค้าปลีกไซส์เล็กของกลุ่มซีพีที่มีการรีแบรนด์โลตัส เอ็กซ์เพรส พร้อมส่งแบรนด์ใหม่คือ“Lotus’s go fresh” เข้ามาแทนที่นั้นจะมาจาก การที่ตลาดค้าปลีกไซส์เล็กมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยมีปัจจัยสนับสนุนมาจาก
1.การขยายตัวของสังคมเมืองในบ้านเราที่มาพร้อมกับความต้องการในเรื่องของความสะดวกสบายของผู้บริโภค ทำให้เกิดการช้อปปิ้งผ่านร้านค้าปลีกขนาดเล็กใกล้บ้านมากขึ้น
การเติบโตของสังคมเมืองนี้ยังทำให้ไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่มีการใช้ชีวิตแบบ 24 ชั่วโม 7 วัน รวมถึง ไลฟ์สไตล์แบบ “ออนเดอะ โก” ที่ล้วนส่งผลด้านบวกกับร้านค้าปลีกคอนวีเนียนสโตร์ ที่เริ่มปรับรูปแบบเป็นคอนวีเนียน ฟู้ดสโตร์ อย่างเต็มรูปแบบ เพราะไลฟ์สไตล์ดังกล่าว ทำให้การบริโภคอาหารของคนเมืองเริ่มเปลี่ยนไป จากเดิมที่มีมื้อหลัก 3 มื้อ แต่ปัจจุบัน เริ่มมีมื้อทานเล่น หรือที่เรียกว่ามื้อรองท้องเพิ่มมากขึ้น ทำให้คนรุ่นใหม่มีการบริโภคต่อวันมากกว่า 3 มื้อ บางรายมีถึง 5 – 6 มื้อ รวมมื้อทานเล่น ซึ่งนั่นคือโอกาสในการสร้างการเติบโตที่ดี
2
2.ร้านค้าปลีกไซส์เล็กนี้ ยังช่วยในแง่ของการ Reach หรือการเข้าถึงผู้บริโภคมากขึ้น ซึ่งในเรื่องของการเข้าถึงลูกค้านี้ ถือเป็น 1 ในคีย์กลยุทธ์ของ Lotus’s ในการปรับเพื่อรับกับการขยายตัวของสังคมเมือง
กลยุทธ์ในเรื่องของ Reach นี้ จะเข้ามาช่วยขับเคลื่อนการเติบโตให้กับเทสโก้ โลตัส ในภาวะที่ตลาดค้าปลีกของบ้านเราเริ่มอิ่มตัว และมีการเติบโตในตัวเลขไม่มากนัก เพราะการเติบโตของตลาดนี้ นอกจากจะมาจากสาขาเดิมแล้ว การเติบโตยังมาจากสาขาใหม่ๆ อีกด้วย ยิ่งในปัจจุบัน ความถี่ในการมาสโตร์ใหญ่ของลูกค้าคนไทยเริ่มลดลง การผลักดันตัวเองเข้าหาลูกค้าถึงชุมชน จึงเป็นทางออกที่ดีในการสร้างการเติบโต
1
3.เมื่อมองมาที่ตัว “Lotus’s go fresh” เอง พบว่า ยังมีโอกาสในการเติบโตได้ไม่น้อย แต่ในช่วงที่ผ่านมา หน้าที่หลักของค้าปลีกไซส์เล็กในสมัยที่ยังเป็นเทสโก้ โลตัส ยังคงอยู่แค่การเป็นร้านค้าปลีกที่เข้ามาช่วย “ท็อป อัพ” สินค้าในกรณีที่ขาดมาก กว่าการสร้างโอกาสในการขายใหม่ๆ โดยเฉพาะสินค้าประเภทอาหารพร้อมทานที่เมื่อเทียบกับเจ้าตลาดอย่างเซเว่น อีเลฟเว่น การหันมาให้น้ำหนักกับการบุกตลาดอย่างเต็มรูปแบบ จึงน่าจะเข้ามาช่วยเติมเต็มจุดแข็งพร้อมกับสร้างโอกาสในการเติบโตใหม่ๆ ได้เป็นอย่างดี
1
ความแตกต่างที่ถูกใส่เข้าไป ทำให้วันนี้ กลุ่มซีพี กลายเป็นผู้นำในตลาดค้าปลีกไซส์เล็กอย่างที่ไม่มีใครวิ่งไล่กวดได้ทัน....
#BrandAgeOnline #CP #เซเว่น #Lotus
โฆษณา