1 มี.ค. 2022 เวลา 15:47 • การเกษตร
รัสเซียรบยูเครนทำวัตถุดิบป่วน ดันต้นทุนเกษตรกรพุ่ง
แนะรัฐปล่อยตามกลไกตลาด ต่อลมหายใจคนเลี้ยง
เจ้ากระทรวงพาณิชย์ ยอมรับว่าเหตุการณ์ปะทะกันระหว่างรัสเซียกับยูเครน ส่งผลกระทบต่อราคาน้ำมันไปทั่วโลก และอาจมีสินค้าบางรายการปรับราคาสูงขึ้นตามราคาน้ำมันที่ผันผวน ซึ่งถือว่าไม่ใช่เรื่องเกินคาดเดา เพราะแนวโน้มสินค้านั้นควรจะปรับตัวขึ้นไปแล้ว ตามภาวะต้นทุนที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่ปี 2564 ที่ผ่านมา
โดยเฉพาะวัตถุดิบอาหารสัตว์ทุกตัวที่ปรับราคาไปแล้ว 40-50% อาทิ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่ราคาปรับจากกิโลกรัมละ 10.50 บาท เป็น 11.45 บาท ส่วนราคาข้าวสาลีนำเข้าปรับจากกิโลกรัมละ 8.91 บาท เป็น 12.75 บาท และกากถั่วเหลืองจากเมล็ดนำเข้าจากกิโลกรัมละ 22.50 บาท เป็น 19.50 บาท ในปัจจุบัน
และมีแนวโน้มราคาปรับสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์อีก หากการสู้รบของรัสเซียและยูเครนยังคงยืดเยื้อ เนื่องจากทั้งสองประเทศเป็นผู้ส่งออกธัญพืชวัตถุดิบอาหารสัตว์รายใหญ่ของโลก มีปริมาณการส่งออกข้าวสาลี และส่งออกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ รวมกันราว 29% และ19% ของปริมาณการส่งออกทั่วโลก ตามลำดับ
วันนี้ผู้นำเข้าและผู้บริโภคปลายทางกำลังวิตก ว่าซัพพลายธัญพืชจะเกิดภาวะชะงักงันจากสงครามยูเครน เพราะต่อให้สงครามยุติตอนนี้ก็ตาม แต่การส่งออกในยูเครนก็ต้องใช้เวลามากถึง 45-60 วัน กว่าจะกลับมาดำเนินการได้อีกครั้ง แน่นอนว่าต้องกระทบกับการส่งออกสินค้าธัญพืชสำคัญอย่างแน่นอน
ตาราง : ราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์
วัตถุดิบอาหารสัตว์ ธันวาคม 2564
(บาท/กก.) มีนาคม 2565
(บาท/กก.) ผลต่าง
ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 10.05 11.45 +13.93%
ข้าวสาลีนำเข้า 8.91 12.75 +43.10%
กากถั่วเหลืองจากเมล็ดนำเข้า 19.50 22.50 +15.38%
ที่มา : สมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย
ที่สำคัญวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่ปรับราคาขึ้นเช่นนี้ กำลังส่งผลกระทบอย่างหนักต่ออุตสาหกรรมการเลี้ยงสัตว์ของไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ นับตั้งแต่ห่วงโซ่แรกของการผลิตอย่างภาคผู้ผลิตอาหารสัตว์ ที่ต้องเจอกับปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบในการผลิตอาหารสัตว์ โดยเฉพาะข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่มีความต้องการใช้สูงถึง 7.98 ตัน แต่ขณะนี้ในประเทศไม่มีผลผลิตข้าวโพดแล้ว ผู้ประกอบการขาดแคลนผลผลิตถึง 3.18 ล้านตัน
ซ้ำยังติดประเด็นมาตรการรัฐ 3:1 ต้องซื้อผลผลิตข้าวโพดในประเทศ 3 ส่วน ต่อการนำเข้าข้าวสาลี 1 ส่วน แต่เมื่อไม่มีข้าวโพดในประเทศให้ซื้อก็ไม่สามารถนำเข้าข้าวสาลีได้ ขณะเดียวกัน การซื้อกากถั่วเหลืองยังมีภาษีนำเข้าอีก 2% ซ้ำเติมภาระต้นทุน เพราะต้องสั่งซื้อมาทดแทนปริมาณผลผลิตตัวอื่นที่ขาดแคลน ภาระที่หนักอึ้งเช่นนี้ทำให้ผู้ประกอบการผลิตอาหารสัตว์หลายแห่ง จำเป็นต้องทยอยลดกำลังการผลิตลง
ปัญหาที่ตามมาเป็นลูกโซ่ตกอยู่กับฟาร์มเลี้ยงสัตว์ ที่มีแนวโน้มขาดแคลนอาหารสำหรับเลี้ยงสัตว์หากโรงงานต้องลดการผลิตลงเช่นนี้ และยังต้องเผชิญหน้ากับภาวะต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่จำเป็นต้องปรับสูงขึ้นอย่างยากจะหลีกเลี่ยง และเกษตรกรยังต้องเน้นการป้องกันโรคสัตว์และโรคคนอย่างเข้มงวด ด้วยการยกระดับระบบป้องกันโรค Biosecurity ที่กลายเป็นต้นทุนแฝงในการเลี้ยงที่จำเป็นต้องแบกรับ รวมถึงปัญหาราคาน้ำมันที่สูงขึ้นเป็นภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานที่เพิ่มขึ้นตามไปด้วย จนอาจทำให้เกษตรกรที่สายป่านทางการเงินไม่ยาวนัก จำต้องหยุดระบบการผลิตไปอย่างแน่นอน
ดังเช่นภาคผู้เลี้ยงไก่ที่เริ่มวิตกกังวล ทำให้หลายคนเริ่มจะพักการเลี้ยงไว้ก่อนแล้ว ดีกว่าต้องมาเสี่ยงแบกรับภาระขาดทุนสูง และเสี่ยงต่อภาวะไม่มีอาหารสัตว์เลี้ยงไก่ รวมทั้งยังต้องทำตามมาตรการรัฐด้วยการตรึงราคาไก่หน้าฟาร์มไว้ ไม่สามารถขายได้ตามต้นทุนที่แท้จริง หากราคาวัตถุดิบยังคงสูงต่อไป เกษตรกรไม่มีทางอยู่รอดได้ ที่สุดแล้วผลพวงสุดท้ายจะตกกับผู้บริโภคที่อาจต้องขาดแคลนเนื้อสัตว์
ดังนั้นภาครัฐต้องหันกลับมามองปัญหาที่แท้จริง เร่งแก้ปัญหาราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่สูงเกินไป ผ่อนคลายมาตรการต่างๆ ที่จะสนับสนุนเกษตรกรให้สามารถเลี้ยงสัตว์ได้ต่อไป ไม่ใช้วิธีตรึงราคา แต่ต้องปล่อยให้ราคาสินค้าปศุสัตว์เป็นไปตามกลไกตลาด ซึ่งเรื่องนี้มีผลสำเร็จให้เห็นแล้วจากราคาหมูที่ลดลงจากกลไกตลาดที่ทำงานอย่างเสรีโดยไม่มีการควบคุม ทำให้เกษตรกรได้เดินหน้าอาชีพช่วยต่อลมหายใจคนเลี้ยง เพื่อไม่ต้องให้คนทั้งประเทศต้องเสี่ยงกับความมั่นคงทางอาหารที่อาจสั่นคลอนได้./
เรื่องโดย กันยาพร สดสาย นักวิชาการด้านปศุสัตว์
ขอขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.wealthplustoday.com/post/
โฆษณา