2 มี.ค. 2022 เวลา 01:08 • หุ้น & เศรษฐกิจ
5 ประเทศที่มีประชากรสูงวัยมากที่สุดในโลก
ตอนนี้ หลายคนก็คงรู้ว่าอัตราเด็กเกิดใหม่ที่น้อยลงกำลังเป็นปัญหาที่หลายประเทศกำลังเจออยู่ วันนี้เราจะพาไปดู 5 ประเทศที่น่าจะเจอปัญหาสังคมสูงวัยหนักที่สุดในโลก
อันดับ 5: กรีซ
จำนวนประชากรสูงอายุ (อายุ 65 ขึ้นไป): 2.3 ล้านคน
สัดส่วนประชากรสูงอายุต่อประชากรทั้งหมด: 21.8%
อัตราคนสูงวัยต่อวัยแรงงาน: 34%
แนวทางแก้ไข/เพิ่มประชากร:
กรีซมีนโยบายให้เงินครอบครัวที่มีลูก เป็นจำนวน 2,000 ยูโร ต่อลูกหนึ่งคน ซึ่งค่าใช้จ่ายรัฐบาลตรงนี้สูงถึงเกือบ 0.1% ของ GDP ประเทศ
อันดับ 4: โปรตุเกส
จำนวนประชากรสูงอายุ (อายุ 65 ขึ้นไป): 2.2 ล้านคน
สัดส่วนประชากรสูงอายุต่อประชากรทั้งหมด: 21.8%
อัตราคนสูงวัยต่อวัยแรงงาน: 35%
แนวทางแก้ไข/ เพิ่มประชากร:
โปรตุเกสไม่ได้มีนโยบายกระตุ้นการมีลูกเป็นพิเศษ แต่ไปเน้นด้านนโยบายสนับสนุนแรงงานข้ามชาติมากขึ้น นี่ก็เพื่อให้แรงงานต่างชาติมาทดแทนแรงงานในประเทศที่น้อยลง
อันดับ 3: ฟินแลนด์
จำนวนประชากรสูงอายุ (อายุ 65 ขึ้นไป): 1.2 ล้านคน
สัดส่วนประชากรสูงอายุต่อประชากรทั้งหมด: 21.9%
อัตราคนสูงวัยต่อวัยแรงงาน: 36%
แนวทางแก้ไข/ เพิ่มประชากร:
ฟินแลนด์มีนโยบายให้คุณแม่ลาคลอดได้ถึง 105 วัน โดยมีเงินช่วยเหลือให้ด้วย ส่วนคุณพ่อก็สามารถลาไปช่วยดูแลครอบครัวได้ถึง 54 วันพร้อมได้เงินช่วยเหลือเช่นกัน หลังจากครบกำหนดผู้ปกครองยังสามารถลางานต่อโดยไม่มีเงินช่วยเหลือ แต่มีการคุ้มครองตำแหน่งงานไว้ให้ ได้จนลูกอายุครบ 3 ขวบ
นอกจากนี้รัฐบาลยังมีเงินช่วยเหลือในการส่งลูกไปสถานดูแล โดยจำนวนขึ้นอยู่กับฐานรายได้ของครอบครัวด้วย
อันดับ 2: อิตาลี
จำนวนประชากรสูงอายุ (อายุ 65 ขึ้นไป): 13.8 ล้านคน
สัดส่วนประชากรสูงอายุต่อประชากรทั้งหมด: 22.8%
อัตราคนสูงวัยต่อวัยแรงงาน: 36%
แนวทางแก้ไข/ เพิ่มประชากร:
อิตาลีมีนโยบายให้เงินรายเดือนแก่คนที่มีลูก เริ่มตั้งแต่ตอนที่คุณแม่ตั้งครรภ์ได้ 7 เดือนไปจนถึงตอนเด็กมีอายุครบ 21 ปี ในกรณีที่เด็กมีความพิการ เงินนี้จะให้ต่อไปเรื่อยๆ
โดยจำนวนเงินในช่วงที่เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี จะอยู่ที่ราวๆ 50 ถึง 175 ยูโร ขึ้นอยู่กับรายได้ของครอบครัว (ยิ่งน้อยยิ่งได้มาก)
อันดับ 1: ญี่ปุ่น
จำนวนประชากรสูงอายุ (อายุ 65 ขึ้นไป): 35.6 ล้านคน
สัดส่วนประชากรสูงอายุต่อประชากรทั้งหมด: 28.2 %
อัตราคนสูงวัยต่อวัยแรงงาน: 47%
แนวทางแก้ไข/ เพิ่มประชากร:
ญี่ปุ่นมีนโยบายให้คุณพ่อลาไปช่วยดูแลครอบครัว พร้อมมีเงินชดเชยให้บางส่วน และมีการตั้งเป้าหมายให้บริษัทที่มีพนักงานจำนวน 300 คนขึ้นไป จ้างและเลื่อนตำแหน่งพนักงานหญิงมากขึ้น เพื่อสนับสนุนให้คุณแม่กลับมาทำงานหลังมีลูกได้อย่างสบายใจ นอกจากนี้ยังมีให้เงินช่วยเหลือสำหรับการดูแลลูก และการศึกษาด้วย
หมายเหตุ* ตัวเลขเป็นของปี 2021
ผู้เขียน : บูชิตา ปิตะกาศ Economist, Bnomics
ภาพประกอบ : จินดาวรรณ อรรถมานะ Graphic Designer, Bnomics
▶︎ ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
Line OA : @Bnomics https://bit.ly/3eYkTJC
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
Reference :
โฆษณา