2 มี.ค. 2022 เวลา 00:03 • การศึกษา
ยะห์ยา โต๊ะมางี หรือ อาจารย์ยะห์ยา บิน อับดุลลอฮ์ يحيى بن عبدالله ผู้เชี่ยวชาญสอนเด็กด้วยภาคปฏิบัติ
หะแรก ขอแสดงความเสียใจอีกครั้ง กับการจากไปของ " อาจารย์ยะห์ยา โต๊ะมางี " เมื่อ เดือนตุลาคม ปี พ.ศ.2564 ที่ผ่านมา
นับว่าได้สูญเสียปูชนียบุคคลอันเป็นที่รักท่านหนึ่ง ของสังคมมุสลิมไทย
อาจารย์ยะห์ยา คือ ตำนานโต๊ะครูนักพัฒนา นักออแกไนซ์ค่ายเยาวชนมือฉมัง และนักวิชาการอิสลามผู้มีความรู้กว้างขวางท่านหนึ่ง
เป็นตัวอย่างนักบรรยายศาสนาที่มากด้วยทักษะ
ลีลา และน้ำเสียงในถ้อยคำที่เปล่งออกมา ราวกับเหยาะด้วยผงชูรส " อายิโนะโมะโต๊ะ "
คนนั่งฟังบรรยายแล้ว ไร้รู้สึกเบื่อ ไร้รู้สึกหน่าย ไร้ง่วงหงาวหาวนอน
เคยเป็นลูกศิษย์ของอุละมาระดับโลก " เชคคุ้ล อัซฮัร " มุฮัมหมัด สัยยิด ฏอนฏอวี محمد سيد طنطاوي
เป็น 1 ใน 4 ยอดทหารเสือโต๊ะครูโรงเรียนศาสนูปถัมภ์ คลองเคล็ด ยุคแรกเริ่ม ผู้สร้างลูกศิษย์ประดับประดา วงการโต๊ะครูเมืองไทยเป็นจำนวนมาก
พลิกชีวิตผู้มาจากท้องทุ่ง ลำคลอง คันนา และรวงข้าวที่ปลิวไสว บากบั่นแสวงหาความรู้
กำหมัดแน่น เหมือนกำปั้นคือ " ค้อนเหล็ก "
ทุบให้แหลกทุกอุปสรรค จนสร้างเกียรติยศประวัติศาสตร์เป็นบัณฑิตจากประเทศ " ลิเบีย " ยุคบุกเบิก
อาจารย์ยะห์ยา มีชื่อจริงตามบัตรประจำตัวประชาชนว่า " เจริญ "
แต่แทบจะไม่มีใครเรียกตัวท่านว่า " เจริญ " นอกจากจะมีการเรียกแบบทางการ
จะด้วยเหตุผลอันใดนั้น ก็เพราะ ท่านเป็นครูตั้งแต่อายุยังน้อย
เหล่าลูกศิษย์ และ ชาวบ้านทั่วไป เรียกท่านว่า
" ครูยา "
ซึ่งตัว " อาจารย์ยะห์ยา " เอง ก็คุ้นเคยกับนามชื่อ ที่ผู้คนเรียกท่านว่า " ครูยา "
อาจารย์ยะห์ยา เปิดม่านตาสู่โลกดุนยาครั้งแรกเมื่อ ปี พ.ศ. 2491
( หรือ ตรงกับปีที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ครองราชย์ได้ 2 พรรษา )
นิวาสถานดั้งเดิม เป็นคนหนองจอก กรุงเทพมหานคร
บิดาชื่อ " อับดุลลอฮ์ " หรือ ชื่อเป็นทางการตามที่มีการบันทึกว่า " นายเลาะ "
ส่วนมารดา ชื่อ " เศาะฟียะฮ์ " หรือชื่อเป็นทางการตามที่มีการบันทึกว่า " นางปีเยาะ "
พี่น้องมีทั้งหมด 9 คน โดยอาจารย์ยะห์ยา อยู่ในลำดับที่ 6 ของพี่น้อง
อาจารย์ยะห์ยา เกิดในครอบครัวมุสลิมที่รักในศาสนา ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ชีวิตเรียบง่าย มีความสุขตามอัตภาพ
ครอบครัวรักศาสนา ท่ามกลางสภาพอากาศบริสุทธิ์ และภูมิประเทศที่ใสสะอาดของท้องไร่ท้องนา และลำคลอง
สิ่งแวดล้อมในเขตหนองจอก สมัยที่อาจารย์ยะห์ยายังเยาว์วัย อยู่ในขั้นดีมาก
มีตลาดโบราณ " หนองจอก " เป็นศูนย์กลางของมิตรภาพชาวฝั่งคลอง
เพราะ " ตลาดเก่าหนองจอก " เป็นชุมทางชุมคลอง ตั้งอยู่บริเวณจุดตัดของลำคลองหลายสาย คือ
1 - คลองแสนแสบ
2 - คลองลำปลาทิว
3 - คลองสิบสอง
4 - คลองสิบสาม
ชุมชน " หนองจอก " ในสมัยนั้น ถูกพูดถึงบ่อยมากในหมู่นักเรียนจากหนองจอกที่ไปเรียนต่างประเทศ ว่า
ทั้งมุสลิม และ ชนต่างศาสนิก มีมิตรไมตรีที่ดีต่อกัน อยู่กันแบบถ้อยทีถ้อยอาศัย ช่วยเหลือเกื้อกูลกันในบางโอกาส
บ่อยครั้งที่มักได้ยินเรื่องเล่าที่งดงาม และเต็มไปด้วยรอยยิ้ม ในความเป็นเพื่อนสนิทของชาวตลาดหนองจอก 2 ท่าน
ท่านแรก ชื่อ " แป๊ะหลิ่ว " ชาวไทยเชื้อสายจีน
กับท่านที่สอง " ฮัจญี ซาฟิอี " ชาวไทยนับถือศาสนาอิสลาม
หนองจอกมีมัสญิดไม่น้อย
ดังนั้น เสียงอะซานอันแสนไพเราะ ลอยล่องแหวกม่านอากาศกระทบโสตประสาทสัมผัสให้อาจารย์ยะห์ยาได้ยินทุกเมื่อเชื่อวัน
วัยเด็ก อาจารย์ยะห์ยาเรียนกุรอานและฟัรดูอีน ที่มัสญิดใกล้บ้าน
ส่วนสามัญภาคบังคับ เรียนที่โรงเรียน " สุเหร่าหะยีมีนา " จนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 หรือ ป. 4
อัลลอฮ์ทรงปรารถนาผู้ใดด้วยความดี พระองค์จะให้เขาผู้นั้นเข้าใจในศาสนา
ความเข้าใจในศาสนา ไม่มีเงื่อนที่อายุขัย และฐานะทางเศรษฐกิจ
หาใช่คนสูงอายุและคนใหญ่คนโตเท่านั้นที่เข้าใจศาสนา
เด็กอายุน้อยนิดและคนฐานะไม่โตไม่ใหญ่ ก็เข้าใจศาสนาได้
อัลลอฮ์ทรงปรารถนา " อาจารย์ยะห์ยา " ด้วยความดี พระองค์ทรงให้ " อาจารย์ยะห์ยา " มีความรักในศาสนาตั้งแต่อายุยังน้อย
ในร่างกายมนุษย์ อวัยวะที่นำทัพคือ " หัวใจ " เมื่อหัวใจต้องการสิ่งใด อวัยวะทุกส่วนในร่างกายมักไม่ดื้อ และไม่งอแงกับหัวใจ
หลังจบ ป.4 ตามกฏกระทรวงศึกษาธิการ หัวใจของ " อาจารย์ยะห์ยา " ปรารถนาที่จะเรียนศาสนา
" อาจารย์ยะห์ยา " จึงเบนเข็มชีวิตตนเองไปเรียนศาสนาด้วยความสมัครใจ อีกทั้งครอบครัวสนับสนุนเต็มที่
สำหรับ " อาจารย์ยะห์ยา " ในนาทีนั้น จะมีความสุขใดเล่าเท่ากับการได้เรียนศาสนา
จึงตัดสินใจเก็บเสื้อผ้าใส่กระเป๋า หิ้วสัพพาระไปเรียนศาสนาที่ปาเนาะแบบกินนอน ย่านละแวกบ้าน ชื่อ
" โรงเรียนศาสนศึกษา " หนองจอก
โรงเรียนศาสนศึกษา ถือว่า เป็นโรงเรียนมีชื่อเสียง เพราะสอนโดย " อาจารย์ อิสมาแอล โพธิ์กระเจน " หรือ " โต๊ะครูเขียวหวาน "
( ปัจจุบัน โรงเรียนศาสนศึกษา บริหารงานโดย อาจารย์ อำนวย หรือ มูฮัมหมัด อาฟันดี้ โพธิ์กระเจน ผู้ประพันธ์หนังสือพจนานุกรม อาหรับ - ไทย ชื่อเลื่องลือ " อัลมุนญิด อัลอาฟันดี้ )
" อาจารย์ยะห์ยา " มุ่งมั่น เอาจริงเอาจริงกับการศึกษาที่ " ปาเนาะโต๊ะครูเขียวหวาน " อยู่หลายปี จนมีความรู้ในระดับหนึ่ง
โดยเฉพาะวิชา " น่าฮู " และ วิชา " ศ่อรอฟ " ที่อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน
จากนั้น " อาจารย์ยะห์ยา " ขยับไลฟ์สไตล์ของท่าน ก้าวสู่มิติใหม่ของกระแสธารแห่งชีวิต
ท่านพลิกชีวิตเป็นโต๊ะครูน้อยไปช่วย " อาจารย์อิสมาแอล วิสุทธิ์ปราณี " หรือ " ครูแอ " สอนหนังสือศาสนาที่ " โรงเรียนอิสลามอนุเคราะห์ " กระทุ่มราย หนองจอก
ใช้ชีวิตเป็นโต๊ะครูวัยรุ่นสอนหนังสือศาสนาร่วมกับ " ครูแอ " อยู่หลายฤดูเราะมะฎอน
และการสอนที่ " โรงเรียนอิสลามอนุเคราะห์ " นี้เองคือปฐมบท และ เป็นจุดเริ่มต้นของชื่อในนาม " ครูยา "
ชีวิตอาจารย์ยะห์ยา ช่วงนี้ สวยงามยิ่ง
ทางโรงเรียน หรือ บางครั้ง " ครูแอ " ใช้ให้ทำอะไร " อาจารย์ยะห์ยา " รับหมด และทำได้ เช่น
อบรม " นะศีฮัต " เด็กนักเรียน
อ่านคุตบะฮ์วันศุกร์
และแม้นแต่เป็นอีหม่ามนำละหมาด
ขณะที่ " อาจารย์ยะห์ยา " เป็นโต๊ะครูสอนหนังสือศาสนา ในใจคิดอยู่เสมอว่า
ตนเองเรียนสามัญน้อยไปหน่อย อนาคตที่จะก้าวสู่โลกยุคใหม่ ควรมีความรู้และวุฒิการศึกษาทางสามัญ
ว่องไวเกือบจะเท่าฉุกคิด " อาจารย์ยะห์ยา " รีบทำหน้าที่เป็นมือประสานสิบทิศ
ท่านติดต่อ กศน. หรือ " การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย " ให้มาเปิดทำการสอนที่ " หนองจอก "
อาจารย์ยะห์ยาประสานเรื่อง กศน.ไปยัง " โรงเรียนภักดีนรเศรษฐ " หรือปัจจุบันเรียกว่า " โรงเรียนวัดหนองจอก "
( สมัยอาจารย์ยะห์ยา เรียน กศน. ชื่อโรงเรียนคือ " ภักดีนรเศรษฐ " ต่อมา ในปี พ.ศ.2539 ได้เปลี่ยนเป็น " โรงเรียนวัดหนองจอก " )
และอาจารย์ยะห์ยา ก็ได้มีโอกาสเรียน กศน. จนจบหลักสูตรสูงที่สุด
วัฐจักรของชีวิตคน เหมือนกันหมด จากทารกเปลี่ยนเป็นเด็ก จากเด็กเปลี่ยนเป็นผู้ใหญ่
วัฐจักรของชีวิต " อาจารย์ยะห์ยา " ก็ไม่ต่างไปจากผู้อื่น
เพราะอายุขัยของท่านได้เดินทางมาถึงวัยที่จำเป็นต้อง " คัดเลือกการเป็นทหารกองเกิน " ที่จะต้องจับ " ใบดำ " หรือ " ใบแดง "
คำว่า " ใบแดง " ในสนามฟุตบอล หมายถึง " ใบไล่ออก " แต่ " ใบแดง " ในวันเกณฑ์ทหารกองเกิน หมายถึง " ใบไล่เข้า "
" อาจารย์ยะห์ยา " รวมรวบพลังเฮือกใหญ่ หวังว่า จะได้ " ใบดำ " เพราะหมายถึง " ใบไล่ออก " เพื่อหมดภาระเรื่องการเป็นทหาร ตอนที่เอามือขวาล้วงบัตรในกล่องคัดเลือกทหาร
แต่ด้วยตักดีร ที่อัลลอฮ์ทรงกำหนดไว้แล้ว อาจารย์ยะห์ยา จับได้ " ใบไล่เข้า " หรือ " ใบแดง " เป็น " ทหารบก " หรือเรียกสั้น ๆ ว่า " ทอบอ "
อาจารย์ยะห์ยา จึงต้องเปลี่ยนสภาพจากโต๊ะครู ผู้ร่ำรวยอุดมการณ์ ไปสู่การเป็นทหาร รั้วของชาติ ที่ " กรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็ก รักษาพระองค์ "
ใช้ชีวิตรับใช้ชาติอยู่ 2 ปี ทำหน้าที่สมเกียรติศักดิ์ในฐานะ " ชายหนุ่มไทย "
แต่ส่วนลึกในจิตใจของ " อาจารย์ยะห์ยา " ยาวนานมากในความรู้สึกของท่าน เพราะหัวใจของท่าน ครุ่นคิดถึงเรื่องการเรียนศาสนาอยู่ตลอดเวลา
หลังจาก " อาจารย์ยะห์ยา " ปลดประจำการจากกรมทหารแล้ว ท่านคิดถึงเรื่องเรียนในทันใด
เพื่อไม่ให้เวลาผ่านไปอย่างไร้คุณค่า " อาจารย์ยะห์ยา " มุ่งมั่น มองหาช่องทาง เพื่อแสวงหาความรู้ในทันที
แต่อาจารย์ยะห์ยาหลังไล่ทหารแล้ว ด้วยอายุอานามที่มากขึ้น อาจไม่เหมาะสำหรับการย้อนไปเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่ เพื่อเป็นเด็กปาเนาะ
" การเรียนที่ไร้ระบบ " จึงเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด ด้วยเวลาเปลี่ยน อายุเปลี่ยน และสถานการณ์เปลี่ยน
" การเรียนที่ไร้ระบบ " ที่ว่า เช่น เรียนโดยตรงกับอาจารย์ผู้สอน หรือ ฟังบรรยายในที่สาธารณะ หรือ เรียนพิเศษ
ช่วงเวลานั้น " อาจารย์ยะห์ยา " ยังคงหวนกลับไปช่วย " อาจารย์อิสมาแอล วิสุทธิปราณี " สอนที่โรงเรียนเดิม พร้อมทั้งหาเวลาว่างไปเรียนนอกระบบ
สำหรับคณาจารย์ที่ " อาจารย์ยะห์ยา " สืบเสาะหาเรียนนอกระบบนั้น แต่ละท่าน ถือว่า เป็นยอดนักวิชาการที่มีชื่อเสียงในยุคนั้น เช่น
1 - อาจารย์ ซาฟิอี นภากร
2 - อาจารย์ อับดุลเราะห์มาน หมัดเซ็น หรือ " โต๊ะครูหมาน คู้ซ้าย " แห่ง ปาเนาะ " แสนแสบ "
3 - อาจารย์ อิสมาแอล โซ๊ะเฮง โต๊ะครูอาวุโส อดีตเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้ง " สมาคมคุรุสัมพันธ์ "
4 - อาจารย์ อิมรอน มะกูดี ครูใหญ่โรงเรียน " ศาสนวิทยา " หนองจอก
" อาจารย์ยะห์ยา " เล่าว่า
ตอนนั้น " อาจารย์อิมรอน มะกูดี " มีอิทธิพลกับชีวิตท่านมากที่สุด
" อาจารย์อิมรอน " เอาใจใส่การสอนนอกชั้นเรียนไม่น้อยไปกว่าสอนในระบบชั้นเรียน
" อาจารย์อิมรอน " สอนนอกระบบ หรือ นอกชั้นเรียนเกือบทุกวัน มีนักเรียนแค่คนเดียว " อาจารย์อิมรอน " ก็สอน
" อาจารย์ยะห์ยา " ขยันเรียนมาก จนถึงช่วงหนึ่ง ความคิดอยากไปเรียนต่างประเทศได้บังเกิด
แต่ทางต่างประเทศยังไม่มีทุนให้ " อาจารย์ยะห์ยา "
มีหลายคนแนะนำ รวมถึง " อาจารย์อิมรอน " ก็แนะนำ ถ้าต้องการไปเรียนเมืองนอก ไม่มีทุนให้ ก็ต้องใช้เงินของตนเองไปเรียน
" อาจารย์ยะห์ยา " ในยามนั้น ไม่ต้องรอคำสั่งแสดงความเคารพแบบ " วันทยหัตถ์ " เหมือนสมัยเป็นทหารเกณฑ์
ท่านไม่หันหน้า หรือหันซ้าย มุ่งหน้าตรงอย่างเดียวว่า ต้องไปนอกให้ได้
ถ้าจำเป็นต้องใช้เงินเอง ก็ต้องหาเงินไปเรียนเมืองนอก ก็ต้องไป
ฐานะทางครอบครัว พอจินตนาการกันได้ ครอบครัวเกษตรกร ย่อมมีใช้ตามอัตภาพ
แต่จะให้มีเงินถึงขั้นส่งคนในครอบครัวไปเรียนเมืองนอก ย่อมไม่ใช่เรื่องง่าย
" อาจารย์ยะห์ยา " รู้ว่า อุปสรรคขวากหนามเยอะแยะ
หนทางไม่ได้โรยด้วยดอกมะลิ หรือ โรยด้วยกลีบ " ใบดอกจอก " ตามสัญลักษณ์พรรณไม้ของเขตหนองจอก
แต่ทว่า อุปสรรคทั้งหลายทั้งปวง เปรียบไปก็คล้ายยาวิเศษที่เพิ่มพลังใจให้ท่านหนักแน่น และเข็มแข็ง
เบื้องต้น " อาจารย์ยะห์ยา " ดิ้นรนด้วยตนเองก่อน ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน
ยามใด ว่างเว้นจากการเรียน และการสอน ได้พาตนเองหลบไปรับจ้างเกี่ยวข้าวตามท้องนา เพื่อเก็บสะสมเงินทองไปเล่าเรียน
" มีสลึงพึงบรรจบให้ครบบาท " เก็บเล็กผสมน้อย จนเป็นเงินก้อนใหญ่ จากนั้น ยังได้รับเงินบริจาคบางส่วนจากญาติพี่น้องและชาวบ้าน
ปี พ.ศ.2517
" อาจารย์ยะห์ยา " ตัดสินใจขั้นเด็ดขาด อำลาอาลัยตลาดหนองจอก และ 4 ฝั่งคลองแห่งหนองจอก
จำใจจาก " สนามบินแห่งชาติ ดอนเมือง " มุ่งตรงสู่ " นครไคโร " ประเทศอียิปต์
การไปอียิปต์ของท่าน ไม่มีสิ่งใดการันตีชีวิตการศึกษาของท่าน
ไม่มีคำตอบรับจากมหาวิทยาลัย ไม่มีสถาบันใดใน " นครไคโร " ยืนยันการเรียนหนังสือของท่าน
" ตะวั้กกั้ล " หรือ " การมอบหมายต่ออัลลอฮ์ " เท่านั้น เป็นสิ่งเดียวที่ " อาจารย์ยะห์ยา " มีในจิตใจ เป็นสิ่งการันตีเดียวที่ท่านเชื่อมั่น
" อาจารย์ยะห์ยา " ใช้ชีวิตอยู่ใน " นครไคโร " แบบ ทบทวนตำรา และเรียนเพิ่มเติมนิด ๆ หน่อย ๆ ยังไม่มีโอกาสเรียนเป็นชิ้นเป็นอัน
โดย " อาจารย์ยะห์ยา " ไปพักที่ห้องพักกับคนบ้านเดียวกัน คือ
" อาจารย์ มุนีร มูฮำหมัด " ผู้ซึ่งปัจจุบันเป็นนักวิชาการ และนักเขียนผู้มีชื่อเสียง
" อาจารย์ยะห์ยา " ใช้ชีวิตใน " นครไคโร " โดยมั่นใจในความเมตตาของอัลลอฮ์ และไม่เคยสิ้นหวังในความโปรดปรานของพระองค์
ใช้ชีวิตใน " นครไคโร " ได้ราว 6 เดือน สัญญาณบวกปรากฏขึ้น ไฟสว่างแห่งความหวังได้ส่องแสง
มีศึกษาไทยในประเทศ " ลิเบีย " จำนวนหนึ่งเดินทางมาเที่ยว " นครไคโร " ในช่วงปิดภาคเรียน
ด้วยประเทศ " ลิเบีย " กับ " อียิปต์ " มีพรมแดนติดกัน จึงไม่ใช่เรื่องใหญ่ที่สำหรับนักศึกษาที่เรียนใน " ลิเบีย " จะมาท่องเที่ยวใน " อียิปต์
กลุ่มที่มาเที่ยวนั้น มีนักศึกษาหลายคนเคยเป็นศิษย์เก่าโรงเรียนมุสลิมวิทยาคาร คลอง 19 และโรงเรียนศาสนวิทยา หนองจอก
ซึ่งแน่นอนว่า หลายคนรู้จัก " อาจารย์ยะห์ยา "
ในช่วงที่กลุ่มนักศึกษาไทยจะเดินทางกลับ " ลิเบีย " เห็นว่า
" อาจารย์ยะห์ยา " กำลังหาช่องทางเรียนหนังสือ ยังหาที่เรียนไม่ได้ จึงได้เอยปากชวน " อาจารย์ยะห์ยา " ไปเรียนที่ " ลิเบีย "
" อาจารย์ยะห์ยา " จึงได้มีโอกาสเดินทางไปเรียนที่ " ลิเบีย " ด้วยความเมตตาที่อัลลอฮ์ให้
ไม่มีเวลาว่าง สำหรับนักศึกษาที่ชื่อ " อาจารย์ยะห์ยา " ในการอ่านตำรับตำรา
เมื่อได้เรียนแล้ว ท่านจึงเอาจริงเอาจังเต็มที่ ทั้งท่องจำในสิ่งที่ควรท่องจำ และจดบันทึกในสิ่งที่ควรจดบันทึก
และที่ " ลิเบีย " มีสิ่งที่น่าประทับใจอย่างหนึ่ง คือ
" อาจารย์ยะห์ยา " เคยเป็นลูกศิษย์ของอุละมาระดับโลก " เชคคุ้ล อัซฮัร " มุฮัมหมัด สัยยิด ฏอนฏอวี محمد سيد طنطاوي
อัลลอฮ์ทรงตักดีรกำหนดให้ช่วงเวลาที่ " อาจารย์ยะห์ยา " เรียนหนังสือใน " ลิเบีย " นั้น เป็นช่วงเวลาเดียวกัน กับการเป็นอาจารย์ของ " เชค มุฮัมหมัด สัยยิด ฏอนฏอวี " ใน " ลิเบีย "
อาจารย์ยะห์ยา " ใช้เวลานานพอสมควรกับชีวิตใน " ลิเบีย "
จนท่านสำเร็จการศึกษาเป็นบัณฑิตของคณะ " ครุศาสตร์ "
ซึ่งการจบการศึกษาของ " อาจารย์ยะห์ยา " นับว่าเป็นหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์ของ " โรงเรียนศาสนวิทยา "
เพราะเป็นคนแรกที่จบการศึกษาจากประเทศ " ลิเบีย " ที่ใช้วุฒิการศึกษาจาก " โรงเรียนศาสนวิทยา "
สมัยนั้น มีนักศึกษาไทยใน " ลิเบีย " ยุคบุกเบิก ตามที่ได้ยินมา เช่น
1 - อาจารย์โนรี วรกาญจน์ หรือ บังใหญ่
2 - อาจารย์ ญะอ์ฟัร สนิทสุริวงศ์
3 - อาจารย์สุข อุปการะ หรือ อาจารย์อิบรอฮีม แม่สอด ผู้ซึ่งปัจจุบัน เป็นประธานกรรมการอิสลามจังหวัด " ตาก "
ปี พ.ศ.2522
" อาจารย์ยะห์ยา " เดินทางกลับจาก " ลิเบีย " สู่ภูมิลำเนาประเทศไทย อย่างเป็นทางการ
กลับมาใหม่ ๆ ยังเป็นช่วงปรับตัวอยู่ จึงไปช่วยงานสอนหนังสือร่วมกับ " อาจารย์ซาฟิอี นภากร " ที่ " มูลนิธิศูนย์กลางอิสลามแห่งประเทศไทย " คลองตัน
" อาจารย์ยะห์ยา " กับ " อาจารย์ซาฟิอี " คุ้นเคยกันดี
เพราะก่อนที่ " อาจารย์ยะห์ยา " จะไปเรียนต่างประเทศ เคยเป็นลูกศิษย์ของ " อาจารย์ซาฟิอี "
สมัยนั้น " มูลนิธิศูนย์กลางอิสลามแห่งประเทศไทย " ในช่วงเวลาที่ " อาจารย์ยะห์ยา " กลับมาใหม่ ๆ คึกคักมาก มีการเรียนการสอนที่เข้มข้น
ยุคนั้น มีนักอ่านกุรอานที่มีชื่อเสียง 2 ท่าน ที่สไตล์การอ่านตามแบบ " เชค มะฮ์มูด ค่อลีล " ช่วยงานสอนด้วย คือ
1 - อาจารย์มัรฟู กลิ่นมาลัย
2 - อาจารย์ มุสลิมีน มันติเมาะ
ปี พ.ศ.2523
" อาจารย์ยะห์ยา " ยังอยู่ในช่วงวัยที่เป็นคนหนุ่มไฟแรง ความคิดความอ่าน กระฉับกระเฉง คิดเร็วทำเร็ว เปรียบเปรยคล้ายโฆษณาขายโทรทัศน์สมัยก่อน " ฮิตาชิ เปิดปุ๊บ ติดปั๊บ "
สิ่งหนึ่งที่ " อาจารย์ยะห์ยา " เห็นว่า ปัญหาเยาวชน คือ ความสำคัญหนึ่งที่จะต้องรีบช่วยกันแก้ไข
" อาจารย์ยะห์ยา " มองว่า การจัดค่ายเยาวชนสอนศาสนาภาคฤดูร้อน น่าจะเป็นแนวทางหนึ่งในการบรรเทาปัญหาเยาวชน
ซึ่งความคิดเรื่องจัดค่ายเยาวชนสอนศาสนา เป็นความคิดที่ " อาจารย์ยะห์ยา " เก็บสะสมไว้ ตั้งแต่ยังเป็นนักศึกษา
" อาจารย์ยะห์ยา " ทราบว่า กรุงเทพยุคนั้น มีการจัดอบรมภาคฤดูร้อนอยู่บ้างแล้ว เช่น กลุ่มชุมชนมุสลิมบางกอกน้อย และ สมาคมยุวมุสลิมแห่งประเทศไทย หรือ ยมท
แล้วจะรอช้าอันใดเล่า สิ่งดี ๆ อย่างนี้ ควรทำตาม ไอเดียอย่างนี้ จะมัวชักช้าด้วยเหตุใด
" อาจารย์ยะห์ยา " จึงรีบทำค่ายอบรมเยาวชนภาคฤดูร้อนในทันที ที่พื้นแผ่นดินบ้านเกิด " หนองจอก "
สำหรับ " ชาวหนองจอก " แล้ว วันนั้น ยังเป็นของใหม่ ฮือฮากันมาก มีนักเรียนมาร่วมเข้าค่ายถึง 385 คน
และนั่นก็คือ ปฐมบทแห่งตำนานงานค่ายที่สืบทอดกันมา
โดยงานค่ายใช้ชื่ออะไรในการจัด ชาวบ้านไม่ต้องการรับรู้ ชาวบ้านรับรู้อย่างเดียวพอ คือ " งานค่ายครูยา "
งานค่ายของ " อาจารย์ยะห์ยา " มีจุดเด่นอย่างหนึ่งที่ดูเป็นพิเศษ เพราะไม่เพียงแค่ทำการอบรมเยาวชนเด็ก ๆ เท่านั้น
แต่ " อาจารย์ยะห์ยา " พยามยามให้งานค่ายเป็นที่ฝึกฝนภาคปฏิบัติแก่เหล่าครูพี่เลี้ยงด้วย เช่น
ฝึกฝนให้เป็นอิหม่าม ฝึกฝนให้อ่านคุตบะฮ์วันศุกร์
เคยได้พบปะผู้มีประสบการณ์เป็นพี่เลี้ยง ในงานค่ายของ " อาจารย์ยะห์ยา "
หลายคนบอกตรงกันว่า กล้าหาญที่เป็นอิหม่ามต่อหน้าสาธารณชน พร้อมเป็นเคาะตีบอ่านคุตบะฮ์วันศุกร์ ก็เพราะได้ฝึกฝนมาจากงานค่ายของ " อาจารย์ยะห์ยา "
ด้วยการที่ " อาจารย์ยะห์ยา " ใส่ใจกับการอบรมเยาวชน เน้นสอนเยาวชนด้วยภาคปฏิบัตินี้เอง ทำให้ท่านกลายเป็นผู้เชี่ยวชาญในการสอนเด็กด้วยภาคปฏิบัติ
ปี พ.ศ. 2526
นับว่า เป็นปีแห่งการทำงานศาสนาเชิงรุก ที่ " อาจารย์ยะห์ยา " ได้สร้างสรร จนกลายเป็นมรดกแห่งความตรึงใจที่คนรุ่นหลังได้เล่าขาน
" อาจารย์ยะห์ยา " เข้ากลุ่มกับคณาจารย์ร่วมอุดมการณ์ สอนหนังสือที่ " โรงเรียนศาสนูปถัมภ์ คลองเคล็ด "
ซึ่งการร่วมสอนที่โรงเรียนดังกล่าว ได้สร้างนักเรียนให้กลายเป็นโต๊ะครู อาจารย์ นักทำงานศาสนา นักบริหาร นักจัดทำรายการโทรทัศน์ นักคิด นักเขียน นักสื่อสารมวลชน นักสังคมสงเคราะห์ และอีกมากมาย
ลูกศิษย์ลูกหาที่เป็นศิษย์เก่าต่างประทับใจช่วงเวลาดังกล่าว
บางส่วนของศิษย์เก่ามักคิดถึง และขนานนามวันนั้นว่า " ยุคทอง 4 ทหารเสือคณาจารย์โรงเรียนศาสนูปถัมภ์ คลองเคล็ด "
4 ทหารเสือผู้อุทิศชีวิตกับการสอนหนังสือ คือ
1 - อาจารย์อิสมาแอล วิสุทธิปราณี
2 - อาจารย์มุสตอฟา อยู่เป็นสุข
3 - อาจารย์วิทยา วิเศษรัตน์
4 - อาจารย์ยะห์ยา โต๊ะมางี
และปี พ.ศ.2526 เช่นกัน เป็นปีที่ " อาจารย์ยะห์ยา " ทุ่มเทชีวิตสุดตัว ด้วยการก่อตั้งมูลนิธิหนึ่งที่ทำงานให้แก่สังคมมุสลิม
มูลนิธิดังกล่าวมีชื่อว่า
" มูลนิธิอิสลามเพื่อการพัฒนา "
ซึ่งปัจจุบันนี้ มูลนิธินี้ยังคงทำงานอย่างเข้มแข็งรับใช้สังคมมุสลิม และสังคมส่วนรวม
ตลอดชีวิตของ " อาจารย์ยะห์ยา " ท่านได้อยู่กับการทำงานเพื่ออิสลามอยู่ตลอดเวลา
ท่านทำงานหลากหลาย ใครที่คุ้นเคยกับ " อาจารย์ยะห์ยา "
ย่อมทราบถึงความรักของท่านที่มีต่ออิสลามว่า มีมากขนาดใหน
บทความนี้ เป็นเพียงเสี้ยวหนึ่งของชีวิตท่านเท่านั้น
ยังมีเรื่องราวของท่านอีกมากที่ควรค่าแก่การบันทึกและเล่าขาน
และคงได้มีการพูดถึงอีกในโอกาสต่อ ๆ ไป
ขออัลลอฮ์ทรงโปรดตอบแทนความดีให้ " อาจารย์ยะห์ยา "
ขอพระองค์ทรงตอบแทนสรวงสวรรค์ให้ " อาจารย์ยะห์ยา " ที่เสียสละชีวิตอบรมสั่งสอนเยาวชนให้เป็นคนดี
ขอพระองค์ทรงประทานรางวัลให้สมกับความเหนื่อยยากของ " อาจารย์ยะห์ยา " ในการทำงานศาสนาเพื่อพระองค์ด้วยเถิด อามีน
เรียบเรียงโดย ....
มูซา วันแอเลาะ
โฆษณา