2 มี.ค. 2022 เวลา 12:30 • ประวัติศาสตร์
การเดินทางของเชลยโยดะยา
หลังจากสงครามเสียกรุงศรีอยุทธยา พ.ศ. 2310 (ค.ศ.1767) เชลยชาวอยุทธยาหรือที่ในภาษาพม่าออกเสียงว่า “โยดะยา” (ယိုးဒယား โยทยา) ทั้งอดีตพระมหากษัตริย์คือสมเด็จพระเจ้าอุทุมพรที่ผนวชอยู่ พระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการ และราษฎรจึงถูกกองทัพพม่ากวาดต้อนไปสู่กรุงรัตนบุระอังวะ ในจำนวนนี้ยังมีราษฎรจากหัวเมืองรายทางที่ถูกพม่าโจมตี ชาวล้านช้าง ชาวเชียงใหม่ และชาวต่างประเทศอื่นจำนวนมาก
ภาพเขียนชาวโยดะยา เขียนโดยจิตรกรพม่าเมื่อประมาณ ค.ศ. 1887 (พ.ศ. 2430)
พระราชพงศาวดารของไทยคือ “พระราชพงศาวดารฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ วัดพระเชตุพน ฉบับตัวเขียน” ระบุว่า เนเมียวมหาเสนาบดี หรือ เนมโยสีหะปะเต๊ะ (နေမျိုး သီဟပတေ့ Ne Myo Thihapate) แม่ทัพใหญ่อังวะได้ออกคำสั่งให้ส่งตัวพระบรมวงศานุวงศ์มาไว้ที่ค่ายโพธิ์สามต้นภายใต้การควบคุมของตน กองทัพพม่าจับครอบครัวราษฎรชายหญิงได้ประมาณ 30,000 คน ปืนใหญ่ประมาณ 1,200 กระบอก ปืนนกสับหลายหมื่นกระบอก รวมถึงพระราชทรัพย์ในท้องพระคลังและทรัพย์สินเงินทองสิ่งของของราษฎรจำนวนมากกระจายไปอยู่ตามค่ายต่างๆ
“มหาราชวงษ์พงษาวดารพม่า” หรือ “พระพงศาวดารพม่าฉบับหอแก้ว” ที่แปลเป็นภาษาไทยในรัชกาลที่ 5 โดยนายต่อ บันทึกรายพระนามพระบรมวงศานุวงศ์องค์สำคัญที่ถูกกวาดต้อนไปอังวะอย่างละเอียด ประกอบด้วย พระมเหสีของพระเจ้าเอกทัศ 4 พระองค์ พระอนุชา 12 พระองค์ พระขนิษฐภคินี 14 พระองค์ พระราชโอรส 3 พระองค์ พระราชธิดา 4 พระองค์ พระราชนัดดาเจ้าชาย 14 พระองค์ พระราชนัดดาเจ้าหญิง 14 พระองค์ พระราชภาคิไนยเจ้าชาย 2 พระองค์ พระราชภาคิไนยเจ้าหญิง 2 พระองค์ พระสนมที่เป็นเชื้อพระวงศ์ รวม 869 พระองค์ รวมพระบรมวงศานุวงศ์ทั้งหมดมากกว่า 2,000 องค์ เสนาบดีอยุทธยา 6 คน
นอกจากนี้ยังให้กวาดต้อนราษฎรผู้ชำนาญสาชาวิชาชีพต่างๆ เก็บรวบรวมอาวุธปืนของมีค่าจำนวนมาก
“...แล้วแม่ทัพจัดเรียกเสรฐีพ่อค้าผู้มีปัญญา แลช่างต่างๆ แลดนตรีเต้นรำต่างๆ ไปนั้นคือ ช้างไม้, ช้างแกะ, ช้างกลึง, ช่างเหล็ก, ช่างทอง, ช่างบุ, ช่างหล่อ, ช่างลงยา, ช่างปั้น, ช่างเขียนลายทอง, แลช่างเขียนต่างๆ ช่างเจียรไนยเพชรพลอย, ช่างฟอกซักต่างๆ ตำราเวทมนต์เลขยันต์ และตำรายาต่างๆ และตำราหมอดู และหนังสือพระไตรปิฎก หมอช้างและหมอตำรายาช้าง หมอม้าและหมอตำรายาม้า และตำราทำกับเข้าต่างๆ แลพร้อมด้วยช่างทำขนมกับเข้าด้วย และเที่ยวเก็บเงินทองรูปพรรณเพชรนิลจินดาภาชนใช้สรอยต่างๆ ไปสิ้น
แล้วแม่ทัพจัดให้คัดเลือกเอาอานช้างลายทอง พระที่นั่งทรงพระเจ้าอยุทธยาไป ๗ อาน เรือใบสำหรับพลทหาร ๒๐๐๐ ลำ ปืนสับนกคาบสิลาลายเงินลายทอง ๑๐๐ กระบอก ปืนคาบสิลาธรรมดา ๑๐๐๐๐ กระบอก ปืนใหญ่หล่อด้วยทองแดงที่เรียกว่าสองพี่น้องนั้น ๒ กระบอก ปืนสำหรับทลายกำแพงแลปืนใหญ่ต่างๆ รวม ๓๕๕๐ กระบอก แลพร้อมด้วยกระสุนปืนลูกแตก แลสายโซ่สำหรับใส่ปืนยิงเปนอันมาก แม่ทัพได้จัดคัดเลือกเอาแต่ที่อาวุธดีมีราคาทั้งสิ้น ที่มิได้เอาไปทิ้งไว้ที่กรุงศรีอยุทธยาก็เปนอันมากอนันตังนับมิถ้วน ปืนใหญ่บางกระบอกใหญ่หลวงนัก เอาไปไม่ได้ก็บรรจุดินอัดให้แน่นแล้วเอาไฟเผาจุดเสียให้แตกก็มากหลายกระบอก
แล้วแม่ทัพจัดให้มีเต้นรำต่างๆ สมโภชกองทัพ ๑๒๙ ทัพนั้นทุกๆ ทัพคือ เต้นรำพม่า, เต้นรำมอญ, เต้นรำทวาย, เต้นรำตนาว, เต้นรำลาวญวน, เต้นรำอยุทธยา, และพร้อมด้วยเต้นรำต่างๆ ครั้นสมโภชเสร็จแล้ว สีหะปะเต๊ะแม่ทัพได้ทราบข่าวว่าจีนห้อมาติดกรุงอังวะ สีหะปะเต๊ะแม่ทัพจึงจัดพลทหารพลเมืองชายหญิง มอบให้นายทัพนายกอง ๔๐๖ คน ควบคุมรวบรวมทหารพลเมืองอยุทธยา ๑๐๖๑๐๐ คน มอบแบ่งให้นายทัพนายกองเสร็จแล้ว ครั้น ณ วัน ๙ฯ ๗ ค่ำ จุลศักราช ๑๑๒๙ สีหะปะเต๊ะแม่ทัพได้ยกทัพออกจากกรุงศรีอยุทธยาไปยังกรุงรัตนบุระอังวะ...”
.
พงศาวดารพม่าฉบับหอแก้ว ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการควบคุมเชลยอยุทธยาว่า ให้นายทหารชั้นต๊ะมู (Tat-hmu) คุมเชลยคนละ 100 ครอบครัว สิตแก (Sitkè) คนละ 75 ครอบครัว นะกาน (Nakan) คนละ 50 ครอบครัว ต๊ะเย (Tat-ye) คนละ 5 ครอบครัว ทหารทั่วไปคนละ 2 ครอบครัว มีนายกองผู้ควบคุมทั้งหมด 406 คน รวมเชลยทั้งหมด 106,100 คน ออกเดินทางจากกรุงศรีอยุทธยาในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2310 (ค.ศ. 1767) แต่พบหลักฐานว่ามีเชลยหลายกลุ่มที่สามารถหลบหนีการควบคุมของพม่าไปได้
เนมโยสีหะปะเต๊ะ แต่งตั้งสุกี้พระนายกองชาวมอญที่สวามิภักดิ์ให้เป็น “ผู้รักษากรุงเทพฯ” ให้อยู่รักษาค่ายโพธิ์สามต้นเพื่อรวบรวมผู้คนที่ยังตกค้าง และควบพระราชวงศ์บางองค์ที่ประชวรอยู่ พระราชวงศ์บางองค์ประชวรสิ้นพระชนม์ในเวลาต่อมา ส่วนเชลยที่เหลือรอดได้รับการช่วยเหลือเมื่อพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงตีค่ายโพธิ์สามต้นแตกในอีก 7 เดือนต่อมา
.
พระราชพงศาวดารฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ฯ ให้ข้อมูลว่าการกวาดต้อนเชลยอยุทธยาถูกแยกออกเป็นสองส่วน เดินทางไปทางเหนือและทางใต้ บรรจบกันที่เมืองเมาะตะมะ
ทางเหนือ : เนมโยสีหะปะเต๊ะ ควบคุมกองทัพอัญเชิญสมเด็จพระเจ้าอุทุมพรและพระบรมวงศานุวงศ์ ครอบครัวขุนนางและราษฎรส่วนหนึ่งถอยทัพบกทัพเรือกลับขึ้นไปทางเมืองอุทัยธานี แล้วขึ้นบกไปยังเมืองเมาะตะมะ สันนิษฐานว่าเพื่อหลบหลีกจากหัวเมืองเหนือของอยุทธยาที่อยู่ภายใต้อำนาจของเจ้าพระยาพิษณุโลกที่เป็นชุมนุมอิสระในเวลานั้น
หลักฐานพม่าให้ข้อมูลมากกว่าว่า ระหว่างทางเนมโยสีหะปะเต๊ะ ได้พบกับมังรายมังละอุชนา (မင်းရဲမင်းလှဥဇနာ Min-yè Min-hla Uzana) เจ้าเมืองเมาะตะมะที่ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นแม่ทัพของกองทัพฝ่ายใต้ของอังวะที่ยกทัพออกจากเมืองเมาะตะมะกำลังจะเดินทางไปเป็นทัพหนุนที่อยุทธยา จึงออกคำสั่งให้สีรินันทมิตรกฺยอถาง (သီရိနန္ဒမိတ်ကျော်ထင် Thiri Nandameik Kyawdin) สิตแกปลัดทัพหนุนควบคุมแพบรรทุกปืนใหญ่จากอยุทธยากลับไปอังวะ ในจำนวนนี้มี “ปืนใหญ่สองพี่น้อง” ที่พม่าบันทึกว่าเป็นปืนใหญ่คู่บ้านคู่เมืองของอยุทธยาด้วย ดังที่มหาราชวงษ์พงษาวดารพม่าบันทึกว่า
“...แล้วสีหะปะเต๊ะจัดให้แม่ทัพหลวงนั้นคุมปืนใหญ่สองพี่น้องและปืนใหญ่อื่นๆ อิกรวม ๕๐๐ กระบอกเศษ บรรทุกแพคุมไปกรุงอังวะ แต่สีหะปะเต๊ะนั้นคุมทหารไปโดยทางบก ครั้นเดือน ๙ ศกนั้นก็ถึงเมืองรัตนบุระอังวะ แล้วสีหะปะเต๊ะแม่ทัพได้เอาสาตราอาวุธทั้งปวง แลพระราชวงษ์แลพระมเหษีแลพระสนมทั้งปวงกับเครื่องภาชนใช้สอยเงินทองทั้งปวงถวายแด่พระเจ้ากรุงอังวะสิ้น...”
.
ทางใต้ : “ปะกันหวุ่น” (ပုဂံဝန် Pagan Wun) หรือ มังกรีกามณิจันทะ (မင်းကြီး ကါမဏိစန္ဒ Mingyi Kamani Sanda) เจ้าเมืองพุกาม เป็นแม่ทัพควบคุมครอบครัวขุนนางและราษฎรอีกส่วนหนึ่ง รวมถึงเรือบรรทุกปืนใหญ่น้อยที่ยึดมาได้ ถอยกลับไปทางเมืองกาญจนบุรี ไปยังเมืองเมาะตะมะ แล้วบรรทุกปืนลงเรือใหญ่ออกจากปากน้ำเมืองเมาะตะมะข้ามไปปากน้ำเมืองเสี่ยง (สิเรียม Syriam) ก่อนจะส่งขึ้นไปกรุงอังวะ
“...ฝ่ายปะกันหวุ่นแม่ทับทางใต้ก็ยกทับเรือ กับทั้งเรือบันทึกปืนแลครอบครัวไท แบ่งไปทางบกทางเรือบ้าง แลตัวปะกันหวุ่นนั้นไปทางเรือ ครั้นลงมาถึงตลาดแก้วเหนว่า ปืนพระพิรุณนั้นก็ใหญ่นัก เหลือกำหลังที่จะเข้าขึ้นไปถึ่งเมืองอังวะ จึ่งให้เชนชักขึ้นจากเรือเอาขึ้นที่วัดเขมา ให้เอาดินดำประจุะเตมกระบอกจุดเพลีงระเบีดเสีย แล้วจึ่งตั้งนายทองอินคนหนึ่งเปนไทเข้าเกลี้ยกล่อมให้เรียกว่าจ้าวทองอิน เปนเจ้าเมืองธนบูรี ให้รวบรวมราษฎรซึ่งเหลือตกค้างอยู่นั้น อยู่รักษาเมืองธน ตำบลบางกอกใหญ่ แล้วก็ยกทัพเรือออกไปทางเมืองกาญจนะบูรีย บันจบกับกองทับซึ่งยกไปทางเมืองสุพรรณบูรีนั้น แล้วก็ขึ้นบกเกนพลทหารให้ลากปืนใหญ่ขึ้นจากเรือที่ท่าดินแดงแล้วลากเข็นไปทางบก
อหนึ่งปะกันหวุ่นเอาเรือพระธินั่งกิ่งไปลำหนึ่งเอาขึ้นตะเข้ลากไปกับทั้งปืนใหญ่ด้วยกัน จนตกลำน้ำเมืองสะมิะ เอาปืนลงบรรทุกเรือใหญ่ออกปากน้ำเมืองเมาะตะมะไปเข้าปากน้ำเมืองเสี่ยง ส่งขึ้นไปเมืองอังวะถวายกับทั้งเรือกิ่ง และครอบครัวไทซึ่งกวาดต้อนไปนั้น...”
.
กองทัพพม่าที่เดินทางผ่านกาญจนบุรีน่าจะเดินทางไปทางเมืองทวายด้วย ปรากฏใน “ราชวงษปกรณ์ พงษาวดารเมืองน่าน” ว่า
“...ครั้นว่าม่านได้เมืองใต้แล้ว ม่านก็เอกเจ้าฟ้าดอกเดื่ออันเปนเจ้าเมืองใต้คืนเมืองอังวะพุ้นแล เมือทางเมาะตมะทวายแลดังตัวเจ้านายอ้ายนั้น ก็เอาติดตามทวยม่านเมืองทางแสนนั้นแล ครั้นเมือเถิงเมืองอังวะแล้วเจ้านายอ้ายก็ได้กราบทูลมหากระษัตริย์เมืองอังะหั้นแล ๚”
ข้อมูลของเมืองน่านระบุว่าเจ้านายอ้ายผู้ครองเมืองน่านถูกนำตัวเดินทางไปพร้อมสมเด็จพระเจ้าอุทุมพรทางเมืองทวายด้วย ขัดแย้งกับพระราชพงศาวดารฉบับสมเด็จพรพนรัตน์ฯ ที่ระบุว่าสมเด็จพระเจ้าอุทุมพรกับพระราชวงศ์อยุทธยาถูกพาไปทางเหนือกับเนมโยสีหะปะเต๊ะ สันนิษฐานว่าในทางปฏิบัติน่าจะมีการแบ่งพระราชวงศ์ให้ปะกันหวุ่นควบคุมไปด้วยเช่นกัน ทั้งนี้พบหลักฐานว่ามีเชลยอยุทธยาที่เมืองทวายอยู่ในสมัยรัชกาลที่ 1
จิตรกรรมวัดเจาตอจี เมืองอมรปุระ สันนิษฐานว่าเป็นภาพเด็กชาวโยดะยา
สำหรับการเดินทางออกจากเมืองเมาะตะมะขึ้นไปกรุงอังวะ มีการสันนิษฐานว่าได้แยกออกเป็นเส้นทางบก และเส้นทางน้ำ ดังต่อไปนี้
เส้นทางบก
จากการสำรวจเส้นทางภาคสนามพบว่า เนมโยสีหะปะเต๊ะ น่าจะกวาดต้อนเชลยอยุทธยาออกจากเมืองเมาะตะมะขึ้นไปตามริมฝั่งแม่น้ำสะโตง โดยอาจมีการลำเลียงแพบรรทุกอาวุธไปตามแม่น้ำสะโตงด้วย แล้วข้ามแม่น้ำ เดินทางขึ้นเหนือไปยังเมืองหงสาวดี (Hanthawaddy) เมืองมิถิลา (Meiktila) เมืองตองอู (Taungoo) เข้าสู่พื้นที่ชลประทานเจ่าก์เซ (Kyaukse) เนื่องจากพบหลักฐานทางศิลปกรรมที่บ่งชี้ว่าน่าจะมีชุมชนชาวอยุทธยาอยู่ในแนวเส้นทางนี้ เช่น ร่องรอยของเจดีย์ย่อมุม (หรือเพิ่มมุม) อิทธิพลศิลปะอยุทธยา ปรากฏอยู่ที่หมู่บ้านชาวสยาม เมืองเจ่าก์เซ เป็นต้น
จากนั้นอาจมีการพักเชลยไว้ที่ทางทิศใต้ของกรุงอังวะก่อน สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นบริเวณหมู่บ้านที่ตั้งของ “วัดเยตะพัน” (วัดมะเดื่อ) ทางใต้กรุงอังวะเป็นศูนย์กลางของชุมชน จากนั้นจึงนำเชลยแบ่งออกไปอยู่ตามที่ต่างๆ
.
เส้นทางน้ำ
หลังล่องเรือออกจากเมืองเมาะตะมะ ผ่านปากน้ำเมืองสะโตง ไปเข้าเมืองสิเรียมแล้ว สันนิษฐานว่ามีการเดินเรือล่องขึ้นไปตามแม่น้ำอิรวดี ผ่านเมืองแปร (Pye) เมืองมีนบู (Minbu) เมืองซะลีน (Salin) เมืองพุกาม (Pagan) จนไปถึงกรุงอังวะ เนื่องจากปรากฏหลักฐานว่าเมืองต่างๆ ริมแม่น้ำอิรวดีเหล่านี้มีศิลปกรรมของชาวอยุทธยาอยู่หลายแห่ง เช่น จิตรกรรมฝาผนังกู่วุดจีกูพญา (Wut Kyi Gu Hpaya) เมืองมีนบู และที่เมืองซะกุ (Sagu) เป็นต้น
มีข้อสันนิษฐานว่าสมเด็จพระเจ้าอุทุมพรทรงถูกกวาดต้อนไปตามเส้นทางนี้ เพราะปรากฏหลักฐานคือ “คำให้การมหาโค มหากฤช เรื่อง เมืองพม่า” ซึ่งเป็นคำให้การของมหาโค เชลยอยุทธยาที่ถูกกวาดต้อนไปพม่าหลังสงครามเสียกรุงพร้อมกับสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร ซึ่งภายหลังได้กลับมาเมืองไทยพร้อมกับมหากฤชบุตรชายในรัชกาลที่ 2 มีเนื้อหาว่า
“...ด้วยข้อความว่า เมื่อครั้งอ้ายพะม่ายกมาตีกรุงเทพฯ ศรีอยุธยาได้นั้น มหาโคเป็นฆราวาศ อายุ ๒๗ ปี ตามเจ้าวัดประดู่ไปพลัดกันตกอยู่ณเมืองเปร จึงบวชเป็นภิกษุได้ ๑๔ พรรษา แล้วสึกออก มีภรรยา เกิดบุตร คือ ตัวมหากฤชนั้น...”
ข้อมูลนี้บ่งชี้ว่า “เจ้าวัดประดู่” หรือสมเด็จพระเจ้าอุทุมพรพลัดหลงกับมหาโคที่เมืองเปร หรือเมืองแปร ที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำอิรวดีก่อนถึงเมืองอังวะ
.
.
เมื่อชาวอยุทธยาถูกวาดต้อนมาถึงกรุงอังวะแล้ว จึงมีการจัดแยกเชลยไปตั้งถิ่นฐานตามที่ต่างๆ
“มหาราชวงษ์พงษาวดารพม่า” บันทึกว่าพระเจ้ามังระ หรือ พระเจ้าช้างเผือก (ဆင်ဖြူရှင် Hsinbyushin) “...ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระมเหษีแลพระราชบุตรีแลพระสนมที่เปนพระราชวงษ์พระเจ้ากรุงศรีอยุทธยา ที่เปนเจ้าหญิงทั้งปวงนั้น ทรงจัดให้สร้างวังเอาเข้าไว้ในมหาพระราชวังหลวง แต่พระราชวงษานุวงษ์แลขุนนางข้าราชการแลพลเมืองพลทหารอยุทธยาทั้งปวงนั้น ทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างวังแลทำเย่าเรือนเคหาอยู่ตามภูมิลำเนานอกกำแพงพระราชวัง แล้วทรงโปรดเกล้าฯ เลี้ยงดูให้อยู่เปนศุขทุกคน มิให้ร้อนใจสิ่งหนึ่งสิ่งใด”
พงศาวดารพม่าฉบับราชวงศ์คองบอง บันทึกไว้ใกล้เคียงกันว่า "...ครั้นพระเจ้าช้างเผือกอังวะทรงได้อาณาจักรอยุธยาอันไพศาล มีแดนอยุธยา โยนก สมพระทัยแล้ว พระองค์มิได้ทอดทิ้งให้เหล่าพระมเหสี พระธิดา พระกนิษฐา และพระนัดดาของเจ้าพระนครอยุธยาให้ได้ยาก พระองค์โปรดให้กักตัวไว้ให้อยู่แต่บริเวณเรือนภายในราชธานี แล้วมอบหมายให้เหล่าอำมาตย์พม่าเป็นผู้ถวายงานกันไปแต่ละพระองค์ พระราชโอรส พระราชอนุชา และพระราชนัดดาล้วนเป็นชาย พระองค์โปรดจัดที่พำนักในเรือนชั้นนอก และพระราชทานอาหาร เสื้อผ้าและเครื่องอุปโภคบริโภคต้องตามธรรมเนียมไทยจนพอเพียง ขึ้นชื่อว่าอำมาตย์ ผู้ดี ไพร่ ที่เป็นชาวอยุธยา กษัตริย์พม่าโปรดจัดย่านให้ตั้งบ้านเรือนอยู่กินอาศัยสิ้น..."”
พระราชธิดาของพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศคือ เจ้าฟ้ากุณฑล เจ้าฟ้ามงกุฎ ผู้ประพันธ์ดาหลังและอิเหนา ทรงมีบทบาทในการถ่ายทอดนาฏศิลป์ของอยุทธยาให้ราชสำนักพม่า นอกจากนี้ในเวลาต่อพระราชวงศ์อยุทธยาที่เป็นหญิงหลายองค์ได้ถวายตัวเป็นพระสนมของกษัตริย์พม่า หรือสมรสกับเจ้านายชั้นสูงของพม่าด้วย
จิตรกรรมฝาอุโบสถวัดมหาเตงดอจี (Maha Thein Taw Gyi Temple) รูปพระพุทธเจ้าประทับนั่งภายในบุษบก 9 ยอด ส่วนฐานประกอบด้วยชั้นของลายกระจัง เทพนม ครุฑ และสิงห์ (หรือนาค) เรียงลำดับจากบนลงล่าง ขนาบด้วยเครื่องสูงภายใต้กรอบของเส้นสินเทา หรือแถบหยักฟันปลา ศิลปะแบบปลายอยุทธยา-ต้นรัตนโกสินทร์ กำหนดอายุประมาณช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 24
มีเชลยชาวอยุทธยาตั้งถิ่นฐานอยู่นอกกรุงอังวะด้วย พระราชพงศาวดารฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ฯ ระบุว่าพระเจ้ามังระเชื้อพระวงศ์อยุทธยาไปตั้งบ้านเรือนอยู่ที่เมืองจักไก หรือเมืองสะกาย (Sagaing) ที่ตั้งอยู่ทางทิศเหนือคนละฝั่งแม่น้ำกับกรุงอังวะ ในขณะที่เนมโยสีหะปะเต๊ะ ได้รับตำแหน่งเป็น “โยทธยาหวุ่น” ผู้บังคับควบคุมชาวไทยทั้งหมด (ไม่ปรากฏในหลักฐานพม่า)
“...ฝ่ายเนเมียวมหาเสนาบดียกกองทัพครอบครัวไทกับทังพระราชวงษานุวงษกระษัตรเมืองไทซึ่งกวาดต้อนไปนั้น ครั้นถึ่งเมืองอัวสะก็เข้าเฝ้าพระเจ้ามังระ กราบทูลถวายผู้คนชาวกรุงศรีอยุทธยาแลพระราชวงษานุวงษ กับทรัพย์สี่งของทองเงีนเปนอันมาก พระเจ้าอังวะจึ่งปูนบำเหนจ์ตั้งเนเมียวเปนโยทธยาหวุ่นให้ควบคุมพวกไททั้งสิ้น แลขุนหลวงวัดประดู่นั้นพระเจ้าอังวะให้ศึกออกเปนคหัด แต่บันดาเชื้อพระวงษกระษัตรกรุงไทนั้น ให้ไปตั้งบ้านเรือนอยู่ ณะ เมืองจักไก ฝ่ายฟากแม่น้ำข้างโน้นตรงเมืองอังวะข้าม...”
ในประเด็นที่กล่าวว่าสมเด็จพระเจ้าอุทุมพรถูกสึกเป็นคฤหัสถ์น่าจะคลาดเคลื่อน เพราะหลักฐานฝ่ายพม่าระบุว่าพระองค์ยังทรงครองเพศบรรพชิตอยู่จนเสด็จสวรรคตที่กรุงอมรปุระใน พ.ศ. 2339 (ค.ศ. 1796)
เมืองสะกายมีหลักฐานทางศิลปกรรมสมัยอยุทธยาชิ้นสำคัญคือ จิตรกรรมฝาอุโบสถวัดมหาเตงดอจี (Maha Thein Taw Gyi Temple) ทางตะวันตกของเมืองสะกาย เขียนเป็นรูปพระพุทธเจ้าประทับนั่งภายในบุษบก 9 ยอด ส่วนฐานประกอบด้วยชั้นของลายกระจัง เทพนม ครุฑ และสิงห์ (หรือนาค) เรียงลำดับจากบนลงล่าง ขนาบด้วยเครื่องสูงภายใต้กรอบของเส้นสินเทา หรือแถบหยักฟันปลา มีการเขียนลายกระหนกเป็นลวดลายพันธุ์พฤกษา ซึ่งเป็นศิลปกรรมอิทธิพลสกุลช่างอยุทธยาตอนปลายอย่างชัดเจน
.
นอกจากเมืองสะกายแล้ว เชลยชาวอยุทธยาน่าจะถูกกวาดต้อนไปอยู่ตามเมืองต่างๆ ที่มีความสำคัญในด้านการเพาะปลูก และในบริเวณที่ซึ่งเคยได้ให้ชาวอยุทธยาไปตั้งชุมชนอยู่ตั้งแต่สมัยพระเจ้าบุเรงนองด้วย เช่น เมืองมีนบู เมืองซะลีน เมืองซะกุ ที่พบหลักฐานจิตรกรรมสกุลช่างอยุทธยาตอนปลายอยู่เช่นกัน
เชลยอยุทธยาบางกลุ่มถูกกวาดต้อนไปอยู่แถบเมืองทวาย เมืองมะริด เช่น กรมขุนรามินทรสุดา หรือที่ออกพระนามว่า “พระองค์เจ้าชี” พระธิดาของพระเจ้าขุนรามณรงค์ พระเชษฐาของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1 ถูกกวาดต้อนไปอยู่ที่กรุงอังวะ ภายหลังหลบหลีกลงมาอยู่เมืองทวาย ผนวชเป็นชีอยู่กับ เมื่อเจ้าเมืองทวายเข้ามาสวามิภักดิ์กรุงเทพฯ ใน พ.ศ. 2335 (ค.ศ. 1792) จึงจัดให้พระสงฆ์ไทยคือมหาแทนถือหนังสือพระองค์เจ้าชีมาถวาย เมื่อกองทัพกรุงเทพฯ ยกไปถึงเมืองทวายจึงได้รับตัวพระองค์เจ้าชีกลับมา พร้อมกันนั้นยังมีชาวอยุทธยาจำนวนมากติดตามกลับมาด้วย ที่เมืองทวายยังมีตามาเป็นคนไทยอยุทธยาที่รู้จักกับรัชกาลที่ 1 มาตั้งแต่ยังไม่เสียกรุง โดยตั้งบ้านเรือนอยู่ใกล้กัน
บทความ Early British Merchant In Bangkok ของ R. Adey Moore อ้างว่ามีหลานสาวคนหนึ่งของ คอนสตันซ์ ฟอลคอน (Constacne Phaulkon) เสนาบดีชาวกรีกในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ถูกกวาดต้อนไปอยู่ที่เมืองมะริด แล้วได้แต่งงานกับคาทอลิกจากมาเก๊าผู้เป็นนายกองโปรตุเกสในกองทัพพม่า มีบุตรสาวชื่อฟิลิปปา (Philippa) ซึ่งได้กลับมาอาศัยที่ชุมชนวัดซางตาครู้สในกรุงเทพฯ ภายหลัง
ภาพเจ้าชายโยดะยา ศิลปะพม่า
ใน พ.ศ. 2326 (ค.ศ. 1783) พระเจ้าปดุง หรือ โบดอพญา (Bodawpaya) ทรงสร้างราชธานีแห่งใหม่คือเมืองอมรปุระ ทางตะวันออกเฉียงเหนือไม่ไกลจากกรุงอังวะ แล้วทรงย้ายพระราชวังและพระบรมวงศานุวงศ์ไปยังราชธานีแห่งใหม่ ทำให้พระบรมวงศานุวงศ์กรุงศรีอยุทธยาที่ประทับในกรุงอังวะจึงย้ายไปประทับที่อมรปุระ
ก่อนหน้านั้นพระเจ้ามังระโปรดให้เชลยชาวยวน (เชียงใหม่) และอยุทธยาที่ถูกกวาดต้อนมาตั้งแต่สงครามเสียกรุง ไปตั้งบ้านเรือนอยู่ใน “ตำบลระแหง” ปัจจุบันอยู่ใกล้กับคลองชเวตะชอง (Shwe-ta-chaung) อีกพื้นที่คือ “ตำบลมีนตาสุ” ซึ่งตั้งอยู่ในตอนใต้ของคลองชเวตะอง ปรากฏว่าเดิมเป็นบริเวณที่ราชสำนักจัดให้เจ้านายยวนและอยุทธยาพำนักอยู่ด้วย
ทั้งสองพื้นที่นี้รู้จักกันต่อมาในชื่อ “ระแหงอะยะ” (หรือย่านระแหง) และมีนตาสุอะยะ (ย่านเจ้าฟ้าหรือเจ้าชาย)
คลองชเวตะชองเพิ่งขุดขึ้นภายหลังในช่วง พ.ศ. 2325-2326 (ค.ศ. 1782-1783) ต้นรัชกาลพระเจ้าปดุง ผ่านย่านที่เชลยอยุทธยาและชาวยวนตั้งถิ่นฐานอยู่ก่อนแล้ว จึงพบว่ามีชุมชนชาวอยุทธยาอาศัยอยู่ตลอดแนวคลองนี้ และเมื่อพระเจ้าปดุงทรงย้ายราชธานีมาอยู่ที่กรุงอมรปุระ พื้นที่นี้จึงเป็นเขตหนึ่งของกรุงอมรปุระ และเมื่อย้ายราชธานีไปอยู่ที่เมืองมัณฑะเลย์ในรัชกาลพระเจ้ามินดง (Mindon Min) ซึ่งอยู่ทางเหรือไม่ไกลจากอมรปุระมาก พื้นที่นี้จึงถูกจัดเป็นปริมณฑลของเมืองมัณฑะเลย์ไป จากการสำรวจภาคสนาม พบว่าในบริเวณริมคลองชเวตะชองปัจจุบันยังมีวัดที่มีประวัติเกี่ยวข้องกับเชลยชาวอยุทธยาหลายวัด
ในระแหงอะยะ และมีนตาสุอะยะ ราชสำนักพม่าได้ปลูกสร้างบ้านเรือนและตลาดไว้ให้ เกิดเป็น “ตลาดโยธยา” (Yodaya Zay) ทั้งสองชุมชนมี “ศาลพระราม” หรือ “ศาลยามะ” ที่ชาวอยุทธยาสร้างขึ้นสำหรับเก็บรักษาหัวโขนสำหรับไหว้ครู และบูชานัตพระราม เป็นศาลที่ผู้คนเชื้อสายอยุทธยาให้การเคารพนับถือมาแต่โบราณ คนในชุมชนริมคลองชเวตะชองยังมีประเพณีก่อพระเจดีย์ทรายขึ้นสักการบูชา ตามประเพณีนิยมของชาวล้านนา ล้านช้าง และอยุทธยา
 
มีการสันนิษฐานว่า “ปองเลไต๊” (Paung Le Tike ตึกปองเล) ในย่านตลาดระแหง เป็นสถานที่ซึ่งสมเด็จพระเจ้าอุทุมพรเคยอยู่จำพรรษา และน่าจะเป็นวัดแรกของคนเชื้อสายอยุทธยาในอังวะ
ในเมืองอมรปุระยังมี “ลีนซีนกง” (Linzin-gon) หรือ “ดอนล้านช้าง” ซึ่งเป็นสถานที่ที่พระเจ้ามังระโปรดให้เชลยศึกชาวยวน (เชียงใหม่) และชาวล้านช้างอาศัยอยู่โดยเรียกรวมกันว่า ลีนซีนอะมูทาน (Linzin Ahmudan) หรือไพร่ล้านช้าง โดยมีบันทึกของพม่าที่ระบุว่าสมเด็จพระเจ้าอุทุมพรได้รับการจัดงานพระราชทานเพลิงพะบรมศพในสถานที่นี้
สถูปที่สันนิษฐานว่าอาจจะเป็นที่บรรจุพระบรมอัฐิของสมเด็จเจ้าฟ้าอุทุมพร หลังจากถูกนำไปอยู่ที่พม่าและมรณภาพในเพศบรรพชิต ที่สุสานลินซินกง ชานเมืองอมรปุระ
ในปัจจุบันยังมีชุมชนชาวพม่าที่ยังจดจำได้ว่าตนมีบรรพบุรุษเป็นชาวอยุทธยา เช่น หมู่บ้านสุขะ ตอนเหนือของเมืองมัณฑะเลย์ แม้ว่าแทบไม่หลงเหลือร่องรอยทางวัฒนธรรมของอยุทธยาให้เห็นได้อย่างชัดเจนเนื่องจากถูกกลืนเป็นพม่าไปแล้ว แต่คนในชุมชนก็ยังคิดว่าตนเองเป็นชาวโยดะยาอยู่ คนรุ่นเก่าไม่นิยมแต่งงานกับคนนอกหมู่บ้านเพื่อพยายามรักษาเชื้อชาติของตนเองไว้ และมีการใช้คำศัพท์ภาษาไทยเป็นภาษาลับในสื่อสารภายในชุมชน
บรรณานุกรม
ภาษาไทย
- ทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค), เจ้าพระยา. (2538). พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 1 ฉบับโรงเรียนสวนกุหลาบ. กรุงเทพฯ: แสงไทยการพิมพ์.
- โบราณคดีสโมสร (ผู้รวบรวม). (2461). ประชุมพงษาวดาร ภาคที่ 10. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร. [พิมพ์ครั้งแรกในงานปลงศพพระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดชฯ ปีมะเมีย พ.ศ. 2461].
- พระราชพงศาวดารฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ วัดพระเชตุพน ตรวจสอบชำระจากเอกสารตัวเขียน. (2558). กรุงเทพฯ: อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน).
- มิคกี้ ฮาร์ท. (2555). โยเดียกับราชวงศ์พม่า เรื่องจริงที่ไม่มีใครรู้. (พิมพ์ครั้งที่ 2). กรุงเทพฯ: สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ.
- ราชบัณฑิตยสภา (ผู้รวบรวม). (2472). ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ 14. (พิมพ์ครั้งที่ 2). พระนคร: โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร. [นายพลโท พระยากลาโหมราชเสนา (เล็ก ปาณิกบุตร) พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพเถ้าแก่ทองดี ปาณิกบุตร จ.จ. เมื่อปีมะเส็ง พ.ศ. 2472].
- วลัยลักษณ์ ทรงศิริ (23 ธันวาคม 2559). "สถูปเจ้าฟ้าอุทุมพร และลูกหลานชาวโยดะยาในพม่า "คุณหมอทิน มอง จี"". ศิลปวัฒนธรรม. สืบค้นเมื่อ 1 มีนาคม 2565.
- ศานติ ภักดีคำ และปองขวัญ สุขวัฒนา ลาซูส. (2561). ตามรอยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอุทุมพรจากกรุงศรีอยุธยาสู่กรุงอมรปุระ. กรุงเทพฯ: สมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปภัมภ์.
- สุจิตต์ วงษ์เทศ, (บรรณาธิการ). (2545). มหาราชวงษ์พงษาวดารพม่า (นายต่อ, ผู้แปล). กรุงเทพฯ: มติชน.
- หม่องหม่องทิน (เขียน), ส. หยกฟ้าและสุเนตร ชุตินธรานนท์ (แปล). (2555). เชลยไทยในมัณฑะเลย์. ใน สุเนตร ชุตินธรานนท์ (บรรณาธิการ), พม่าอ่านไทย : ว่าด้วยประวัติศาสตร์และศิลปะไทยในทรรศนะพม่า (น.93-109). กรุงเทพฯ: มติชน.
- อรวินท์ ลิขิตวิเศษกุล และสิทธิพร เนตรนิยม. (2561). รอยศิลป์อยุธยาในพม่า. กรุงเทพฯ: สมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปภัมภ์.
ภาษาต่างประเทศ
- Boeles, J. J. (1968). 'Note on an Eye-witness Account in Dutch of the Destruction of Ayudhya in 1767'. Journal of the Siam Society. 56(1), 101-11.
- Moore, R.D. (1915). Early British Merchant In Bangkok. Journal of the Siam Society. 11(2), 21-39.
- Phraison Salarak, Luang., (Trans). (1914-15). Intercourse between Burma and Siam as recorded in Hmannan Yazawindawgyi. Journal of the Siam Society. 11(3), 1-67.
วิดีโอ
"โยเดีย ที่คิด(ไม่)ถึง: สายเลือดอโยธยา ?". ไทยพีบีเอส. 8 กรกฎาคม 2560. สืบค้นเมื่อ 1 มีนาคม 2565. https://www.youtube.com/watch?v=1R2W5mpUqsI&t=2635s
โฆษณา