2 มี.ค. 2022 เวลา 11:05 • ไลฟ์สไตล์
วิธีรับมือกับ "Tinder Swindler"
หนังเรื่อง Tinder Swindler จาก Netflix น่าจะได้เคยผ่านตาหรือผ่านหูกันบ้างแล้ว
ถ้าใครยังไม่รู้ว่ามันเกี่ยวกับอะไร ลองอ่านบทความนี้ไปก่อนได้ คุณจะได้รู้และป้องกันไปได้เลยในคราวเดียว
นักจิตวิทยา Alina Liu Psy.D. ได้เขียนบทความลงใน Psychology Today เพื่อชำแหละ
Shimon Hayut นักรักจอมลวงคนนี้ว่าเล่นกลกับสมองส่วนการรับรู้ของเราอย่างไร
และเราจะป้องกันได้อย่างไร
กับดัก ขั้นแรก : สร้างความเชื่อใจด้วยการสร้างความเชื่อมโยงบนสื่อออนไลน์ และพร้อมที่จะเจอคุณทันที
เป็นธรรมชาติของมนุษย์ที่จะไม่ไว้ใจคนที่เราไม่รู้จัก แต่เมื่อเราต้องการเดทกับใครสักคนที่พบเจอออนไลน์
สิ่งที่เราจะทำเพื่อบรรเทาความกังวลคือ "google" ทุกอย่างเกี่ยวกับคนนั้น เพื่อให้เรารู้สึกปลอดภัยมากขึ้น
แน่นอนว่า Shimon สร้างตัวตนที่น่าเชื่อถือของเขาขึ้นมาและนำเสนอการใช้ชีวิตที่สมบูรณ์แบบประหนึ่งเจ้าชาย
มีทั้งผู้ติดตามใน instagram จำนวนมาก และ website ที่แสดงธุรกิจที่เขาทำ เขาพร้อมที่จะนัดเดทแรกได้ทันทีหลังการ 'match'
เกิดขึ้นไม่นาน และหญิงสาวเหล่านั้นต่างรู้สึกว่าตัวเองโชคดีที่ได้ 'match' กับผู้ชายที่ 'ดูจะเพียบพร้อม' ไปทุกด้าน
การจากศึกษาในปี 2018 พบว่า ผู้หญิงและเด็กสาว มักจะให้ค่าความน่าเชื่อถือแก่ผู้ที่มีบัญชีและใช้งานสื่อออนไลน์
อย่างสม่ำเสมอ มากกว่าผู้ที่ไม่ค่อยมีความเคลื่อนไหว ซึ่งในที่นี้เน้นการใช้งาน instagram
เราต่างอยู่ในยุคที่ "ตัวตนของเราในโลกออนไลน์ถูกเชื่อว่าเป็นจริงมากกว่าตัวตนแท้ๆ ของเรา" ดังนั้น การสร้างและสวมรอย
เป็นบุคคลที่เราอยากจะเป็น จึงเป็นสิ่งที่ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือได้ และการลองเล่นเป็น 'นักสืบ' ที่จะหาข้อมูลคู่เดทก่อน
มีการนัดเจอกันจริง ก็ถูกกลไกที่เรียกว่า "Confirmation Bias" ของสมองส่วนการรับรู้ของเราเล่นตลก ด้วยการทำให้เราเลือกที่จะเชื่อ
เฉพาะข้อมูลที่เราอยากจะเชื่อเท่านั้น
กับดัก ขั้นกลาง : ใช้ประโยชน์จากไลฟ์สไตล์หรูเว่อร์ หยั่งรากความสัมพันธ์และความใกล้ชิด
เมื่อการเดทครั้งแรกๆ ผ่านไป Shimon จะยิ่งโอ้อวดการใช้ชีวิตที่ดูเกินเอื้อมสำหรับคนสามัญ (การใช้เครื่องบินส่วนตัว, ดินเนอร์แสนวิเศษ)
ซึ่งทำให้เหยื่อเชื่อว่า ชายคนนี้รวยจริง และเป็นที่รู้จัก ในระหว่างการเดท เขาจะหมั่นหยอดคำหวาน
ซึ่งทำให้ Dopamine ในสมองเหยื่อ (= หญิงสาวหลายคน) หลั่งจนล้น
(แน่นอนว่ามันทำให้พวกเธอรู้สึกเป็นสุขอย่างมาก) และจะยอมมีรักทางไกลได้อย่างไม่ต้องสงสัย
จากนั้นเขาจะเล่าความลับ ปมในใจ หรือเรื่องเปราะบางในชีวิต
ที่น้อยคนนักจะรู้ (แต่เธอได้รู้ !!!!) ซึ่งนั่นยิ่งทำให้เธอรู้สึกว่าเขาเป็นคนธรรมดา เข้าถึงได้ และผูกพันธ์ยิ่งขึ้นไปอีก
จากการวิจัยในปี 2013 พบว่า การเปิดเผยเรื่องราวส่วนตัว ทำให้ผู้ฟังมีแนวโน้มที่จะรู้สึกเชื่อมโยงกับผู้เล่ามากขึ้น
สิ่งนี้เกิดขึ้นได้เพราะธรรมชาติของมนุษย์ต้องการที่จะรู้สึก "เป็นส่วนหนึ่งของอะไรบางอย่าง" อยู่แล้ว
ดังนั้นการได้รับรู้เรื่องลึกของคู่รัก แบบไม่ทันได้ตั้งตัว จึงทำให้เกิดความรู้สึกใกล้ชิด และลึกซึ้งได้ง่ายนั่นเอง
กับดัก ขั้นสุดท้าย : การสร้างสถานการณ์ที่ทำให้เกิดความกลัว และความไม่แน่นอน
เมื่อเหยื่อเชื่อใจและตายใจแล้ว เขาจะเริ่มส่งข้อความสั้นๆ บอกเหยื่อว่าเขาตกอยู่ในอันตราย (บลา บลา บลา)
แต่ไม่ต้องการขอความเหลือผู้อื่น เหยื่อจะเชื่อทุกคำที่เขาพูด ไม่นำเรื่องไปเล่าให้ใครฟัง และทำตามทุกอย่างที่เขาบอก
ว่าจะแก้ไขสถานการณ์เลวร้ายนี้ได้อย่างไร
เมื่อเราทุ่มเท ลงทุนลงแรงไปแล้ว หรือรู้สึกเป็นเจ้าของกับสิ่งใด เราจะยึดติดกับสิ่งนั้น ไม่ว่าความจริงจะเป็นอย่างไร
ความรู้สึกเหล่านี้ในเชิงจิตวิทยาเชื่อว่าเป็น "Endowment Effect" เหมือนนักพนันที่เล่นเสีย ก็จะทุ่มเงินพนันเพิ่มในครั้งต่อไป
ในเหตุการณ์นี้ พวกเธอต้องการรักษาความรักไว้ จึงยอมให้ความช่วยเหลือด้านเงินทองครั้งแล้วครั้งเล่า
การป้องกัน
เมื่อเรารู้แล้วว่า สมองส่วนการรับรู้ยังพัฒนาเพื่อรองรับ online dating ที่เกิดขึ้นในยุคนี้ไม่ทัน
เราจึงต้องรู้ทัน cognitive bias ต่างๆ ด้วยการพยายามทำสิ่งต่อไปนี้ (ถ้าเรายังต้องอาศัยการเดทด้วยแนวทางนี้ต่อไป
ไม่เฉพาะแต่ tinder เท่านั้นนะ ทุก app เลยเหอะ)
* โปรดจำไว้ว่า เมื่อสมองของเราคลั่งรัก เราจะมองข้ามและแปรผลข้อมูลต่างๆ เพี้ยนไปได้
* อย่าหลงใหล หรือมองข้ามใคร เพียงเพราะท่าที หรือการแสดงออกของเขาในสื่อออนไลน์เท่านั้น พยายามฟังสิ่งที่แว้บเข้ามาในหัว
พร้อมที่จะปรับมุมมองและความเชื่อของคุณ
* การเปิดเผยตัวตน เป็นสิ่งที่ดีในความสัมพันธ์ แต่โปรดจำไว้ว่า ถึงแม้อีกฝ่ายจะเปิดเผยกับเราแค่ไหน มันก็ไม่ได้หมายความว่า
เขาจะอยากมีความสัมพันธ์ที่มั่นคงกับคุณเสมอไป
* ยอมรับความจริงที่เกิดขึ้น รวมถึงความรู้สึกด้วย เมื่อมีความรู้สึกแย่ๆ เกิดขึ้น จงพิจารณาข้อมูลที่มี มันจะช่วยให้เรามองเห็น
ความจริง หากเราไม่แน่ใจ โปรดปรึกษาเพื่อน ครอบครัว หรือผู้เชี่ยวชาญ ที่จะช่วยให้คุณมองเห็นความสัมพันธ์นี้ไนแง่มุมที่จริงแท้ได้
เรียบเรียงจาก Think You'd Be Immune to the “Tinder Swindler?” Think Again
How cognitive science can help save you from con artists.
Alina Liu Psy.D.
A Therapist's Education
Posted February 15, 2022.
References
Aron, A., Fisher, H., Mashek, D. J., Strong, G., Li, H., & Brown, L. L. (2005). Reward, motivation, and emotion systems associated with early-stage intense romantic love. Journal of Neurophysiology, 94(1), 327–337.
Nickerson, R. (1998). Confirmation bias: A ubiquitous phenomenon in many guises. Review of General Psychology,2, 175–220.
Sprecher, S., Treger, S., & Wondra, J. D. (2013). Effects of self-disclosure role on liking, closeness, and other impressions in get-acquainted interactions. Journal of Social and Personal Relationships, 30(4), 497–514.
Thaler R. H. 1980. Toward a positive theory of consumer choice. Journal of Economic Behavior & Organization. 1(1): 39–60.
Warner-Søderholm, G., Bertsch, A., Sawe, E., Lee, D., Wolfe, T., Meyer, J., ... & Fatilua, U. N. (2018). Who trusts social media? Computers in Human Behavior, 81, 303–315.
โฆษณา