2 มี.ค. 2022 เวลา 13:03 • ไลฟ์สไตล์
ถึงเวลาแล้วหรือยัง? 6 สัญญาณเตือนเมื่อถึงเวลาต้อง "ลาออก"
เราอาจจะเคยบ่นกับเพื่อนร่วมงานเล่นๆ ว่า ‘อยากลาออก’ อาจเคยแท็กเพื่อนในคอมเมนต์ใต้รูปมีมเกี่ยวกับการลาออกหรือใต้รูป ‘ราศีใดที่มีเกณฑ์ย้ายงาน’ แต่ถึงกระนั้นเราก็ไม่เคยไปไหนจริงๆ เสียที รู้ตัวอีกทีก็อยู่ที่เดิมมาหลายปีแล้ว!
1
แต่เราอยากออกจากงานจริงๆ หรือเปล่า หรือแค่อยากบ่นเฉยๆ
ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมามีการลาออกครั้งใหญ่ที่เรียกว่า ‘The Great Resignation’ ในประเทศสหรัฐอเมริกา คนจำนวนมากออกจากงานประจำเพื่อไปหางานที่ยืดหยุ่นมากกว่า อย่างงานที่เป็นการจ้างครั้งเดียวแล้วจบไป (Gig Economy) หรือบางคนก็พบในช่วงโควิด-19 ว่าไลฟ์สไตล์ในเมืองหลวงนั้นไม่ได้ทำให้พวกเขามีความสุขอีกต่อไป พวกเขารู้สึกไม่มีเป้าหมาย เหนื่อยหน่าย ไม่มีทั้งแรงกายและแรงใจในการตื่นไปทำงานทุกจันทร์เช้าอีกแล้ว
เราเป็นแบบนี้อยู่หรือเปล่า? หากใช่หรือใกล้เคียง บทความจาก Harvard Business Review เรื่อง “6 Signs It’s Time to Leave Your Job” ได้พูดถึง 6 สัญญาณเตือนที่เป็นตัวบอกว่า ถึงเวลาจริงๆ แล้วนะที่เราต้องโยกย้ายอีกครั้ง… จะมีอะไรบ้างมาดูกันดีกว่า
1) งานที่ทำไม่ได้ช่วยให้เรา ‘เติบโต’ อีกต่อไป
รู้หรือเปล่าว่านักกีฬาเก่งๆ ทำอย่างไรให้ร่างกายของพวกเขาแข็งแรงและทำผลงานออกมาได้ดี?
ถูกต้อง พวกเขาฝึกฝนอย่างเป็นประจำ แน่นอนว่าเรื่องนี้จำเป็นอย่างมาก แต่ ‘เคล็ดลับ’ อีกอย่างคือพวกเขา ‘ปรับเปลี่ยน’ วิธีการฝึกอย่างสม่ำเสมอ! การฝึกอย่างหลากหลาย ใช้ร่างกายหลายๆ ส่วน หรือเปลี่ยนทั้งกิจวัตรการออกกำลังนั่นเอง ที่ช่วยให้พวกเขาได้พัฒนาทักษะและประสิทธิภาพของร่างกายอย่างเต็มที่
คนทำงานอย่างเราก็เช่นกัน เมื่อทำงานเดิมไปสักระยะเราจะพบว่าเราไม่ได้เรียนรู้หรือพัฒนาอะไรจากการทำสิ่งเดิมๆ ซ้ำๆ อีกต่อไป หากเป้าหมายสำคัญที่สุดของเราในการทำงานคือการพัฒนาตนเอง ลองคุยกับเพื่อนร่วมทีมหรือหัวหน้างานดูว่า พอจะปรับเปลี่ยนสภาพแวดล้อมหรือเพิ่มความท้าทายให้งานที่ทำอยู่ได้ไหม หากได้ก็ถือเป็นเรื่องดี แต่ถ้าหากเราเห็นความจริงว่า งานนี้ไม่ได้ช่วยให้เราเติบโตอีกต่อไปแล้ว บางทีการหาโอกาสใหม่ในที่ทำงานอื่นก็อาจจะเป็นคำตอบ
2) ทำตามเป้าหมายที่ตั้งไว้สำเร็จแล้ว
หลายคนเข้ามาทำงานเพื่อทำอะไรบางอย่างให้สำเร็จ เช่น ปั้นแบรนด์ให้ดัง หรือ พัฒนาระบบให้เข้าที่เข้าทาง หากภารกิจของเราสำเร็จแล้ว ก็ไม่แปลกที่เราจะไม่มีความทะเยอทะยานหรือแรงบันดาลใจในการทำงานอีกต่อไป ความอิ่มตัวเป็นเรื่องปกติและถ้าหากเราหาความท้าทายในงานเดิมไม่ได้แล้ว ก็ถึงเวลาที่เราต้องหาความท้าทายในงานใหม่
3) รู้สึกอยากทำทุกอย่างยกเว้นงาน
หากงานที่ทำเป็นงานที่เรารัก แต่เราเริ่มผัดวันประกันพรุ่ง ทำทุกอย่างเพื่อไม่ต้องทำงาน ตั้งแต่การซักผ้า กวาดบ้าน ล้างจาน เล่นโทรศัพท์ หรือถางหญ้า เราอาจจะต้องกลับมาพิจารณาว่าลองพักไปทำอย่างอื่นไหม
ในบางครั้งมนุษย์เราก็ต้องการกัดฟันสู้เพื่อสร้างนิสัยดีๆ หรือทำงานอะไรสักอย่างให้เสร็จ (เช่น การออกกำลังกายให้เป็นนิสัย) แต่บางเวลาถ้าฝืนทำต่อไม่ไหว การพักก็เป็นสิ่งจำเป็นเช่นกัน
งานที่เรารักควรเป็นสิ่งที่เราเข้าหาด้วยความตื่นเต้นและความอยากเรียนรู้ ไม่ใช่ความรู้สึกอยากวิ่งหนี
4) เบิร์นเอาท์ไม่ไหว แค่รู้ว่าพรุ่งนี้วันจันทร์ก็ร้องไห้แล้ว
แม้หลายคนจะไม่ชอบทำงาน แต่เราปฏิเสธไม่ได้เลยว่ามีบางช่วงที่ ‘งาน’ นั้นให้ความท้าทาย ความรู้สึกสำเร็จ และความหมายของการตื่นมาในแต่ละวัน มีบ้างบางวันที่เรารู้สึกไม่อยากทำงาน แต่ความรู้สึกนั้นไม่ได้เกิดขึ้นเพราะความขี้เกียจเสมอไป มันอาจเกิดขึ้นเพราะอาการ ‘เบิร์นเอาท์’ ก็ได้
หากเราพบว่าตัวเองร้องไห้ในคืนวันอาทิตย์หรือแอบร้องไห้ในที่ทำงานบ่อยๆ ถึงเวลาแล้วที่ต้องหาวิธีเยียวยาตัวเองจากอาการเบิร์นเอาท์ ไม่ว่าจะเป็นการหยุดพัก ออกไปเที่ยว หรือหาความหมายในการทำงานอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม หากสภาพจิตใจของเราย่ำแย่มากๆ และพบว่าปัญหาไม่ใช่ ‘การทำงาน’ แต่เป็น ‘งานที่ทำอยู่’ การย้ายงานก็เป็นหนึ่งในทางออก
5) ทำให้เราทำ ‘พฤติกรรมแย่ๆ’ ใส่คนอื่น
เคยอยู่ในสังคมการทำงานที่ Toxic มากๆ ไหม? เป็นต้นว่า หัวหน้าคอมเมนต์งานลูกน้องด้วยอารมณ์ ไม่ใช้เหตุผล หรือเพื่อนร่วมงานพูดจาไม่ดี ไม่ให้ความร่วมมือ และแสดงความอิจฉาต่อคนอื่นตลอด เคยสังเกตไหมว่าตัวเราเองก็เปลี่ยนไปตามสภาพแวดล้อม เช่น เครียด หงุดหงิดง่าย และโมโหร้ายขึ้น
จริงอยู่ที่เราถูกสภาพแวดล้อมนั้นหล่อหลอมให้แกร่งขึ้น แต่ข้อเสียก็มีอยู่มาก เป็นต้นว่า เราเผลอทำนิสัยแย่ๆ ใส่คนใกล้ชิด หรือพูดจารุนแรงให้คนรักเสียใจ หากเราพบว่างานที่ทำส่งผลให้พฤติกรรมเปลี่ยนไป อาจต้องพิจารณาย้ายงานก่อนที่จะสูญเสียความสัมพันธ์รอบตัวไปนะ
6) เมื่อการทำงานส่งผลเสียต่อสุขภาพ
หากที่ทำงานเราบูชา ‘ค่านิยมการทำงานหนัก’ แบบไม่พักไม่ผ่อน จนเรามีปัญหาสุขภาพจิตและสุขภาพกาย แม้เราจะลองปรับตัวให้เข้ากับงาน โดยการปรับไลฟ์สไตล์แล้วก็พบว่าไม่ได้ช่วยเลย เพราะปัญหาอยู่ที่ปริมาณงานที่เยอะเกินไปจริงๆ แบบนี้ถึงเวลาที่ต้องมูฟออน ลองหางานใหม่ที่ดีต่อทั้งสุขภาพกายและใจแล้วนะ!
ชีวิตเรามีขึ้นมีลงและเป้าหมายของเราก็มีการเปลี่ยนแปลงเมื่อเวลาผ่านไป การเดินทางนั้นไม่ใช่ถนนสายตรงเส้นเดียวและในบางช่วงของชีวิต เราย่อมเดินทางมาถึงจุดที่เป็น ‘ทางแยก’ แต่จะตัดสินใจอย่างไรนั้นต้องพิจารณาให้ถี่ถ้วน โดยเฉพาะเรื่องสำคัญอย่างการทำงาน
และถ้าหาก ‘6 สัญญาณเตือน’ ที่กล่าวมานั้นกำลังกะพริบไฟสีแดงเตือนคุณอยู่ทุกข้อ จะเมินเฉยไม่ได้อีกต่อไป ถึงเวลาแล้วหรือเปล่าที่ต้องคิดเรื่องการลาออกอย่างจริงจัง? แน่นอน เราอาจพบว่าการย้ายงานใหม่อาจเป็นเรื่องน่ากลัว โดยเฉพาะคนที่ไม่ชอบการเปลี่ยนแปลง แต่ขอให้เชื่อในตัวเองว่า “เราเก่งพอ” ที่จะปรับตัวได้ ไม่ว่าเหตุการณ์ในอนาคตจะเป็นอย่างไร
จำไว้ว่าการเดินออกมาจากสิ่งเดิมๆ ไม่ใช่จุดจบ แต่เป็นการเริ่มต้นบทใหม่ของชีวิตต่างหาก
อ้างอิง:
#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast
#softskills
โฆษณา