3 มี.ค. 2022 เวลา 03:00 • สุขภาพ
ไทยเราสำเร็จหรือพลาดเรื่องโควิด-19 อย่างไรบ้าง? ตอน 1
เบื้องต้นอยากให้ตระหนักก่อนว่า ในทางวิชาการแล้ว บุคลากรและผู้บริหารในยุคต่างๆ ที่ผ่านมาของกระทรวงสาธารณสุขมีฝีมือไม่น้อย
ดูจากกรณี (1) ซาร์ส (2) ไข้หวัดนก (3) เมอร์ส ที่ร่วมมือกับนานาชาติ จัดการจนโรคที่อาจกลายเป็นโรคระบาดใหญ่ไปทั่วโลกหรือ แพนเดมิก (pandemic) เหล่านี้ ไม่กลายเป็นแพนเดมิก หรือสามารถจำกัดความเสียหาย ทั้งกับชีวิตและทรัพย์สินได้มาก
ภาพเอกซ์เรย์ปอดของผู้ป่วยโรคซาร์ส จะเห็นปื้นขาวในปอดชัดเจน, ที่มา: https://en.wikipedia.org/wiki/SARS
ถ้างั้น ทำไมผลการรับมือในช่วง 2 ปีมานี้ ดูแปลกๆ เหมือนกับจะล้มเหลวเสียมากกว่าสำเร็จ?
เหตุผลน่าจะเป็นว่า
(1) คราวนี้เป็นโรคระบาดใหญ่ที่สุดในชั่วชีวิต ร้อยปีมีสักหนหนึ่ง มีเขียนไว้ก็แต่ในตำรา และ ...
ไม่มีใครรู้ว่าควรจะทำอย่างไรแน่ในสถานการณ์เฉพาะหน้านี้
(2) การบริหารจัดการโดยรัฐบาล และฝ่ายบริหารระดับสูง ไม่ตั้งอยู่บนหลักการที่ถูกต้อง และ “อาจมีวาระซ่อนเร้น” บางอย่าง ทำให้การตัดสินใจบิดเบี้ยวจนเกิดความเสียหาย
เพื่อให้เห็นภาพรวมชัดเจน เราคงต้องดึงภาพเหตุการณ์โดยรวมขึ้นมาดูเป็นช็อตๆ และอธิบายว่า เกิดอะไรขึ้นในเหตุการณ์เหล่านั้น
ช็อตที่ 1
ต้นปี 2020 เราเป็นประเทศแรกนอก “จีน” ที่ตรวจพบผู้ติดเชื้อ
เรื่องนี้แสดงว่าอะไร?
นอกจาก แสดงว่าเราเป็นประเทศที่มีนักท่องเที่ยวมาก และไม่มีความตื่นตัวมากพอเรื่องโรคระบาดใหญ่ จนไม่ประกาศห้ามนักท่องเที่ยวจากเมืองอู่ฮั่นแล้ว
ยังแสดงอีกเรื่องหนึ่งด้วยคือ ...
เรามีระบบการตรวจสอบ และระบบรายงานผลการติดเชื้อที่ดี
แต่ปัญหาที่ตามมาชัดเจนมากคือ หลังจากนั้นก็เกิด “ลัทธิบูชาเลข 0” ขึ้น
เรื่องนี้ตอกย้ำถึงความไม่เข้าใจเรื่องแพนเดมิก และการประเมินสถานการณ์ผิดพลาด
และอันที่จริงแล้ว ส่วนหนึ่งที่ในระยะแรกมีผู้ป่วยที่เป็นคนไทยไม่มากนัก หากจำกันได้ เราอยู่ในช่วง PM2.5 รุนแรง จึงทำให้มีการใส่หน้ากากอนามัยกันเป็นปกติในคนจำนวนมากอยู่แล้ว
หน้ากากอนามัย อุปกรณ์สำคัญในการสู้โรคโควิด, Photo by Mika Baumeister on Unsplash
นอกจากนี้ เพื่อไม่ให้คนไทยตกใจกับยอดผู้ป่วย จึงไม่สุ่มตรวจผู้ไม่ป่วย รายงานที่เห็นเป็นการตรวจยืนยันในโรงพยาบาลด้วยวิธี RT-PCR ทั้งหมด จึงมีประโยชน์ในทางระบาดวิทยาน้อยมาก และทำให้เกิดการระบาดแบบคลื่นใต้น้ำ
นอจากนี้แล้ว การบริหารจัดการในช่วงแรก ยังแสดงถึงความไม่รู้ของผู้บริหารในหลาระดับ
มีการอนุมัติงบแบบไม่มีประโยชน์และผิดหลักวิชาการ เช่น ให้ซื้อน้ำยาฆ่าเชื้อไปไล่ฉีดฆ่าไวรัสตามท้องถนน ดังที่เห็น ทหารและ เจ้าหน้าที่ กทม. หรือหน่วยงานท้องถิ่นทำกัน ซึ่งเป็นเรื่องสิ้นเปลืองที่ไม่ก่อประโยชน์ใดๆ
เพราะไวรัสโดนแสงยูวีในดวงอาทิตย์ก็หมดความสามารถจะก่อโรคได้ในเวลาเพียงไม่นาน (ไม่กี่นาที)
มิหนำซ้ำ การฉีดแบบนั้นจะทำให้ไวรัสแพร่กระจายเป็นละอองในอากาศมากยิ่งขึ้น
การไม่มีความรู้และความเข้าใจผิด ยังลามไปยังเอกชน มีการทำ “อุโมงค์ฆ่าเชื้อ” ซึ่งแทบไม่มีประโยชน์ แต่เป็นอันตรายจากแสงยูวีหรือแอลกอฮอล์เข้มข้น (หรือสารเคมีอื่น) ที่ใช้ฉีดพ่นอีกด้วย
จะเห็นได้ชัดเจนว่า การบริหารจัดการไม่ได้ตั้งอยู่บนฐานความรู้แม้แต่น้อย!

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา