3 มี.ค. 2022 เวลา 07:24 • สิ่งแวดล้อม
ต่างประเทศเขามีการจัดการขยะอย่างไร ประชาชนถึงให้ความร่วมมือ
ในสภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้ รายได้ทางเดียวจากงานประจำคงไม่เพียงพอ หลายคนสวมหมวกสองใบ สามใบในเวลาเดียวกัน เช่น ในวันจันทร์-ศุกร์ เป็นพนักงานประจำของบริษัท ช่วงเวลาว่างระหว่างวันลงขายสินค้าออนไลน์ผ่านช่องทางโซเชียลมีเดีย และเสาร์-อาทิตย์ รับบทนายหน้าพาลูกค้าชมอสังหาริมทรัพทย์ เป็นต้น แต่นอกจากอาชีพเหล่านี้ ยังมีบางอาชีพที่หลายคนคาดไม่ถึงว่าจะสามารถก่อให้เกิดรายได้เพิ่มขึ้นนั่นคือ การแปลงขยะเป็นเงิน
การแปลงขยะเป็นเงิน คือ การนำของเหลือใช้ โดยคัดแยกให้ถูกประเภท เช่น ขวดพลาสติก ขวดแก้ว กระดาษ วัสดุที่ทำจากพลาสติกต่างๆ นำไปขายในแหล่งรับซื้อ ซึ่งแหล่งรับซื้อต่างๆนี้ จะนำไปขาย, ทำลายอย่างถูกวิธี หรือนำไปพัฒนาและนำกลับมาใช้ซ้ำด้วยกระบวนการที่ถูกวิธี ซึ่งแหล่งรับซื้อในปัจจุบันมีมากมาย และถูกพัฒนามาเป็นแอปพลิเคชั่น พร้อมสร้างจูงใจด้วยสิทธิพิเศษ และผลตอบแทนให้แก่ผู้เข้าร่วมโครงการ
แอปพลิเคชัน “คุ้มค่า” (KoomKah) ที่ถูกพัฒนาโดย SCG เพื่อเป็นตัวช่วยในการจัดการบริหารขยะ โดยตระหนักถึงปัญหาขยะที่เกิดขึ้นในประเทศไทย และเล็งเห็นว่าหากมีวิธีการจัดการขยะได้อย่างถูกวิธี ขยะจะกลายเป็นสิ่งที่มีคุณค่าและนำไปใช้งานได้อย่างไม่รู้จบตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ภายใต้แนวปฏิบัติ SCG Circular Way
คุ้มค่าเป็นตัวช่วยหนึ่งของธนาคารขยะ(Waste Bank) ในการบริหารจัดการขยะได้อย่างมีประสิทธิภาพผ่านเว็บแอปพลิเคชัน โดยสร้างแรงจูงใจเป็นคะแนนสะสม ผลตอบแทนต่างๆ และเป็นการปลูกฝังให้สมาชิกมีส่วนร่วมในการกำจัดขยะได้อย่างถูกวิธี โดยธนาคารขยะ ไม่ได้จำกัดที่ร้านรับซื้อขยะเท่านั้น จุดใดที่พร้อมรับและสามารถนำไปขายหรือกำจัดได้อย่างถูกวิธีก็สามารถเป็นธนาคารขยะได้ เมื่อสมาชิกนำขยะมาขายก็จะได้รับผลตอบแทนในรูปแบบคะแนนหรือเงินในระบบ และนำไปแลกของตามเงื่อนไขที่ธนาครขยะแห่งนั้นกำหนด
ในต่างประเทศสนับสนุนกิจกรรมนี้ด้วยเช่นกัน เช่น ประเทศญี่ปุ่น ประเทศที่มีระเบียบวินัยสูงในทุกๆเรื่อง มีการจำแนกขยะแต่ละประเภท ไม่ใช่ใครอยากทิ้งอะไรก็ได้ ในแต่ละเขตเมืองจะจัดตารางเวรการทิ้งขยะแต่ละประเภทแต่ละวันที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งตารางเวรเหล่านี้จะถูกแจกจ่ายตามบ้านเรือนประชาชนเพื่อให้รับทราบและดำเนินการให้ถูกวิธีอีกด้วย และสร้างรายได้จากขยะให้กับประชาชนด้วยการนำขวดพลาสติกที่ผ่านกรรมวิธีแกะฉลากขวดทิ้ง จากนั้นล้างให้สะอาด ตากให้แห้ง แยกฝากขวดออกแล้วนำมาใส่ตู้ พร้อมนำบัตร nanaco (บัตรของ บัตรของ 7-11 คล้ายกับบัตรของเซเวนในบ้านเรา) มาเก็บสะสม Recycle point (RP) เมื่อครบตามที่กำหนดแล้วจึงจะสามารถแลกเป็นเงินสดได้ นี่คือโปรเจ็ครีไซเคิลขวดพลาสติกของห้าง ITOYOKADO นั่นเอง
มาต่อกันที่แถบยุโรปอย่างประเทศเยอรมัน กับ “โครงการฝากขวด” จากการรายงานข่าวของ DW ระบุว่า ตามเมืองต่างๆของเยอรมนี ประชาชนหลั่งไหลกันมาซูปเปอร์มาร์เก็ต โดยหอบหิ้วถุงขนาดใหญ่ที่เต็มไปด้วยขวดและกระป๋องเปล่า แน่นอนพวกเขาไม่ได้มาเพื่อต่อคิวซื้อสินค้า แต่กลับมาส่งคืนขวด และรับเงินค่าขวดคืน พูดง่ายๆ คือ ผู้ใดที่ซื้อเครื่องดิ่มจะต้องจ่ายเงินมัดจำขวดพร้อมทั้งค่าเครื่องดื่ม เรียกว่า Pfand และเมื่อนำขวดมาคืนที่จุดรับคืนก็จะได้รับเงินกลับคืน เนื่องจากครั้งหนึ่งก่อนปี 2546 คอนเทนเนอร์เครื่องดื่มแบบใช้แล้วทิ้งประมาณ 3 พันล้านกล่องถูกทิ้งอยู่ในสิ่งแวดล้อมทุกปี” โธมัส ฟิสเชอร์ หัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจหมุนเวียนของ NGO Environmental Action Germany (DUH) กล่าว “แต่ทุกวันนี้ มีอัตราคืนขวด หรือกระป๋องเครื่องดื่ม สูงกว่า 98%"
จากข้อมูลที่กล่าวไปข้างต้น นับเป็นการสร้างแรงจูงใจให้แก่ผู้บริโภคอย่างเราๆ เพราะทุกวันนี้ลำพังเมื่อซื้อเครื่องดื่มต่างๆมา ก็จะถูกนำไปทิ้งอย่างไร้ประโยชน์ หากมีจุดรับซื้อที่แพร่หลายหรือแอปพลิเคชั่นที่สะดวก และสามารถเข้าถึงแก่ทุกเพศทุกวัย ขยะที่มาจากขวดพลาสติก ขวดแก้ว หรือกระป๋องต่างๆ ของประเทศ คงจะลดลงไปเยอะเลยทีเดียว นอกจากผู้บริโภคจะได้เงินหรือสิทธิประโยชน์แล้ว ยังเป็นการปลูกฝังจิตสำนึกและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของคนไทยให้มีวินัย และใส่ใจสิ่งแวดล้อมอีกด้วย
โฆษณา