4 มี.ค. 2022 เวลา 01:30 • สิ่งแวดล้อม
หมีขอ สัตว์ป่าที่มีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์
ชุมนุมนักล่ายามราตรี ตอนที่ 2
ครั้งที่แล้วเราได้รู้จักเพื่อนร่วมโลกตาแป๋วที่ย่องหาเหยื่อยามค่ำคืนอย่างนางอาย หรือ ลิงลม ไปแล้ว ใครยังไม่ได้อ่านอ่านได้ที่ https://bit.ly/3hFVipf
แต่อย่างที่บอกไปนักล่ายามราตรีนั้นยังมีอีกหลายชนิด ขอยกสัตว์ที่มีถิ่นอาศัยในประเทศไทย เพราะอย่างน้อยก็เป็นทรัพยากรสัตว์ป่าที่อยู่ใกล้ตัวเราและคู่ควรแก่การอนุรักษ์ ว่าแล้วก็ต่อเนื่องกับตัวน้อยขนฟู หลายคนเรียกว่า “หมี” แต่ไม่ใช่สัตว์กลุ่มหมีนะ ถ้าได้รู้จักต้องร้องอ๋อ “หมีขอ” นั่นเอง
หมีขอ มีชื่อท้องถิ่นอีกหลายชื่อ เช่น เสือค่าง หรือ หมีกระรอก ชื่อภาษาอังกฤษก็มีหลายชื่อเช่น Binturong, Cat bear, Palawan Binturong ชื่อวิทยาศาสตร์ Arctictis binturong มาดูการจัดจำแนกหมีขอสัดนิดหนึ่งจะได้ทราบกันว่าน้องหมีขอไม่ใช่สัตว์กลุ่มหมีเพราะอะไร
หมีขอเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมที่ถูกจัดจำแนกอยู่ในวงศ์ (Family) Viverridae วงศ์ย่อย (Subfamily) Paradoxurinae ซึ่งวงศ์ย่อยนี้มี 2 สกุล (Genus) คือ Arctictis ก็คือ หมีขอ อีกสกุลคือ Paguma ตัวอย่างสัตว์ในสกุลนี้คือ อีเห็นข้างลาย อีเห็นหน้าขาว อีเห็นเครือ เป็นต้น
แต่ที่มักถูกเรียกว่า “หมี” ก็น่าจะเกี่ยวข้องกับลักษณะภายนอกที่มีขนยาวสีดำเป็นมัน หรือ อาจจะมีสีขาวและสีน้ำตาลทองแทรกบ้างแตกต่างกันไปตามลักษณะแต่ละตัว หน้าตาอาจจะละม้ายคล้ายหมีอยู่บ้าง
นอกจากนั้นยังมีหางที่ยาวและแข็งแรงมากเปรียบเสมือนขาที่ห้า หรือ ตะขอก็ว่าได้ นอกจากจะใช้หางในการทรงตัวแล้วยังใช้เกี่ยวกิ่งไม้เพื่อห้อยตัวหยิบจับอาหารได้
ในโลกนี้มีหมีขออยู่ทั้งหมด 3 ชนิดย่อย ในประเทศไทยพบเพียงชนิดย่อยเดียว คือ Arctictis binturong binturong ส่วนชนิดย่อย Arctictis binturong kerkhoveni พบได้ทางตะวันออกของเกาะสุมาตรา และชนิดย่อย Arctictis binturong menglaensis พบในยูนานประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน
หมีขอชนิดย่อยที่พบในประเทศไทย มีถิ่นอาศัยอยู่บริเวณเทือกเขาตระนาวศรี ที่พาดผ่านทางตะวันตกของประเทศไทย เป็นพรมแดนทางธรรมชาติระหว่างประเทศไทยและสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา
มาดูเรื่องทั่วๆ ไปเกี่ยวกับหมีขอกันดีกว่า เห็นเรียกว่าหมีแต่ไม่ได้ตัวใหญ่เท่าหมีนะ แต่ถ้าเอาไปเทียบกับสัตว์อื่นๆ ในวงศ์ชะมดก็ถือว่ามีขนาดใหญ่ที่สุดในสัตว์กลุ่มนี้
หมีขอมีน้ำหนักประมาณ 9-20 กิโลกรัม ตัวผู้จะมีขนาดใหญ่กว่าตัวเมียประมาณ 20% ขนาดลำตัวประมาณ 61-96 เซนติเมตร หางมีความยาว 56-89 เซนติเมตร
หมีขอมักจะอาศัยอยู่บนต้นไม้ ออกหากินทั้งกลางวันและกลางคืน เป็นสัตว์ที่ออกหากินตามลำพัง หรือ อาจจะพบเป็นครอบครัวเมื่อลูกยังไม่โตเต็มวัย ไม่มีฤดูผสมพันธุ์ที่แน่นอน
ตัวเมียตั้งท้องนาน 90-920 วัน ออกลูกครั้งละ 2-3 ตัว ลูกหมีขอหย่านมอายุประมาณ 6-8 สัปดาห์ จะโตเต็มวัย้มื่ออายุประมาณ 2 ปีครึ่ง บางครั้งพบว่าหมีขอสามารถผสมพันธุ์ออกลูกได้ปีละ 2 ครั้ง
ในธรรมชาติมีอายุประมาณ 18 ปี แต่ในการเลี้ยงอาจอยู่ได้ถึงประมาณ 25 ปี
อาหารการกินส่วนใหญ่เป็นผลไม้แต่ก็กินซากและล่าสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมขนาดเล็กได้เช่นกัน นอกจากนั้นยังกินไข่นก และแมลงบางชนิดด้วย
ศัตรูทางธรรมชาติของหมีขอมีไม่มากส่วนใหญ่ก็คือเสือโคร่งและหมาใน
หมีขอบางครั้งก็สื่อสารระหว่างกันด้วยเสียง แต่ก็มีการสื่อสารด้วยกลิ่น ที่จะมีต่อมกลิ่นขนาดใหญ่ตรงก้น บางคนก็ว่าเหม็น บางคนก็ว่ากลิ่นเหมือนข้าวโพดคั่วอบเนย อันนี้ก็ต้องไปทดลองดมกันได้ในสวนสัตว์ กลิ่นพวกนี้ใช้ป้ายต้นไม้ในพื้นที่ที่มันเดินทางไป อาณาเขตหากินของหมีขออาจกว้างถึง 6.2 ตารางกิโลเมตรเลยทีเดียว
สถานภาพ IUCN จัดให้หมีขออยู่ในกลุ่ม VU/Vulnerable เป็นสัตว์ที่มีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ หรือ เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ไปจากธรรมชาติ เราก็ต้องช่วยกันดูแล โดยเฉพาะการอนุรักษ์ถิ่นอาศัยตามธรรมชาติ คือถ้าจะอนุรักษ์หมีขอก็ต้องดูแลบ้านของพวกเขาด้วย ช่วยๆ กันนะ
คงต้องพอแค่นี้ก่อน มารอดูตัวต่อไปกันดีกว่าว่าจะหน้าตาเป็นยังไง น่ากลัว หรือ น่ารักขนาดไหน? อย่าลืมติดตามกัน
ZOO 101 พื้นที่แลกเปลี่ยนเรื่องสวนสัตว์ สัตว์ป่า และสิ่งแวดล้อม
สืบค้นและเรียบเรียง; อุฬาริกา กองพรหม
ภาพประกอบ; ณัฐวุธ เดือนแจ่ม
อ้างอิง
วิมุติ วะสะหลาย. 2564. หมีขอ, บินตุรง [Online]. โลกสีเขียว www.vardantplanet.org. Retrieved January 20, 2022 from http://www.verdantplanet.org/animalfiles/Binturong,%20Bearcat, %20Palawan%20Binturong/
Mitra, S., Kunteeppuram, V., Koepfli K.P., Mehra, N., Tabasum W., Sreenivas, A. and Guar, A. 2019. Characteristics of the complete mitochondrial genome of the monotypic genus Arctictis (Family: Viverridae) and its phylogenetic implications.[Online]. PeerJ-Life and Environment. Retrieved January 20, 2020 from https://peerj.com/articles/8033/
Schleif, M. 2013. “Arctictis binturong” [Online]. Animal Diversity Web. Retrieved January 25, 2021 from https://animaldiversity.org/accounts/Arctictis_binturong/
โฆษณา