Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
เล่าสู่กันฟัง
•
ติดตาม
3 มี.ค. 2022 เวลา 11:30 • หนังสือ
หนึ่งในหนังสือที่ชอบที่สุด อ่านแล้วอ่านอีก
หนังสือ 'วิธีสร้างบุญบารมี' พระนิพนธ์ในสมเด็จพระญาณสังวร
เวลาเราพูดว่าทำบุญๆ เราก็ไม่ได้จำกัดเพียงแค่ การบริจาคเงิน ไหว้พระ ตักบาตร สวดมนต์ ท่านสรุปย่อไว้ 3 อย่าง การให้ทาน การรักษาศีล และการเจริญภาวนา (สมถะ วิปัสสนา) เรียงตามความปราณีตของจิต และ ผลบุญก็สูงกันไปตามลำดับ แต่ท่านก็ว่าต้องทำควบคู่กันไป ไม่ใช่ว่า วิปัสสนาภาวนาได้ผลบุญมากที่สุดก็มุ่งทำแต่ วิปัสสนาโดยไม่สนใจทานเลย ก็ไม่ควรประมาท เราควรทำทั้งทาน ศีล และภาวนา สุดแต่โอกาสจะอำนวยให้
เรื่องทาน นอกจากหลักพื้นฐานคือ ของที่ให้ต้องบริสุทธิ์ เจตนา ก่อนให้ ระหว่างให้ หลังให้ต้องดี เบิกบาน ถ้าทำทานเพราะอยากได้หน้าได้เกียรติ ทำทานด้วยความฝืนใจโดนบังคับ ทำทานด้วยความโลภ (ทำร้อยหวังล้าน) อันนี้ก็จะไม่ได้บุญเลย เพราะเจตนาไม่บริสุทธิ์ ผลบุญมากน้อยยังขึ้นกับผู้รับการทำทานด้วย หรือ เนื้อนาบุญ แต่ผลบุญสูงสุดของทาน อยู่ที่ อภัยทาน และ ธรรมทาน ไม่ใช่เป็นการถวายอามิส สิ่งของ
ดังตัวอย่างท่านไล่ลำดับผลบุญของทานได้เห็นภาพชัดเจน ‘การถวายสังฆทานที่มีองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นประธาน แม้จะมากถึง 100 ครั้ง ก็ยังได้บุญน้อยกว่าการถวายวิหารทาน (เพื่อประโยชน์สาธารณะ) แม้จะได้กระทำแต่เพียงครั้งเดียวก็ตาม’
'การถวายวิหารทาน (โบสถ์ วิหาร ศาลาการเปรียญ โรงพยาบาล โรงเรียน ...) แม้จะมากถึง 100 หลัง ก็ยังได้บุญน้อยกว่าการให้ อภัยทาน แม้จะให้แค่ครั้งเดียวก็ตาม'
อภัยทาน คือ การไม่ผูกโกรธ ไม่อาฆาตจองเวร ไม่พยาบาทคิดร้าย
และ สูงสุดของทาน ก็ดั่งพุทธพจน์ที่ว่า
'การให้ธรรมเป็นทาน ชนะการให้ทั้งปวง'
แล้วท่านก็ต่อไปยังอานิสงค์ของศีล 5 ศีล 8 ศีล 10 และ ศีล 227
‘การให้ธรรมทาน แม้จะมากถึง 100 ครั้ง ก็ยังได้บุญน้อยกว่าการถือศีล 5 แม้จะถือเพียงครั้งเดียวก็ตาม’
และไล่ลำดับต่อไปถึงอานิสงค์ของสมาธิ
'แม้ได้อุปสมบทเป็นภิกษุ รักษาศีล 227 ข้อ ไม่เคยขาด ไม่ด่างพร้อยมานานถึง 100 ปี ก็ยังได้บุญกุศลน้อยกว่า ผู้ที่ทำสมาธิเพียงให้จิตสงบ นานเพียงชั่วไก่กระพือปีก ช้างกระดิกหู'
และไล่ลำดับต่อไปที่วิปัสสนา
'ผู้ใดแม้ทำสมาธิ จนจิตเป็นฌานได้นานถึง 100 ปี และไม่เสื่อม ก็ยังได้บุญน้อยกว่าผู้ที่มองเห็นความเป็นจริงที่ว่า สรรพสิ่งทั้งหลายอันเนื่องมาจากการปรุงแต่ง ล้วนแล้วแต่ เป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา แม้จะเห็นเพียงชั่วขณะจิตก็ตาม'
พระพุทธองค์ได้ตรัสไว้ว่า ‘ผู้ใดมีปัญญา พิจารณาจนจิตเห็นความจริงว่า ร่างกายนี้เป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน คน สัตว์ แม้จะนานเพียงช้างยกหูขึ้นกระดิก ก็ยังดีเสียกว่า ผู้ที่มีอายุยืนยาวถึง 100 ปี แต่ไม่มีปัญญาเห็นความเป็นจริงดังกล่าว’
ท่านแนะนำการเจริญสมถะและวิปัสสนาอย่างง่ายๆ ประจำวัน ซึ่งควรทำบ่อยๆ ทำเนืองๆ 4 อย่าง
หากทำแล้ว พระพุทธองค์ตรัสว่า ‘จิตของผู้นั้น ไม่ห่างจากวิปัสสนา และเป็นผู้ที่ไม่ห่างจากมรรคผลนิพพาน’
1. มรณานุสสติกรรมฐาน - การระลึกถึงความตายเพื่อเตือนสติให้ตื่น ไม่หลงมัวเมา หวงแหน เกาะแน่น ใน อำนาจ วาสนา ตำแหน่งหน้าที่ เพราะเมื่อคิดถึงแล้ว ย่อมเร่งกระทำความดีและบุญกุศล
ชอบ พุทธพจน์ ที่ตรัสสอนพระอานนท์ ตอนปลงอายุสังขารว่า
‘อานนท์ ตถาคตได้เคยบอกเธอแล้วมิใช่หรือ ว่าสัตว์จะต้องพลัดพรากจากของรักของชอบใจไปทั้งสิ้น สัตว์จะได้สมปรารถนาในสังขารแต่ที่ไหนเล่า การที่จะขอให้สิ่งที่เกิดขึ้นแล้ว เป็นแล้ว ที่มีปัจจัยปรุงแต่งแล้ว และที่ต้องมีการแตกดับเป็นธรรมดาว่า อย่าฉิบหายเลย ดังนี้ ย่อมไม่อยู่ในฐานะจะมีได้เป็นได้........สัตว์ทั้งปวง ทั้งที่เป็นคนหนุ่ม คนแก่ ทั้งที่เป็นพาลและบัณฑิต ทั้งที่มั่งมีและยากจน ล้วนแต่มีความตายเป็นเบื้องหน้า’
2. อสุภกรรมฐาน - การพิจารณาถึงสิ่งไม่สวยไม่งาม คนเราครั้งหนึ่ง เคยสวย เคยงาม เป็นที่นิยมรักใคร่เสน่หา เป็นบ่อเกิดแห่งตัณหา ราคะ กามกิเลส เป็นที่เจริญตาเจริญใจ ท่านเล่าได้เห็นภาพ ที่สุดของความสวยงาม ก็คือ เนื้อหนังที่ค่อยๆ พองออก ขึ้นอืด นำ้เลือด น้ำเหลืองเริ่มเน่า เนื้อหนังปริแตก ร่วงหลุดออกเหลือแต่กระดูก ส่งกลิ่นเหน่าเหม็น แท้ที่จริงแล้วก็เป็น อนิจจัง จะมองหาความสวยงามใดๆ หลงเหลืออยู่มิได้อีกเลย
3. กายคตาสติกรรมฐาน - การพิจารณาเพื่อลดการยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นตัวตนของเรา ลองพิจารณาว่าร่างกายเราจริงๆ มันมีอวัยวัย 32 ห้อยแขวนระเกะระกะ ควักออกดูทีละชิ้น หัวใจ ปอด ตับ น้ำเหลือง น้ำเลือด ก็ไม่เห็นมีชิ้นไหนน่าสวยงามเลย ชอบเรื่องเล่าในหนังสือ นางอภิรูปนันทา นางหลงใหลในความงามของนางยิ่งนัก เรียกว่าสวยที่สุดในสมัยนั้น พระพุทธเจ้าเลยทรงเนรมิตรูปกายเป็นสาวงาม ให้สวยไปกว่าพระนางอีก แล้วก็ค่อยๆเนรมิตร่างให้เจริญวัย แล้วแก่ชรา ทรุดโทรมลง จนตายไปในที่สุดแล้วก็เน่าเปื่อย สลายไปให้พระนางเห็นไปต่อหน้าต่อตา
4. ธาตุกรรมฐาน - ตัวเราที่เคยยิ่งใหญ่คับฟ้า จริงๆ เนื้อตัวร่างกายก็เป็นการประชุมเกาะกุมรวมกันของธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม ธาตุไฟ ถึงที่สุด ตัวของเรามันก็เพียงเท่านี้ เมื่อถึงเวลา มันก็ต้องสลายไปตามธรรมชาติ คืนธาตุต่างๆ ไปสู่ธรรมชาติ เอาอะไรติดตัวไปไม่ได้เลย
ท่านบอกว่า เมื่อความจริงก็เห็นๆ กันอยู่เช่นนี้แล้ว เหตุใดเราทั้งหลายจึงต้องพากันดิ้นรนขวนขวาย
สะสมส่ิงที่ในที่สุดก็จะต้องทิ้ง จะต้องจากไป ซึ่งเท่ากับเป็นการทำลายวันเวลาอันมีค่าของพวกเรา ซึ่งก็คงมีไม่เกินคนละ 100 ปี ให้ต้องโมฆะเสียเปล่าไป โดยหาสาระประโยชน์อันใดมิได้เลย เหตุใดไม่เร่งขวนขวายสร้างสม ‘บุญบารมี’ ที่เป็น ‘อริยทรัพย์’ อันประเสริฐซึ่งจะติดตามตัวเราไปได้ในชาติหน้า แม้หากสิ่งเหล่านี้ไม่มีจริงดังที่พระพุทธองค์ได้ตรัสไว้ อย่างเลวพวกเราก็เพียงเสมอตัว มิได้ขาดทุนอะไร แต่ถ้าสิ่งเหล่านี้เป็นจริง แล้วเราท่านไม่สร้างสมบุญและความดีไว้ เวลาในชีวิตของเราที่ควรจะได้ใช้ให้เป็นประโยชน์ กลับต้องมาเสียเปล่า ก็สมควรที่จะได้ชื่อว่าเป็น ‘โมฆะบุรุษ’ โดยแท้
🙏🙏
ธรรมะ
พระธรรมคำสอน
บันทึก
5
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
ข้อคิดจากหนังสือ
5
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย