5 มี.ค. 2022 เวลา 02:50 • หุ้น & เศรษฐกิจ
รัสเซีย ประเทศที่ส่งออกปุ๋ยเคมี มากที่สุดในโลก
230,000 ล้านบาท คือมูลค่าการส่งออกปุ๋ยเคมีของรัสเซีย ในปี 2020
ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนราว 12.7% ของมูลค่าการส่งออกทั้งโลก
2
ซึ่งปุ๋ยเคมี ถือเป็นหนึ่งในสินค้าสำคัญที่ไทยนำเข้าจากรัสเซีย
โดยไทยนำเข้าเพิ่มขึ้นจาก 5,230 ล้านบาท ในปี 2020
มาอยู่ที่ 5,670 ล้านบาท ในปี 2021 คิดเป็นสัดส่วนราว 7.7% ของการนำเข้าปุ๋ยเคมีทั้งหมด
2
ถึงแม้จะนำเข้าเป็นสัดส่วนไม่มากนัก
แต่หากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ยังคงยืดเยื้อต่อไป
ก็อาจเป็นปัญหาต่อการนำเข้าปุ๋ยเคมี ซึ่งจะส่งผลมาสู่การปรับตัวของราคาปุ๋ยเคมี
และสินค้าเกษตรอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
1
เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ต้องเฝ้าระวังอย่างไร ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
1
ธาตุอาหารหลักที่จำเป็นสำหรับการเจริญเติบโตของพืช ประกอบไปด้วย 3 ชนิด คือ N, P, K
หรือธาตุไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และโพแทสเซียม
2
พืชจะเจริญเติบโตได้ดี ก็ต่อเมื่อในดินมีแร่ธาตุเหล่านี้อยู่อย่างอุดมสมบูรณ์ แต่ดินส่วนใหญ่บนโลก มีแร่ธาตุเหล่านี้อยู่น้อยมาก เกษตรกรจึงจำเป็นต้องเติมปุ๋ยเคมีลงไปในดิน เพื่อให้ผลผลิตทางการเกษตรเจริญงอกงาม
แล้วทำไมรัสเซียถึงเป็นประเทศที่ส่งออกปุ๋ยเคมีมากที่สุดในโลก ?
อย่างที่เรารู้กันว่า รัสเซียเป็นประเทศที่มีปริมาณก๊าซธรรมชาติสำรองมากที่สุดในโลก
และเป็นผู้ส่งออกก๊าซธรรมชาติรายใหญ่ อันดับ 6 ของโลก
ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากกระบวนการแยกก๊าซธรรมชาติ นอกจากก๊าซที่ใช้ในภาคขนส่งและครัวเรือนแล้ว จะได้สารตั้งต้นในกระบวนการผลิตปุ๋ยเคมี โดยเฉพาะปุ๋ยที่ให้ธาตุไนโตรเจน ซึ่งเป็นปุ๋ยเคมีที่นิยมใช้กันมากที่สุด
ตัวอย่างของปุ๋ยไนโตรเจน เช่น ปุ๋ยยูเรีย ปุ๋ยแอมโมเนียมไนเตรต และปุ๋ยแอมโมเนียมซัลเฟต
2
สำหรับประเทศที่นำเข้าปุ๋ยเคมีจากรัสเซียมากที่สุด ก็คือ บราซิล ซึ่งเป็นผู้นำเข้ารายใหญ่
คิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 50% ของยอดการส่งออกปุ๋ยของรัสเซีย
หมายความว่า หากการส่งออกปุ๋ยเคมีของรัสเซียประสบปัญหา ก็ย่อมทำให้ภาคเกษตรกรรมของบราซิลประสบปัญหาเช่นกัน ซึ่งบราซิลยังเป็นประเทศผู้ส่งออกถั่วเหลืองรายใหญ่ อันดับ 1 ของโลก และส่งออกข้าวโพดรายใหญ่ อันดับ 2 ของโลก
6
แล้วเรื่องทั้งหมด จะส่งผลกระทบอะไรกับประเทศไทยบ้าง ?
ผลกระทบอันดับแรก คือ การนำเข้าปุ๋ยเคมี..
1
ประเทศไทยเป็นประเทศผู้ส่งออก ผลิตผลทางการเกษตรอันดับต้น ๆ ของโลก ทั้งข้าว ยางพารา อ้อย ปาล์มน้ำมัน และมันสำปะหลัง ซึ่งเกษตรกรส่วนใหญ่ยังคงใช้ปุ๋ยเคมี เป็นตัวช่วยเพื่อเพิ่มผลผลิตให้งอกงาม
อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมปุ๋ยเคมีในประเทศไทย
จัดเป็นอุตสาหกรรมปลายน้ำ ที่ต้องนำเข้าวัตถุดิบ “แม่ปุ๋ย” หรือปุ๋ยเคมีที่มีธาตุอาหารหลักเพียงธาตุเดียว จากต่างประเทศเกือบทั้งหมด
แล้วผู้ผลิตในประเทศจะนำมาผสมกัน และจำหน่ายต่อไปยังร้านขายส่งและขายปลีก
ในปี 2021 ไทยนำเข้าปุ๋ยเคมีจากต่างประเทศ คิดเป็นมูลค่ากว่า 73,430 ล้านบาท ซึ่งเติบโตจากปี 2020 ถึง 54.1% เนื่องจากเป็นช่วงปีที่มีปริมาณน้ำ และสภาพอากาศเอื้อต่อการเพาะปลูก เกษตรกรจึงทำการขยายพื้นที่เพาะปลูก และมีความต้องการปุ๋ยเคมีเพิ่มมากขึ้น
1
โดยประเทศที่ไทยนำเข้าปุ๋ยเคมี 5 อันดับแรก ประกอบไปด้วย
1. จีน นำเข้าคิดเป็นมูลค่า 16,480 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 22.5%
2. ซาอุดีอาระเบีย นำเข้าคิดเป็นมูลค่า 10,720 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 14.6%
3. มาเลเซีย นำเข้าคิดเป็นมูลค่า 6,480 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 8.6%
4. รัสเซีย นำเข้าคิดเป็นมูลค่า 5,670 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 7.7%
5. กาตาร์ นำเข้าคิดเป็นมูลค่า 5,170 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 7.1%
ซึ่งหากการส่งออกปุ๋ยเคมีจากรัสเซียประสบปัญหา ไทยอาจต้องนำเข้าจากประเทศอื่น ๆ ทดแทน เช่น จากประเทศจีน หรือซาอุดีอาระเบีย ซึ่งราคาปุ๋ยเคมีทั่วโลกก็มีโอกาสที่จะปรับเพิ่มขึ้น
ในอุตสาหกรรมปุ๋ยเคมีของไทย ผู้ผลิตในประเทศไม่สามารถขึ้นราคาได้มากนัก เนื่องจากเป็นสินค้าควบคุม ดังนั้น หากต้นทุนปุ๋ยเคมีสูงขึ้น ก็อาจทำให้รายได้ของบริษัทปุ๋ยเคมีเหล่านี้ลดลง จนผู้ผลิตอาจต้องรวมตัวกันไปกดดันให้รัฐปรับราคาปุ๋ยเพิ่มขึ้นในที่สุด
5
ซึ่งหากราคาปุ๋ยเพิ่มสูงขึ้น ก็ย่อมเป็นต้นทุนของเกษตรกร และจะส่งผลมาสู่ราคาของผลิตผลทางการเกษตรเป็นลำดับต่อมา
1
ซึ่งขณะนี้ ผลผลิตทางการเกษตรหลายชนิด ก็มีการปรับราคาจากต้นปี 2022 โดยเฉพาะปาล์มน้ำมัน ที่ขณะนี้มีราคาสูงสุดเป็นประวัติการณ์..
2
ผลกระทบอันดับต่อมา คือ สินค้าที่ไทยนำเข้าจากบราซิล ประเทศที่นำเข้าปุ๋ยเคมีจากรัสเซียมากที่สุด
ซึ่งสินค้าที่ไทยนำเข้ามากที่สุดก็คือ “ถั่วเหลือง” นั่นเอง..
ในปี 2021 ไทยนำเข้าถั่วเหลืองกว่า 70% จากบราซิลเพียงประเทศเดียว ทั้งเมล็ดถั่วเหลือง และกากถั่วเหลือง รวมกันคิดเป็นมูลค่า 93,000 ล้านบาท
3
ถั่วเหลืองที่นำเข้ามา จะแบ่งเป็น เมล็ดถั่วเหลืองที่ถูกนำมาผลิตเป็นน้ำมันถั่วเหลือง
และกากถั่วเหลือง จะนำมาทำเป็นอาหารสำหรับปศุสัตว์ ทั้งหมู ไก่ และวัว
3
หากต้นทุนปุ๋ยเคมีของบราซิลเพิ่มสูงขึ้น จากปัญหาการนำเข้าปุ๋ยเคมีจากรัสเซีย ก็ย่อมจะส่งผลให้ราคาถั่วเหลืองปรับตัวสูงขึ้น
1
และไทยซึ่งนำเข้าถั่วเหลืองมาเป็นวัตถุดิบ โดยเฉพาะอาหารปศุสัตว์
ก็ย่อมทำให้ต้นทุนสำหรับการเลี้ยงดูปศุสัตว์สูงขึ้น และอาจสะท้อนไปสู่ราคาเนื้อสัตว์ ที่จะปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นลำดับต่อมา..
ก็เป็นที่น่าติดตามต่อไปว่า สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครน
จะดำเนินไปในรูปแบบใด ?
แต่จากการที่รัสเซียเป็นประเทศที่ส่งออกปุ๋ยเคมีมากที่สุดในโลก
ก็แสดงให้เห็นว่า บนโลกที่มีการค้าเชื่อมโยงกันไปมา
ถึงแม้จะเป็นความขัดแย้งที่ดูเหมือนไกลตัว
แต่ท้ายที่สุด ผลกระทบจากเหตุการณ์นี้ ก็จะสะท้อนมาใกล้ตัวเรา อยู่ดี..
โฆษณา