6 มี.ค. 2022 เวลา 03:30 • ธุรกิจ
ธุรกิจตู้ถ่ายรูปอัตโนมัติ กระแสชั่วคราว หรือมั่นคงตลอดไป
ช่วงนี้ เรามักจะเห็นคนต่อแถวยาวเพื่อใช้บริการ “ตู้ถ่ายรูปอัตโนมัติ”
ไม่ว่าจะเป็นที่ร้านคาเฟ, ร้านขายเสื้อผ้า, งานอิเวนต์, คอมมิวนิตีมอลล์ รวมถึงห้างสรรพสินค้า
ซึ่งตู้ถ่ายรูปอัตโนมัติ ก็ถือเป็นบริการยอดฮิต ในสมัยยุค 90 ที่เพิ่งกลับมานิยมอีกครั้ง ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา
แล้วการกลับมาครั้งนี้จะอยู่ได้นานแค่ไหน ? ลงทุนเกิร์ลจะลองวิเคราะห์ให้ฟัง
ตู้ถ่ายรูปอัตโนมัติ เริ่มกลับมามีกระแสในประเทศไทยช่วงวิกฤติโรคระบาด โดยจะตั้งอยู่ตามคาเฟ หรือสถานที่ท่องเที่ยว เพื่อดึงดูดลูกค้าให้แวะเวียนไปเยี่ยมชม
โดยสาเหตุที่ทำให้ตู้ถ่ายรูปอัตโนมัติ มักจะมีคนต่อคิวยาว เพื่อรอใช้บริการ ก็เป็นเพราะมันตอบโจทย์พฤติกรรมของคนไทย
เนื่องจาก การถ่ายรูปจากตู้ให้กลิ่นอายของการหวนคืนสู่อดีต อย่างที่กำลังได้รับความนิยม และสำหรับคนไทยเอง ก็ชื่นชอบการถ่ายรูป และอัปเดตลงบนสื่อโซเชียลมีเดีย
อย่างปัจจุบัน เวลาคนส่วนใหญ่ไปร้านคาเฟ ก็ไม่ได้ต้องการแค่เครื่องดื่มหรืออาหารอร่อย ๆ เท่านั้น แต่ต้องการพื้นที่เก๋ ๆ ในการโชว์สเตปถ่ายรูปเก็บกลับบ้านสักช็อตสองช็อต
ซึ่งปัจจุบันตู้ถ่ายรูปอัตโนมัติ ก็ไม่ได้มีฟังก์ชันแค่ถ่ายและพิมพ์รูปภาพเก็บกลับบ้านธรรมดา ๆ แต่ได้พัฒนาโปรแกรมให้ใช้งานสะดวกมากขึ้น เช่น จ่ายเงินผ่านระบบ QR Code และดาวน์โหลดรูปภาพแบบดิจิทัล
ดังนั้น เพียงแค่ 2 ปี ตู้ถ่ายรูปอัตโนมัติ จึงกลายเป็นหนึ่งกิจกรรมที่ไม่ได้มีแค่ในคาเฟ แต่กระจายตัวอยู่หลายจุดท่องเที่ยวทั่วกรุงเทพฯ รวมถึงบางจังหวัดท่องเที่ยวด้วย
ซึ่งพอกลายเป็นกระแสนิยม เท่ากับว่าการแข่งขันในตลาด ก็ต้องเพิ่มความดุเดือดขึ้นไปด้วย
ปัจจุบัน ในบ้านเราก็มีตู้ถ่ายรูปหลากหลายแบรนด์ เช่น Sculpture Bangkok, Flashback และ Sx.automat ที่ต่างพัฒนาลูกเล่นต่าง ๆ เพื่อเอาชนะใจลูกค้า
ที่น่าสนใจคือ ลูกค้าที่ใช้บริการตู้ถ่ายรูปอัตโนมัติ ไม่ได้มีเพียงแค่ลูกค้า B2C หรือคนที่ถ่ายรูปในงานต่าง ๆ เท่านั้น แต่ยังรวมถึงกลุ่มลูกค้า B2B หรือพาร์ตเนอร์ทางธุรกิจ ที่ต้องการจะนำตู้ถ่ายรูปอัตโนมัติไปติดตั้งด้วย
เรียกได้ว่าก็เป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่น่าจับตามอง
เพียงแต่ว่า ในสายตาบางคน อาจยังมองว่าเรื่องนี้
เป็นเพียงกระแส ที่คนจะนิยมเพียงชั่วคราวเท่านั้น..
แล้วหากต้องการให้ธุรกิจตู้ถ่ายรูปอัตโนมัติของเรา อยู่ในเส้นทางการแข่งขันนี้อย่างยั่งยืน ควรมีกลยุทธ์อะไรบ้าง ?
อันดับแรก คือ “คุณภาพของสินค้า”
อย่างที่กล่าวไปว่า ตู้ถ่ายรูปอัตโนมัติส่วนใหญ่ก็จะมีฟังก์ชันคล้าย ๆ กัน นั่นก็คือถ่ายรูปและปรินต์รูปออกมาทันที หรือดาวน์โหลดไฟล์รูปดิจิทัลเก็บไว้อัปเดตลงสื่อโซเชียลมีเดีย
1
สำหรับลูกค้า B2C ที่มาใช้บริการตู้ถ่ายรูปอัตโนมัติ เพื่อเก็บรูปไว้เป็นที่ระลึก ก็คงไม่สนใจเรื่องคุณภาพมากนัก เพราะส่วนมากจะเป็นประสบการณ์เพียงไม่กี่ครั้งต่อตู้
แต่สำหรับลูกค้า B2B ที่ต้องการนำตู้ถ่ายรูปอัตโนมัติ มาตั้งไว้ที่ร้านเพื่อดึงดูดลูกค้า ดังนั้นการแข่งขันเรื่อง “คุณภาพ” จึงเป็นเรื่องสำคัญ
ซึ่งคุณภาพก็ครอบคลุมตั้งแต่การจัดแสง, ฟิลเตอร์รูปภาพ, คุณภาพกระดาษ, คุณภาพหมึกพิมพ์ รวมถึงการเขียนโปรแกรม และระบบทั้งหมดของตู้ที่เข้าใจง่าย
ยกตัวอย่างแบรนด์ Flashback ตู้ถ่ายรูปอัตโนมัติ ที่คอมมิวนิตีมอลล์ดัง ๆ อย่าง The Common, Gump และ Valaa เลือกใช้บริการ
ก็มีทีมงานหลังบ้านเป็นผู้เชี่ยวชาญ ทั้งด้านงานอาร์ตและซอฟต์แวร์ ทำให้ตู้ถ่ายรูปอัตโนมัติแต่ละตู้ มีลูกเล่นใหม่ ๆ เสมอ เช่น ฟิลเตอร์สีรูปภาพ, เทคนิคการถ่ายภาพและกรอบรูป ที่จะแตกต่างกันทุกตู้
หรืออย่าง Sx.automat แบรนด์ที่ต่อยอดมาจาก ธุรกิจถ่ายรูปโฟโตบูทแบบครบวงจร สำหรับงานอิเวนต์ต่าง ๆ มานานกว่า 7 ปี ดังนั้นจึงมีประสบการณ์ ในการจัดองค์ประกอบแสงและการถ่ายภาพ
1
อันดับต่อมา พัฒนาคอนเซปต์ให้ “แตกต่าง”
หากตรงหน้าเรามีตู้ถ่ายรูปอัตโนมัติสัก 3 แบรนด์ โดยที่เราไม่รู้ว่าผลลัพธ์ของรูปถ่ายเป็นอย่างไร เราจะเลือกที่อะไรคะ ?
คำตอบก็คือ “รูปลักษณ์ภายนอก”
ประเด็นนี้สามารถอ้างอิงได้จากผลการวิจัยของ WestRock ในปี 2014 เรื่องความสำคัญของบรรจุภัณฑ์ ที่ส่งผลต่อการซื้อของผู้บริโภค
โดยงานวิจัยพบว่า 65% ของลูกค้าใหม่ ตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าครั้งแรกจากบรรจุภัณฑ์
ดังนั้นการสร้างรูปลักษณ์ของตู้ถ่ายรูปอัตโนมัติ ให้ดูแตกต่างจากแบรนด์อื่น ๆ ก็จะสามารถช่วยทำให้สินค้าของเราดูน่าสนใจยิ่งขึ้น
อย่าง Sx.automat ที่ให้บริการตู้ถ่ายรูปอัตโนมัติแบบพาร์ตเนอร์ชิป หรือการแบ่งกำไรกับเจ้าของสถานที่ ก็จะสามารถเปลี่ยนแปลงรูปร่างของตู้ถ่ายรูป, ยูเซอร์อินเทอร์เฟซ, ลูกเล่นต่าง ๆ และเทมเพลตได้ตามคอนเซปต์และแครักเตอร์ของพาร์ตเนอร์แบรนด์นั้น ๆ
หรือ Sculpture Bangkok แบรนด์แรก ๆ ที่ทำให้ตู้ถ่ายรูปอัตโนมัติ กลับมาเป็นกระแสอีกครั้ง ก็จะมีดีไซน์ของแต่ละตู้ ที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง โดยแครักเตอร์ของตู้ก็จะเปลี่ยนไปตามสถานที่ที่ตู้ไปตั้งอยู่เช่นกัน
ยิ่งกว่านั้น Sculpture Bangkok ยังได้ขยายสู่บริการ ตู้ถ่ายรูปอัตโนมัติแบบแฟรนไชส์ ที่มีชื่อว่า “SNAP” เพื่อรองรับลูกค้าแบบ B2B โดยเฉพาะ และลูกค้าสามารถออกแบบดีไซน์ตู้ถ่ายรูปอัตโนมัติในสไตล์ของตัวเองได้
ซึ่งปัจจุบันมีลูกค้าเป็นศิลปินชื่อดัง เช่น The Toys, ตู้ Colors Culture แบรนด์เสื้อผ้าของ พีพี-กฤษฏ์ รวมถึงโรงภาพยนตร์ SF ก็ใช้ตู้นี้ในการโปรโมตภาพยนตร์
ต่อมา นอกจากรูปลักษณ์ภายนอกแล้ว “การสร้างประสบการณ์ที่ดีและน่าสนใจ” ของตู้ถ่ายรูปอัตโนมัติก็เป็นอีกหนึ่งตัวช่วยในการเพิ่มยอดขาย
เนื่องจากตู้ถ่ายรูปอัตโนมัติ ไม่ใช่บริการที่ลูกค้าจะใช้ได้บ่อย ๆ รวมทั้งถ้าถึงจุดอิ่มตัว การใช้บริการก็อาจจะลดน้อยลง ดังนั้นการสร้างประสบการณ์ที่แปลกใหม่จึงเป็นเรื่องสำคัญ
ซึ่ง Sculpture Bangkok ก็ไม่ได้จำกัดตู้ถ่ายรูปอัตโนมัติไว้แค่ในห้องสี่เหลี่ยมเท่านั้น แต่ได้สร้างสรรค์การถ่ายรูปใหม่ ๆ อยู่เสมอ
อย่างตู้ “Sculpture Drive-Thru” หรือการถ่ายรูปอัตโนมัติจากบนรถยนต์ ที่ได้ไอเดียมาจากการปรับตัวตามมาตรการเว้นระยะห่างตอนช่วงโรคระบาด ซึ่งตู้นี้เปิดให้ใช้บริการในเวลาที่จำกัด แค่วันศุกร์-อาทิตย์เท่านั้น
นอกจากนั้นยังมี “I wanna Sculpture” ตู้ถ่ายรูปใหม่ล่าสุด ที่ได้จับมือร่วมกับ I wanna Bangkok แบรนด์เสื้อผ้าแฟชั่นวัยรุ่น ออกแบบตู้ถ่ายรูป 3 แบบ ที่สร้างประสบการณ์ถ่ายรูปที่ไม่เหมือนใคร
ตู้แรกคือแบบให้นอนถ่ายรูป, ตู้ที่สองแบบยืนโดยกล้องถ่ายมาจากด้านล่าง และตู้สุดท้ายที่มีลมพัดออกมา เรียกได้ว่าทำให้ลูกค้ารู้สึกเหมือนอยู่ในการถ่ายแฟชั่นโชว์
อันดับสุดท้าย คือ สร้างระบบที่ง่ายต่อผู้ใช้งาน
การที่ตู้ถ่ายรูปอัตโนมัติเริ่มตั้งอยู่ในหลายจุดต่าง ๆ ไม่ใช่แค่งานอิเวนต์เท่านั้น ดังนั้นการนำเทคโนโลยีมาสร้างระบบที่ทุกคนเข้าถึงได้ จึงเป็นอีกหนึ่งเรื่องที่สำคัญในการขาย
เช่น การออกแบบ UX และ UI ที่เข้าใจง่าย และระบบจ่ายเงินทางดิจิทัล หรือการพูดคุยแบบเรียลไทม์ โดยปราศจากคนเฝ้าหน้าตู้ถ่ายรูปอัตโนมัติ
ซึ่งปัจจุบันเกือบทุกแบรนด์ ก็จะมีระบบหลังบ้าน และทีมซัปพอร์ตของตัวเอง เพื่อแก้ไขปัญหา เวลาลูกค้าเกิดเหตุขัดข้อง
เรื่องนี้ยังไม่ได้ส่งผลต่อการเข้ามาใช้บริการของผู้ที่มาถ่ายรูปเพียงอย่างเดียว
เพราะอย่าลืมว่า ลูกค้าที่สำคัญอีกกลุ่ม ก็คือลูกค้าที่เป็น B2B
สำหรับลูกค้ากลุ่มนี้ ก็คงต้องการที่จะร่วมมือกับแบรนด์ที่ให้บริการอย่างครบวงจร มากกว่าแค่การเช่าตู้แล้วจบไป
ซึ่งถ้าผู้ประกอบการธุรกิจ มีกลยุทธ์ที่ตอบโจทย์ลูกค้า
ทั้งการหมั่นสร้างสรรค์ประสบการณ์ใหม่ ๆ แต่ยังคงรักษาความง่ายของการใช้งานเอาไว้
จนกลายเป็นอีกหนึ่งจุดเช็กพอยต์ เวลาไปเยี่ยมชมจุดเยี่ยมชมต่าง ๆ
ดังนั้น คำตอบที่ว่าตู้ถ่ายรูปอัตโนมัติจะอยู่ได้อีกนานเท่าไร ?
ก็อาจตอบได้ว่า แม้จะไม่ยั่งยืนตลอดไป
แต่ก็ไม่ใช่กระแสที่เกิดขึ้นชั่วคราวอย่างแน่นอน..
References:
- สัมภาษณ์ตรงจากแบรนด์ Sx.automat และ Flashback
โฆษณา