6 มี.ค. 2022 เวลา 02:00 • เพลง & ซีรีส์ เกาหลี
"รู้จักดินแดนโสมแดง ผ่านธนบัตรวอนเกาหลีเหนือ (ตอนที่ 1)"
จากคอลัมน์ "เกาหลี everything ทุกสิ่งมีเรื่องเล่า" บนแอป 2read
ภาพจาก  www.shutterstock.com
ในการทำความรู้จักประเทศใดประเทศหนึ่ง “ธนบัตร” รวมถึงเหรียญกษาปณ์ของประเทศนั้นๆ จะสามารถบอกเล่าเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ การให้ความสำคัญในด้านสังคม วัฒนธรรม รวมถึงคติความเชื่อที่คนในชาติยึดถือได้เป็นอย่างดี
วันนี้เรามาทำความรู้จักเกาหลีเหนือ ดินแดนอันแสนลึกลับแบบเจาะลึก
ผ่านธนบัตรเงินวอนเกาหลีกัน
สำหรับประเทศเกาหลีเหนือนั้น หน่วยเงินของเขา ใช้สกุลเงินวอน ไม่ต่างกับเงินของเกาหลีใต้ แต่ใช้อักษรย่อหน่วยเงินตามมาตรฐานสากลว่า KPW ในขณะที่เกาหลีใต้ใช้ KRW
อัตราแลกเปลี่ยน ณ ปัจจุบัน (เดือนมีนาคม 2022 ) อยู่ที่ 1 USD = 900 วอนเกาหลีเหนือ ในขณะที่ของเกาหลีใต้ จะอยู่ที่ 1,203 วอนโดยประมาณ
ธนบัตรที่ใช้กันในปัจจุบัน จะมีทั้งหมด 9 แบบด้วยกัน เริ่มจากธนบัตรเล็กสุด คือ 5 วอน ตามมาด้วยธนบัตร 10, 50, 100, 200, 500, 1,000, 2,000 และสูงสุดคือ 5000 วอน
ธนบัตร 5 วอน
ธงประจำพรรคแรงงานเกาหลีเหนือ
ด้านหน้า : สำหรับธนบัตร 5วอน ภาพด้านหน้าเป็นภาพสมาชิกของพรรคแรงงานเกาหลีเหนือ (Workers' Party of Korea) พรรคการเมืองหลักที่ก่อตั้งโดยท่านผู้นำตลอดกาล คิม อิลซอง โดยมีอุดมการณ์จูเช่ (주체 ) อุดมการณ์ที่มุ่งเน้นการพึ่งพาตนเอง เป็นคติประจำพรรคที่ใช้ขับเคลื่อนพรรคและบริหารประเทศมาตั้งแต่ก่อตั้งเกาหลีเหนือจนถึงปัจจุบัน
ด้านหลัง : ภาพเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำฮวังคัง ( 황강댐 ) เขื่อนเดียวกับที่ปรากฏอยู่บนตราประจำแผ่นดิน ตั้งอยู่ไม่ไกลจากเขตชายแดนเกาหลีเหนือใต้ เป็นเขื่อนหลักที่ใช้ผลิตกระแสไฟฟ้าในประเทศและถือเป็นสัญลักษณ์ของความเจริญรุ่งเรืองด้านเทคโนโลยีในเกาหลีเหนือ
ธนบัตร 10 วอน
ผู้นำคิมจองอึนกับทหารทั้งสามเหล่าทัพ
หอคอยจูเช่
ด้านหน้า : ภาพทหารทั้ง 3 เหล่าทัพ คือบก เรือ และอากาศ อย่างที่ทราบกันดีว่า เกาหลีเหนือเป็นประเทศที่ให้ความสำคัญกับการทหารเป็นอย่างมากและมีทหารประจำการมากที่สุดเป็นอันดับสี่ของโลก โดยในช่วงราวทศวรรษที่ 1990 คิม จองอิล ผู้นำคนที่สองของเกาหลีเหนือ หรือบิดาของผู้นำคิม จองอึนคนปัจจุบัน ได้ริเริ่มนโยบายที่ชื่อว่า “ซองกุน” (성군) คือนโยบายที่ให้กองทัพมาก่อนเรื่องอื่นใดทั้งหมดในประเทศ ถือเป็นหนึ่งในนโยบายย่อยของอุดมการณ์จูเช่ที่ใช้ขับเคลื่อนนโยบายอื่นๆ ทั้งการเมือง เศรษฐกิจ สังคม รวมถึงนโยบายต่างประเทศของเกาหลีเหนือด้วย
ด้านหลัง : ด้านหลังของธนบัตร 10 วอน คือภาพอนุสาวรีย์สงครามปลดปล่อยปิตุภูมิ หรือ Monument to the Victorious Fatherland Liberation War เป็นอนุสาวรีย์ที่ตั้งอยู่บริเวณพิพิธภัณฑ์สงครามปลดปล่อยแผ่นดินปิตุภูมิ (Victorious Fatherland Liberation War Museum) ในกรุงเปียงยาง ซึ่งเป็นสถานที่จัดแสดงเรื่องราวการต่อสู้ในสงครามของชาวเกาหลีเหนือตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
โดยเน้นไปที่สงครามโลกครั้งที่สองและสงครามเกาหลีเหนือ-ใต้ โดยชาวเกาหลีเหนือ จะถูกสอนให้มองว่า อเมริกาและประเทศทุนนิยมในโลกรวมถึงเกาหลีใต้ เป็นภัยอันตรายที่คุกคามเกาหลีเหนือ และสงครามเกาหลีเหนือ-ใต้ที่เกิดขึ้นในช่วงปี 1950-1953 ในมุมมองของเกาหลีเหนือ ถือว่าตนเป็นประเทศที่ได้รับชัยชนะ และนี่จึงเป็นที่มาที่ทำให้วันที่ 27 กรกฎาคม ซึ่งเป็นวันที่เกาหลีเหนือและใต้ลงนามในข้อตกลงสงบศึกในสงครามเกาหลี เป็นวันหยุดประจำชาติในเกาหลีเหนือ โดยชาวเกาหลีเหนือเรียกวันนี้ว่า “วันแห่งชัยชนะ”
ธนบัตร 50 วอน
ด้านหน้า : ด้านหน้าของธนบัตร 50 วอน จะประกอบไปด้วยภาพปัญญาชน กรรมกร และชาวนา ซึ่งเป็นตัวแทนของคนในสามกลุ่มอาชีพหลัก ที่พรรคแรงงานเกาหลีเหนือมุ่งเน้นให้ความสำคัญ เพราะพวกเขาคือกลุ่มคนสำคัญที่ก่อตั้งและขับเคลื่อนสังคมคอมมิวนิสต์ที่ตัดขาดความพึ่งพาจากภายนอกและเน้นการพึ่งพาตนเองเป็นหลัก โดยปัญญาชนคือผู้ให้วิชาความรู้ พัฒนาคนในประเทศให้ออกมาร่วมกันขับเคลื่อนสังคม กรรมกรคือผู้ใช้แรงงานที่เสียสละแรงกายของตนเองในการสร้างสิ่งต่างๆ ให้เกิดขึ้น ส่วนชาวนาคือกระดูกสันหลังของชาติ ซึ่งถือเป็นแหล่งผลิตอาหารที่สำคัญให้คนในชาติ
ในตอนกลางของธนบัตร จะมองเห็นพื้นหลังเป็นภาพคบเพลิง คบเพลิงนี้คือยอดของหอคอยจูเช่ หนึ่งในหอคอยที่มีชื่อเสียงที่สุดในเกาหลีเหนือ สร้างขึ้นในปี 1982 ริมฝั่งตะวันออกของแม่น้ำแทดง ตรงข้ามกับจตุรัสคิม อิลซองเพื่อเป็นอนุสรณ์สถานในวาระครบรอบ 70 ปีที่ผู้นำคิม อิลซองปกครองประเทศในเวลานั้น
Monument to Party Founding
ด้านหลัง : อนุสาวรีย์ผู้ก่อตั้งพรรค หรือ Monument to Party Founding เป็นภาพอนุสาวรีย์สัญลักษณ์ของพรรคแรงงานเกาหลีเหนือ อันประกอบไปด้วย ค้อน พู่กัน และเคียวเกี่ยวข้าว สามสิ่งนี้คือหัวใจ เป็นสิ่งที่รัฐบาลเกาหลีเหนือตั้งปณิธานที่จะให้ความสำคัญเสมอ โดยค้อน หมายถึงนักวิศวกร หรือผู้ใช้แรงงานก่อสร้าง เคียวเกี่ยวข้าว คือเกษตรกรซึ่งถือเป็นกระดูกสันหลังของชาติ และสุดท้ายคือพู่กัน ซึ่งหมายถึงนักวิชาการ นักวิจัย หรือครูอาจารย์ผู้ให้ความรู้แก่ประชาชนทุกคน ใต้อนุสาวรีย์จะปรากฏภาษาเกาหลีที่สลักเอาไว้ ใจความว่า “ขอให้ผู้นำเกาหลีและผู้นำชัยชนะมาสู่พรรคแรงงานเกาหลีเหนือจงเจริญ”
ธนบัตร 100 วอน
ดอกมงนันดอกไม้ประจำชาติของเกาหลีเหนือ
ด้านหน้า : สำหรับธนบัตร 100 วอนเกาหลีเหนือ ด้านหน้าจะปรากฏเป็นภาพดอกมงนัน (목란) ดอกไม้ประจำชาติ มงนันนี้เป็นดอกไม้ที่พบได้ทั่วไปในเกาหลีเหนือ มีสีขาวกลีบบางซ้อนกันไม่หนามาก เกสรตรงกลางเป็นสีแดง เกาหลีเหนือนิยมวาดดอกมงนันลงบนงานศิลปะต่างๆ ที่สะท้อนถึงความเป็นเกาหลีเหนือ ไม่ว่าจะเป็นภาพวาดบนแสตมป์ งานศิลปะในโฆษณา รวมถึงลายน้ำด้านหลังของธนบัตรบางประเภทก็มักจะสอดแทรกดอกมงนันเข้าไปด้วย
ด้านหลัง : มีลายน้ำเป็นดอกมงนันและเลขบอกจำนวนเงินคือ100 วอน
ธนบัตร 200 วอน
ประชาชนทำงานหนักภายใต้แคมเปญชอนรีมาอุนดง
โฆษณาชวนเชื่อใต้แคมเปญชอนรีมาอุนดง
ด้านหน้า : ภาพอนุสาวรีย์รูปปั้นโชลิมา (Chollima Statue) คำว่าโชลิมานี้ จริงๆ มาจากภาษาเกาหลีว่า “ชอลรีมา” ซึ่งเป็นชื่อเรียกของขบวนการขับเคลื่อนเกาหลีเหนือ “ชอนรีมาอุนดง” (천 리 마 운 동) อันเป็นแนวคิดของท่านผู้นำคิม อิลซอง ที่ได้แรงบันดาลใจมาจากม้าบินในตำนานของจีน (ชอนรี มีรากศัพท์มาจากภาษาจีน แปลว่าหมื่นลี้ ส่วน มา แปลว่าม้า) โดยผู้นำคิมอิลซอง ได้ใช้แนวคิดนี้กระตุ้นให้คนเกาหลีเหนือลุกขึ้นมากอบกู้ประเทศ
ภายหลังจากสงครามเกาหลีเหนือ-ใต้สิ้นสุดลง โดยมุ่งเน้นไปที่การทำงานหนัก อดทน และรวดเร็วว่องไวประหนึ่งม้าที่วิ่งได้หมื่นลี้ในวันเดียว ร่วมกันทำงาน และกอบกู้ซากปรักหักพังของชาติให้กลับคืนมา คิม อิลซองได้เริ่มแคมเปญนี้เป็นครั้งแรกในปี 1956 และเกิดเป็นแผนพัฒนาเศรษฐกิจแบบห้าปีในเวลาต่อมา ซึ่งผลทั้งหมดก็ออกมาตรงตามจุดประสงค์ของท่านผู้นำ เปลี่ยนประเทศที่บอบช้ำจากสงคราม ให้กลับมาสวยงาม และพัฒนาประเทศอย่างรวดเร็วภายใต้อุดมการณ์การพึ่งพาตนเองแบบสมบูรณ์จนถึงปัจจุบัน
แคมเปญชอนรีมาอุนดงกับการสร้างชาติหลังสงครามเกาหลี
ด้านหลัง : เลขบอกจำนวนเงินคือ 200 วอน
ในสัปดาห์หน้า เราจะกลับมาทำความรู้จักเกาหลีเหนือ ผ่าน 4 ธนบัตรที่เหลือ คือ ธนบัตร 500, 1,000, 2,000 และ 5,000 วอน รวมถึงทำความรู้จักตราประจำแผ่นดิน ที่ติดอยู่บนธนบัตรทุกใบของเกาหลีเหนือด้วย ตราประจำแผ่นดินจะมีความน่าสนใจอย่างไร และธนบัตรที่เหลือ จะบอกเล่าคติความเชื่อ และค่านิยมอะไรที่คนเกาหลีเหนือให้ความสำคัญสูงสุดบ้าง สัปดาห์หน้ามาตามกันต่อนะคะ
อ้างอิงข้อมูล
รายการชีพจรโลกกับสุทธิชัย หยุ่น ตอน "เกาหลีเหนือ (2)" ช่วง 1 ออกอากาศอังคารที่ 30 พฤศจิกายน 2553 https://www.youtube.com/watch?v=wtSe50Ssk-Q&list=RDCMUCVbJ2c5w3DYPHW5q_tHKa6Q&index=10
ภาพประกอบ
เรื่องโดย ธัญญ์พิศา กิ๊ฟ
โฆษณา