7 มี.ค. 2022 เวลา 03:53 • การ์ตูน
การ์ตูนญี่ปุ่นก็ค้านสงครามได้กับ 5 มังงะ แนวต่อต้านสงคราม
ต่อจากวันก่อนที่ สมาคมนักเขียนการ์ตูนของญี่ปุ่น ประกาศจุดยืนว่าต่อต้านสงคราม เลยพยายามหามังงะแนว Anti-War ปรากฎว่าเจอน้อยกว่าที่คิด
ส่วนหนึ่งก็มาจากความที่ มังงะสมัยใหม่ แฝงข้อความต้านสงครามมาอยู่ในอณูของหลายเรื่องอยู่แล้ว เพราะงั้นขอหยิบอันที่คนอ่านหลายประเทศมองว่าเป็นงาน Anti-War มาให้ดูเป็นตัวอย่างแทนครับ
Adof Ni Tsugu
Adof Ni Tsugu (ข้อความถึงอดอล์ฟ)
งานของ อ.เทะสึกะ โอซามุ ที่เอาประวัติศาสตร์จริงมาพ่วงกับเรื่องแต่ง โดยมีตัวเอกเป็นนักข่าวญี่ปุ่น ที่ไปทำข่าว โอลิมปิก ปี 1936 ในเยอรมัน แล้วไปเกี่ยวพันกับชายชื่อ อดอลฟ์ 3 คน (1 ในนั้นก็คือคนที่แมสสุดแหละ) ที่กลายเป็นการเดินทางยาวนานไปถึง ปี 1980
มังงะเล่าความเย็นชาของนาซีเยอรมัน, ความเลวร้ายของสงครามโลกครั้งที่สอง, แล้วยังมีการกระแทกซ้ายขวาในเชิง Anit-War / Anti Power Regime อยู่ตลอดเรื่อง
ถ้าคนที่เคยตามงานสไตล์ดราม่าของ อ.เทะสึกะ น่าจะพอนึกออกว่าแกกระทุ้งอะไร ไม่ได้ปรานีปราศัยกันเสียเลย
Souin Gyokusai Seyo!
Souin Gyokusai Seyo! (ทุกหน่วยเดินหน้าสู้ตาย!)
อาจารย์มิซุกิ ชิเงรุ นอกจากจะเป็นที่รู้จักจากการเขียนการ์ตูน 'ผีน้อยคิทาโร่' แต่อาจารย์ยังมีผลงานสร้างชื่อระดับนานาชาติอีกเรื่องคือ มังงะ+อัตชีวประวัติ เมื่อครั้งที่อาจารย์ถูกเกณฑ์ไปรบในสงครามโลกครั้งที่สองเรื่องนี้
มังงะเล่าเรื่องผ่านมุมมอง พลทหารมารุยามะ (ตัวละครสมมติแต่อ้างอิงมาจากตัวผู้เขียนเอง) ภาพตัวละครบนปก อาจจะดูน่ารัก แต่เนื้อในแทรกภาพความโหดของสงครามจริง อย่างสยดสยอง ทั้งด้านงานภาพระดับเรต R กับเนื้อหาที่ชวนหดหู่ใจ
ตัวเนื้อเรื่องนั้น อาจารย์ระบุว่าอิงจากที่เจอกับตัวมาราว 90% (จะมีเพียงตอนท้ายที่ชงชัดว่าเป็นเรื่องแต่ง) ทั้งความไม่คุ้นเคยต่อเกาะเขตร้อน, การรบและโรคภัยที่พรากเพื่อนร่วมรบไปเรื่อยๆ, คำสั่งที่ต้องยึดถือแต่ก็มีความไร้สาระของกองทัพ ฯลฯ
ที่มาของการสร้างผลงานเรื่องนี้ ก็มาจากการที่ อาจารย์มิซุกิ สูยเสียแขนซ้ายไปตั้งแต่โดนเกณฑ์ทหารไปออกรบ และมีความอัดอั้นตันใจอยากบอกเล่าเรื่องที่เจอมาโดยตลอด เมื่ออาจารย์พอมีชื่อเสียง เลยจัดทำมังงะเรื่องข้างต้นออกมา
และการได้เห็นความเลวร้ายของสงครามโลกครั้งที่ 2 แบบประชิด และ ประจักษ์ต่อตัวเอง ทำให้อาจารย์ประกาศตัวเป็นนักสันตินิยมมาตั้งแต่ช่วงหนุ่มๆ แล้ว พองานมังงะเรื่องนี้มีโอกาสขายแบบภาษาอังกฤษ ทำให้คนเข้าใจตัวตนฟากนี้ของอาจารย์มากยิ่งขึ้น
Devilman
เดวิลแมน เล่าเรื่องของ ฟุโด อากิระ เด็กหนุ่มขี้อายที่ถูกทำพิธีเรียกปิศาจอามอนมาสถิตที่ตัวเขา แต่ด้วยจิตใจอันงดงามและเข้มแข็งของอากิระกลับ ทำให้อามอนไม่สามารถครอบงำร่างของเขาได้ ส่งผลให้อากิระกลายร่างเป็น เดวิลแมน ผู้ที่ทั้งพลังของปิศาจและใจของมนุษย์ในร่างเดียว กระนั้นเขาต้องต่อสู้กับทั้งปิศาจที่แฝงตัวอยู่บนโลกและมนุษย์ที่พยายามล่าล้างปิศาจไปพร้อมกัน และเขายังต้องรับมือกับแผนการของ อาสึกะ เรียว เพื่อนในวัยเด็กที่มีเจตนาลึกลับยากที่จะเข้าใจได้โดยง่าย
ผมก็ตกใจเหมือนกันตอนเจอบทสัมภาษณ์ อาจารย์นากาอิ โก ที่บอกว่า เดวิลแมน เนี่ย เขียนโดยเจตนาให้เป็น Anti-War จากสงครามเวียดนามในยุคนั้น โดยเฉพาะในช่วงท้ายๆ ที่ เหมือนข้อความอยากให้ตระหนักว่า ถ้าละทิ้งความสันติในมนุษย์ปลายทางก็อาจจะวายวอดกันขั้นสุดทีเดียว
สำหรับท่านที่อยากสัมผัสเนื้อหาเต็ม แนะนำเสพอนิเมะ Devilman Crybaby ที่ปรับยุคให้อยู่ในโลกที่ทันสมัยขึ้น แต่แก่นเรื่องคงเดิมจากฉบับมังงะนะครับ
กับต้องเตือนล่วงหน้าด้วยว่า ตัวอนิเมะนั้น อาจจะมีความติสท์สูง แต่ในส่วนของความโหดทั้งภาพและเรื่อง นี่อยู่ช่วง เรต R แบบเต็มๆ เลยล่ะครับ
Kono Sekai No Katasumi Ni (ณ มุมหนึ่งของโลกใบนี้)
หลายท่านอาจจะคุ้นชื่อคุ้นตากับภาพยนตร์อนิเมะ In This Corner Of The World ซึ่งจริงๆ แล้วตัวต้นฉบับมาจากมังงะของอาจารย์โคโนะ ฟุมิโยะ ครับ
มังงะ เล่าเรื่องของ ซุซุ สาวน้อยใสซื่อบริสุทธิ์ ผู้ชื่นชอบการวาดภาพ ตั้งแต่ช่วงสงครามโลกครั้งที่สองส่งผลถึงญี่ปุ่นจริงๆ >> ระเบิดปรมาณูถูกทิ้งใส่ญี่ปุ่น >> จนวันที่สงครามจบลง
ตัวมังงะมีจังหวะเนิบนาบแต่ก็ยังเข้าถึงจุดที่สงครามทำร้ายชีวิตคนถ้วนหน้า แม่ว่าจะมองโลกแง่ดีขนาดไหนก็ตาม ถ้าว่าตรงๆ อันนี้แนะนำฉบับดูหนังก่อนครับ ส่วนหนึ่งเพราะทีมสร้างอนิเมะมีหาข้อมูลระดับว่าสภาพอากาศในแต่ละวันควรจะบอกเล่าอย่างไรด้วย
พอเก็บใจความหลักแล้วค่อยตามเนื้อหาของมังงะอีกทีก็ไม่เลวครับ
Hatahishi No Gen
มังงะเรื่องนี้ถูกเขียนโดยอาจารย์นาคาซาวะ เคย์จิ ในไทยเคยมีทางสำนักพิมพ์มติชนจัดทำเล่มขายในชื่อ 'เก็น เจ้าหนู' สู้ชีวิต
เนื้อหาในเรื่องเป็นการดัดแปลงชีวิตของอาจารย์นาคาซาวะที่รอดตายจากการทิ้งระเบิดที่ฮิโรชิม่า มาบอกเล่ามาในแบบมังงะ โดยใช้มุมมองของ เก็น เด็กชายที่เติบโตในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 กำลังจะเดินทางถึงจุดสิ้นสุดเป็นผู้เล่าเรื่อง
เก็น ต้องเจอทั้งการสูญเสียภายของคนในครอบครัว ที่ได้รับผลตั้งแต่สงครามยังไม่สิ้นสุดดี หนำซ้ำตัวของเก็นยังได้เห็นผลของระเบิดปรมาณูด้วยตัวเองอย่างจังๆ ถ้า In This Corner Of The World โชว์ว่าคนมองโลกแง่ดีก็ลำบาก เรื่องนี้คือโชว์ให้ดูว่า มันแย่แบบโลกจริงไปเลย เราจะได้เห็นคนที่รอดตายจากแรงระเบิด แต่มีแผลติดตัวไปตลอดชีวิต ไม่ว่าจะทั้งบนร่างกาย หรือ ภายในจิตใตก็ตามที่
ที่หามาและถูกคนอ่านระบุว่า Anti-War ก็จะเป็นเรื่องเหล่านี้ครับ แต่ถ้ามีเรื่องไหนอยากแนะนำ ลองทวิตสะกิดมาบอกได้นะครับ ^^"
ทั้งนี้ ต้องขออนุญาตกล่าวขอบพระคุณ ผู้ช่วยศาสตราจารย์บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์ ผู้ล่วงลับ ที่อาจารย์มักจะนำเอามังงะที่เกี่ยวพันกับสงครามมาเสวนาในงานสัมมนาบ่อยๆ จนทำให้คนไปร่วมวงสนทนาอย่างผมได้ความรู้ส่วนนี้ติดหัวกลับมาจนปัจจุบันนี้ด้วยครับ
#อ่านดูYoung
โฆษณา