7 มี.ค. 2022 เวลา 10:00 • คริปโทเคอร์เรนซี
แจ้งเกิด Blinking Girls ผลงานศิลปะ NFT สไตล์พิกเซล ในแบบของ อุกฤษฎ์ มาลัย
อุกฤษฎ์ มาลัย คนทำหนัง สร้างแอนิเมชัน นักเขียนบท ล่าม และนักแปล ที่ทดลองสร้างสรรค์งานศิลปะดิจิทัล NFT (Non-fungible Tokens) จากคำชักชวนของรุ่นพี่ แม้ไม่ได้มีความถนัดด้านการสเก็ตช์ภาพ แต่ผลงาน NFT ก็มีคนซื้อไปหลายภาพแล้ว และมันกลับมาเติมความสุขให้ชีวิตในอีกรูปแบบหนึ่ง
อยากให้เล่าถึง NFT คอลเล็กชันแรกที่ขายได้
อุกฤษฎ์ : คอลเล็กชันแรกที่ขายอยู่บน opensea.io เป็นเชน อีเธอเรียม (Ethereum) ซึ่งเป็นเชนที่มี ค่าแก๊ส (Gas Fee) แพงมากๆ แต่น่าจะเป็นเชนที่หลายคนเริ่มต้น คือทำ NFT รูปแมวกวักชื่อ พิกเซลเนโกะ (Pixel Neko) ซึ่งขายไปช่วงปลายปีที่แล้ว
รอนานไหมกว่าจะมีคนซื้อ?
อุกฤษฎ์ : ตอนแรกก็ไม่มีคนซื้อ แต่พอทำไปเรื่อยๆ ประมาณเดือนกว่าๆ ก็มีคนมาซื้อ เป็นชาวต่างชาติเจ้าของ เนียนแคต (NyanCat) นักวาดรูปคนดังที่สะสมภาพเกี่ยวกับแมว ผมดีใจมากเพราะคนซื้อเป็นคนที่เราติดตามผลงานเขามานาน
#pixelart #ドット絵
#005 Tani - BGs X THAIGHOST
เข้าไปขายงาน NFT ได้ยังไง ตอนนั้นมีความรู้เรื่องบล็อกเชนหรือยัง?
อุกฤษฎ์ : เรื่อง NFT เข้าไปเล่นเพราะมีคนชวน จริงๆ รู้เรื่องบล็อกเชนมาก่อน แต่เราก็ศึกษาจนรู้เทคโนโลยีเบื้องหลังของมัน รู้ว่าบล็อกเชนทำงานยังไง และอย่างแรกที่ต้องรู้คือ เรื่องความปลอดภัยทางการเงินของพวกเรา ต้องรู้ว่าจัดการ wallet ยังไง สร้างบัญชียังไง และการสร้าง NFT มันมีศัพท์อะไรที่เราต้องรู้บ้าง
เช่น Mint คือการสร้าง NFT ขึ้นมา ไม่อย่างนั้นก็จะคุยกับคนในคอมมูนิตีไม่รู้เรื่อง เพราะส่วนใหญ่คนที่อยู่ในคอมมูนิตีเดียวกันมักเป็นฝรั่ง อีกอย่างคือมีพวก Scam (นักต้มตุ๋น) ค่อนข้างเยอะ เพราะ NFT ไม่มีผู้คุมกฎมาดูแล เราก็ต้องดูแลตัวเอง ดูแลทรัพย์สินของตัวเองเป็น
มาที่ Blinking Girls คอลเล็กชันเด็กหญิงแนว Kawaii
อุกฤษฎ์ : เป็นตัวแรกที่ทำขึ้นมา แล้วตัวนี้ก็เป็นหน้าปกของคอลเล็กชันที่เป็น Profile Pictures ตอนแรกที่ทำ ไม่ได้ทำเพื่อเป็น NFT ทำใช้เพื่อเป็น Fan Art
หมายความว่า ไม่จำเป็นต้องวาดเก่ง แค่ใช้เทคโนโลยีเป็นก็สร้างงาน NFT ออกมาขายได้?
อุกฤษฎ์ : ต้องเข้าใจก่อนว่า ศิลปะในวงการ NFT ไม่ใช่ศิลปะแบบ Pure Art มันอยู่ที่ taste หรือรสนิยมของคนซื้อ เขาพอใจที่จะซื้อก็จบ อันนี้ผมว่ามันเป็นข้อดีเพราะว่ามันเปิดโอกาสให้เราสามารถตีความได้กว้างขึ้นว่า ศิลปะคืออะไร เราสามารถทำงานที่หลากหลายขึ้นได้ และมันก็อยู่ที่คนมองเห็นว่ามันสวย เขาซื้อ - ก็จบ
แต่ถ้าเป็นศิลปะแบบดั้งเดิมหรือแบบคลาสสิก มันจะมีระบบ Curator อย่างที่พิพิธภัณฑ์ต่างๆ พิจารณาว่า แบบไหนควรที่จะได้โชว์ แต่ตอนนี้มี NFT เราสามารถจัดการงานของเราเองได้เลย แล้วไปวัดกันบนตลาดว่า มีค่าพอที่จะมีคนซื้อหรือเปล่า
เห็น Blinking Girls ได้ไปโชว์บนบิลบอร์ดที่พาร์ค พารากอน เซ็นทรัลเวิลด์ ไอคอนสยาม
อุกฤษฎ์ : ก็มีจัดแสดงที่แกลอรี่ ล่าสุด Plan B มาคุยงานด้วย เขาคุยกับครีเอเตอร์หลายคน และทำให้ผมได้โชว์ผลงานบนบิลบอร์ดใหญ่ๆ (ยิ้ม)
ถามถึง NFT ที่กำลังอินเทรนด์
อุกฤษฎ์ : ที่มาแรงๆ เลยก็คืองาน Profile Pictures เพราะว่ามันใช้งานง่าย คนซื้อเอาไปใช้เป็นรูป Profile ได้ แล้วก็ถ้าคนซื้อใช้ Profile Pictures ที่มาจากคอลเล็กชันนี้เหมือนกัน เราก็จะรู้สึกเชื่อมต่อกัน เป็นพวกเดียวกัน
Blinking Girls
เห็นว่า ค่าธรรมเนียมการซื้อ หรือที่เรียกว่า ค่าแก๊ส (Gas Fee) บางช่วงก็แพง บางช่วงก็ถูก นั่นเป็นเพราะ?
อุกฤษฎ์ : ค่าแก๊ส ขึ้นอยู่กับความหนาแน่นของการทำธุรกรรมในเวลานั้น อย่างเชน Ethereum ที่มันแพงเพราะนอกจากมันใช้ใน Opensea แล้วก็ยังใช้ในส่วนอื่นๆ เช่น Uniswap พวก DeFi (Decentralized Finance) ระบบการเงินที่ทำงานแบบไร้ตัวกลางก็ใช้ร่วมกัน เมื่อคนใช้งานเยอะขึ้น ค่าแก๊สก็จะแพง ก็ต้องดูว่าช่วงไหนมีธุรกรรมน้อยลง ค่าแก๊สก็จะถูกลง ราคาแก๊สก็จะดีเอง
การตั้งราคาขายกับค่าแก๊ส สัมพันธ์กันไหม?
อุกฤษฎ์ : ไม่สามารถบอกได้ขนาดนั้นครับ เพราะต้องเข้าใจว่า ในโลก NFT อะไรก็เป็นไปได้ อยู่ๆ ลงงานอะไรมาที่ไม่ได้เป็นธีมอะไรเลย แต่ขายได้ก็มีเหมือนกัน เพราะตลาดมันเปิดกว้าง แล้วก็ไม่สามารถการันตีได้ว่า ตลาดเดียวกันจะขายงานได้เหมือนกันอยู่ดี
นอกเหนือจาก Opensea ยังขายผลงาน NFT บนแพลตฟอร์มไหนอีก?
อุกฤษฎ์ : ก็มีเชน Solana ที่ใช้เหรียญ SOL แล้วก็ Side Chain ของ Opensea นั่นก็คือ Polygon แต่เชนนี้ก็จะมีข้อครหาเยอะ เพราะมันอิสระมาก มีคนขโมยงานไปลงเชนนี้เยอะ คนที่ซื้อก็ต้องระวังด้วยว่า งานนั้นก๊อปมาหรือเปล่า เพราะถ้าซื้อของก๊อปไปแล้วโดน Report งานนั้นก็อาจจะหายไปได้เลย แต่ตอนนี้ก็ดีขึ้นมากเพราะคอมมูนิตีใน Discord ของเชนนี้ก็ช่วยกันตรวจสอบ
คอมมูนิตี NFT ในไทย ส่วนใหญ่ก็ใช้แอป Discord พูดคุยและตรวจสอบด้วยเหมือนกัน?
อุกฤษฎ์ : ก็จะมีคอมมูนิตีในทวิตเตอร์มากกว่า ดูได้จากแฮชแท็ก #NFTThailand ใน Discord ก็มี อย่างของเราจะแจ้งเฉพาะคอมมูนิตีเราว่า ถ้าอยากติดตามงานของเราให้มาที่ Discord นี้นะ
https://www.springnews.co.th/spring-life/821059
ถ้าบทสัมภาษณ์นี้ทำให้ผู้อ่านอยากสร้างงาน NFT บ้าง สรุปให้ฟังหน่อยว่า ต้องรู้หรือต้องมีทักษะกี่ด้าน?
อุกฤษฎ์ : การจะทำ NFT มันมี 4 เสาหลักที่ฝรั่งระบุไว้ครับ ข้อแรกคือ ต้องมีมุมมองด้าน Art คุณชอบ Art แบบไหน ไม่มีผิด ไม่มีถูก คนซื้อเขาก็จะดูออกเองว่า งานนี้ตั้งใจทำหรือทำมาขายเพื่อเอาเงิน ข้อสองคือ ต้องมีคอมมูนิตี คือคนที่ซื้องาน NFC ในคอลเล็กชันเดียวกัน เขาต้องการซื้อคอมมูนิตีด้วย คนที่มาซื้องานชนิดเดียวกันก็อาจจะเป็นคนที่ชอบอะไรเหมือนเรา เราก็อาจจะต้องมีกิจกรรมให้เขามามี interact กัน มีการจัดงานแจกรางวัล หรือชวนไปทำนู่นนี่เป็นคอมมูนิตี
ข้อสาม คือ ต้องรู้เรื่องคริปโต ข้อสี่คือ ต้องเป็นในเรื่องของ Marketing รู้เรื่องการตั้งราคา รู้เรื่องความ Rare (หายาก) ของงาน และงานของเรามีคาแรกเตอร์เหมาะกับที่ไหน เพราะ NFT มันเป็นตลาดต่างประเทศที่เปิดกว้างมากๆ เราต้องรู้ว่างานแบบไหนที่เขามองหาอยู่ เพื่อที่จะเอามาปรับใช้กับงานของเรา
ฝากทิ้งท้ายถึงโมเมนต์ดีๆ และความสนุกที่ได้ทำ NFT
อุกฤษฎ์ : คือการสร้างคอมมูนิตีนี่แหละครับ เพราะถ้าเราสร้างคอมมูนิตีของคนชอบเรื่องเดียวกันมาอยู่ด้วยกันเยอะๆ มันเป็นบรรยากาศมวลรวมจากคาแรกเตอร์ของศิลปินเอง แล้วเราก็จะสร้างงานออกมาได้เรื่อยๆ คนที่ซื้อไปแล้วก็จะบอกต่อ ชวนเพื่อนเข้ามาในคอมมูนิตีนี้ คอมมูนิตีใหญ่ขึ้นก็จะมองเห็นหนทางแห่งการแบ่งปันเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
โฆษณา