Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Thai Fish Shop
•
ติดตาม
7 มี.ค. 2022 เวลา 10:51 • สัตว์เลี้ยง
ปลาหมูปลาค้อเป็นปลาตระกูลหนึ่งที่พบมากในทวีปเอเชีย เรียกว่ามีตั้งแต่จีน อินเดีย บังคลาเทศ และทุกประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จะมากชนิดบ้างน้อยชนิดบ้างแต่ยังไงมันต้องมีสักชนิดแหละ เพราะปลาหมูปลาค้อเป็นปลาที่มีความหลากหลายทางสายพันธุ์เยอะมาก
เราจะเริ่มจากการแยกปลาค้อออกไปจากบทความก่อน ความต่างกันระหว่างปลาค้อกับปลาหมูให้ดูที่ทรวดทรงน่าจะง่ายที่สุด ปลาค้อจะมีรูปทรงเหมือนดินสอคือเป็นปล้องเรียวยาว ส่วนปลาหมูจะเหมือนยางลบคืออ้วนสั้นป้อม อันที่จริงปลาคูลี่ กับรากกล้วยก็นับเป็นตระกูลปลาค้อนะ
สำหรับภาษาอังกฤษมีคำศัพท์ให้ใช้อยู่สองคำคือ Botia (ปลาหมู) Loach (ปลาค้อ) แต่เอาจริงๆแอดมินคิดว่ามันมีความสับสนในการใช้อยู่เยอะมาก เพราะเค้าใช้กันทั้งสองคำเรียกปลาชนิดเดียวอย่างเช่น Yushuhikotakia modesta (หมูฟ้าหางแดง) ฝรั่งแต่ละคนเรียกชื่อสามัญไม่เหมือนกันเลยมีตั้งแต่ redtail botia หรือ redtail loach หรือหนักหน่อยก็ redtail loach botia ดังนั้นเวลาคุยเรื่องปลาตระกูลนี้กับฝรั่งแนะนำให้คุยชื่อวิทยาศาสตร์จะเข้าใจตรงกันง่ายกว่า
บทความวันนี้ขอเสนอตอน "ปลาหมูฟ้าหางแดง"
เครดิตภาพประกอบ https://mgronline.com/indochina/detail/9570000078947
ความสำคัญของปลาหมูนั้นแรกเริ่มเดิมทีมันได้รับความสนใจในลักษณะของการประกอบอาหารมาก่อน เนื่องจากมันเป็นปลาที่เนื้อมีความหอม และนุ่มมัน อีกทั้งยังสามารถหาได้ง่ายตามแหล่งน้ำ ทุกวันนี้มันก็ยังคงเป็นยังนั้นอยู่เพียงแต่ในบ้านเราดูจะได้รับความนิยมไม่มากนัก
ลักษณะของปลาหมูนอกเหนือจากรูปร่างอ้วนป้อมสั้นแล้ว ผิวจะมีเกล็ดละเอียดเล็กจนนึกว่าเป็นปลาหนัง ไม่มีเปลือกตา (กะพริบตาไม่ได้) ใต้ดวงตาทั้งสองข้างมีเงี่ยงแข็งอยู่หนึ่งชิ้น สามารถกางออกมาทำร้ายหรือป้องกันตัวจากผู้ไม่ประสงค์ดี จะมีหนวดที่ปลายปากสองคู่ มุมปากหนึ่งคู่ หางเว้าเป็นแฉกลึก ทั้งหมดนี้คือลักษณะร่วมของสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่า “ปลาหมู”
ปลาที่เราจะพูดถึงในวันนี้คือ “ปลาหมูฟ้าหางแดง” แต่ว่ามันก็มีชื่ออื่นที่ใช้เรียกกันอีกเช่น หมูแดง หมูฟ้าหางเหลือง หมูขาว หมูมัน ทางเวียดนามเรียกมันว่า Orange Botia (หมูส้ม) ส่วนชื่อที่จะใช้ในบทความนี้คือ “หมูฟ้าหางแดง” เพราะมันสะท้อนรูปลักษณ์ออกมาได้ชัดเจนที่สุด
ปลาหมูฟ้าหางแดงลำตัวมีสีฟ้าอ่อนเหลือบสีเทาเขียว ครีบทุกครีบรวมถึงหางไม่มีก้านแข้ง และมีสีแดงส้ม ในบ้านเรายังสามารถพบปลาชนิดนี้ได้ง่ายตามอ่างเก็บน้ำ แม่น้ำ น้ำตก ทั้งภาคกลาง ภาคเหนือ และภาคอีสาน เมื่อเทียบลักษณะกับปลาหมูชนิดอื่นแล้ว หมูฟ้าหางแดงนับว่ามีลำตัวสั้นและป้อมกว่าสมฉายา “ปลาหมู”
ขนาดใหญ่ที่สุดที่เคยพบในแหล่งน้ำธรรมชาติคือ 25 ซม. มักพบเจอเป็นฝูงใหญ่อาศัยอยู่ตามโพรงไม้ รากไม้ ชะง่อนหินตามน้ำตก มีพฤติกรรมว่ายทวนกระแสน้ำ ดังนั้นปลาจะได้ออกกำลังกายอยู่เสมอปลาในธรรมชาติจึงมีขนาดใหญ่กว่าการเลี้ยงในบ่อเพื่อเพาะพันธุ์
อาหารในธรรมชาติจะเป็นตัวอ่อนแมลง หนอนไส้เดือนที่อาศัยอยู่ตามโคลนตมเนื่องจากปลาหมูเป็นปลาหน้าดิน ต้องการความสะอาดของน้ำค่อนข้างสูง พบมากในแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำโขง แม้พัฒนาการเรื่องชลประทานจะทำลายแหล่งกำเนิดมันไปหลายแห่ง แต่ก็ยังนับว่าเป็นปลามี่ห่างไกลจากคำว่าสูญพันธุ์อยู่ดี
เกร็ดน่ารู้สำหรับการเลี้ยงปลาหมูเชิงสวยงาม
หมูฟ้าหางแดงเมื่อมีขนาดโตกว่า 5 นิ้วขึ้นไปจะนอนพักผ่อนโดยการนอนตะแคงราบไปกับพื้นตู้ ไม่ได้ตายแค่นอนพัก ถ้าเคาะตู้ปลุกมันก็จะตื่นขึ้นมาถามว่า ได้เวลาอาหารแล้วเหรอพร้อมกับท่าทางลุกลี้ลุกลน
เรื่องควรระวังคือปลาหมูนั้นชอบว่ายทวนกระแสน้ำ ปัญหาแรกเลยก็คือบางครั้งเราจะพบว่าปลาหมูมันว่ายสวนปั๊มน้ำเข้าไปเสียชีวิตอยู่ในท่อพ่นน้ำของปั๊มน้ำ คือเข้าไปแล้วติดออกไม่ได้ วิธีการป้องกันทำได้โดยนำเอาผ้าตาข่ายไปมัดคลุมท่อน้ำดังกล่าวเอาไว้ให้ปลาหมูว่ายสวนน้ำเข้าไปไม่ได้
ข้อควรระวังเรื่องที่สอง เรื่องนี้จะลี้ลับสักหน่อยเพราะมันไม่ได้เกิดทุกครั้งกับทุกชนิดจากประสบการณ์แอดมินเองเคยเจออยู่สองครั้งซึ่งเกิดกับหมูลายและหมูลายเมฆ (หมูชนิดหนึ่งมีมากในพม่า หาได้ตามตะเข็บชายแดนฝั่งกาญจนบุรี)
เรื่องมีอยู่ว่าแอดมินซื้อมาสตอคไว้ที่ฟาร์มแบ่งเป็นสี่ตู้ ตู้ละร้อยห้าสิบตัว ขนาดสักสองนิ้วนิดๆ สุขภาพดีตรวจแล้วไม่มีโรค ปลาดูอ้วนท้วนดี พอเลิกงานเดินผ่านปลาตู้นี้กับบ้านก็สังเกตเห็นว่าน้ำมันท่วมออกมานอกตู้ไหลนองที่พื้น มีปลาดิ้นกระแด่วอยู่บนพื้นสี่ห้าตัว ตู้ที่ใช้พักปลาพวกนี้เป็นตู้กรองข้างระบบน้ำล้นด้านบนแล้วพ่นกลับเข้าตู้ด้วยปั๊มน้ำ
แปลกใจมากน้ำล้นได้ไงอะ ไม่ได้เติมน้ำอยู่สักหน่อย หลังจากตรวจดูก็พบว่าปลาไปนอนกองกันตรงช่องน้ำล้น ก็ยิ่งตกใจเข้าไปใหญ่ เฮ้ย !! เกิดไรขึ้นเมื่อกี๊ยังปกติกันอยู่เลย เป็นกันสามจากสี่ตู้ ตายได้ไงอะปลิวมาติดช่องกรองกันจนน้ำไหลไม่ผ่านก็เลยล้นออกมานอกตู้แทน นั่นคือสาเหตุว่าทำไมน้ำล้นออกมาที่พื้นและปลาก็ไหลออกมากับน้ำสี่ห้าตัวกำลังเต้นกันอยู่บนพื้น
กำลังจะเอามือไปเขี่ยปลาออกจากช่องกรองให้น้ำไหลปรากฎว่า ปลาก็ว่ายแตกตื่นกันออกจากช่องกรองที่ปลิวไปติดอยู่ อ้าว !? ไม่ได้ตายนี่หว่า นี่พวกแกพึ่งดูนีโมมาป่าวเนี่ยหาวิธีหนีออกนอกตู้ปลากัน น่าเอาไปสร้างเป็นพลอตหนังเรื่อง Escape from Aquarium นี่ก็นับเป็นเรื่อแปลกอีกหนึ่งเรื่อง ซึ่งปัจจุบันก็เปลี่ยนวิธีการหมุนของน้ำเพื่อป้องกันปัญหานี้เกิดขึ้นอีก ก็เลยไม่รู้ว่าถ้าไม่ได้แก้เป็นระบบใหม่เหตุการณ์นี้จะเกิดซ้ำอีกมั๊ย แต่ก็เป็นเรื่องที่มันค่อนข้างจะประหลาดน่าดู
กลับมาที่ปลาหมูฟ้าหางแดงกันอีกครั้งหนึ่ง เมื่อตอนต้นมีเล่าให้ฟังว่ามันมีอีกชื่อว่าหมูฟ้าหางเหลืองด้วยถูกปะครับ คือสีที่ครีบทุกจุดมันก็เป็นสีเหลืองหมดเลยนะ ไม่ใกล้เคียงกับสีแดงเลย แต่ใช้ชื่อวิทยาศาสตร์เดียวกันว่า Yasuhikotakia modesta (อ่านว่า ยาสุฮิโกะ ทา เคีย โมเ ดซ ต้า)
สรุปความได้ว่าแร่ธาตุในแต่ละพื้นที่แตกต่างกันทำให้สีของครีบปลาต่างกัน หมูฟ้าหางเหลืองจะเจอในแม่น้ำเจ้าพระยา ส่วนหมูฟ้าหางแดงจะได้มาจากทางแม่น้ำโขง เดี๋ยวจะหาว่าโม้แอดมินขอให้น้องที่ฟาร์มไปจับมาถ่ายรูปคู่กันให้แล้ว สามารถดูได้ที่ช่องคอมเมนต์
ย้อนหลังกลับไปหลายปีหน่อย เมื่อก่อนปลาหมูฟ้าหางแดงได้รับความนิยมทำเป็นปลาฉีดสีด้วยนะ เค้าจะเอาสีต่างๆฉีดเข้าไปตรงส่วนลำตัวเพื่อเปลี่ยนสีฟ้าอ่อนให้กลายเป็นสีอื่นอย่างเช่น สีชมพู สีม่วง สีเขียว สีน้ำเงิน เหมือนพวกปลาแป้นฉีดสี เสือเยอรมันฉีดสีเลย
ภาพปลาหมูฟ้าหางแดงที่ถูกนำมาฉีดสีต่างๆ
ที่จะเล่าให้ฟังเนี่ยคือจะบอกว่ามันน่าสงสารมากเลยครับ ปลาหมูมันเป็นปลาราคาถูก พอมันถูกมากๆพ่อค้าเค้าก็จะไม่ค่อยใส่ใจเรื่องสุขภาพมันหรอกเลี้ยงแบบถูลู่ถูกัง ปลาพวกนี้มันก็จะผอมโซ ไม่แข็งแรง พอเอามันไปจิ้มเข็มฉีดยาเพื่อพ่นสีลงบนลำตัวมันก็เจ็บไง คือกูก็ผอมบักโกรกจะล้มมิล้มแหล่ยังเอาเข็มมาจิ้มตรูฉีดสารอะไรเข้าไปอีก
ส่วนใหญ่ปลาหมูฉีดสีเลี้ยงได้แป๊บนึงก็จะไม่รอด พวกที่เลี้ยงรอดสีก็จะซีดลงเรื่อยๆจนกลายเป็นสีปกติในที่สุด คือมันยังงี้ครับพอฉีดมาถ้าปลามันได้พักฟื้นสักสามสี่วันมันก็มีอัตรารอดสูงขึ้นนะก่อนจะเอามาขาย แต่พ่อค้าส่วนใหญ่ไม่พักกันเพราะว่ายิ่งนานสีก็ยิ่งซีดรีบขายออกไปตอนสีมันสวยๆนี่แหละ แล้วให้ไปซวยที่คนเลี้ยงเอา
เดี๋ยวนี้แทบไม่เห็นในตลาดปลาสวยงามแล้ว ไม่รู้ว่าคนเค้ารู้กันหมดแล้วเลยเลิกซื้อหรือเค้าเลิกทำมาขายกันแล้ว ก็อยากจะรณรงค์ให้เลิกซื้อปลาฉีดสีครับ คือสุดท้ายสีมันก็หลุดออกไปหมดจะไปทรมานปลามันทำไม เลี้ยงแบบพวกสีธรรมชาตินี่แหละ แต่ก็เข้าใจว่าผู้ซื้อคงไม่รู้เรื่องการฉีดสีมากกว่าคงเข้าใจว่าเป็นสีธรรมชาติที่อยู่ตลอดไป ก็ช่วยกันแชร์บทความออกไปครับ (555 แอบขายเพจตัวเองอีกแล้ว)
กลับมาที่ปลาหมูฟ้าหางแดงอีกครั้งหนึ่งออกทะเลไปไกลเลย จะเล่าต่อว่าปลาชนิดนี้มีทั้งในไทย จีน และเวียดนาม โดยทั้งจีนและเวียดนามนั้นนิยมนำมาบริโภคมากกว่าที่บ้านเราค่อนข้างเยอะ ที่นั่นปลาขนาดใหญ่กลายเป็นจานเด็ดในภัตตาคารราคาแพงกันนะครับ
เค้าเอาไปทำแกง ทำต้มยำ หรือทาเกลือสมุนไพรย่าง เนื้อปลาให้รสชาดหวานมันและหอมนุ่ม เค้านิยมกันจนมีฟาร์มเพาะพันธุ์ปลาชนิดนี้กันเล้อย (บ้านเราก็มีนะครับ) ก็อาจเป็นเพราะเหตุนี้ด้วยปลาหมูฟ้าหางแดงถึงไม่ใกล้กับคำว่าสูญพันธ็สักเท่าไหร่
ฤดูเพาะพันธุ์ของปลาหมูในบ้านเราคือฤดูร้อนไปถึงช่วงต้นฤดูฝน ประมาณเดือนสามถึงปลายเดือนแปด เมื่อครั้งลูกปลาหมูชนิดนี้ยังเล็กจะมีลายบั้งแนวตั้งสีดำตามลำตัว เมื่อโตขึ้นสักสองนิ้วเป็นต้นไปลวดลายจะค่อยๆจางลงจนเสมือนหายไป แต่ถ้าไปยืนเล็งดีๆก็จะเห็นรอยจางๆตามผิวของปลาหมูทีมีขนาดใหญ่แล้วอยู่ดี
อันที่จริงกลุ่มปลาหมูปลาค้อนั้นแอดมินมีความชอบเป็นพิเศษ เรียกว่ารู้จักอยู่หลายชนิดถึงจะไม่ครบถ้วนก็ตาม (คือมันเยอะมากจริงๆ) เคยมานั่งนึกเหมือนกันว่าไปชอบอะไรมันตรงไหนแล้วก็นึกไม่ออก ในที่สุดตอนเขียนบทความนี้ก็นึกได้ละครับว่าเกิดจากลูกค้าประเทศเชคท่านหนึ่งซื้อขายกันตั้งแต่ตอนเปิดบริษัทมาได้สองปี ซื้อเดือนละหนึ่งครั้ง
ออเดอร์เค้าจะมีประกอบด้วยปลาหมูปลาค้อเยอะและหลายชนิดมาก เรียกว่าไม่รู้จักมาก่อนก็ต้องรู้จักกันก่อนจะส่งนี่แหละ ส่งผิดตัวไปเดี๋ยวจะเละ นั่นก็เลยทำให้แอดมินรักปลาหมูปลาค้อมากๆ ?
เปล่าเลย !! แอดมินรักออเดอร์ที่ได้จากทางลูกค้าต่างหากสั่งอะไรก็ได้ สั่งมาเถอะ 555 ส่วนลูกค้าจากประเทศเชครายนี้ก็เกษียณตัวเองจากธุรกิจปลาสวยงามไปได้สักเกินสิบปีแล้ว น่าจะกลายเป็นคุณปู่เลี้ยงหลานอยู่บ้าน
#ปลาสวยงาม #ปลาหมู #ปลาหมูฟ้าหางแดง
ปลาสวยงาม
บทความ
บันทึก
3
3
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย