Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
นักจิตขี้เมาส์
•
ติดตาม
7 มี.ค. 2022 เวลา 11:27 • การศึกษา
ทำไมชอบโทษคนอื่น !?
“เคยเจอคนประเภทนี้บ้างมั้ยคะในชีวิต คนประเภทที่ทำอะไรผิดพลาดแล้วไม่เคยโทษตัวเองเลย?”
ถ้าเดินชนโต๊ะ “ใครใช้ให้เอาโต๊ะเอามาวางตรงนี้ เกะกะ เดินชนเลยเนี่ย” ทั้งๆที่โต๊ะก็วางอยู่ตรงนี้ตั้งนานแล้ว
ทำงานผิดพลาด “ก็คนนั้นเค้าสั่งมาแบบนี้อ่ะ หนูก็เลยทำแบบนี้ ”
ถึงจะปฏิเสธว่า ไม่เคยเจอเลยนะคนแบบนี้ในชีวิต แต่อู๋เชื่อว่าอย่างน้อยต้องมีสักช่วงนึงในชีวิตแหละ ที่เคยเจอ หรือต้องได้ใช้ชีวิตกับคนประเภทนี้
“แล้วเคยสงสัยกันมั้ยว่า เพราะอะไรคนประเภทนี้ถึงชอบโทษคนอื่น ไม่เคยแม้แต่รับผิด และ แก้ไขปรับปรุงตัวเอง?”
การโทษคนอื่น หรือ Projection จัดเป็นกลไกทางจิตชนิดหนึ่ง ที่บุคคลที่ใช้กลไกเหล่านี้มักไม่รู้ตัว จุดประสงค์ของกลไกนี้ก็เพื่อลดความกังวล ปกป้อง ego และเก็บกด (repression) ความขัดแย้งที่กระทบกระเทือนจิตใจอย่างรุนแรงลงไป เพื่อให้เกิดความสมดุลในจิตใจ
“หลายคนอ่านมาถึงตรงนี้แล้วอาจจะสงสัย ego มันคืออะไร ความทะนงตนไม่ใช่เหรอ ที่ได้ยินบ่อยๆ อีโก้มันสูง อะไรแบบนี้?”
.
ความจริงแล้ว ego ไม่ได้มีความหมายตามที่หลายคนเคยเข้าใจ แต่ ego คือ ตัวกลางระหว่าง id ซึ่งคนเรามีติดตัวมาและเป็นสิ่งที่อยู่ในจิตไร้สำนึก (unconscious) เช่น สัญชาตญาณ แรงขับโดยเฉพาะแรงขับด้านเพศ และความก้าวร้าว กับ superego ซึ่งทำหน้าที่เก็บกดความไม่พอใจต่างๆ หรือ เก็บกดสัญชาตญาณในรูปแบบของศีลธรรม รู้ว่าควรทำหรือไม่ควรทำอะไร
ซึ่งกล่าวง่ายๆคือ ego มีหน้าที่ รับรู้ รับความรู้สึกของความเป็นจริง ปรับตัวกับความเป็นจริง มีหน้าที่คิดและเรียนรู้อย่างมีเหตุผลและมีจุดมุ่งหมาย
อย่างที่กล่าวไปตอนต้นแล้วว่า เมื่อเรารู้สึกกังวล ที่เกิดจากความขัดแย้งภายในจิตใจ ความกังวลจะเตือนให้ ego นำกลไกทางจิตมาใช้ เพื่อลดความกังวลนั้นลง และกลไกทางจิตนี้เอง เป็นการพยายามปรับตัวของ ego เพื่อประนีประนอมการแสดงออกของแรงผลักดันที่เกิดภายในจิตไร้สำนึก แต่บอกก่อนนะคะว่า การใช้กลไกทางจิตเป็นสิ่งที่ปกติ แต่หากใช้กลไกทางจิตใดซ้ำๆ โดยมายืดหยุ่นตามสิ่งแวดล้อม หรือไม่เหมาะสมกับวัยบ่อยๆ มักจะเกิดพยาธิสภาพทางจิตตามมา หรือเกิดบุคลิกภาพผิดปกติขึ้น
โดยการทำงานของกลไกทางจิต (Defense mechanism) จะมีการจำแนกออกเป็นชนิดต่างๆ โดยใช้เกณฑ์การแบ่งที่ต่างกัน แต่สิ่งที่นิยมใช้มากที่สุดจะเป็นการแบ่งกลไกทางจิตตามระยะพัฒนา คือ
1.กลไกทางจิตในระยะเริ่มต้นของการพัฒนา (narcissistic defense)
2.กลไกทางจิตที่ยังพัฒนาไม่เต็มที่ (immature defense)
3.กลไกการป้องกันทางจิตแบบโรคประสาท (neurotic defense)
4.กลไกที่พัฒนาแล้ว หรือกลไกที่มีวุฒิภาวะ (mature defense)
“ลองเดากันหน่อยมั้ยคะว่า กลไกทางจิตแบบ การโทษ หรือ โยนความผิดให้คนอื่น (projection) อยู่ขั้นไหนของระยะพัฒนาการ?”
ปิ๊งป่อง ! ถูกต้องค่ะ การโทษ หรือ โยนความผิดให้คนอื่น (projection) จัดอยู่ในกลไกทางจิตในระยะเริ่มต้นของการพัฒนา โดยการโทษผู้อื่น ความหมายจริงๆนั้นคือ การซัดทอดความคิด ความรู้สึก หรือแรงขับดันที่ไม่ดีที่ตนเองรับไม่ได้ไปให้ผู้อื่น เพื่อป้องกันตนเองให้พ้นผิด การโอนความผิดให้ผู้อื่นมีได้ในหลายระดับของการพัฒนา ยิ่งเป็นช่วงต้นเท่าไหร่ จิตใจก็จะมองความรู้สึกของตนเอง เหมือนภายนอกมากเท่านั้น
เช่น นางสาว ก. กล่าวโทษ เพื่อนร่วมงาน (หลังจากหัวหน้าตำหนิการทำงานที่ผิดพลาดของเธอ) ว่าเพื่อนร่วมงานเป็นคนบอกให้เธอทำงานนี้แบบนี้ ทั้งที่เมื่อก่อนนางสาว ก. คิดว่าตนเองทำงานดีมาตลอด
อธิบายเพิ่มเติมก็คือ นางสาว ก. รู้สึกแย่และรู้สึกผิดที่ตนเองทำงานพลาด แต่รับไม่ได้ที่จะโกรธตนเอง จึงกล่าวโทษเพื่อนร่วมงาน แทนที่จะเป็นตัวเอง
หรือ นางสาว ข. ไม่ชอบเพื่อนร่วมงาน แต่ไม่สามารถยอมรัยความรู้สึกก้าวร้าว และเกลียดเพื่อนร่วมงานของตนเองได้ จึงพูดว่า “เพื่อนหาทางกลั่นแกล้งเธออยู่เสมอ” และรู้สึกว่าเพื่อนร่วมงานเองก็ไม่ชอบเธอ กลไกนี้ถ้าใช้มากเกินไปจะเกิดอาการกลัวและหวาดระแวง
สุดท้ายแล้วอยากให้ทุกคนที่ได้อ่านบทความนี้ค่อยๆทำความเข้าใจตนเอง และสังเกตพฤติกรรมของตนเองในการแสดงออกต่อปัญหา สังเกตการใช้กลไกทางจิตของตนเองเพื่อลดความกังวลนั้น และมองว่าการใช้กลไกทางจิตเป็นสิ่งที่ปกติ แต่อยากให้ตระหนักและค่อยๆทำความเข้าใจว่า หากเราใช้กลไกทางจิตใดซ้ำๆ โดยนำมาปรับให้ยืดหยุ่นตามสิ่งแวดล้อมได้ไม่เหมาะสมกับวัยบ่อยๆ อาจจะทำให้เกิดพยาธิสภาพทางจิต การเจ็บป่วยทางจิต หรือเกิดบุคลิกภาพผิดปกติขึ้นได้
ขนาดร่างกายเราเจ็บป่วย หมอยังไม่ให้กินยาปฏิชีวนะเกิน 5-7 วันเลย แล้วถ้าเราใช้กลไกทางจิตปกป้องตัวเองด้วยกลไกเดิมซ้ำๆ แถมไม่เหมาะกับวัยล่ะ จิตใจเราจะรับไหวกับการกินยาปฏิชีวนะที่เรียกว่ากลไกทางจิตเดิมๆซ้ำๆได้รึเปล่า? น่าคิดเหมือนกันนะคะ
เรียบเรียงโดย
#นักจิตอูยอน
แหล่งอ้างอิง
-จิตเวช ศิริราช DSM-5/ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ; นันทวัช สิทธิรักษ์...[และคนอื่นๆ].—พิมพ์ครั้งที่ 3.— กรุงเทพฯ :
-เอกสารคำสอนรายวิชา ระบบประสาทการเคลื่อนไหว และพฤติกรรม 1 สำหรับนักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 3
เรื่อง Defense Mechanisms & Psychosexual development โดยนายแพทย์วรุตม์ อุ่นจิตสกุล ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร
#โทษคนอืน #จิตวิทยา #psychologist #ego
จิตวิทยา
บันทึก
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย