8 มี.ค. 2022 เวลา 05:04 • อาหาร
'Invasivorism' : ศาสตร์แห่งการกินสัตว์รุกราน
Roast rack of squirrel, fondant jersey royal potatoes, carrot and wild garlic served at Paul Wedgwood’s restaurant in Edinburgh, Scotland. Photograph: Wedgwood
มาปั่นน้ำจิ้มซีฟู้ดให้พร้อม และเตรียมทำความรู้จักกับ ‘Invasivorism’ ศาสตร์แห่งการกินสัตว์รุกราน ที่ทำให้รู้ว่า ‘ถ้าสู้มันไม่ได้ ก็กินมันเข้าไปเลยสิคะ’ พร้อมหลากหลายมุมมองที่น่าสนใจจากเชฟแนวหน้า และข้อกังวลเรื่องการแพร่ระบาดจากการจับสัตว์รุกรานเป็นอาหาร
“มันมีความกลมกล่อม มีรสถั่ว ๆ และมีกลิ่นเฉพาะตัวนิดหน่อย แต่รสชาติดีเลยทีเดียว” Paul Wedgwood หนึ่งในเชฟชั้นนำจากสกอตแลนด์กล่าวถึงวัตถุดิบในอาหารจานเด่น ที่ไม่ได้ใช้เนื้อสัตว์ทั่วไป แต่ใช้เนื้อของกระรอกสีเทา หรือ grey squirrel สัตว์รุกรานต่างถิ่นตัวร้ายในสหราชอาณาจักร!
สำหรับ Wedgwood เขาได้นำเนื้อกระรอกมาใส่ไว้ในเมนู ในร้านอาหารของเขามาตั้งแต่ปี 2008 ถึงแม้ว่า อาหารของเขาจะช่วยสิ่งแวดล้อม แต่ Wedgwood เล่าว่า “จุดเริ่มต้นของผมคือ รสชาติของเนื้อกระรอก ซึ่งใครที่ทานเนื้อกระต่ายอยู่แล้วก็คงจะเปลี่ยนมาลองได้ไม่ยาก”
แน่นอนว่า Wedgwood ไม่ใช่เชฟเพียงคนเดียว ที่ได้นำสัตว์รุกรานต่างถิ่นมาทำเป็นอาหารจานเด็ด เพราะเชฟระดับดาวมิชลินในบาฮามาส อย่าง José Andrés เอง ก็ได้นำปลาสิงโต สัตว์รุกรานในแนวปะการัง มาทำเป็นหลากหลายเมนู ที่ทำเอาน้ำลายสอ ส่วนเชฟจากร้าน Fallow ในอังกฤษ ก็กำลังมองหาวิธีการปรุงปูยักษ์สายพันธุ์รุกรานให้ออกมาอร่อยเหาะ
ในระหว่างนี้ หัวหน้าเชฟ Bun Lai จาก Miya’s ร้านซูชิจากพืชและสัตว์รุกรานในสหรัฐฯ เล่าว่า “เป็นเวลากว่าหนึ่งทศวรรษ ที่ผมเลือกเสิร์ฟซูชิจากวัตถุดิบเหล่านี้ และเป็นเวลาหลายปีที่ผู้คนบอกกับผมว่า ซูชิที่ผมทำมันไม่ใช่ซูชิ” แต่ Lai เผยว่าต่อมา ผู้คนก็เริ่มยอมรับมันได้มากขึ้น และสิ่งที่เขาเรียนรู้คือ “รสชาติที่คนชื่นชอบเปลี่ยนแปลงไปอยู่เสมอ”
ปรากฏการณ์ที่ผู้คนหันมากินสัตว์รุกราน หรือ ‘invasivorism’ นั้น เป็นคอนเซ็ปต์ ที่ได้รับการพัฒนาโดยนักอนุรักษ์วิทยา Joe Roman เมื่อประมาณ 20 กว่าปีที่แล้ว ซึ่งได้พูดถึงไอเดียในการใช้มนุษย์เป็นเครื่องมือควบคุมประชากรสัตว์ “พวกเราเป็นนักล่าที่น่าทึ่ง การกินของพวกเราสามารถส่งผลต่อประชากรสัตว์รุกรานได้”
แต่ถึงแม้ว่าใครจะชอบเนื้อสัตว์รุกรานมากขนาดไหน Roman กล่าวเตือนว่า “จุดมุ่งหมายสำคัญคือ การลดจำนวนสัตว์ ไม่ใช่การสร้างตลาดค้าสัตว์เหล่านี้” ซึ่งเขาหวังว่า ผู้คนจะไม่คิดว่า “สัตว์รุกราน อย่าง กุ้งเครย์ฟิช มันน่าอร่อยเสียจนอยากให้มีพวกมันอยู่ทั่วทุกแหล่งน้ำนะ”
อย่างไรก็ตาม มีบางฝ่ายที่มองว่า การจับชนิดพันธุ์ต่างถิ่นมากิน อาจให้ผลลัพธ์ที่ตรงกันข้าม โดยในปี 2020 งานวิจัย* หนึ่งได้ชี้ว่า กับดักที่ใช้จับกุ้งเครย์ฟิชพันธุ์รุกรานในอังกฤษนั้น มีประสิทธิภาพต่ำ แถมยังช่วยให้กุ้งแพร่พันธุ์อีกต่างหาก ในระหว่างที่ผู้เชี่ยวชาญคนอื่น ๆ กังวลว่า หากไม่มีการวางแผนจัดการที่ดีพอ invasivorism จะลดทอนแรงจูงใจในการกำจัดสัตว์ ที่เราควรต้องจำกัด
ทั้งนี้ สิ่งสำคัญที่เราอยากจะเน้นย้ำในเรื่องของสัตว์รุกรานก็คือ การป้องกันการรุกรานตั้งแต่แรก เพราะเมื่อพวกมันเข้ามาแล้ว ก็อาจแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว จนเราไม่มีทางกำจัดมันได้อีก ซึ่งสิ่งมีชีวิตเหล่านี้ไม่เพียงแต่สร้างความเสียหายให้แก่ระบบนิเวศพื้นถิ่นเท่านั้น แต่ยังทำให้เราต้องเสียเวลา เงิน และทรัพยากรจำนวนมากในการควบคุมและกำจัด
ที่มา:
  • 1.
    https://bit.ly/3vNOqyH - Rack of squirrel, anyone? The chefs putting invasive species on the menu | Invasive species | The Guardian
  • 2.
    https://bit.ly/3HRrGjA - นักวิทย์ฯ แนะแหล่งโปรตีนที่น่าสนใจจาก ‘กุ้งเครย์ฟิชลายหินอ่อน’
งานวิจัย:
  • 1.
    https://bit.ly/3IO1Y0C - A novel ‘triple drawdown’ method highlights deficiencies in invasive alien crayfish survey and control techniques | British Ecological Society
โฆษณา