8 มี.ค. 2022 เวลา 10:57 • ดนตรี เพลง
เมื่อวันวานยังหวานอยู่มิรู้ลืม : บทที่สอง
"7 วงดนตรีร็อกยุค 90s ตอนต้น"
Cr. รูปภาพจาก pixabay.com
คำเตือน : บทความนี้มิใช่การจัดอันดับแต่อย่างใด หากแต่เขียนไปตามที่นึกได้ว่ามีจำนวนเท่าไหร่ และเป็นใครกันบ้าง ส่วนหนึ่งมาจากความชอบส่วนตัว และวัดจากกระแสผู้ฟังในยุคนั้น ๆ
ตั้งแต่เริ่มจำความได้ ผมถูกบิดาบังเกิดเกล้ายัดเยียดความเป็นลูกทุ่งให้ บางทีก็ลูกกรุงบ้าง พอเริ่มรู้ประสาสักหน่อย ก็เป็นดนตรีป๊อบใส ๆ เอาเท่าที่พอนึกออกก็มี นกแล , ยุ้ย ญาติเยอะ , XYZ , เรนโบว์ , พี่เบิร์ด ธงไชย แมคอินไตย์ หรือ แม้แต่พี่กี้ อริสมันต์ พงษ์เรืองรอง
จนกระทั่งปี พ.ศ. 2532 ในขณะที่ผมอยู่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ได้มีโอกาสไปพักค้างอ้างแรมที่บ้านคุณลุง ซึ่งเป็นลูกพี่ลูกน้องกับคุณแม่ อาศัยอยู่ที่จังหวัดนนทบุรี ไปด้วยธุระของผู้ใหญ่ ที่เด็กอย่างเราไม่สามารถจะรู้ได้ เนื่องจากพอเราอยากรู้ แล้วถามด้วยความสงสัย คำตอบที่ได้ มักจะถูกดุว่า "อย่ายุ่งน่า เรื่องของผู้ใหญ่ !!"
คุณลุงมีลูกสองคน เป็นหญิงหนึ่งชายหนึ่ง คนโตซึ่งเป็นผู้หญิงอายุห่างจากผมพอสมควร มันเลยทำให้ผมค่อนข้างสนิทกับคนเล็ก เนื่องจากเป็นเด็กผู้ชายและอายุห่างกันไม่มากเท่าไหร่ แก่กว่าผมราวสี่ถึงห้าปีเห็นจะได้
เพลงที่พี่ชายของผมฟังในขณะนั้น เป็นเพลงที่สะดุดหูผมอย่างมากเมื่อแรกได้สดับรับฟัง มันไพเราะเพราะพริ้งถูกจริตอย่างบอกไม่ถูก เพลงนั้นมีชื่อว่า "แทนความห่วงใย" ของ ดิ โอฬาร โปรเจ็คต์ ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ได้พักอาศัยอยู่ที่บ้านคุณลุงนั้น ผมได้มีโอกาสซึมซับดนตรีร็อกหลากหลายวง หลายศิลปิน ทั้งเพลงไทย และเพลงต่างประเทศ บทเพลงมากมายที่ถูกขับกล่อมทั้งวี่ทั้งวัน โดยที่ผมไม่ได้ออกไปวิ่งเล่นกับใครที่ไหนเหมือนกับเด็กทั่วไป นับแต่นั้นเป็นต้นมา เพลงส่วนใหญ่ที่ผมเลือกเสพย์ จึงเป็นเพลงร็อก แต่ไม่ใช่ว่าดนตรีแนวอื่นผมจะฟังไม่ได้ หรือไม่ชอบ ฟังน่ะฟังได้ แต่หากจะให้ถูกจริตโดนใจ ต้องเป็นดนตรีร็อกเท่านั้น
ในวันนี้จึงขอเสนอบทความที่มีชื่อตอนว่า "7 วงดนตรีร็อก ยุค 90s ตอนต้น" จะมีวงใดบ้าง ขอเชิญท่านผู้อ่านติดตามได้ ณ บัดนี้
1. ดิ โอฬาร โปรเจ็คต์ (The Olarn Project)
Cr. รูปภาพจาก ผู้จัดการออนไลน์
ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2528 โดย น้าโอ้ - โอฬาร พรหมใจ โดยในตอนแรกตั้งใจใช้ชื่อวงว่า "Thailand Band" แต่ โอฬารเห็นว่า อาจจะมีผลเสียต่อประเทศชาติได้ ภายหลังจึงเปลี่ยนชื่อเป็น The Olarn Project เพราะหากเกิดอะไรขึ้น โอฬารจะเป็นผู้รับผิดชอบด้วยตัวเอง เป็นวงร็อกที่เน้นหนักไปทางเฮฟวี่เมทัล นับเป็นวงดนตรียุคบุกเบิกวงการเพลงร็อกของเมืองไทย วงดนตรีที่เป็นแรงบันดาลใจของวงร็อกอีกหลายวงในยุคต่อ ๆ มา รวมถึงเป็นวงในตำนาน ที่นักดนตรียุคปัจจุบันยังคงกล่าวถึง ให้การยอมรับ และนำดนตรีมาคัฟเวอร์กันอย่างแพร่หลาย
ด้วยดนตรีที่แปลกใหม่ในบ้านเรายุคนั้น ผสมผสานอัดแน่นไปด้วยเนื้อหาและลูกเล่นเทคนิคที่แพรวพราวของดนตรี เข้ากันได้ดีกับเนื้อหาการเขียนเพลง ซึ่งส่วนใหญ่จะมาจากปลายปากกาของ โอฬาร พรหมใจ หัวหน้าวง
ถึงจะเป็นวงร็อกในยุค 80s แต่ผมก็ต้องให้เกียรติวงนี้เป็นอันดับแรกเพราะ ดิ โอฬาร โปรเจ็คต์ คือปรมาจารย์ของวงการเพลงร็อกในยุค 90s เป็นทั้งผู้บุกเบิกเฮฟวี่เมทัลในเมืองไทย และบุกเบิกให้ผู้เขียนหลงใหลคลั่งไคล้ในดนตรีร็อก
เพลงที่เปรียบเสมือนมรดกทางดนตรีของ ดิ โอฬาร โปรเจ็คต์ มีอยู่มากมายหลายเพลง ที่โด่งดัง ประทับจิตตราตรึงใจของแฟนเพลงยุค 90s นั้น เห็นจะได้แก่เพลง "อย่าหยุดยั้ง" "แทนความห่วงใย" และ "ไฟปรารถนา" จากอัลบั้ม กุมภาพันธ์ 2528 เพลง "เพราะรัก" "เหนือคำบรรยาย" และ "คนหูเหล็ก" จากอัลบั้ม "หูเหล็ก"
2. หิน เหล็ก ไฟ (Stone Metal Fire)
Cr. รูปภาพจาก lamaithailand
ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2534 โดย ปฐมพงศ์ สมบัติพิบูลย์ (โป่ง) นักร้องนำจากวง ดิ โอฬาร โปรเจ็คต์ และ นำพล ขจรพิมานมาศ (โต) มือกีตาร์จากวง Index, 50 Miles, Dexter และวงกิตติ กาญจนสถิตย์ (กิตติ กีตาร์ปืน) ร่วมกับเพื่อนนักดนตรีอีกสองคน คือ เกียรติชัย แซ่โอ้ว (หมูพีท) มือเบสจากวง Zex, Blue Planet และปรีชา ทองนพ (แจ็ค) มือกลอง ได้จัดตั้งวงดนตรีแนวเฮฟวี่เมทัล เพื่อทำเดโมและออกผลงาน ในขณะนั้นยังไม่มีชื่อวงอย่างเป็นทางการ
เวลาต่อมาในปีเดียวกัน มีการเปลี่ยนแปลงสมาชิกวงเกิดขึ้น ณรงค์ ศิริสารสุนทร (รงค์) จากวง Burn และ ดิ โอฬาร โปรเจ็คต์ ได้มาทำหน้าที่เล่นเบส , สมาน ยวนเพ็ง (หมาน) จากวง 50 Miles รับหน้าที่เล่นกลอง และ จักรรินทร์ ดวงมณีรัตนชัย (ป๊อป) จากวง Force ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่มารับหน้าที่เล่นกีตาร์เพิ่มอีกหนึ่งคน ส่วนชื่อวง "หิน เหล็ก ไฟ" นั้น ทิวา สาระจูฑะ บรรณาธิการนิตยสารสีสัน ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้คร่ำหวอดทางดนตรีในยุคนั้น เป็นคนตั้งให้
ต่อมาได้มีโอกาสออกอัลบั้มแรก ในปี พ.ศ. 2536 ภายใต้สังกัด อาร์.เอส. โปรโมชั่น โดยใช้ชื่ออัลบั้มเป็นชื่อเดียวกันกับวง เป็นอัลบั้มที่มียอดขายมากกว่า 1 ล้านตลับ (คาสเซ็ทเทป) ได้รับรางวัลทางดนตรีที่ทรงคุณค่าและเกียรติยศในสมัยนั้นอย่าง "สีสันอวอร์ดส์" ครั้งที่ 6 เพลงที่ได้รับความนิยมในอัลบั้มนี้ได้แก่ "นางแมว" "ยอม" "เพื่อเธอ" " พลังรัก" และ "สู้" เรียกได้ว่าครบเครื่องทั้งเนื้อหาดนตรี ความไพเราะ รวมถึงความสดใหม่ กล้าคิด กล้าเล่น ชนิดที่ฝีไม้ลายมือนั้นไม่ได้น้อยหน้าวงจากทางฝั่งตะวันตกเลย
หิน เหล็ก ไฟ ออกอัลบั้มอีกเป็นชุดที่ 2 และวางแผงอัลบั้มในเดือน มีนาคม พ.ศ. 2538 ใช้ชื่อชุดว่า "คนยุคเหล็ก" มีเพลงที่ได้รับความนิยมเช่น "คนยุคเหล็ก" "หลงกล" "มั่วนิ่ม" และ "คิดไปเอง" เป็นต้น จากนั้นได้ประกาศพักและยุบวงในปลายปี พ.ศ. 2538
ส่วนเส้นทางดนตรีต่อจากนั้นของสมาชิกในวง มันก็มีให้คิด ให้วิเคราะห์วิจารณ์แตกต่างกันไปในอีกหลายแง่มุมของถนนสายดนตรี ที่มีการเปลี่ยนแปลงและไม่แน่นอนอยู่แทบจะตลอดเวลา เป็นไปตามวิถีของศิลปิน ซึ่งในที่นี้ก็จะขอกล่าวถึงแต่เพียงเฉพาะในส่วนของวง "หิน เหล็ก ไฟ" เท่านั้น เพราะสำหรับผมแล้ว นี่ถือเป็นอีกวงที่ขึ้นหิ้งอยู่ในระดับตำนาน และสร้างปรากฏการณ์ต่าง ๆ ไว้อย่างมากมาย
3. ไฮ-ร็อก (Hi-Rock)
Cr. รูปภาพจาก YouTube
ไฮ-ร็อก ก่อกำเนิดขึ้นจาก ตุ้ย (อนุรักษ์ ยิ่งนคร) และ แม็ก (เสรี วิหคเหิร) รวบรวมเพื่อน ๆ อีกสามคนเข้าร่วมเป็นวง ส่วน เป้ (สุรัช ทับวัง) เริ่มเข้าร่วมในฐานะมือเบสและนักร้องนำ โดยเล่นดนตรีประจำวงอยู่ที่ร้าน Rock Pub และได้เริ่มปรากฏตัวสู่สาธารณชนนับหมื่นคน ในฐานะวงแบ็คอัพให้กับ ปฐมพร ปฐมพร ศิลปินเพลงร็อกชายเดี่ยวผู้แหวกแนว ในคอนเสิร์ตเปิดอัลบั้มแรกของปฐมพรที่ลาน สวป. มหาวิทยาลัยรามคำแหง เมื่อกลางปี พ.ศ. 2532 ก่อนจะได้รับการทาบทามจาก เสือ ธนพล อินทฤทธิ์ แมวมองของอาร์.เอส. โปรโมชั่น ให้ออกอัลบั้มชุดแรก
ไฮ-ร็อก เป็นที่รู้จักกันในปี พ.ศ. 2533 จากการออกอัลบั้มชุดแรกในชื่อชุด "คนพันธุ์ร็อก" มีเพลงดังอย่าง "กระจกร้าว" และ "กว่าจะรู้สึก" ซึ่งนับได้ว่าเป็นการพลิกโฉมหน้าวงการดนตรีในเมืองไทย เนื่องจากในช่วงเวลานั้นกระแสดนตรีหลักมักจะเป็นแนวป็อปร็อก หรือไม่ก็เพลงป็อบวัยรุ่นใส ๆ ด้วยแนวดนตรีที่หนักแน่นในแบบเฮฟวี่เมทัล พร้อมด้วยการแต่งกายที่จัดจ้าน สีสันร้อนแรง สะดุดตาไม่เหมือนใคร โดยได้รับอิทธิพลมาจากวงซินเดอเรลล่า (Cinderella) ของสหรัฐอเมริกาและเลาด์เนสส์ (Loudness) ของญี่ปุ่น
จากนั้นในปี พ.ศ. 2534 ได้ออกอัลบั้มชุดที่ 2 "บัญญัติผ่าแปด" มีเพลงดังอย่าง "นานแสนนาน" และ "นางฟ้าหรือปีศาจ"
ปี พ.ศ. 2536 ได้ออกอัลบั้มชุดที่ 3 "เจ็บกว่านี้มีอีกไหม" มีเพลงดังอย่าง "เจ็บกว่านี้มีอีกไหม" "อย่ากลับมา" "เกินห้ามใจ" และ "คลื่นหัวใจ"
ปี พ.ศ. 2538 ได้ออกอัลบั้มชุดที่ 4 "HIV" มีเพลงดังอย่าง "สรุปไปเลย" "โดดเดี่ยว" และ "ฉันรักเธอ"
ไฮ-ร็อก มีความโดดเด่นที่ตัวนักร้องนำ คือ เป้ (สุรัช ทับวัง) ด้วยเสียงร้องที่แหลมสูง แต่ทรงพลัง เคยได้ชื่อว่าเป็นนักร้องที่มีเสียงสูงที่สุดในเมืองไทยอีกด้วย ซึ่งภายหลังได้แยกทางกับวงแล้วมาออกอัลบั้มเดี่ยวในปี พ.ศ. 2541 โดยใช้ชื่ออัลบั้มว่า "โฉบเดี๋ยว" ภายใต้สังกัดเดิม
4. โมเดิร์นด็อก (Moderndog)
Cr. รูปภาพจาก ThePeople
ความสำเร็จจากอัลบั้มชุดที่ 1 ของวง หิน เหล็ก ไฟ ได้จุดไฟประกายฝันให้นักดนตรีกลุ่มหนึ่ง ที่มีฝีไม้ลายมือจัดจ้าน ดนตรีแน่นปั๋งในแบบฉบับเครื่องดนตรี 3 ชิ้น ให้ลุกขึ้นมาสร้างสรรค์ผลงานดนตรีออลเทอร์นาทิฟร็อก ที่มีกลิ่นอายของกรันจ์ในแบบฉบับของพวกเขา
"โมเดิร์นด็อก (Moderndog)" นักดนตรีกลุ่มแนวออลเทอร์นาทิฟร็อกของไทยซึ่งเป็นวงดนตรีแรกในค่ายเพลงเบเกอรี่มิวสิค และเป็นหนึ่งในนักดนตรีกลุ่มแรก ๆ ที่จุดประกายดนตรีทางเลือก ซึ่งต่อมาแนวเพลงดังกล่าวได้รับความนิยมในประเทศไทย อย่างมากในปี พ.ศ. 2537
โมเดิร์นด็อกเริ่มต้นจากวงดนตรีนิสิตที่ชนะการประกวดจากเวทีโค้กมิวสิกอวอร์ด ประจำปี พ.ศ. 2535 โดยได้อันดับหนึ่ง มีวงดนตรีที่ได้รองอันดับคือ สไมล์บัฟฟาโล่ จากนั้นได้ออกอัลบัมชุดแรก โมเดิร์นด็อก-เสริมสุขภาพ ในปี พ.ศ. 2537 สังกัดค่ายเบเกอรี่มิวสิค ด้วยแนวดนตรีแบบฟังก์ โซล มอเดิร์นร็อก และกรันจ์ที่ผสมผสานกันลงตัว มีเพลงดังอย่าง "มานี" "บางสิ่ง" "บุษบา" "หมดเวลา" แต่เพลงที่ประสบความสำเร็จอย่างมากในอัลบั้มชุดนี้เป็นเพลง "ก่อน" ซึ่งต่อมาเพลงนี้ได้กลายเป็นเพลงประจำของทางวงไปและอัลบัมดังกล่าวได้ประสบความสำเร็จอย่างท่วมท้น
ในปี พ.ศ. 2540 ได้ออกอัลบั้มชุดที่ 2 คาเฟ่ มีเพลงดังอย่าง "รูปไม่หล่อ" และ "ติ๋ม" ต่อมาอีกสี่ปี ได้ออกอัลบั้มชุดที่ 3 Love Me Love My Life มีเพลงดังอย่าง "สิ่งที่ไม่เคยบอก" และ "เวตาล" ในปี พ.ศ. 2547 ได้ออกอัลบั้มชุดที่ 4 แดดส่อง มีเพลงดังอย่าง "ตาสว่าง" อีกสี่ปีต่อมาได้ออกอัลบั้มชุดที่ 5 ทิงนองนอย อัลบั้มชุดที่ 6 ได้ปล่อยซิงเกิ้ลแรก "โอน้อยออก" ออกมาเมื่อเดือน พฤศจิกายน พ.ศ. 2556 และ "สกาล่า" ซิงเกิ้ลที่สองในเดือน ธันวาคม ปีเดียวกัน จากนั้นก็ทยอยปล่อยซิงเกิ้ลออกมาอยู่บ้างแบบกะปริดกะปรอย ก่อนจะออกอัลบั้มล่าสุด เมื่อปี พ.ศ. 2559 พร้อมคอนเสิร์ตใหญ่ฉลองครบรอบ 22 ปี
5. แบล็คเฮด (Black Head)
Cr. รูปภาพจาก Thaiticketmajor.com
เหตุผลที่เลือกวงนี้เข้ามาติด 1 ใน 7 ลิสต์รายชื่อวงดนตรีร็อกยุค 90s ตอนต้น เป็นเพราะมีที่มาครับ อานนท์ สายแสงจันทร์ (ปู) นักร้องนำ ในอดีตเขาเคยเป็นหนึ่งในสมาชิกวงบลู แพล็นเนต และวงยูเรเนียม สมทบ สมมีชัย (ต๋อง) กีต้าร์เบสฝีมือเยี่ยม อดีตสมาชิกวงยูเรเนียม และรู้จักกับปูจึงชักชวนกันมาก่อตั้งวงแบล็คเฮด อภิสิทธิ์ พงศ์ชัยศิริกุล (เอก) กีต้าร์มือฉมัง อดีตมือกีต้าร์วงสโนวไวท์/บิ๊กกัน และ วิโรจน์ เจริญพิพัฒน์สิน (ยุ่น) มือกลองฝีมือจัดจ้านที่คนในวงการดนตรีรู้จักกันดี
หลังจากค่าย เอสพี ศุภมิตร ที่วงยูเรเนียมของปูและต๋อง และวงบิ๊กกันของเอกสังกัดอยู่ได้ปิดตัวไปใน พ.ศ. 2537 สมาชิกวงยูเรเนียมและบิ๊กกันต่างก็ได้แยกย้ายกันไป โดยปู และ ต๋อง ยังคงเล่นดนตรีกลางคืนอยู่ที่ Rock Pub และที่พัทยา โดยที่ช่วงแรกยังคงใช้ชื่อวง ยูเรเนียม โดยมีเอก มาเล่นตำแหน่งมือกีต้าร์ เนื่องจากอดีตมือกีต้าร์ ณัฏฐากร เปาริบุตร หรือท็อป อดีตมือกีต้าร์วงยูเรเนียม ได้ไปเล่นให้กับ พงษ์พัฒน์ วชิรบรรจง พวกเขาเลยคิดที่จะทำวงใหม่ขึ้นมา ปู เอก และ ต๋องจึงได้รวมตัวกัน และเอก ได้พายุ่นซึ่งเป็นเพื่อนกันตั้งแต่สมัยเด็กมาร่วมวงด้วย มารวมตัวกันในนาม "แบล็คเฮด" พวกเขาจึงได้นำเดโม่เพลงที่พวกเขาแต่งไว้ไปยื่นเสนอค่ายต่างๆ และได้ ปู พงษ์สิทธิ์ คำภีร์ ให้โอกาสโดยนำเดโม่ของพวกเขาไปเสนอค่าย เอ็มสแควร์ และทำให้พวกเขาได้ออกอัลบั้มแรกกับค่าย เอ็มสแควร์
ในปี พ.ศ. 2538 จึงมีมินิอัลบั้ม (อีพี) ชุดแรกออกมาภายใต้ชื่อ Mini Album : Black List EP ให้ได้ชิมลางกันก่อน ต่อมาเดือนสิงหาคมในปีเดียวกัน พวกเขาได้ออกอัลบั้มชุดแรก "The Album Blackhead" ในปี พ.ศ. 2538 โดยมีเพลงดังอย่าง "ยืนยัน" "ทน" และ "ความทรงจำ"
ปี พ.ศ. 2540 ได้ออกอัลบั้มชุดที่ 2 "Full Flavor" มีเพลงดังอย่าง "หลอน" "หนักหัวใคร" และ "I Wanna flush you"
ปี พ.ศ. 2542 ได้ออกอัลบั้มชุดที่ 3 "Pure" มีเพลงดังอย่าง "ยิ่งโตยิ่งสวย" "อยู่ไปไม่มีเธอ" "รักเธอกับฟักทอง" และ "อย่าเสียน้ำตา"
ปี พ.ศ. 2543 ได้ออกอัลบั้มชุดที่ 4 "Basic" มีเพลงดังอย่าง "รักคือ" "ยอมรับ" "ใจฉันอยู่กับเธอ" และ "เหล้าจ๋า"
ปี พ.ศ. 2546 ได้ออกอัลบั้มชุดที่ 5 "Handmade" มีเพลงดังอย่าง "ไม่เป็นไร" "ฉันอยู่ตรงนี้" และ "เหตุผล"
ปี พ.ศ. 2548 ได้ออกอัลบั้มชุดที่ 6 "Ten" มีเพลงดังอย่าง "ใจร้าย" และ "ไม่จำเป็นต้องดีที่สุด"
ปี พ.ศ. 2550 ได้ออกอัลบั้มชุดที่ 7 "Deep" มีเพลงดังอย่าง "เธอได้ยินไหม" "บาดเล็กเจ็บลึก" และ "ไม่เข้าใจ"
ปี พ.ศ. 2556 ได้ออกอัลบั้มชุดที่ 8 "White Line" มีเพลงดังอย่าง "อย่างน้อย" "วายร้าย" และ "เหตุใดถึงรักเธอ"
โดยพวกเขาได้มีการออกอัลบั้มพิเศษมาอย่างต่อเนื่อง เช่น
ปี พ.ศ. 2539 ได้ออกอัลบั้ม Black Bonus เป็นอัลบั้มพิเศษฉลองความประสบความสำเร็จของวงในอัลบั้มแรก มีเพลงดังอย่าง "เพียงกระซิบ" ที่ต้นฉบับขับร้องโดยวง ดิ อินโนเซ้นท์
ปี พ.ศ. 2541 ได้ออกอัลบั้ม Relax เป็นอัลบั้มที่นำเพลงจากอัลบั้มก่อนหน้ามาเรียบเรียงใหม่แบบอคูสติค และมีเพลงดังอย่าง "เพียงเธอ" และ "เธอนั่นแหละ (ตอแหล)" ที่ขับร้องโดย เอก อภิสิทธิ์ พงศ์ชัยสิริกุล มือกีต้าร์ของวง
ปี พ.ศ. 2549 ได้ออกอัลบั้ม More Cattle ที่เป็นอัลบั้มรวมของศิลปินในค่าย Grammy จำนวน 5 ศิลปิน (Blackhead, Instinct, Zeal, The King Kong และ อู๋ ธรรพ์ณธร) โดย Blackhead ได้ปล่อยเพลง 2 เพลงคือ "ตัดใจตัดเธอ" และ
ปี พ.ศ. 2552 ได้ออกอัลบั้ม 13 ปี Happy Birthday ที่เป็นการฉลองครบรอบ 13 ปีของวง โดยรวมเพลงดังเพลงฮิตจากอัลบั้มก่อนๆหน้า พร้อมกับมีเพลงเพิ่มไปอีก 3 เพลง คือ "Happy Birthday" "เธอจะอยู่กับฉันไหม" และ "ไม่ตอบได้ไหม"
6. วายน็อตเซเว่น (Y Not 7)
Cr. รูปภาพจาก MyBand
วายน็อตเซเว่น (Y Not 7) เป็นวงดนตรีร็อกในแนวออลเทอร์นาทิฟร็อก เข้ามาอยู่ในลิสต์นี้ก็ด้วยเพราะ เดิมทีสองสมาชิกหลักของวงอย่าง เหน่ง (เกษม วงศ์วรรณกร) นักร้องนำ และ กอล์ฟ (รุ่งโรจน์ ผลหว้า) มือเบส ได้เคยร่วมทำอัลบั้มซึ่งเป็นเพลงใต้ดิน ในแนวดนตรีแบบเฮฟวี่เมทัล ภายใต้ชื่อวง "RATE - X HEAVYMOD" ซึ่งออกอัลบั้มในปี พ.ศ. 2535 ในชื่ออัลบั้ม "ห้ามออกอากาศ" นับเป็นวงดนตรีที่บุกเบิกเพลงใต้ดิน ซึ่งมีภาษาที่หยาบคาย เนื้อหากระทบกระเทียบเสียดสีสังคม การเมือง ถูกจริตผู้ฟังกลุ่มหนึ่งที่ต้องการฉีกกรอบการฟังเพลงแบบเดิม ๆ ในยุคนั้น
หลังจากประสบความสำเร็จในวงแคบแล้ว กอล์ฟ ซึ่งเป็นหัวหน้าวง อยากจะนำเสนอดนตรีร็อกในแบบฉบับของเขาสู่วงกว้าง จึงได้รวบรวมสมัครพรรคพวกที่มีฝีมือในวงการดนตรี แล้วฟอร์มวงขึ้นมาใหม่ในนาม "วายน็อตเซเว่น (Y Not 7)" เพื่อทำเดโมส่งค่ายเพลง สมาชิกที่เหลือ คือ ก้อย (ธานี พรหมศรี) กีต้าร์ , แป๊ะ (จิรวุฒิ สังคะกุล) กีตาร์ , ไก่ (ณกรณ์ จุ้ยนุชศิลป์)กลอง , โด๊ด (สงกรานต์ คงประโยชน์) คีย์บอร์ด และ เชษฐ์ (พิเชษฐ์ เครือวัลย์) กีต้าร์
ปี พ.ศ. 2537 พวกเขาได้มีโอกาสออกอัลบั้มแรกภายใต้สังกัดแกรมมี่ ซึ่งในปัจจุบันคือ จีเอ็มเอ็มแกรมมี่ ใช้ชื่ออัลบั้มเหมือนกับชื่อวง มีเพลงที่ได้รับความนิยมคือ "ค่อย ๆ พูด" , "ทิ้งรักลงแม่น้ำ" และเกลียดความสงสาร
ปี พ.ศ. 2540 ได้ออกอัลบั้มชุดที่ 2 "Six" มีเพลงดังอย่าง "เสียใจอยู่แล้ว" "ไม่เอา" และ "ไฟรางราง"
ปี พ.ศ. 2542 ได้ออกอัลบั้มชุดที่ 3 "Yeah!" มีเพลงที่สร้างชื่อเสียงอย่าง "YEAh! YEAh!" "เรื่องขี้หมา" "ฉันไม่ยอม" และ "เคยตายมาแล้ว"
ปี พ.ศ. 2543 ได้ออกอัลบั้มชุดที่ 4 "Rock Up" มีเพลงดังอย่าง "ชู้รัก" และ "แส่ทำไม"
โดยพวกเขาได้มีการออกอัลบั้มพิเศษในปี พ.ศ. 2542 เป็นการนำเพลงเก่าที่มีชื่อเสียงของศิลปินในค่ายแกรมมี่มาคัฟเวอร์ ทำดนตรีใหม่ในสไตล์ของพวกเขาเอง โดยใช้ชื่ออัลบั้มว่า "Never Die" มีเพลงที่โด่งดังเป็นที่รู้จักอย่าง "กองไว้" "ขอบใจจริง ๆ" "จนแต่เจ๋ง" และ "เห็นใจกันหน่อย"
7. สไมล์ บัฟฟาโล่ (Smile Buffalo)
Cr. รูปภาพจาก MUSICZONETH
สไมล์บัฟฟาโล่ (Smile Buffalo) เป็นวงดนตรีแนวออลเทอร์นาทิฟร็อกชาวไทย เรียกวงเป็นภาษาไทยว่า "ยิ้มสิ ไอ้ควาย" โดยเป็นการรวมตัวของนักดนตรี 4 คน คือ ประดิษฐ์ วรสุทธิพิสิทธิ์ (ดิษฐ์) ร้องนำ/เบส , ธีรภัค มณีโชติ (เต็น) กีตาร์ , พนัส อภิชาติพงศ์บุตร (หนึ่ง) คีย์บอร์ด และ วรเชษฐ์ เอมเปีย (เชษฐ์) กลอง โดยเริ่มต้นเส้นทางดนตรีจากการประกวดบนเวทีโค้กมิวสิกอวอร์ด ประจำปี 2535 ซึ่งได้ตำแหน่งรองชนะเลิศ ซึ่งวงที่ได้ตำแหน่งชนะเลิศในปีนั้นคือวง "โมเดิร์นด็อก" มีผลงานสตูดิโออัลบั้มครั้งแรกในปี พ.ศ. 2538 ในชื่อชุด SMILE BUFFALO ทำให้เพลง "ดีเกินไป" "ไม่รักเธอ" และ "ฟ้ายังฟ้าอยู่" โดยเฉพาะเพลง "ดีเกินไป" กลายเป็นเพลงโด่งดังที่สุดของวง และเป็นเพลงระดับตำนานขึ้นหิ้ง ที่วัยรุ่นในยุคนั้น แม้กระทั่งลูกเด็กเล็กแดงทุกคนต้องรู้จักกันดี
ในปี พ.ศ. 2539 ได้ออกอัลบั้มชุดที่ 2 "SMILE BUFFALO ชุดที่ 2" มีเพลงดังอย่าง "เธอคือทุกอย่าง" "รักเธอห่าง ๆ" และ "อยากจะบอกเธอ"
ปี พ.ศ. 2541 ได้ออกอัลบั้มชุดที่ 3 "องุ่น" มีเพลงดังอย่าง "อย่าเข้ามา" และ "คิดไปเอง"
ปี พ.ศ. 2542 ได้ออกอัลบั้มชุดที่ 4 "นอกคอก" มีเพลงดังอย่าง "จำใจ" "ขอไปด้วย" และ "อย่าทำ"
ปี พ.ศ. 2543 ได้ออกอัลบั้มชุดที่ 5 "สาวชุดดำ" มีเพลงดังอย่าง "กุหลาบในมือ" และ "เส้นผมบังภูเขา"
หลังจากนั้นต่างคนต่างก็ได้แยกย้ายกันไปเดินตามเส้นทางดนตรีของตัวเอง โดยภายหลังประดิษฐ์ และ ธีรภัค ได้ตั้งวงใหม่ชื่อ "Sniper" ออกอัลบั้มในสังกัด จีเอ็มเอ็มแกรมมี่
ขอขอบคุณข้อมูลบางส่วนจาก วิกิพีเดีย (wikipedia)
ปัญหาของการก้าวเดินไปข้างหน้า ไม่ใช่อุปสรรคที่จะต้องเจอระหว่างทาง แต่เมื่อใดก็ตามที่เราคิดขึ้นมาว่าทำไม่ได้ต่างหาก นั่นแหละคือปัญหาใหญ่ที่แท้จริง
I write as I think
โฆษณา