8 มี.ค. 2022 เวลา 13:50 • ท่องเที่ยว
บ้านพิบูลธรรม .. บ้านสวยในสยาม
บ้านพิบูลธรรม .. เป็นบ้านที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานให้ เจ้าพระยาธรรมาธิกรณาธิบดี (หม่อมราชวงศ์ปุ้ม มาลากุล) เสนาบดีกระทรวงวัง ขณะที่ท่านดำรงตำแหน่งเป็น พระยาอนุรักษราชมณเฑียร ในปี พ.ศ. 2440
บ้านพิบูลธรรม .. เดิมชื่อบ้านนนทิ ตามชื่อวัวพระนนทิการ ซึ่งเป็นเทวพาหนะของพระอิศวร (ตราประจำเสนาบดีกระทรวงวัง คือตราพระมหาเทพทรงพระนนทิการ) และเดิมมีตึกกลางเพียงตึกเดียว ..
ต่อมาในปี พ.ศ. 2456 รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ เจ้าพระยาธรรมาธิกรณาธิบดี ดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงวัง .. และพระราชทานเงินให้สร้างตึกอีกหลังหนึ่ง เพื่อจะเสด็จมาประทับชั่วคราว และเสด็จมาทอดพระเนตรและประทับค้างคืนในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2463
เจ้าพระยาธรรมาธิกรณาธิบดี ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมศิลปากรด้วย และมีนายช่างชาวอิตาเลียนรับราชการอยู่หลายคน จึงได้เลือกให้นายช่างเหล่านี้บางคนมาทำงานออกแบบ ก่อสร้าง และตกแต่งอาคารของบ้านนทิ โดย ..
.. ศาสตราจารย์ นายแอร์โกเล มันเฟรดี (Ercole Manfredi) รองอำมาตย์เอก เป็นผู้ออกแบบทั้งหมด
.. นายกาเล็ตตี้ ชาวอิตาเลียน เป็นวิศวกร
.. นาย ฟอร์โน เป็นผู้ออกแบบลวดลายบางส่วน
.. นาย ดองช้อง ชาวเซี่ยงไฮ้ เป็นผู้แกะลวดลายไม้ต่างๆ ราวมกับนายช่างไทยอีกหลายคน
.. ศาสตราจารย์ ลิโกลี่ ชาวอิตาเลียน เป็นผู้เขียนภาพวาดบนเพดาน และภาพฝาผนังภายในห้องต่างๆ
บ้านพิบูลธรรม .. มีอาคารเก่าแก่แต่แรกสร้างอยู่ 2 หลัง และศาลาไม้อีก 1 หลัง อาคาร 2 หลังสร้างในสถาปัตยกรรมแบบยุโรป ซึ่งเป็นที่นิยมในสมัยนั้น ลักษณะเหมือนปราสาท หรือวิลล่าสวยๆ ที่มีรูปทรงตามอาคารปีกทั้งสองข้าง ประกอบด้วยอาคารโค้ง ส่วนหักมุม และเฉลียง ที่แม้จะแตกต่างกัน แต่ผสานออกมาได้สัดส่วนกลมกลืนดูสวยงาม
อาคารทั้งสองหลัง ประดับด้วยลายปูนปั้นตามผนังตอนบน หัวเสา ขอบหน้าต่าง และลูกกรงระเบียง.. ประตูหน้าต่างเป็นไม้สลักลาย มีรูปประติมากรรมรูปวัวอยู่เหนือประตู
อาคารทั้งสองหลัง ตกแต่งภายในอย่างวิจิตรด้วยไม้แกะลาย ตามเพดาน ผนังห้อง และประตู หน้าต่าง และมีเฉลียงของตึก สร้างเป็นสะพานเชื่อมตึกทั้งสองอาคาร
ตึกใหม่ด้านใน .. ก่อสร้างเป็นตึกสามชั้น มีสะพานเชื่อมกับตึกกลาง ภายหลังก่อสร้างเสร็จราว 7-8 เดือน พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระดำเนินมาทอดพระเนตรและประทับเสวย เมื่อราวเดือนพฤศจิกายน 2463 และเสด็จกลับด้วยความพอพระราชหฤทัย
ในช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่ 2 นับตั้งแต่กองกำลังของญี่ปุ่นยกพลมาขึ้นบกที่เมืองชายฝั่งของไทย ทำให้ฝ่ายสัมพันธมิตรโจมตีและทิ้งระเบิดมากขึ้น .. บ้านนนทิได้รับความเสียหายจากระเบิดที่พลาดเป้าหมายจากสถานีรถไฟหัวลำโพง มาลงที่บ้านนนทิ หลายลูก เกินกำลังเจ้าของที่จะซ่อมแซมได้
.. เจ้าของจึงได้เสนอขายให้กับรัฐบาล จนถึงช่วงที่ จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ได้อนุมัติให้โรงงานยาสูบซื้อไว้เป็นสถานที่ราชการ ในปี 2498 และได้ปรับปรุงซ่อมแซมเพื่อใช้เป็นสถานที่รับรองแขกเมือง ซึ่งก็ได้มีบุคคลสำคัญมาพักหลายท่าน อาทิ พระยากัลยาณไมตรี นายริชาร์ด นิกสัน เมื่อครั้งยังเป็นรองประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ประธานสหภาพพม่า เสด็จเจ้าสุวรรณภูมาแห่งราชอาณาจักรลาว เป็นต้น และ “บ้านนนที” ได้รับขนานนามใหม่ว่า “บ้านพิบูลธรรม”
1
บ้านพิบูลธรรมได้รับการบูรณะในช่วงปี พ.ศ. 2546 – 2547 โดยกรมศิลปากร ทำให้อาคารยังคงมีสภาพที่สมบูรณ์ สามารถรักษาคุณค่าทางประวัติศาสตร์และสถาปัตยกรรมเอาไว้ได้เป็นอย่างดี
เราจะเข้าไปชมในแต่ละห้องของอาคารทั้ง 2 กันนะคะ
อาคาร 2 ชั้นหลังแรก
ด้านหน้าของตึกชั้นแรก มีระเบียงที่ยื่นออกมาจากอาคาร มีลักษณะเป็นซุ้มโค้ง .. ในซุ้มโต้งด้านบน มีปูนปั้นรูปศีรษะวัว คือ พระโคนนทิการ อันเป็นตราสัญลักษณ์ของเสนาธิการกระทรวงวัง และสอดคล้องกับชื้อของบ้าน คือ บ้านนนทิ
ห้องโถงหน้าบ้าน .. มีขนาดไม่กว้างขวางมากนัก เพดานสีเขียวนวล ตรงกลางมีโคมไฟอยู่ตรงกลาง ไม้แกะสลักเป็นลวดลายประดับสีทองที่อ่อนช้อยสวยงาม ขอบเพดานเป็นไม้แกะสลักเป็นลายช่อพรรณพฤกษารูปแบบตะวันตก
ตรงกึ่งกลางทำเป็นภาพนกคู่ที่มีเท้าเป็นสิงโต จะงอยปากม้วนขึ้น ตรงกลางระหว่างนกทั้งสอง เป็นช่อดอกไม้ล้อมรอบบางสิ่งที่เหมือนรูปไข่ .. นกนี้เข้าใจว่า คือ นกหัสดีลิง หรือนกการเวก ซึ่งมีในเรื่องราวของเทพปรกรณัมของหลายๆชาติ
ปลายด้านหนึ่งของโถง เป็นประตูไม้ .. ด้านบนประดับด้วยไม้แกะสลัก
ห้องโถงชั้นล่าง .. พื้นปูด้วยหินอ่อน เพดานประดับด้วยไม้ที่ทำเป็นตารางสี่เหลี่ยมตัดมุม ใกล้กับผนังมีเสาคล้ายเสากรีกโรมัน ปัจจุบันใช้เป็นห้องประชุม
บ้านคหบดีในสมัยก่อน จะมีบันไดทางขึ้นแยกกันระหว่างนาย และบ่าว .. บันไดทางขึ้นชั้นบนของอาคารนี้อยู่ด้านหน้า .. ลักษณะของบันไดไม้ มีรูปแบบเช่นเดียวกับที่เราเห็นจากคฤหาสน์คลาสสิกสวยๆในยุโรป คือ เป็นบันไดวนที่มีความสวยสง่า สร้างบรรยากาศน่ายำเกรง อันเป็นผลจากการเลือกใช้วัสดุคุณภาพสูง แข็งแรง ขนาดไม่เล็ก
.. รวมถึงงานช่างฝีมือระดับครูในการแกะสลักลวดลายบนไม้ที่ปิดบันไดแต่ละขั้นที่ไม่ซ้ำกัน ทั้งลายดอกไม้แบบฝรั่ง ลายก้านขด ลายตราอาร์ม เป็นต้น ราวจับ ลูกกรงที่เรียงร้อยต่อๆกันขึ้นไป หรือแม้แต่ใต้ท้องบันได .. ล้วนได้รับการสร้างสรรค์ลวดลายคลาสสิกอย่างเอาใจใส่ มีความปราณีตสูง สมกับเป็นบ้านพระราชทาน
ภาพถ่ายของท่านเจ้าของบ้าน .. อยู่ที่จุดบนสุดของบันได
โคมไฟ ณ โถงบันได .. เป็นโคมแก้วรูปกลีบใบไม้ เป็นของเก่าดั้งเดิมตั้งแต่สร้างบ้าน ห้อยลงมาจากแฉกรูปดาวที่รายล้อมด้วยลวดลายที่มองดูแล้วมีกลิ่นอายของศิลปะตะวันออกกลาง เพดานสีเขียวอันเป็นที่นิยมกันมากในอิตาลีฝนสมัยนั้น
ห้องโถงขนาดเล็กต่อจากบันได .. อาจจะไม่ได้มีฟังค์ชั่นเพื่อใช้ประโยชน์มากนัก แต่เข้าใจว่าเป็นส่วนที่ใช้ปรับการเปลี่ยนแปลงของแสง และการเปลี่ยนแปลงของอากาศ เพื่อทำให้อาคารมีความเย็น รวมถึงมีทางเดินถัดจาก Arch ไปสู่ทางเข้าของห้องอื่นๆ ซึ่งอาจจะเป็นที่พักของสมาชิกของบ้าน
ถัดเข้ามาเป็นห้องโถงที่มีพื้นที่กว้างขวาง .. การตกแต่งอยู่ใน Theme เดียวกับโถงที่ผ่านมา คือ เพดานสีเขียว มีโคมไฟแก้วประดับ รายล้อมไปด้วยลวดลายสวยวิจิตร
1
ห้องในชั้นนี้ .. เพดานสีขาวนวลประดับด้วยตารางไม้สี่เหลี้ยมตัดมุมสีเทา ทาด้วยสีทอง ขอบเป็นลวดลายใบไม้เล็กๆ
.. พื้นที่ต่อจากเพดาน ประดับด้วยลวดลายช่อดอกไม้ที่มีดอกสีชมพู ระหว่างช่อดอกมีลายผูกเป็นเงื่อนสีน้ำตาล-ฟ้า เหมือนเงื่อนที่เรียกว่า Endless Knot อันเป็นสัญลักษณ์ Eternity หรือความเป็นอมตะ
ณ พื้นที่ด้านหนึ่งของชั้นสอง มีการสร้างทางเดินเชื่อมอาคารทั้งสองหลังเข้าด้วยกัน
บันไดของคนงาน .. เป็นบันไดวน
อาคาร 3 ชั้น ... สถาปัตยกรรมเป็นแบบคลาสสิค รีไววัล (Classic Revival) มีลักษณะเด่นนอกจาก ตัวสถาปัตยกรรมแล้ว ยังได้แก่การตกแต่งที่มีอย่างครบถ้วน ทั้งการแกะสลัก ประติมากรรม และจิตรกรรม ซึ่งองค์ประกอบ ส่วนใหญ่ ได้รับอิทธิพลศิลปะเรอเนสซองส์ อาทิ มีการประดับรูปหัววัวนนทิการตามชื่อ “บ้านนนที” ที่กรอบประตูและตามส่วนต่างๆ ของอาคาร
.. เพดานห้องต่างๆ ตกแต่งด้วยไม้แกะสลักประกอบภาพจิตรกรรมอย่างงดงาม มีทั้งลวดลายแบบตะวันตกและภาพจากวรรณคดีเรื่องรามเกียรติ์ ตอนทศกัณฐ์ลักนางสีดา ภาพนางเมขลาและรามสูร วาดแบบจิตรกรรมตะวันตก นอกจากนี้ก็มีการตกแต่ง ด้วยลวดลายเครือเถาดอกไม้และผลไม้ สวยงามน่าชมอย่างยิ่ง
ด้านข้างเป็นสวน .. มีน้ำพุอยู่ตงพื้นที่ด้านหน้า และถัดไปเป็นรูปประติมากรรมหญิงสาว ซึ่งเป็นรูปปั้นดั้งเดิมของบ้าน
เราจะเข้าไปชมด้านในของบ้านกันนะคะ
ทางเข้า และโถงหน้าบ้าน .. ประดับด้วยโคมไฟรูปร่างเหมือนที่แขวนแท่งเทียน เพดานประดับด้วยลวดลายสวยงาม
ห้องแรก .. ปัจจุบันใช้เป็นห้องทำงาน เพดานกรุด้วยไม้สักแกะลวดลาย กึ่งกลางเพดานประดับด้วยภาพจิตรกรรมแบบตะวันตก เป็นรูปหมู่กามเทพเหาะอยู่ท่ามกลางปักษาสวรรค์ เป็นภาพ fresco เขียนโดยชาวอิตาลีชื่อ Carlo Rigoli ซึ่งเป็นคนเดียวกับที่วาดภาพใต้โดมพระที่นั่งอนันตสมาคม ภาพบนเพดานพระที่นั่งบรมพิมาน ภาพประดับฝาผนังวัดราชาธวาส เป็นต้น
ภาพบนผนังด้านหนึ่ง เป็นภาพในวรรณคดีเรื่อง รามเกียรติ์ ตอนพระรามตามกวาง .. ด้านบนเป็นภาพทศกัณฑ์ที่จ้องจะลักพานางสีดา ด้านข้างมีภาพนางสีดา พระราม พระลักษณ์ ด้านตรงข้ามคือ กวางมารีศที่ยักษ์ตนหนึ่งถูกทศกัณฑ์บังคับให้แปลงกายมาล่อนางสีดา
.. เป็นที่น่าสังเกตว่า รูปลักษณ์ของบุคคลที่อยู่ในภาพวาดนี้ จะเหมือนฝรั่งมากกว่าจะเป็นคนไทย หริอรูปลักษณ์ในแบบประเพณี
.. ในช่วงสงครามโลก ภาพนี้ได้รับความเสียหายมาก ต่อมาในปี 2495 ได้รับการซ่อมแซมด้วยการใช้สีน้ำมัน
เราออกมาอีกด้านหนึ่งข้างบันไดที่จะนำไปสู่ชั้นบน .. มีประตูลักษณะสไตล์แขกมัวร์ หรืออาจจะเป็น Moroccans’ Arts เป็นทางเข้าสู่พื้นที่ด้านใน
ด้านในมีความวิจิตรอลังการมาก .. เป็นห้องโถงขนาดใหญ่ และเป็นห้องโถงหลักของบ้าน ปัจจุบันใช้เป็นห้องเลียงรับรอง
แบ่งเป็น 2 ส่วน แต่เปิดโล่งถึงกันได้ คั่นด้วยพื้นที่โถงเล็กๆ ลักษณะเป็นรูปตัว T โดยมีกระจกขนาดใหญ่ที่ประกอบจากกระจกสี่เหลี่ยมตัดขอบประกอบกันเป็นกระจกบานใหญ่อยู่ตรงกัน ณ จุดสุดผนังทั้งสองด้าน
ปีกเป็นรูปโค้งมน รูปทรงของห้องโถงที่เหมือนตัว T แต่มุมหักมน นับเป็นความงามเยี่ยมทางสถาปัตยกรรม
.. ผนังห้องโถงทั้งหมดกรุซับด้วยไม้สักแกะสลักสีเข้ม
ห้องโถงส่วนแรก .. กึ่งกลางเพดานประดับภาพจิตรกรรมแบบตะวันตก เป็นภาพ รามสูรย์ ไล่จับนางเมขลา ด้วยประสงค์ที่จะแย่งลูกแก้วที่นางถืออยู่มาเป็นของตน รามสูรย์เหาะไล่ตาม และขว้างขวานเพชรไปยังนางเมขลา จนเกิดแสงแปลบปลาบ เป็นที่มาของฟ้าแลย ฟ้าร้อง .. ภาพอยู่ในวงกลมที่ล้อมรอบด้วยแผ่นซับไม้สักสลักลวดลายสวยงาม
ห้องโถงที่คั้นระหว่าง ส่วนแรก และโถงส่วนที่สอง
ห้องโถงด้านใน มีความวิจิตรอลังการมาก .. พื้นปูด้วยหินอ่อน มีเสาที่บางคนบอกว่าเป็นเสาตัน ที่มีเครื่องประดับหัวเสาเหมือนเสากรีกโรมัน
เพดานกรุซับด้วยไม้สัก มีภาพปูนเปียกจากนิยายปกรณัม เรื่องรามเกียรติ์ ตอนทศกัณฑ์รบกับหัสดายุ หลังจากที่ลักตัวนางสีดามาแล้ว และนกหัสดายุ ซึ่งเป็นเพื่อนของท้าวทศรถ พ่อของพระราม ได้เข้ามาขัดขวาง
อาจจะมีคำถามว่า .. ทำไมศิลปินชาวอิตาเลียนอย่าง คาร์โล ริโกลี่ จึงสามารถวาดภาพเทพปกรณัมแบบไทยๆได้
.. คำตอบคือ คาร์โล ริโกลี่ เข้ามาทำงานในสามอยู่หลายปี จึงมีโอกาสเรียนรู้เรื่องของเทพปกรณัมแบบไทยๆ อีกทั้งเขายังมีโอกาสถวายงาน เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัติวงศ์ บรมครูด้านวัฒนธรรมไทย เขาจึงสามารถวาดภาพเรื่องราวในวรรณคดีไทยได้ .. แต่การวาดยังมีมิติเสมือนจริงด้านกล้ามเนื้อ มิติตื้นลึก ผลลัพท์จึงเป็นภาพจิตรกรรมที่มีการผสมผสานแนวตะวันออกผสมกับทางตะวันตกอย่างโดดเด่น มีเอกลักษณ์
..เครื่องไม้ประดับรอบๆภาพเขียน เป็นหูช้างไม้สลักเรียงรายตลอด ตีโค้งมาจนถึงถึงผนังตอนบน และสลักเสลาอย่างวิจิตรงดงามมาก ด้วยศิลปะในสไตล์ยุโรปคลาสสิก
.. พื้นที่ถัดลงมาเหนือระดับขอบประตูประดับด้วยภาพภาพจิตรกรรมเถาไม้ดอกสีสดสวย สดใสบนพื้นสีฟ้า
.. ถัดลงมาเป็น ผนังจากระดับขอบประตูบนลงมาประดับไม้สลักลาย ตามขอบสลักลายเถาผลไม้ เสาไม้กลมตั้งบนฐานสี่เหลี่ยมสลักลาย พื้นปูหินอ่อน
ห้องอีกห้อง .. ขนาดเล็ก ประดับเพดานด้วยลวดลายดอกไม้
ชั้นที่ 2 ของอาคาร .. โถงบันได ประดับด้วยโคมไฟเช่นกัน
ที่ชั้นนี้ มีทางเดินเชื่อมอาคารนี้ไปยังอีกอาคารที่อยู่ด้านหน้า
ห้องติดกับบันได .. เพดานประดับด้วยโคมไฟขนาดเล็ก ซึ่งเข้าใจว่าเป็นของดั้งเดิม
.. โคมไฟล้อมรอบด้วยปูนปั้นอบะภาพเขียนสี และตรงขอบของเพดาน มีภาพวาดในทำนองเดียวกับห้องอื่นๆ ทว่าใช้การวาดเป็นภาพผลเบอรี่ และใบไม้สีนุ่มนวล
.. ห้องนี้มีระเบียง ที่สามารถออกมาชมวิวสวน และทัศนียภาพที่อยู่ตอบๆได้ ซึ่งในสมัยโบราณ เมื่อยังไม่มีตึกสูงๆอย่างทุกวันนี้ คงเต็มไปด้วยสีเขียวของต้นไม้ อยู่ในอาณาเขตกว่า 4 ไร่ของบ้านเดิม
บันไดที่จะนำไปสู่ชั้นต่อไป สวยมากๆ .. ประกอบไปด้วยไม้แกะสลักลวดลายอ่อนช้อย ละเอียด ท้องบันไดเป็นสีนวลประดับด้วยลวดลายสีชาว
ชานพักจากบันได .. มีภาพของท่านเจ้าของบ้าน และเมื่อมองลงมาวิวบันไดให้มิติที่แปลกตา
โถงชานพักของบันได .. หน้าต่างประดับด้วยไม้แกะสลักที่สวยงามเช่นกัน
ห้องชั้นสาม .. เป็นห้องขนาดเล็ก มีรูปลักษณ์เหมือนหอคอย ประดับด้วยผ้าม่านและเพดานที่มีลวดลายงดงามเช่นเดียวกับห้องอื่นๆ
… ก้องนี้มีระเบียงเช่นกัน และว่ากันว่า เป็นจุดชมวิวที่สวยที่สุดของบ้าน เมื่อมอวออกไปจะเห็นคบองผดุงกรุงเกษม ฉนวนทางเดินเชื่อมของบ้านทั้งสองหลัง
… ในสมัยก่อน ต้นไม้คงประกอบเป็นทัศนียภาพที่งดงาม
*******************
เที่ยวทั่วไทย ไปทั่วโลกกับพี่สุ … รวม link บทความที่เขียนในเพจ ..
***เมืองไทย ไดอารี่ by Supawan
***Supawan’s colorful world
***สถานีอร่อย by Supawan
โฆษณา