10 มี.ค. 2022 เวลา 23:04 • การ์ตูน
เมื่อพูดถึง “ไยบะ” คุณนึกถึงการ์ตูนญี่ปุ่นเรื่องใด ระหว่าง “ไยบะ เจ้าหนูซามูไร” การ์ตูนสุดคลาสสิก หรือ “ดาบพิฆาตอสูร” การ์ตูนที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดเรื่องหนึ่งของยุค
“ดาบพิฆาตอสูร” การ์ตูนที่ครองใจคนทั้งโลกในขณะนี้ มีชื่อภาษาญีปุ่นว่า “คิเม็ตสึ โนะ ไยบะ” (Kimetsu no Yaiba) ทำให้แฟนคลับส่วนหนึ่งเรียกการ์ตูนเรื่องนี้ว่า “ไยบะ” แต่ขณะเดียวกัน ไยบะ ก็ยังเป็นชื่อเรียกแบบย่อ ๆ ที่คนทั่วไปรู้กันดีของ “ไยบะ เจ้าหนูซามูไร” หนึ่งในผลงานสร้างชื่อของ “อาโอยาม่า โกโช” ผู้เขียนการ์ตูนสุดฮิตอย่าง “ยอดนักสืบจิ๋ว โคนัน” แต่ไม่ว่าอย่างไรการ์ตูนทั้ง 2 เรื่อง ล้วนมีความสนุก มีคุณค่าและได้รับความนิยมในสมัยของตนเอง
1. ไยบะ เจ้าหนูซามูไร (Yaiba)
.
“ไยบะ เจ้าหนูซามูไร” (Yaiba) เป็นการ์ตูนแนวตลก, ผจญภัย, แฟนตาซี ผลงานลำดับที่ 3 ของ “อาโอยาม่า โกโช” นักเขียนการ์ตูนแถวหน้าของวงการผู้เขียน “จอมโจรอัจฉริยะ” (Magic Kaito) และ “ยอดนักสืบจิ๋ว โคนัน” (Detective Conan) ออกวางจำหน่ายทั้งแรกในปี 2531
ในประเทศไทย สำนักพิมพ์วิบูลย์กิจได้ซื้อลิขสิทธิ์มาตีพิมพ์ในเวอร์ชันภาษาไทย ซึ่งมีการนำมาตีพิมพ์ใหม่อยู่เรื่อย ๆ นอกจากนี้ ไยบะ เจ้าหนูซามูไร ยังได้ถูกสร้างเป็นการ์ตูนอะนิเมะทั้งสิ้น 52 ตอน
เนื่องจาก ไยบะ เจ้าหนูซามูไร และ ยอดนักสืบจิ๋วโคนัน มีผู้แต่งคนเดียวกัน ทำให้หลายครั้งมีการซ่อนจุดเชื่อมโยงและใส่รายละเอียดเล็ก ๆ น้อย หรือที่เรียกว่า Easter Egg จากเรื่อง ไยบะ เจ้าหนูซามูไร เอาไว้ใน ยอดนักสืบจิ๋วโคนัน อยู่เสมอ
อีกทั้งในระยะหลังมีการนำตัวละครจากเรื่อง ไยบะ เจ้าหนูซามูไร ไปปรากฏตัวและมีบทบาทในเรื่อง ยอดนักสืบจิ๋วโคนัน ไม่ว่าจะเป็น “โอกิตะ โซชิ” เพื่อนของคุโรงาเนะ ไยบะ ผู้มีทักษะในเชิงดาบขั้นสูง หรือ “โอนิมารุ ทาเคชิ” คู่ปรับตลอดการของ คุโรงาเนะ ไยบะ ซึ่งทั้ง 2 คนเป็นคู่แข่งกีฬาเคนโด้กับ “ฮัตโตริ เฮย์จิ” ก่อนทั้งจะต้องเข้าไปพัวพันกับคดีฆาตกรรม ซึ่งไม่แน่ว่าในอนาคตอันใกล้นี้อาจจะมีโอกาสได้เห็นคุโรงาเนะ ไยบะมาช่วยโคนันไขคดีด้วยก็เป็นได้
นอกจากนี้ ในจักรวาลของโคนัน ยังมีฮีโร่ “หน้ากากไยบะ” ซึ่งเป็นรายการที่กลุ่มนักสืบเยาวชนชอบดู โดยได้แรงบันดาลใจมาจาก “ไอ้มดแดง” หรือ “คาเมนไรเดอร์” ซึ่งที่มาของชื่อนั้นมาจาก คุโรงาเนะ ไยบะ นำกางเกงชั้นในของซายากะ ไรโซ มาครอบหัวจนมีลักษณะเหมือนหน้ากาก เพื่อปกป้องตนเองจากการโจมตีของคู่ต่อสู้
อย่างไรก็ตาม ในปี 2543 มีการสร้างโอวีเอ (OVA: Original Video Animation) ซึ่งเป็นอนิเมะตอนพิเศษที่สร้างขึ้นมาสำหรับการขายแผ่นหรือโปรโมทเท่านั้น โดยเป็นการรวมเอา 3 ผลงานเด่นของอาโอยามา โกโซ เข้ามาไว้ในเรื่องเดียวกัน คือ ยอดนักสืบจิ๋วโคนัน จอมโจรอัจฉริยะ และไยบะ เจ้าหนูซามูไรมาไว้ในเรื่องเดียวกัน ในชื่อว่า “Conan vs. Kid vs. Yaiba - The Grand Battle for the Treasure Sword!!” เนื่องจากอนิเมะตอนดังกล่าวเป็นเพียงโอวีเอ จึงไม่นับรวมว่าเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในเนื้อเรื่องหลักของจักรวาลโคนัน
2. ดาบพิฆาตอสูร (Demon Slayer: Kimetsu no Yaiba)
“ดาบพิฆาตอสูร” (Demon Slayer: Kimetsu no Yaiba) เป็นหนังสือการ์ตูนแนวผจญภัย, ดาร์ก แฟนตาซี ของประเทศญี่ปุ่น แต่งโดย “โคโยฮารุ โกโตเกะ” โดยเป็นเรื่องราวของ “คามาโดะ ทันจิโร่” เด็กหนุ่มผู้กลายเป็นนักล่าอสูรหลังจากครอบครัวของตนถูกอสูรฆ่าตายทั้งหมด เหลือเพียงแต่ “คามาโดะ เนะซึโกะ” น้องสาวที่ได้กลายเป็นอสูรไปแล้วเท่านั้น เขาจึงตั้งปณิธานว่าจะหาทางทำให้น้องสาวกลับมาเป็นมนุษย์ดังเดิมให้ได้
การ์ตูนชุดนี้เริ่มตีพิมพ์ในรูปแบบหนังสือการ์ตูนรวมเล่ม หรือ มังงะ ตั้งแต่ปี 2559 ซึ่งมีทั้งหมด 23 เล่ม จบบริบูรณ์ กลายเป็นมังงะที่มียอดขายสูงสุดประจำปี 2563 สามารถทำยอดขายไปได้มากกว่า 150 ล้านเล่มเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และมังงะเล่มที่ 23 ซึ่งเป็นเล่มสุดท้าย มียอดตีพิมพ์ครั้งแรกสูงถึงเกือบ 4 ล้านเล่ม ซึ่งสามารถขายได้หมดภายในเวลาไม่นาน สำหรับในประเทศไทยนั้น สำนักพิมพ์สยามอินเตอร์คอมิกส์เป็นผู้จัดจำหน่ายหนังสือการ์ตูนชุดนี้
ส่วนเวอร์ชันของอนิเมะนั้นปัจจุบันมีทั้งสิ้น 2 ซีซันจำนวน 44 ตอน ซึ่งได้ประกาศสร้างอนิเมะในซีซัน 3 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว เนื้อหาในภาคนี้จะเกิดขึ้นในภาคหมู่บ้านช่างตีดาบ และได้เผยตัวอย่างและภาพของตัวละครหลักที่จะมีบทบาทสำคัญในภาคนี้ โดยมีกำหนดฉายภายในปีนี้
ดาบพิฆาตอสูรประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก เนื่องจาก มีเนื้อหาที่เข้าถึงได้ทุกเพศทุกวัย ทำให้กลุ่มผู้ชมมีความหลากหลาย เนื้อหาชวนให้ติดตามตลอด อีกทั้งตัวละครมีลักษณะบุคลิกที่โดดเด่น มีเสน่ห์และไม่ซ้ำกัน แต่ละตัวละครมีภูมิหลังที่น่าสนใจ มีความเป็นมนุษย์ แม้แต่เหล่าบรรดาอสูรทั้งหลายก็มีมุมที่น่าสงสารและเห็นใจ รวมไปถึงความสัมพันธ์ของตัวละครที่แน่นแฟ้น อบอุ่นในหัวใจ
ขณะที่ลายเส้นและภาพฉากทัศน์ต่าง ๆ สวยงาม สบายตา และน่ามอง อีกทั้งยุคของเรื่องคือ ยุคไทโช ซึ่งเป็นยุคของญี่ปุ่นหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ที่เริ่มรับอารยธรรมและนวัตกรรมใหม่ ๆ จากชาติตะวันตกเข้ามาในญี่ปุ่น ทำให้มีทั้งกลิ่นอายความเป็นญี่ปุ่น และความเป็นสากลผสมกันได้อย่างลงตัว
กราฟิก: วิชัย นาคสุวรรณ
.
.
.
#กรุงเทพธุรกิจ #กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
ติดตาม "กรุงเทพธุรกิจ" ผ่านช่องทางต่างๆ ได้ที่
โฆษณา